>เราคิดอะไร

คิดคนละขั้ว- แรงรวม ชาวหินฟ้า -

การแต่งงานในวัด
ขัดกับพุทธประสงค์หรือไม่?

วามจริงถ้าจะมีใครสักคนคิดทำอะไรแผลงๆ แปลกๆ ขึ้นมา ก็น่าจะพอรับกันได้ เพราะถือเสียว่า เป็นเรื่องของอุบัติเหตุ หรือกระทำไปโดยความไม่รู้ โดยขาดเจตนาร้ายใดๆ แต่ถ้าหากสิ่ง ที่ไม่สมควร นั้นกระทำไปแล้ว มีผู้คนสนับสนุนขยายผลการกระทำนั้นๆ ทางแนวความคิดให้กว้างขวางออกไปอีก ตรงนี้ก็คงต้องขออนุญาตท้วงติงไว้บ้าง เพื่อไม่ให้ศาสนาพุทธในยุคที่ใกล้ๆ กลียุคเต็มทีต้อง ทรุดโทรม หนักไปกว่านี้

จาก น.ส.พ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๕ พ.ค. ๒๕๔๖ คุณธรรมเกียรติ กันอริ ในคอลัมน์ บังอบายเบิกฟ้า ได้เขียน บทความเรื่อง อิทธิพลในพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาที่สำคัญดังนี้

ข่าวศิลปินแต่งงานหรือร่วมพิธีมงคลสมรส โดยอาศัยวัด เป็นสถานที่ประกอบพิธี นั่นคือ คุณภักดีหาญส์ หิมะทอง หรือ หาญส์ หิมะทองคำ ดาราและ ส.ก.เป็นเจ้าบ่าว ส่วนเจ้าสาวคือ คุณมัณฑนา โห่ศิริ ทั้งนี้ขบวนขันหมาก ของเจ้าบ่าว ตั้งที่วัดพระไกรสีห์ (น้อย) แยกรามคำแหง ๒๑ แล้วเคลื่อนขบวน ขันหมาก ไปสู่วัดเทพลีลา สิ้นสุดที่ศาลาการเปรียญ อันเป็นสถานที่รับสินสอดหมั้น งานนี้ ถ้าจะใช้คำว่า อนุโมทนา ก็ไม่น่าจะถูก จึงขอใช้เพียงขอแสดงความยินดีด้วย

ปัจจุบันมีข่าวการแต่งงานแบบแปลกๆ เช่น ไปจดทะเบียนสมรสใต้น้ำ หรือปีนดอย ขึ้นยอดดอยสูง แล้วเดือดร้อนนายอำเภอ ซึ่งมิได้มีส่วนได้เสีย เว้นแต่เป็นเจ้าพนักงาน ต้องพลอยดำน้ำ หรือบุกป่าฝ่าดง ขึ้นดอยไปทำหน้าที่ รับจดทะเบียนให้ เรื่องอย่างนี้ไม่ว่ากัน เป็นรสนิยมส่วนตัว

บางคนถามผู้เขียนว่า ประกอบพิธีแต่งงานในวัดได้หรือ วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประกอบ ศาสนพิธี มิใช่หรือ ผู้เขียนได้ตอบตามทัศนะส่วนตัวแก่ผู้ถามว่า การประกอบพิธีมงคลสมรสในวัดนั้น อยู่ในวิสัย ที่ทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย เช่น ใช้ศาลาการเปรียญ นั้นชอบ ที่จะใช้ได้ จะใช้พระอุโบสถ หรือโบสถ์เป็นที่หมั้นหมาย ตลอดจนรดน้ำสังข์ย่อมไม่ได้ เพราะพระอุโบสถ เป็นที่ประกอบ สังฆกรรม เว้นเพียงคู่บ่าวสาว จะเข้าไปบูชาสักการะ พระประธานย่อมทำได้ กระนั้นถึงการใช้ ศาลา การเปรียญ ซึ่งทางวัดอนุญาตแล้ว พระเณรจะเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น การไปมุงดู หรือเข้า ไปบริการ ในการจัดสถานที่ ย่อมไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย เพราะตามพระธรรมวินัย การที่ฆราวาส จะครองคู่กัน เป็นเรื่องกิจของโยม มิใช่กิจของสงฆ์ แม้สามีภรรยาเขา หย่าร้างแยกทางกัน พระมีความ ปรารถนา ให้เขาคืนดีกัน จะไปพูดจาว่ากล่าวชักนำให้คืนดี พระรูปนั้นย่อมอาบัติ แต่การแต่งงาน แบบไทย ที่มักขอ ให้พระเถระ ที่ตนนับถือทำมงคลไว้สวมศีรษะ เวลารดน้ำก็ดี หรือนิมนต์พระ มาเจริญ พระพุทธมนต์ ก็ดี ไม่ได้เกี่ยวกับการแสดงความยินดียินร้าย หรือชักนำฝ่ายชายหญิงให้ครองคู่ หากถือเป็นการฉลอง ศรัทธา ญาติโยมพุทธบริษัทตามปกติ อย่างไรก็ดี แม้การใช้ศาลาการเปรียญ อันมิใช่ที่ประกอบ สังฆกรรม เช่น พระอุโบสถ ฆราวาสผู้ย่างก้าว สู่เขตพระอาราม ย่อมมีความสัมมาคารวะ ไม่ล่วงละเมิด ในทางผิดศีล เช่น การดื่มสุรา ดังการใช้ศาลาการเปรียญ เป็นที่ประกอบ พิธีแต่งงานนั้นทำได้ แต่ทว่า จะใช้เป็นห้องหอ คู่บ่าวสาวนั้น ทำไม่ได้

ดังนั้น การที่วัดยังประโยชน์แก่พุทธบริษัทที่เป็นฆราวาสได้บ้าง เช่น สามารถเข้าไปในศาลาการเปรียญ ทำกิจกรรม โดยไม่ขัดพระธรรมวินัย ย่อมทำให้คนมีเหตุเข้าวัดเพิ่มขึ้น วัดยังจะมีบทบาท ต่อชีวิตของเขา ต่อชุมชน

จากบทวิเคราะห์เรื่องอาบัติของพระ แสดงว่าคุณธรรมเกียรติ กันอริ เป็นผู้มีความรู้ ทางพุทธศาสนาดี ท่านหนึ่ง เพราะรู้ขนาดว่า "การที่ฆราวาสจะครองคู่กันเป็นเรื่องกิจของโยม ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แม้สามีภรรยา เขาหย่าร้องแยกทางกัน ถ้ามีความปรารถนา ให้เขาคืนดีกัน จะไปพูดจาว่ากล่าว ชักนำให้คืนดี พระรูปนั้น ย่อมอาบัติ"

จะเห็นได้ว่าขนาดผัวเมียที่เขาหย่าร้างกันแล้ว ถ้าพระไปบอกให้เขากลับมาคืนดีกัน พระพุทธเจ้าท่าน ปรับเป็น อาบัติหนัก รองลงมาจากปาราชิกทีเดียว เพราะในสมัยที่พระองค์ ยังทรงพระชนม์ชีพ อยู่นั้น เจ้าชายนันทะ พุทธอนุชา เพิ่งอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชนบทกัลยาณี พระพุทธเจ้าทรงจับ เจ้าบ่าว (บ่าวผู้ยิ่งใหญ่) และเจ้าสาว (จอมยุ่งผู้ยิ่งใหญ่) ให้แยกออกจากกัน ในวันอภิเษกสมรสนั่นเอง มิทันได้อยู่ ร่วมหอ ดังเช่นคู่บ่าวสาวทั่วไป แถมยังจับเจ้าบ่าว เข้ามาบวชเป็นพระนันทะ ในที่สุด และยังพุทธพจน์ ตรัสถึงชีวิตคู่และชีวิตโสดเอาไว้ว่า ผู้ใดตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขาเรียกว่า บัณฑิต ส่วนคนโง่ ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง" และได้ตรัสถึงโทษภัย ของความรักเอาไว้ว่า

"ผู้ใดมีรักร้อยย่อมทุกข์ร้อย
ผู้มีรักเก้าสิบย่อมทุกข์เก้าสิบ
ผู้มีรักสิบย่อมทุกข์สิบ
ผู้ไม่มีรักย่อมไม่มีทุกข์"

และยังตรัสติเตียนให้ภิกษุทั้งหลายได้ ตระหนักถึงโทษภัยของเมถุนธรรม เอาไว้ว่า เป็นธรรมอันสถุล (ทุฏฐุลลัง) เป็นธรรมะอันถ่อ (วสะละธัมมัง) และเป็นธรรมของชาวบ้าน (คามธัมมัง)

ดังนั้น การจัดพิธีแต่งงานในวัด ซึ่งเป็นสถานที่ที่สั่งสอน ให้คนเห็นโทษภัยในวัฏสงสาร นอกจาก จะไม่สอด คล้อง ยังย้อนแย้งกับธรรมวินัยอย่างยิ่ง แม้พระที่เข้าไปประกอบพิธีแต่งงาน คุณธรรมเกียรติ ช่วยแก้ ให้ว่า พระท่านไม่ได้ไป แสดงความยินดียินร้ายอะไร แต่เรื่องความผิด เกี่ยวกับพระวินัยนั้น ไม่จำเป็น ต้องเกี่ยวข้อง กับความยินดียินร้าย แต่ขึ้นอยู่กับว่า กรรมนั้นได้ทำสำเร็จหรือไม่ เช่น ความผิด ในเรื่อง พระไปชักสื่อ ให้ชายหญิง เป็นผัวเมียกัน ความผิดสถานหนัก จะเกิดขึ้นทันที เมื่อได้ทำหน้าที่เป็น พ่อสื่อ ได้ครบวงจร แม้จะเกิดผลสำเร็จ หรือไม่สำเร็จก็ตาม เช่น รับปากฝ่ายชาย จะไปบอกให้ฝ่ายหญิง เมื่อบอก ฝ่ายหญิงแล้ว หญิงนั้น จะรับคำก็ตาม ปฏิเสธก็ตาม หรือจะนิ่งเพราะเหนียมอายก็ตาม ภิกษุกลับ มาแจ้งข่าว แก่ฝ่ายชายอีกเมื่อใด ก็ให้ถือว่าเป็นอาบัติสังฆาทิเสสทันที

ส่วนการที่พระเข้าไปร่วมประกอบพิธี ให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกันนั้น แม้จะไม่มีพุทธดำรัส ตรัสห้ามไว้ โดยตรง แต่ก็น่าจะใช้หลักมหาประเทศ เข้ามาเทียบเคียงได้ว่า สิ่งใดที่เข้ากับธรรมวินัย ได้สิ่งนั้น ย่อมควรทำ แต่สิ่งใด ที่ไม่เข้ากับหลักธรรมวินัย สิ่งนั้นย่อมไม่ควรทำ ความจริงแล้ว ก็เป็นความ ปรารถนาดี ของคุณ ธรรมเกียรติ กันอริ ที่อยากให้มีคนได้เข้าวัดกันมากๆ แต่ถ้าหากไม่เน้นคุณภาพ คุณธรรม ควบคู่ ไปด้วยกันแล้ว ก็จะได้แต่ปริมาณมากๆ เช่น วัดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็น สถานที่ส่งเสริม อบายมุข ซึ่งก็จะมีคน มาเที่ยวกันเต็มวัด แล้ววัดกับวิก หรือวัดกับโรงแรม ที่จัดให้คนแต่งงาน จะต่างกันอย่างไร???

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖)