หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

การฟื้นฟูพระศาสนาจากหายนะสู่วัฒนะ
* ส.ศิวรักษ์
ปาฐกถา เนื่องในโอกาสครบ ๖ รอบนักษัตร พระครูพิพิธประชานาถ (หลวงพ่อนาน สุทฺธสีโล)
วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๒)

ในเมื่อท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก(ปยุตฺโต) ซึ่งเป็นอุดมชาติอันประเสริฐ ไม่ได้นำทางเราไว้ ในเรื่องทศบารมี จะให้หีนชาติ อย่างข้าพเจ้า อาจหาญไปทำหน้าที่เช่นนั้น กระไรได้ แต่ถ้ามองในแง่ ของมหายาน แม้คฤหัสถชน อย่างเราๆก็น่าจะทำความเข้าใจ ในเรื่องบารมีกันให้ชัดเจน เพื่อเป็นแรงนำทางเรา ไปสู่อุดมคติ ในทางพุทธศาสนา และถ้าเราเดินตามทางดังกล่าว ได้อย่างชัดเจน เราจะไปพ้นหายนะ สู่วัฒนะได้โดยแท้

ในที่นี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่พยายามอธิบายขยายความในเรื่องบารมีตามนัยวิธีของฝ่ายมหายาน อย่างน้อย ก็เพื่อให้แยกออกไป จากทศบารมี ที่เราเคยคุ้นกันมา แต่ก่อน โดยที่ทางมหายานนั้น เน้นที่บารมีหก แม้ภายหลัง จากเพิ่มเติมขึ้น เป็นสิบก็ตามที ทางมหายาน เรียงลำดับ ดังนี้คือ (๑) ทาน (๒) ศีล (๓) ขันติ (๔) วิริยะ (๕) สมาธิ (๖) ปัญญา หรือ ปรัชญาที่ภายหลังเพิ่มอีก ๔ มี (๗) อุปาย ที่เราเรียกว่า อุปายโกศล (๘) ปณิธาน ที่ตรงกับอธิษฐานของเรา (๙) พละซึ่งรวมอยู่ในทศพลญาณของเรา และ (๑๐) ฌาน ซึ่งกลายมาเป็น นิกายใหญ่ ที่เรียกตามญี่ปุ่นว่า เซน ดังเป็นที่นิยมชมชอบกัน เป็นอย่างมาก ในตะวันตก สมัยนี้

สำหรับรายการปาฐกถาวันนี้ จะรวบรัดลงที่บารมีเพียง ๖ ข้อ ซึ่งก็เชื่อว่าพอสมควรแก่การ ถ้าเราเข้าใจ แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ ให้ต้องตามกาละเทศะ จะพัฒนาพระศาสนา ไปในทางที่ถูกที่ควร เท่าๆกับ จะพาเราไป สู่อุดมคติ อันสูงส่ง ในทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย

การสมาทานบารมีทั้ง ๖ ก็เพื่อมุ่งประโยชน์ของสรรพสัตว์ ซึ่งนับว่าตรงกันข้ามกับนิสัยสันดาน ของผู้คน ในกระแสหลัก ซึ่งรวมถึงบรรพชิตด้วย เพราะบารมี คือการกระทำที่สูงส่งขึ้นไป ในการลด ความเห็นแก่ตัว ยิ่งตัวตน สำคัญน้อยลง กรณียกิจต่างๆ ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลคนอื่น สัตว์อื่นยิ่งขึ้น

บารมีทางฝ่ายมหายาน ก็มี ๓ ขั้นตอนเช่นกัน

(๑) ขั้นพื้นฐาน คือการตั้งจิตมั่นที่จะเกื้อกูลผู้อื่น สัตว์อื่น เป็นแรงบันดาลใจ หรือแรงผลักดัน ดังกับฉันทะ ที่จะให้ ที่จะช่วย

(๒) ขั้นมรรค เป็นการกระทำที่เจาะจงลงไป อย่างขัดกับความเห็นแก่ตัวตรงๆ ดังพรหมวิหารธรรมนั้น ทำได้ยาก หากทำจนเป็นอาจินต์แล้ว ย่อมเป็นธรรมที่ช่วยให้เราเติบโต ในทางธรรมอย่างเต็มที่

(๓) ขั้นผล ย่อมเป็นการกระทำอันสูงส่งที่ประพฤติปฏิบัติได้อย่างเป็นปกติ เพราะฝึกปรือ มาจนถึงขั้น ที่เข้าถึงที่สุดแล้ว ไม่ต้องตรึกตรองอีกว่า จะให้ดีหรือไม่ จะพูดความจริงดีหรือไม่ หากทำไปเอง โดยอัตโนมัติ เพราะนิสัยสันดาน หมดเยื่อใย ในทางเลวร้าย หรือกึ่งดิบกึ่งดีเสียแล้ว

ผู้ที่สมาทานโพธิสัตวธรรมบารมี ย่อมมุ่งพลังหรือแรงบันดาลใจให้ได้เจริญบารมีเป็นขั้นๆ เป็นข้อๆ ไป ดังที่ภายหลัง เติมปณิธาน หรืออธิษฐานบารมีเข้าไป ก็เพื่อขออำนาจพระรัตนัตยาธิคุณ ให้เกื้อหนุน ให้แต่ละคน เกิดพลัง ในอันที่จะเอาชนะความเห็นแก่ตัว เพื่อเกื้อหนุนให้ทำคุณประโยชน์กับคนอื่น สัตว์อื่น นั้นแล

บารมีห้าข้อแรกเป็นเรื่องของสัมพัทธภาพ มีการแบ่งเราแบ่งเขา เพื่อลดความเห็นแก่ตัวของเรา จะได้เพิ่ม การุณยภาพ แก่อีกฝ่าย ครั้นมาถึงปัญญา หรือปรัชญาบารมี นี่เป็นโลกุตรธรรม ที่เข้าถึงความเป็นศูนย์ ซึ่งปราศจาก ทวิภาค ไม่มีเรา ไม่มีเขา อีกต่อไป

(๑) ทานบารมี ถือว่าสำคัญสุดแห่งการเริ่มมรคาของบารมี คือเรียนรู้หรือแสวงหาแรง บันดาลใจที่จะให้ ที่สุด จนให้ความลับ ความเป็นตัวของตัวเอง ให้สรรพสัตว์มามีส่วนร่วมด้วย ดังคำว่าอรหันต์นั้น แปลว่า ผู้ซึ่งไม่มีความลับนั้นเอง

ทาน คือการเริ่มเปิดตัวออก เปิดทรัพยากรของตนออกให้แก่ผู้อื่น สัตว์อื่นเท่าที่จำเป็นแก่เขา

ทางธิเบต แบ่งทานออก เป็นสี่ประการด้วยกันคือ

ก) วัตถุทาน ให้วัสดุสิ่งของแก่ผู้ที่ต้องการ เพื่อช่วยลดความอดอยาก หิวโหย แร้นแค้น ให้เขาได้มี ที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้า อาหาร และยารักษาโรค

ข) ให้ความปกป้องคุ้มกัน สำหรับคนที่อ่อนแอ ที่ต้องการความช่วยเหลือ จะให้พ้นจาก ความหวาดกลัว ไม่ว่า จะจากโรคภัยไข้เจ็บ โจรภัย หรือราชภัย คนที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของโสเภณี ของแรงงานเด็ก ก็อยู่ในข้อนี้

ค) ให้ความรัก คนเป็นอันมากปราศจากความรัก เขารู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย แปลกแยก ถ้าเราเข้าใจเขา รับฟังจากเขา สานไมตรีกับเขา ยกย่องเขา ให้เกียรติเขา ให้เขาเกิดความไว้วางใจ จนเป็นไมตรีจิต มิตรภาพ นับว่า สำคัญนัก

ง) ธรรมทาน ไม่ใช่ให้เขาถือพุทธ หากเปิดโอกาสให้เขาได้เข้าถึงสัจจะ ให้เขารู้ว่าแต่ละคนมีพุทธภาวะ หรือศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน หากเปิดใจออก ลดความเห็นแก่ตัวลง เขาจะเข้าถึ งความจริงอันวิเศษ มหัศจรรย์ยิ่ง เมื่อเข้าถึงสัจจะได้ แต่ละคนจะหาความสุขได้ทุกขณะ เขาจะเอาชนะ ความวิกลจริต ที่ติดโรคมาจาก ลัทธิบริโภคนิยม ทุนนิยม อำนาจนิยม ให้รู้จักปล่อยวาง อย่างเรียบง่าย หากจะมีพลัง ในทางสร้างสรรค์ นฤมิตกรรม อย่างสำคัญทีเดียว

ทานหรือการให้นั้น ขึ้นอยู่กับแนวคิดของเรา เราต้องฝึกปรือไว้ ไม่ใช่ให้คนที่ต่ำต้อยกว่าเรา หากความ ต้องการของเขา ช่วยให้เราได้เปิดกว้าง ให้เรามองเห็นอีกฝ่าย เห็นความต้องการของเขา ให้เรารู้สึก เป็นเกียรติ ที่ได้รับใช้เขา ให้อยากให้อย่างเต็มใจ ไม่ใช่ให้เพื่อหวังการตอบแทน จากเขา หรือ หวังสวรรค์ นิพพาน กล่าวคือการให้ ที่ให้อย่างจิตใจ ที่บริสุทธิ์ อย่างไม่หวังผลใดๆ อย่างไม่หวั่นเกรง หรือ อย่างตระหนี่ ถี่เหนียว กล่าวคือ การให้ย่อมเป็นไปอย่างปกติ ดุจดังการหายใจ เราย่อมหายใจ อย่างปกติ ฉันใด เราก็ย่อมให้อะไรๆ ใครๆ ได้อย่างปกติ ฉันนั้น

การหายใจช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้ฉันใด การให้อย่างปกติ ก็ช่วยให้ชาวพุทธมีความเป็นปกติ ทางด้าน การลด ความเห็นแก่ตัวฉันนั้น

(๒) ศีลบารมี เมื่อฝึกปรือจนการให้เป็นไปอย่างปกติแล้ว ก็ย่อมไม่ยากที่จะฝึกพูด ฝึกทำ ในสิ่งซึ่งเป็นปกติ คือไม่เอาเปรียบตนเอง และผู้อื่น โดยคำพูดและการกระทำดังกล่าว ยังช่วยให้เกิด บรรยากาศ แห่งการดำรงชีวิต อย่างเรียบง่าย อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อสติ จะได้เป็นตัวกำหนด ของการดำเนินชีวิต ไม่ใช่กิเลสตัณหา เป็นตัวกำหนด

ทานบารมีช่วยผู้อื่น สัตว์อื่นได้ขั้นหนึ่ง โดยที่ศีลบารมีช่วยให้เราไม่ต้องระวังตน ไม่ต้องพะวงถึง ความเห็นแก่ตัว เท่าไรแล้ว เพราะถ้าทานบารมีแก่กล้ามากเท่าไร ความเห็นแก่ตัว ก็ลดน้อย ถอยลงไป เพียงนั้น ช่วยให้เรานำศีลบารมีมาช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นได้ยิ่งๆ ขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น เราอยากโกหกเพื่อนรักสักคน เพื่อเขาจะได้ไม่โกรธเรา เพราะถ้าเราพูดความจริง ว่าเราได้ล่วงละเมิดเขา ไปในบางกรณี เขาคงโกรธเคืองเป็นแน่

ที่เรามั่นในศีลบารมีเพื่อที่จะไม่โกหก ก็เพราะไม่อยากให้ความเท็จปิดบังสัจจะ ซึ่งจะพัวพันกัน ในทางความเท็จ อย่างขายตัวไปเรื่อยๆ ทั้งยังเป็นการสร้างอกุศลกรรม ทำให้ปิดบังเรา ไม่อาจเข้าถึง พระอริยมรรค

ใช่แต่เท่านั้น การพูดเท็จกับคนอื่นนั้น บางกรณีเขาก็รู้ว่าเราโกหกเขา หรือถ้าเขาไว้ใจเราและเชื่อเรา ความเท็จที่เราบอกเขา อาจทำให้วิถีชีวิตของเขาตั้งอยู่บนความเท็จ เขาจะต้องทนทุกข ์เพราะความเท็จ ที่เราก่อขึ้น นับว่าเป็นโทษอย่างทวีคูณ ฉะนั้นการไม่พูดเท็จ คือการไม่สร้างความทุกข์ ให้ตัวเราเอง และผู้อื่น

ในขั้นที่ลึกซึ้งลงไปนั้น ศีลบารมี หมายถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลสรรพสัตว์อย่างตรงไปตรงมา และ อย่างจริงใจ แม้จะทำได้ยาก และแม้จะต้องเผชิญอุปสรรค ก็ไม่ย่อท้อ

ศีลทางฝ่ายเถรวาทนั้น เราปฏิบัติตามสิกขาบทเป็นข้อๆ หาไม่เราก็ทุศีล หรือล่วงสิกขาบท เป็นข้อๆ ไป แต่ในทางมหายาน ศีลบารมี ไม่ได้ยึดถือเป็นข้อๆ หากหมายเป็นองค์รวมว่า คำพูดและการกระทำของเรา ช่วยเหลือ เกื้อกูลผู้อื่นหรือเปล่า คือนอกจากให้ (โดยทาน) แล้ว เราต้องประพฤติปฏิบัติ เพื่ออนุเคราะห์ สงเคราะห์ และรับใช้ผู้อื่นอีกด้วย ในกรณีเช่นนี้ อาจผิดศีลข้อนี้ แต่โดยองค์รวม ถือได้ว่า เป็นคุณประโยชน์ ยิ่งกว่าย่อมพึงกระทำ ดังทะไลลามะถอดไตรจีวรออก แต่งเป็นทหาร สะพายปืน เพื่อหนีกองทัพจีน นี่ไม่ถือว่าผิด ในขณะที่พระพิมลธรรม (อาจ) รวมเครื่องกันภยันตราย ทับจีวรไว้ ตอนลงไป ในเหมือง ถ่านหิน ที่เยอรมัน ท่านถูกเล่นงานเสียแทบแย่ หรือถ้าเรารู้แน่ว่า โจรคนนี้มีลูกระเบิด ที่จะสังหาร คนในเรือ ทั้ง ๕๐๐ ให้ตายลงหมด เราจำต้องฆ่าโจรคนนี้เสีย อนึ่งมีเรื่องเล่าว่า พระอาจารย์เจ้ารูปหนึ่ง ในธิเบต เป็นที่เคารพสักการะ ของมหาชน วันหนึ่งท่านแต่งตัวมอมแมม หากพยายามปล้ำหญิงสาว ณ ริมธารน้ำ เด็กหญิงวิ่งหนี กลับไปบอกมารดา โดยเล่าถึงรูปร่างหน้าตา และการกระทำ ของพระเถระรูปนั้น มารดา บอกว่า ท่านองค์นั้นเป็นผู้สำเร็จ ถ้าท่านจะปล้ำ ก็ให้ท่านปล้ำเถิด นี่ถือได้ว่า เป็นบุญกิริยา ครั้นเด็กสาว กลับไปหาท่าน ท่านบอกว่า เจ้ามาหาเราช้าไปเสียแล้ว เมื่อตอนเราจะปล้ำเจ้า ก็เพราะเห็นได้ ด้วยญาณว่า ลามะผู้ลามกรูปหนึ่ง ซึ่งเพิ่งตาย กำลังจะไปเกิดในท้องลา ถ้าเราเสพกามกับเจ้า แม้ศีลเรา จะขาด ก็อาจช่วยให้ลามะรูปนั้น มาเกิดเป็นคนในท้องเจ้าได้ แต่นี่ก็ไปแล้ว เขาไปเกิดเป็นลา เรียบร้อยไปแล้ว ดังนี้เป็นต้น นี้คือข้อแตกต่าง ทางศีลบารมี ของมหายาน กับศีลสิกขาของเรา ซึ่งควรที่เราจะดำริ โดยอย่าเพิ่ง ด่วนสรุปลงง่ายๆ
(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๔ เมษายน ๒๕๔๖)