หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


พออยู่พอกิน ก็ดีแล้วหละ

เอาล้อมอเตอร์ไซค์อีกอันมาเสริมด้วยโครงเหล็ก นำมายึดติดกับด้านข้างมอเตอร์ไซค์คันเก่า ที่ยังใช้งานได้ ดัดแปล งเป็นสามล้อ แบบไทยประดิษฐ์ ที่ประเสริฐหาซื้อมาเอาไว้บรรทุกสิ่งของ สารพัดประโยชน์ โดยเฉพาะ จะเอาพืชผักผลไม้ ไปส่งขายในตลาดทุกวัน

ประเสริฐล้างมอเตอร์ไซค์สามล้อ ทำความสะอาดแล้ว เก็บผักและผลไม้ที่กำลังสุกงอม ในสวน ใส่ตะกร้า เตรียมใส่รถเพื่อ ให้ภรรยานำไปฝากตายาย เช่นทุกครั้งเมื่อได้พาลูกๆ กลับไปเยี่ยมท่าน

เครือวัลย์ ขึ้นนั่งขับรถ ส่วนลูกๆ จะนั่งรวมกันในกระบะพ่วงข้างมอเตอร์ไซค์ ลูกๆ คุยกัน อย่างสนุกสนาน ตามประสาเด็ก ถนนลูกรัง คดเคี้ยว ตัดผ่านเลยไป ตั้งสามหมู่บ้าน จึงจะทะลุไปถึงหมู่บ้านของตายาย

เจ้าจุกลูกชายคนโต หิ้วตะกร้าผลไม้ ช่วยแม่พร้อมพาน้องๆ เข้าไปกราบไหว้ตายาย แล้วพากันวิ่ง ตรงไปยัง ต้นฝรั่ง พื้นบ้านที่มีลูกโตเท่าไข่ไก่ กำลังสุกหอมชวนกิน ผลไม้พื้นเมือง รสอร่อย หลายชนิด ในสวน หลังบ้านตายาย คือเป้าหมายแรก ของพวกเด็กๆ

"พวกป้าลุงไปไหนกันคะตา" เครือวัลย์ถามหาพี่สะใภ้และพี่ชาย

"เขาออกไปซ่อมเถียงนาเตรียมเอาไว้พักในช่วงดำนานี้ แล้วลูกหละ ได้หว่านข้าวกล้าหรือยัง"

"ลูกพึ่งไถกลบไว้สองแปลง คงอีกสี่ห้าวันโน่นแหละถึงจะได้หว่านข้าวกล้ากันค่ะตา"

"ปีนี้เจ้าจุกจะขึ้นชั้นใหม่แล้วผลการเรียนอยู่ในระดับต้นๆ หรือเปล่า" ตาถามถึงการเรียน ก็เพื่อจะได้ ช่วยกันส่งเสริม ดูแลลูกหลาน ให้เกิดแนวความคิด และพัฒนาไปใน ทำนองคลองธรรม เพราะตา รู้ดีว่า เด็กน้อยส่วนใหญ่ ในยุคสมัยนี้ ได้ถูกความเจริญ ความสะดวกสบาย ทางวัตถุ เข้ามาทรงอิทธิพล ตัดตอน เอาค่านิยม และประเพณีอันดีงาม ที่เคยสืบทอดกันมา ให้ขาดหายไป

"หลานๆ ทุกคนก็เรียนค่อนข้างเก่งค่ะตา เพราะเขาโชคดีได้ครูที่มีอุดมการณ์ใส่ใจเอาภาระสอนนักเรียน ทั้งการพูดจาก็สุภาพ เป็นกันเองดีกับนักเรียนทุกคน แต่สมัยนี้ ก็มีอยู่อีก หลายโรงเรียน ที่ลูกได้ฟังเขา เล่ามาให้ฟังว่า ครูมักจะใช้คำพูด "กู_มึง" กับนักเรียน ขนาดครูแท้ๆ ยังไม่สนใจคำความ ที่เหมาะสม ใช้กับนักเรียน

"เมื่อครูไม่ช่วยกันสร้างนักเรียนให้ซึมซับความอ่อนน้อมเพื่อเป็นต้นแบบ แล้วจะให้นักเรียน จบออกไป เป็นคนฉลาด พูดจาอ่อนน้อม มีวินัยที่ดี คงจะยากเอาการ แต่พวกหลานๆ ของตา เขาคงมีบุญ ได้เข้าโรงเรียน ที่อยู่ใกล้ และครูท่านต่างก็เป็นคนดี มีอุดมการณ์กันทุกคน"

พูดจบเครือวัลย์ลุกเดินเข้าไปเอามีดในครัวมาปอกมะละกอที่กำลังสุกงอมหั่นเป็นชิ้นๆ ใส่จาน ส่งให้ตายาย พร้อมการพูดคุย ถามข่าวคราวเช่นทุกครั้ง

ตาเริ่มพูดคุยกับลูกสาวต่อ "ลูกๆ ทุกคนตายายก็หมดห่วงเพราะต่างก็มีนามีสวนไว้ทำกิน พออยู่ได้ ไม่ขัดสน แต่ก็เป็นห่วง พวกหลานๆ ที่กำลังจะโตขึ้นไป เป็นหนุ่มสาว ในอีกไม่กี่ปี ข้างหน้านี้ เพราะในยุคสมัยนี้ ธรรมชาติป่าไม้ ได้ถูกทำลายลง จนแทบไม่หลงเหลือ อาหารและทรัพยากร ที่ชาวบ้านอาศัย หามาได้ จากป่าธรรมชาติ ถูกตัดตอน "เงิน" จึงเป็นเป้าหมายใหญ่ ที่จะนำอาหาร และ ปัจจัยร้อยแปด ในครัวเรือน เอามากิน มาใช้ เพื่อความอยู่รอด ยุคนี้จึงเริ่มเข้าสู่ยุควิการ หรือยุควิกฤตเข้าไปแล้ว

"ยุคที่ตายายยังเป็นหนุ่มสาว ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มาก มีแอ่งน้ำที่ไหน จะมีพวกกบเขียด ปู ปลา ที่นั่น เรียกได้ว่า ยุคนั้น ชาวบ้านจะมีอาหารเหลืออยู่เหลือกิน

ตกมาในยุคที่ลูกๆ โตเป็นหนุ่มเป็นสาวธรรมชาติก็ยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่าง ได้รับมรดก ตกทอด มีที่ดินทำกิน อย่างน้อยคนละ สิบกว่าไร่ เป็นยุค ยังพอมีอยู่มีกิน

"แต่ต่อมาถึงยุคสมัยนี้สิ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ได้รับมรดกที่ดินเอาไว้ทำกิน จะมีไม่เกิน คนละหกไร่ ต่างพากัน ทำลายระบบ ความสมดุล ของธรรมชาติ อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยการนำเอายาฆ่าแมลง มาใช้กันไปทั่ว กบเขียด ปู ต่างลดจำนวนลง จนแทบไม่หลงเหลือ ยุคนี้จึงเป็นยุค ข้าวยาก หมากแพงกันแล้ว"

"เมื่อบ้านเมืองสังคมกำลังมุ่งไปสู่ความวิกฤติ แล้วตาคิดว่าจะไปแก้กันตรงไหนกันก่อนคะ"

"จะไปแก้สังคมใหญ่ๆ คงจะแก้ยาก แต่ในสังคมของหมู่บ้านที่เป็นส่วนน้อยนั้นยังคง จะพอแก้ได้ หากชาวบ้าน ที่เป็น ผู้นำชุมชน หันมาสนใจ ศึกษาพระศาสนา ปฏิบัติศีลห้ากันให้ได้หลายๆ คนแล้ว ระบบบุญนิยม ที่มีการแบ่งปัน ข้าวของเครื่องใช้ ให้กับเพื่อนร่วมสังคม ที่กำลังอดอยาก ขาดแคลน ก็จะเกิดขึ้น จนเต็มรูปแบบ สังคมที่กำลังร้อนแรง ก็จะคลี่คลายไป ในทางที่ดี เป็นสังคมที่ช่วยน้อง หรือสังคมที่ ทุกคนต่างมีความเป็นอยู่ อย่างพอมีพอกิน"

"สมัยนี้มีหลายคนที่มักจะพูดเตือนเพื่อนๆ ที่คิดอยากจะมีลูกเอาไว้เลี้ยงกันหลายคนว่า 'มีลูกมาก จะยากจน มีลูกหนึ่งคน จนไปตั้งสิบปี'

"ในสมัยก่อน หลายครอบครัวมีลูกมาก ก็ไม่มีปัญหา เพราะในยุคเก่านั้น สังคมในหมู่บ้าน ไม่มีการแข่งรวยกัน ไม่มีการ เล่นการพนัน การสร้างบ้าน ก็ทำแบบง่ายๆ ผู้คนในหมู่บ้าน ต่างมีน้ำใจ ช่วยเหลือและแบ่งปัน หากวัวควายแก่ตาย ชาวบ้านก็จะชำแหละ แบ่งปันทั่วทั้งหมู่บ้าน ไม่มีการซื้อขาย คนที่มีผ้าฝ้าย ก็จะเอาไปแลกตะกร้า กับบ้านที่เก่ง ในงานจักสาน โดยไม่คำนึงถึง ราคากัน

"สังคมชื่นชมคนที่ขยันในการทำไร่นาและเก่งชำนาญหาล่าสัตว์ปู ปลามาให้ครอบครัว ความขยัน จึงเป็นนิสัย ติดตัวหนุ่มสาว มาก่อนที่จะมีครอบครัว"

"และที่สำคัญ ผู้นำในแต่ละครอบครัว ต่างชอบลงไปวัด ฟังพระเทศน์ นำพระธรรมคำสอน มาปฏิบัติ แล้วถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน ให้เขาได้ซึมซับ เรียนรู้เข้าใจถึ งเรื่องบุญบาป ที่มีจริง ทั้งฉลาดรู้แนวทาง ที่จะดำเนินไป เป็นผู้ใหญ่ แบบมีความเป็นอยู่ได้ อย่างพออยู่พอกิน"

เครือวัลย์รู้ดีว่า ความขยัน อดทน ฉลาด รู้การประคับประคอง ช่วยสามีสร้างฐานะ ครอบครัวอยู่ได้ อย่างพอมีอยู่มีกิน ก็คงเพราะ ตายายท่านได้เอาวิชาศีลธรรม อบรมบ่มนิสัย มาแต่ครั้ง ยังเยาว์นั้นเอง

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖)