เราคิดอะไร.


ธรรมดาของโลก จะได้ไม่ต้องโศกสลด

ความแตกต่างของ วิบากกับบารม

ถ้าจะต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม ชาวพุทธก็จะใช้บทพาหุง ๘ เข้าต่อสู้ ต่อให้เป็นมารพันมือ ยักษ์พันตีน ก็ต้อง แพ้เรา

หนักแน่น-อดทน-รอคอย-อภัย เป็นแม่ไม้ปราบมารมาทุกยุคทุกสมัย

แต่ถ้าเป็นการพัฒนาชีวิตจากคนเดินดินสู่พุทธภูมิ ก็ต้องบารมี ๑๐ ทัศ ที่อรรถกถาจารย์ ท่านรจนาไว้เป็น บุคคลาธิษฐาน

เต-ชะ-สุ-เน-มะ-ภู-จะ-นา-วิ-เว คุณครูสอนวิธีท่องจำ กี่ปีก็ไม่เคยลืม

๑๐ ชาติ ที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญ ก่อน เข้าสู่เส้นชัย

๑๐ คุณสมบัติที่ สู่ความเป็นเลิศของเอกบุรุษ!
ทาน-ศีล-วิริยะ-สัจจะ -อธิษฐาน -ปัญญา -เมตตา-เนกขัมมะ-ขันติ-อุเบกขา

บุคคลาธิษฐาน คู่ ธรรมาธิษฐานดังนี้
ทานบารมี-เวสสันดร, ศีลบารมี-ภูริทัตต์,วิริยะ-มหาชนก, สัจจะ-นารท, อธิษฐานเนมิราช, ปัญญา-มโหสถ, เมตตา-สุวรรณสาม,เนกขัมมะ-เตมีย์, ขันติ-จันทกุมาร, อุเบกขา-วิธุร

สมัยที่พระพุทธเจ้า บำเพ็ญบารมีเวียนว่ายตายเกิด เขาเรียกกันว่า "สั่งสมบารมี" และ คุณธรรมเด่นๆ ก็มีอยู่ ๑๐ ชาติ ซึ่งความจริงมีมากมายกว่านี้ แต่ตัวหลักๆ แก่นๆ คือ ๑๐ ตัวนี้ และ ในแต่ละข้อ ยังแบ่งออกเป็น ๓ ระดับความเข้มข้น เช่น ทานบารมี ก็จะมีระดับประถม- มัธยม -มหา'ลัย แค่ให้ทรัพย์สิน สิ่งของนี่ ขั้นประถม ขั้นมัธยม ก็อาจเป็นให้ของรัก ที่สูงกว่านั้นเช่น อวัยวะ หรือของที่เรารัก มาก เช่น เหล้า -บุหรี่ -อบายมุข (ของใครบางคน) ขั้นมหาลัย ให้สิ่งรักที่สุด ก็อาจเป็น "ชีวิต" หากไม่ใช่ชีวิต ของเรา ก็ต้องเป็น สิ่งที่รัก มากมายมหาศาล ดังเช่น พระเวสสันดรให้ลูก ภรรยา แก่ชูชก

ระดับความลุ่มลึก ก็ยังมีมุมมอง ๒ มุมมอง

มุมแรก มุมคนอื่นมอง มุมที่ ๒ มุมของตัวเองเราจะใช้ ๒ มุมมองนี้ วินิจฉัยคุณค่า ในการกระทำ ได้ไม่ยากเย็น

เช่นมุมมอง "เลิกสูบบุหรี่-กินเหล้า"หากวัดค่าของสังคมก็เรียกว่า ทานระดับประถม แต่สำหรับ เจ้าตัวคนที่ ติดยึด อาจจะถือเป็น "มหาลัย" เลยก็ว่าได้ เพราะยากเหลือเกิน รักหลงใหลจริงๆ

เส้นทางคนชั่วอาจจะมีนรก ๑๐ ขุมแต่เส้นทางคนดี จะมีบารมี ๑๐ ทัศ ให้ตรวจสอบ

มีน้ำก็ต้องมีคลื่น เกิดเป็นคนก็ต้องมีอุปสรรคและอุปสรรคก่อเกิด "การบำเพ็ญบารมี" เพื่อที่จะทำให้ เก่งขึ้น-มากขึ้น-แข็งแรงขึ้น

เพราะเหตุนี้ อุปสรรคของคนธรรมดาๆ จึงเรียก "วิบาก" แต่หากเป็นของคนดี เขาจึงเรียก "บารมี"

เปรียบเทียบคนที่ตาย ถ้าทำเองเขาเรียก "นรกเรียกตัว" บ้าง "เวรกรรมมาถึง" บ้าง ถ้าคนดี ก็จะเป็น "สวรรค์สั่งมา" บ้าง "สิ้นกรรม"บ้าง ฯลฯ เป็นต้น

เพราะเหตุสัทธรรมเป็นอกาลิโก เป็นเอหิปัสสิโก เป็นโอปนยิโก

เป็นสิ่งทันสมัยยุคไหนก็ยังนำมาปฏิบัติใช้ได้ และได้ผล

เป็นสิ่งที่เรียกร้องมาดูกันได้ว่ามีจริง สามารถนำมาปฏิบัติ ให้เกิดจริง เป็นจริง มีจริง ในตัวเราได้

ผู้เข้าใจจุดนี้ จึงคือผู้มีปัญญา มีทิพยจักษุ มีดวงตาที่ ๓

โลกนี้จึงเปรียบเสมือนละครโรงใหญ่

ชีวิตก็เหมือนนวนิยาย

มองแบบองค์รวม ตั้งสติครุ่นคิด มองให้เกิดประโยชน์ ต่อชีวิต มองให้เกิดข้อคิดสอนใจ มองให้เกิดแรง บันดาลใจ ฯลฯ

"วิบาก" จึงต้องสลายตัวกลายเป็น"บารมี" ก็ด้วยเหตุนี้

หากชีวิตคือการพัฒนา

อุปสรรคก็คือสิ่งทำให้เรา ฉลาด เกิดปัญญา

เราจึงไม่มีสิทธิ์เกลียดใครๆ เพราะทุกคนเป็นครูที่จะสอนให้เราเติบโต

บารมี ๑๐ ทัศ จึงหมุนเวียนสลับเปลี่ยนไปในแต่ละวัน คนดีจึงได้ฝึกฝน เป็นพระโพธิสัตว์ องค์น้อยๆ วันแล้ววันเล่า

บางวันได้ฝึก ๓ ชาติ บางวัน ๑๐ ชาติ!

พระเจ้าไม่เคยทอดทิ้งมนุษย์ มนุษย์ต่างหากที่ทอดทิ้งพระเจ้า

โลกแห่งการบำเพ็ญความดี ก็ไม่เคยทอดทิ้งใคร ท่านจะกระตือรือร้น คอยส่งโจทย์ มาให้ฝึกหัดเสมอ จะมีก็แต่ นักเรียนต่างหากที่ขี้เกียจเรียน.... แต่สุดท้ายก็ต้องเรียนจบจนได้!

ความเป็นชาวพุทธอยู่ไหนเอ่ย?

ไม่ได้ถามลองภูมิ แต่จะเตือนคนที่ละเลย หรือทำเป็นลืม

ข้อ๑. ศรัทธา-เชื่อมั่น ในกฎแห่งกรรม อะไรจะเกิดล้วนมีที่มา ที่ไปทั้งสิ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเองเฉยๆ

สร้างหนี้ไว้ ก็ต้องชดใช้ จะเบี้ยวเจ้าหนี้ของเราได้อย่างไร

ท่านที่ร้องไห้ ท่านที่อึดอัดขัดเคืองในชตาชีวิต เคยเจียมตน มองในเรื่องกฎแห่งกรรม หรือไม่ หรือ เอาแต่ โวยวาย โทษฟ้า โทษดิน โทษคนอื่น!

ข้อ๒. ศรัทธาในพระไตรรัตน์พระ

พุทธ คือ ผู้ค้นพบเส้นทาง (ผู้รู้)
พระธรรม คือ สัจธรรมที่มีผู้เข้าไปรู้ (ถูกรู้)
พระสงฆ์ คือ ผู้เจริญรอยตามพระพุทธ ฝึกฝนจนรู้ตามผู้รู้ได้เช่นเดียวกัน (รู้ตาม)ศรัทธาในพระไตรรัตน์ จึงมิใช่กราบไหว้เฉยๆ แต่น้อมนำมาปฏิบัติ จนก่อเกิด รู้แจ้งเห็นผล (ทีละเรื่องทีละ อย่าง สั่งสมไปเรื่อยๆ)

บารมี ๑๐ ทัศ ถูกรู้โดยพุทธะ จะเหลือก็แต่สาวกที่จะต้องพากเพียรรู้ตาม

ทุกคน ทุกชีวิต ต่างก็มีโจทย์ให้ ฝึกฝน ตั้งใจแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเอง

แล้วอย่าโทษฟ้าดินละเลย ความจริง ท่านอุตส่าห์ลงมาดูแล

แต่เราต่างหาก ที่เอาแต่คร่ำครวญตีอกชกตัว

บารมี ๑๐ ทัศ พระเจ้า ๑๐ ชาต ทำชาตินี้ให้ครบ ๑๐ ทัศ ก็ไม่เสียหายจะได้ถึงฝั่งเร็วขึ้น

คติก่อนจาก "อุปสรรค แปลว่า ใกล้สวรรค์"

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๒ มีนาคม ๒๕๔๖)