>เราคิดอะไร

ข้าพเจ้าคิดอะไร ? - สมณะโพธิรักษ์ -
กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน (ต่อจากฉบับที่ ๑๕๕)

ผู้ใดชมภาพใดภาพหนึ่ง เป็นต้น แล้วเกิดความรู้จัก กำหนดหมายได้ว่า "งาม" โดยไม่เกิดความรู้สึก"กาม" นั่นคือ ศิลปะ ที่เป็นมงคลอันอุดม แต่ถ้าผู้ใดชมภาพใดภาพหนึ่ง แล้วเกิดความรู้สึกหรืออารมณ์ "กาม" โดยมี "ความงามหรือไม่งาม" ก็ตาม นั่นคือ อนาจาร (ความประพฤติชั่ว,ลามก,น่าบัดสี) เพราะเป็น ข้าศึกแก่กุศล

ผู้ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า สิ่งที่ตนนำแสดงนั้น จะก่อให้เกิดกาม หรือจะก่อให้เกิดเพียงความงาม ก็ย่อม หลงสร้างความเป็นกามออกมาแสดง แล้วหลงว่า ตนแสดงความงาม และคนผู้หลงคำว่า "ศิลปะ" หรือ ไม่มีภูมิพอว่า ศิลปเป็นมงคลอันอุดม และ"ความเป็นมงคล" นั้นมันอย่างไร แค่ไหน ก็จะสร้าง ผลผลิต หรืองาน"อนาจาร"ออกมามอมเมาคนพลโลก แต่หลงว่าตนสร้างงาน"ศิลปะ"อยู่ร่ำไป โดยไม่รู้ตัว เพราะความเป็น "อวิชชา"โดยแท้

ผู้จะมีความรู้ถึงขั้น"โลกุตระ"หายากในโลก จึงมี"ศิลปิน"ที่ยังไม่ลึกซึ้ง สร้าง"งานอนาจาร"อย่างจัด จ้าน บ้าง หรืออย่างปานกลางบ้าง และอย่างเบาบางบ้าง ออกมาครอบงำคน ในสังคมในโลกตลอดมา

นอกจาก"งานอนาจาร"ที่ผลิตออกมา"มอมเมากาม" แล้วก็ยังมี"งานอนาจาร"ที่ผลิตออกมา"มอมเมาอัตตา" ให้หลงติดหลงยึดกันในแนวลึกเข้าไปในภพในชาติ อีกนักกว่านักในวงการศิลปะ ซึ่งนับเป็น "งานอนาจาร" เพราะเป็นผลผลิต หรือเป็นงานที่เพ้อพกรกเลอะ ไร้สารสัจจะ ไร้ประโยชน์ มันเป็นการ ปรุงแต่ง ที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยเข้าไปในจิตใจ แล้วหลงติดยึดอย่างเปลืองเปล่าไม่เข้ายา ก็ มีอีกมาก

อันเป็นเรื่องของ"ภพแห่งนามธรรม" โดยนักผลิตจะปรุงสร้าง"นิมิต"ต่างๆที่เป็นสิ่งสมมุติลึกเข้าไปหลง ติดกันอยู่ในห้วงของจิต ต่างพากันสมมุติหรือเนรมิตกันขึ้นมา ไม่จบสิ้น แล้วก็พากันหลงว่าเป็นความ เจริญ งอกงามของ ศิลปะ ทับถมเข้าไปเป็น"มายาธรรม"ในสังคม โดยไม่มีใครสามารถให้สติ หรือให้สัญญาณ สะกิดเตือน กัน จึงต่างก็พลอยหลงเลอะไปตามๆกัน แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นกันว่า นี่คือ "งานศิลปะอัน สูงส่ง"

ซึ่งผลผลิตที่ว่านี้ ไม่ใช่"กามคุณ ๕" แต่เป็น "อัตภาพภายในจิต" ที่หลงเสพ หลงติด สะใจ อร่อยในใจ ดื่ม ด่ำ ในใจ เป็น"อัสสาทะ"หรือรสสุขที่เรียกว่า "อัตตทัตถสุข" ซึ่งไม่ใช่"กามสุข" ตัวผู้สร้างงานเองนั่น แหละ เป็นผู้"สมมุติ" ตามใจเพ้อฝันของตนเอง และหลง"ดื่มด่ำสะใจตนเอง"(อัตตทัตถสุข)ก่อนคนอื่น แล้วจึง มอมเมาคนอื่นต่อ ให้หลงชื่นชอบดื่มด่ำสะใจตาม

งานดังกล่าวนี้ ก็ตั้งชื่อเรียกกันหลากหลาย เช่น แบบ"ศิลปนามธรรม"(abstract art)บ้าง "ลัทธิประทับใจ" (impres- sionism)บ้าง "ลัทธิเน้นแสดงพลังอารมณ์" (expressionism)บ้าง "ลัทธิเหนือจริง" (surrealism)บ้าง "ลัทธิเกินพอดี"(mannerism)บ้าง แบบ"มายาสัจนิยม" (magic-realism)บ้าง
[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖)