>เราคิดอะไร

เวทีความคิด - เสฏฐชน -
เหงาทำไม

ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์ให้ฟังว่ายุคนี้ที่มีจำนวนคนติดยาเสพติดมากขึ้น คนเล่นการพนันมากขึ้น คนทำผิด ทางเพศมากขึ้น คนทำร้าย ฆ่าฟันกันมากขึ้น คนเครียดมากขึ้น เพราะมาแต่ "ความเหงา" แม้ที่มีเครื่องบำรุงบำเรอ บำบัดด้านต่างๆ มากขึ้นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าเป็นกิจกรรม เกม งาน เครื่องเล่น สถานที่ ฯลฯ ก็มาจากสาเหตุเดียวกัน "คนขี้เหงา" จึงอยู่คนเดียวไม่ได้ อยู่เฉยไม่ได้ ต้องแสวงหาความเป็นคู่ ทั้งในลักษณะที่เป็นสาระและไร้สาระ

หากคนหมกมุ่นอยู่กับการงาน แม้จะดูดีกว่าหมกมุ่นกับการเล่น แต่ก็เป็นเพียงรอยกลบเกลื่อน ปิดบังให้ดูดีกว่า นอกเหนือจาก "งานเพื่อเงิน" หรือ "งานเพื่อเกียรติยศชื่อเสียง" ก็อาจเป็น "งานเพื่อมีเพื่อนฝูง ห้อมล้อม" ก็ได้ หากมีโอกาส อยู่คนเดียวเมื่อไหร่ คนที่ขยันทำงานนั่นแหละ อาจจะตกใจ เมื่อรู้โฉมหน้าตัวเอง เพราะความเหงานั้น เป็นกิเลสตัวร้ายกาจ ลึกล้ำกว่ากิเลส เพื่อเงิน เพื่อชื่อเสียง เพื่ออะไรอื่นๆ ที่เห็นได้ด้วยตา สัมผัสด้วยองค์ประกอบภายนอก

เพราะมิฉะนั้นแล้วคงจะไม่เกิดกรณีคนที่พรั่งพร้อมด้วยโลกธรรม ล่วงสู่มัชฌิมวัย-ปัจฉิมวัย ยังต้องไปมีคู่ ต้องมีคู่นอน ด้วยเหตุผลว่า "เหงา" ดังคำสัมภาษณ์เจ้าสาวอายุ ๗๐ เจ้าบ่าวอายุ ๘๐ ทั้งคู่นี้ให้คำตอบว่า ต้องการเพื่อนนอน แก้เหงา

วัยล่วงเข้าปูนนี้แล้วยังมีความรู้สึกเหงา จะกล่าวไปไยถึงวัยรุ่น กำดัด หนุ่มสาวกว่านี้ว่า จะมีความรู้สึก อย่างนี้อีกปริมาณเท่าใด ผลสะท้อนที่สังคมได้รับจากคนขี้เหงา คือ สังคมเต็ม ไปด้วย คนหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสังคม ในชื่อสมาคมอะไรก็ตาม ที่อาจอยู่ในรูปภาษาว่า บ่อน สนาม สโมสร คลับ บาร์ เทค...ฯลฯ โคตรเหง้าจริงๆ ล้วนเป็นสถานที่บำบัดความเหงาทั้งสิ้น

ไม่ยกเว้นแม้แต่ที่เรียกว่า "สำนัก วัด สถาน-ธรรม พุทธสถาน ฯลฯ" คือ สถานที่รวมตัว ของคนขี้เหงา ก็ได้ ด้วยเหตุผลที่ดูเก๋ ดูดี ไม่ให้รู้สึกถึงปมปัญหาว่า ล้วนมีความรู้สึกเหงา ด้วยการยกเหตุผล ให้อุ่นใจว่า "คนเป็นสัตว์สังคม" ฉะนั้นจึงต้องรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่ เป็นทีม เป็นคณะ ...ฯลฯ

ปัจจุบันมีการเรียกร้องให้สถาบันครอบครัวสร้าง "ความอบอุ่น" เพื่อสมาชิกในครอบครัว จะได้ไม่เหงา จนพ่อบ้าน ต้องไปเที่ยว แหล่งอบายมุข ต้องไปมีภรรยาอีกหลายๆ คน แม่บ้านไม่ต้อง ออกไปตั้งวง "รวมมิตร" เล่นไพ่ ช็อปปิ้ง สังคมสงเคราะห์อื่นๆ ลูกไม่ต้องไปติดยาบ้า ยาอี แม้แต่ในวัด ก็ต้องมีการ "เอื้อไออุ่น" เพื่อให้สมาชิกอยู่รวมกันอย่างไม่เหงา

เพราะความเหงา คือ เพื่อนสองของคน เมื่อคนยังไม่พ้นความเหงา จึงปรากฏภาพสังคม ชดเชย ความเหงาระดับหนึ่ง ออกในรูป "ภาพรวม" จึงไม่ชัดเจนเท่า "ภาพเดี่ยว" เช่น การแต่งงาน ติดเพื่อนเล่น-เพื่อนกิน -เพื่อนเที่ยว -เพื่อนเรียน -เพื่อนทำงาน ฯลฯ

การเกิดรสนิยมเซ็กส์เสรีจึงไม่มีอะไรยับยั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน จะโทษว่าเป็นหายนธรรม จากตะวันตก ไม่ต่างไปจาก ความเห็นทำนองที่ว่า ความกตัญญูกตเวทีหายไปจากโลกตะวันออก เพราะคนกินนมสัตว์ ไม่ได้กินนมแม่ (คน) ทั้งๆ ที่คนเองนั่นแหละ เป็นผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อมาเป็นเพื่อน บำบัดความเหงา ไม่ว่าจะเลี้ยงหมา แมว นก ฯลฯ มิหนำซ้ำ ยังไปแย่งนมสัตว์ มากินเสียอีก แม้จะโต ด้วยอาหารอื่นที่ไม่ต้องอาศัยนมเหมือนเด็กๆ อีกก็ตาม

เคยแปลกใจไหมว่า ทั้งๆ ที่ยุคนี้มีเครื่องมือเทคโนโลยีสารพัดอย่างที่ง่ายแก่การติดต่อ จนการพบ เผชิญหน้ากัน จะน้อยลง ทั้งมือถือ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ซีดี วิดีโอ ฯลฯ คนน่าจะอยู่ ติดบ้าน มากกว่า ก่อนที่ไม่มีเครื่องบำรุงบำเรอ มากมายเพียงนี้

คนสมัยนั้น บางคนไม่เคยออกจากบ้านเลยจนแก่เฒ่าก็มี เด็กบางคนไม่เคยไปตลาดในเมืองเลยก็มี คนยุคนั้น กลับฆ่าตัวตายน้อย เสพสิ่งเสพติดน้อย ทำผิดทางเพศ นิสัยเสียน้อยกว่า คนยุคนี้ มีอุปกรณ์การสื่อสาร ที่ใกล้ตัวมากขึ้น มีซีดี วิดีโอ การคมนาคมเร็วมากขึ้น แต่คนกลับขี้เหงา มากขึ้น จนกระทั่งทำร้ายคนอื่น ฆ่าตัวตายมากขึ้น

ทำไมสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่อาจชดเชยความรู้สึกของเขาได้เลยหรือ? ไม่อาจเติมสิ่งที่เขา "คิดว่าเขาขาด" ได้เลยหรือ?

คนมีเงินมากมายร่ำรวยมหาศาลที่น่าจะซื้อความอบอุ่นได้ จ้างใครมาทำลาย ความเหงา ให้หมดก็ได้นี่ แต่คนมีเงินนั่นแหละ กลับยิ่งขี้เหงามากกว่าคนจนบางคนเสียอีก

คนรวย คนมีบริวารพรรคพวกมากๆ เช่น เศรษฐี นักการเมือง ผู้บริหารระดับสูงมักจะรำพันว่า "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" คือสื่อที่บอกเราว่า เขายิ่งมากด้วยสิ่งเสพต่างๆ เท่าใด ความเหงาก็ยิ่งทวีคูณ ใช่ไหม?

ผู้ชายที่เจ้าชู้ ผิดศีลข้อ ๓ มากเท่าใด เขายิ่งแสวงหาสิ่งบำบัดความเหงามากขึ้นเป็นเงาตามตัว ถ้าจะกล่าวว่า ผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะคลายเหงาให้ผู้ชาย แต่ทำไม? ผู้ชายที่ผิดศีลข้อ ๓ จะมักเที่ยว มักติดเพื่อนฝูง ไม่ค่อยอยู่บ้าน กับภรรยา แม้ผู้ชายโสดก็มักไม่ค่อยอยู่กับพ่อแม่ พี่น้อง

ผู้หญิงที่ขี้เหงาอาจแสดงออกในรูปสาวสังคม ทันสมัยตามแฟชั่น รายรอบไปด้วยเพื่อนฝูง ล้อมเต็มไปด้วย บริวาร อาจสุดปลายทาง ไปถึงพระถึงเจ้าที่สนิทชิดคุ้นดุจ "ศิราณี" จนทำให้เกิดประโยค "สตรีเป็นศัตรูต่อพรหมจรรย์" ตีตราในสังคมศาสนา

ตำหนักเจ้าพ่อ เจ้าแม่ คนทรงต่างๆ เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่รวมตัวของคนขี้เหงาโดยเฉพาะสาวแก่ แม่ม่าย ความนิยม ทัดเทียมกับ บรรดาโหราพยากรณ์ หมอดู หมอนวด ที่เป็นคู่รับฟัง เรื่องระบาย จากลูกค้า ซึ่งรู้สึกว่า จะงามกว่า ไปรวมตัวกันอยู่ ตามเวทีคอนเสิร์ต ค็อกเทลเล้าจ์ ผับ ฯลฯ

วงเหล้า วงไพ่ วงไฮโล สนามมวย บ่อนกัดปลา ชนไก่ ก็ล้วนเป็นเครื่องหมาย บอกถึงความเหงา ของผู้ชาย เช่นกัน

สัจธรรมที่สะกิดให้คนรู้ตัวมาแต่เกิด ไม่ได้ทำให้คนรู้สึก เข้าถึงความจริงที่ว่า "ตัวเราเกิดมาคนเดียว" และต้อง "ตายคนเดียว" ไม่อาจพาใครติดพ่วงไปด้วยได้ แม้จะตั้งจิตอธิษฐานเกาะเกี่ยวกันเพียงใด ก็ต้องลำพัง ต่างคนต่างไป ฝาแฝด ที่ร่างกายติดกัน ก็ยังตายไม่พร้อมกัน ไม่ค่อยมีใครพินิจ ถึงความเหงา ว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง เป็นตัวทำลาย ความสุข ของตัวสุขแท้ เพราะมัวแต่ไปหา ความสุขเทียม โดยไม่รู้สาเหตุของความทุกข์ว่าคือความเหงา ถ้าคนหลุดพ้น จากความเหงาแล้ว คนก็จะพ้นจากความทุกข์ด้วย และคนไม่ต้องวิ่งไล่ "เงาความสุข" อีกต่อไป

คนมีคู่แล้วหรือคนโสดก็ตาม หากไม่ได้ศึกษาเรื่องความเหงาให้ชัดเจน ก็ยังต้องพบกับความทุกข์ ไขว่คว้า หาความสุขอยู่ดี เช่นกับคนแต่งงานแล้วต้องปล่อยให้ครอบครัวเหงา คนโสดยังมี หัวใจเหงา แม้แต่คนมีเพื่อนฝูงเยอะแยะ ก็ยังรู้สึกเหงา จนคนไม่กล้า ที่จะอ่านรู้ความเหงาในตัวเอง ไม่ยอมรับว่า ตัวเองเหงา ทั้งๆ ที่บางทีประโยค ที่มักนำมาบอก กับคนอื่นๆ ให้เชื่อว่า "คนเป็นสัตว์สังคม" นั้นอาจเป็นสื่อรหัสบอกถึงความรู้สึกเหงาที่อยู่ในก้นบึ้งลึกๆ ของคนเองก็ได้

กวี นักเขียน นักร้อง นักแสดง นักเทศน์ นักพูด ฯลฯ อาจมาจากความเหงาเป็นเบื้องต้น เขาก็อาศัย ความสามารถ ที่เขามี เขาเป็น เป็นทางระบายออก แม้แต่นักกินบางคนให้เหตุผลว่า "กินแก้เหงา" ก็เคยได้ยินเหมือนกัน

นอนแก้เหงา เที่ยวแก้เหงา เล่นแก้เหงา คุยแก้เหงา ทำแก้เหงา ฯลฯ เคยผ่านประสบการณ์ อย่างนี้ไหม ไม่ว่าตัวเราเอง หรือ ที่เห็นคนอื่นๆ

จะมีสักกี่คนที่ "กล้าทำใจให้เข้มแข็งอยู่กับความเหงา" ได้ จนกระทั่ง "ความเหงาทำอะไรเขาไม่ได้" ชัยชนะสูงสุด เขาจะได้สัมผัส กับความหลุดพ้น ที่ความเหงาไม่อาจเกิดขึ้นในหัวใจเขาเลย

คนที่ค้นพบ เข้าสู่เส้นชัยอย่างนี้ เขาก็จะเป็นผู้ทำงานเพื่อให้คนอื่นคลายเหงา เขาจะเป็นเพื่อน คนขี้เหงา เขาจะเขียนหนังสือ ให้คนเหงาอ่าน เขาจะเป็นเพื่อนคุยให้คนเหงาฟัง เขาจะทำงาน กับคนขี้เหงาให้เขาสนุก เขาจะอิสระ ปลอดโปร่งจาก ความเกาะเกี่ยวสิ่งต่างๆ ที่คนขี้เหงา ต้องอาศัย เป็นเครื่องแก้เหงาทั้งปวง

ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่ขี้เหงากว่าผู้ชาย คำปรามาสว่าผู้หญิงเป็น "พันธุ์ไม้เลื้อย" จึงถูกปลูกฝัง เป็นอคติ ในหัวใจคนอื่น แม้ผู้ชาย จะออกลักษณะเป็นคนขี้เหงาพอๆ กับผู้หญิง ที่อยู่บ้านไม่ติด ต้องไปมีกิจการ สังคมนอกบ้าน เฮฮากับเพื่อนฝูง ปิดบังความเหงา แต่ได้รับการมองในแง่ดีว่า เป็นคนใจกว้าง มนุษยสัมพันธ์ดีแทน

ผู้ชายบางคนชอบไปอยู่ตามโต๊ะสนุกเกอร์ ไปนั่งดูตัวเลขตลาดหุ้น ไปสนามกีฬา คาราโอเกะ เพื่อแสวงหา เพื่อนแก้เหงา อาจไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์อย่างเดียว

ผู้หญิงที่เขยิบการเล่นของผู้หญิง ไปเป็นกีฬาผู้ชาย เช่น ต่อยมวยไทย ก็อาจมาจากเหตุผลแก้เหงา ได้เหมือนกัน เพราะความต้องการ เปลี่ยนรสชาติเดิม ต้องการหนีความซ้ำซาก ต้องการหา สิ่งใหม่ ที่แปลก ถูกใจยิ่งๆ ขึ้น ก็เพราะตัวเหงานี่แหละ คือตัวสั่งการ

บางทีเราอาจมองพฤติกรรมสื่อบอกถึงความเหงาที่เร้นลับอยู่ใต้ก้นบึ้งของหัวใจ คนทั้งสองเพศ ได้จาก ความกระสับ กระส่าย จู้จี้ กระวนกระวาย ใช่จะออกแต่ในรูปเซื่องซึม เฉื่อยชา หมดอาลัย ตายอยาก เซ็งเซ็งด้านเดียว

คนที่ผาสุกอยู่กับการอยู่คนเดียวได้ ผาสุกอยู่กับการอยู่กับความเงียบได้ ผาสุกอยู่กับการเฉยๆ ลำพังได้ ผาสุก อยู่กับความสงัดได้ ความเหงาจะทำอะไรเขาได้

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ "ความกลัวเหงา" ทำให้ต้องยอมทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ดี เพื่อแลกเปลี่ยน ให้หายเหงา หรือ "ความเหงา" ทำให้ต้องยอมตามใจคนอื่นเพื่อให้เขามาเป็นเพื่อนแก้เหงา แม้อาชีพของเขาจะต้องอยู่ท่ามกลาง คนจำนวนมาก ก็ไม่ได้ เป็นเครื่องประกันว่า จะไม่เหงา ตราบที่เขาอ่านความเหงาไม่ออก เอาชนะความเหงาไม่ได้ และคิดว่า ความเหงา เป็นสิ่งที่ ไม่น่าพึงปรารถนา

เขาไม่รู้ว่าคนที่ชนะความเหงาได้แล้ว เขารู้คุณค่าของความเหงาว่าทำให้เขาเห็นโทษของความวุ่นวาย รู้คุณค่า ของความเหงาว่า ทำให้เขารู้จักตัวเอง ทำให้เข้าถึงความเข้มแข็ง มีความแข็งแรงในตัวเอง และ เป็นอิสระ จากเครื่องเกาะเกี่ยวทั้งปวง

คนที่ชนะความเหงา จะชนะราคะได้ คนที่ชนะความเหงาจะชนะโทสะได้ คนที่ชนะความเหงา จะชนะ แม้ความกลัวตายได้ จะกล่าวถึงรสชาติอื่นใดอีกในโลก ไม่ว่าจะเป็นรสชาติของอบาย รสชาติของกาม รสชาติของโลกธรรม ที่หยาบกว่าตื้นเขินกว่าเป็นไหนๆ ที่เขาจะต้องอาศัย เป็นเครื่องมือ บำบัด ความเหงาเหล่านั้น

ผู้ที่ยังเสพติดสิ่งต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ ข้าวของ บุคคล บรรยากาศ แม้แต่จินตนาการ เรื่องสวรรค์ วิมาน ที่เป็นสถานที่ หรืออารมณ์ ผู้นั้นก็คือผู้ยังเข้าไม่ถึง ความเร้นลับ เรื่องความเหงาทั้งสิ้น

บทเพลงแสดงถึงความเหงา ได้ทำให้คนขี้เหงาอาศัยสร้างความร่ำรวยมานักต่อนักแล้ว ทั้งคนแต่ง คนร้อง โยงใยถึงคนฟัง อาจมาจาก แรงผลักดันของความเหงาของคนแต่ง คนร้อง คนฟังไปด้วยกัน ก็มี

"ค่ำคืนฉันยืนอยู่เดียวกาย เหลียวมองรอบกาย มิวายจะหวาดกลัว
มองนภามืดมัว สลัวเย็นย่ำ ค่ำคืนเอ๋ย .... มองนภาลับไปใกล้ค่ำ ยินเสียงพร่ำคำบอก โอ้ดอกเอ๋ย เจ้าดอกกระดังงา กลิ่นหอมเจ้าจะมีค่า เมื่อถูกนำมาลนไฟเอย...
อกฉันถึงวันเศร้าอาวรณ์เหมือนคนพเนจร ฉันนอนไม่หลับเลย หนาวพระพายพัดเชย อกเอ๋ย หนาวสั่น ...ฯลฯ "

ยิ่งเสพยิ่งติด ยิ่งเล่นยิ่งมัน ยิ่งกินยิ่งหิว ยิ่งกินยากอยู่ยาก ยิ่งเลี้ยงยากยิ่งขึ้น

เหมือนกับคนที่หาวิธีหลบหนีความเหงาด้วยการไปเสพโลกียสุขต่างๆ ทั้งที่ต้องแลกด้วยเงินทอง สุขภาพก็ตาม ก็ยังไม่เคยมีใคร ยกจิตยกใจขึ้น จากความเหงา แล้วตะเพิดมันออกไป ด้วยความเด็ดเดี่ยวว่า "เหงาทำไม?"

"เหา" อยู่บนหัวยังวิ่งกันขวักไขว่ "เงาหัว"คนใดบ้างไม่ต้องถึงวาระลับตายจากไป เส้นผมแต่ละเส้น ที่กลายจาก ดำเป็นขาว ฟันแต่ละซี่ ที่กลายสีผุกร่อน ผิวหนังแต่ละส่วน ที่เหี่ยวย่น แปรสภาพ แม้แต่หัวใจ ที่เต้นทุกขณะยังมีจังหวะขาดช่วง เป็นสัญลักษณ์ บอกเตือนให้ระลึกรู้อยู่แล้ว ใช่ไหมว่า การเดินทาง ที่จะต้องไปโดยลำพังใกล้เข้ามาทุกที จะมีเวลาใด เหลืออยู่อีก สำหรับมาให้ความเหงา แทรกเนื้อที่

จงหัวเราะให้แก่ความเหงา "ที่เป็นผีมาหลอก" และจงบอกทุกๆ คนว่า "อย่าหวัง เรียกร้องหา ความอบอุ่น จากภายนอก จากใครๆ" นั่นแหละคือวิธีชนะความเหงาที่แท้จริง

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๙ ตุลาคม ๒๕๔๖)