>เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -

(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๙)


ธรรมะอันสมบูรณ์แท้จริงก็ต้องสมบูรณ์บริบูรณ์จริงๆ จะเป็นธรรมะที่ไม่สมประกอบได้อย่างไร?

สรุปก็คือ "วิชชา ๙" หรือวิชชา ทั้ง ๙ ข้อ นั้น ชาวพุทธแท้ ต้องปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุให้ได้ หากชาวพุทธคนใด ยังไม่มี "วิชชา" สักข้อ ก็ไม่ใช่"อาริยะ" และไม่ใช่"สาวกสังโฆ" ยังไม่ใช่คนที่นับได้ว่า อยู่ในหมู่ผู้เป็นสาวกของ พระพุทธองค์ ตามที่พระองค์ตรัสยืนยัน ดังนั้น จึงเป็นได้แค่เพียงคนมีฉายา(เงา)ว่า "พุทธ" กล่าวคือ ยังเป็นแค่ "รูปดำๆมืดๆ" ที่ติดๆตามๆไปกับพุทธ หรือเป็นได้แค่"เงา"เท่านั้น ยังไม่ใช่ตัวแท้

ต้องขออภัยเป็นอย่างมากอีกครั้งเถิด ถ้าใครอ่านผ่านตรงนี้แล้ว รู้สึกว่า อาตมาพูดหนักไป เป็นเชิง"ข่ม" หรือ ดูแคลนชาวพุทธอื่นทั้งหลาย ที่ยังไม่เป็น"อาริยะ" อาตมาจำนนจริงๆ เพราะ..นี่คือ การอธิบายสัจธรรม ที่ต้องการให้เข้าใจอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่อยากให้เกิดเชิงข่มหรือดูแคลนแต่อย่างใดเลย แต่อาตมา ก็มีความสามารถเท่านี้ ถ้าเลี่ยงเสียไม่พูด ก็ไม่รู้กันหรือรู้ก็ไม่ชัดเจนแจ่มกระจ่าง ขนาดที่พูดนี้ ก็ยังไม่แน่ใจเลยว่า จะเข้าใจหรือรู้แจ้งชัดเจนกันบ้างไหม ...เอ๊า! ว่าผู้อ่านโง่อีกแล้ว โอย..ยากจริงๆ ..เฮ้อ!

เพราะฉะนั้น ผู้ใดแม้จะชื่อว่า เป็นชาวพุทธหรือพุทธศาสนิกชน แต่ถ้ายังไม่มีคุณธรรม ถึงความเป็น"อาริยะ" ก็ยังไม่ชื่อว่า เป็น"ผู้เข้าถึงกระแส" ตามศัพท์ก็"โสตาปัตติหรือโสตาปันน"(โสดาบัน) ซึ่งตามความจริงก็คือ เป็นผู้"เกิดเป็นพุทธ" เป็นความเกิดจริงๆในจิตแบบ "โอปปาติกโยนิ" (การผุดเกิดซึ่งไม่ใช่เรื่องวัตถุ) ดังที่ได้อธิบาย มาแล้ว ผู้มีคุณสมบัติหรือมีคุณธรรมเข้าขั้น"โสดาบัน"แล้ว เข้ากระแสธรรมแล้ว ย่อมเป็น ผู้จะเจริญต่อไปเป็นลำดับๆ กระทั่งได้ตรัสรู้ถึงที่สุด นั่นคือ บรรลุ"นิพพาน"แน่นอน(นิยโต สัมโพธิปรายโน)

ด้วยประการดังกล่าวมาแล้ว "อาริยบุคคล" ตั้งแต่ขั้น โสดาบัน จึงต้องเริ่มมี"วิชชา"ไปตามลำดับ ข้อที่ ๑ "ฌาน"(แบบพุทธ) จนกระทั่งที่สุด คนผู้นี้ก็จะถึง "วิชชา" ข้อที่ ๙ คือ "อาสวักขยญาณ" สูงสุด แน่นอน

ชัดเจนไหมว่า ความเป็น"อาริยะ"ของ"อเทวนิยม" ต้องมี"วิชชา ๙" เป็นองค์ประกอบ อย่างนี้

เพราะมี "วิชชา ๙" นี่แหละ จึงสามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริง"ชาติ-ภพ"ของสัตวโลกได้ อย่างถูกต้องถูกถ้วน (สัมมา) ชัดเจนแจ่มแจ้ง (สัจฉิ) ละเอียดถ่องแท้ (โยนิโส) ครบครันสัมบูรณ์ (absolute)

ศาสนาพุทธมีทฤษฎีที่ปฏิบัติเพื่อเรียนรู้ความเป็น"สัตว์ทั้ง ๙ ลักษณะ" (สัตตาวาส ๙) นั้น อย่างบริบูรณ์

นั่นคือ พุทธโลกุตระหรือชาว"อเทวนิยม" จะต้องเรียนรู้ "ภพ"ทั้ง ๓ ได้แก่ "กามภพ-รูปภพ-อรูปภพ" และจะต้องเรียนรู้"การเกิด"หรือ"ชาติ" ต้องรู้แจ้ง กระทั่งถึง"เหตุแห่งการเกิด" โดยเฉพาะที่เกิดเป็น "กิเลสตัณหาอุปาทาน" (สมุทัย) และฝึกฝนจนสามารถดับ "เหตุแห่งการเกิด" (นิโรธ) ได้อย่างสูญสนิทไม่ผิดพลาด

ถ้าผู้ใดไม่เรียนรู้ "ภพทั้ง ๓" อย่างดี ถูกถ้วน(สัมมา) ชัดเจน ก็แน่นอนว่า ผู้นั้นไม่สามารถ"หลุดพ้น" ออกจาก "ภพ" นั้นๆ กระทั่งตนไม่เหลือความเป็น"ภพ"ได้เป็นที่สุด หรือ"ดับภพจบชาติ"ไม่ได้อย่างสัมบูรณ์เด็ดขาด

กามภพ ก็คือ ภพที่เป็นกามาวจร ภพของสัตว์ผู้ยังเสวยกามคุณ หรือที่อยู่(ภพ) ของผู้ยังหลงสุขอยู่กับ กามารมณ์ คือ อารมณ์ทางอินทรีย์ ๕ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษยโลก และกามาวจรสวรรค์ ๖

รูปภพ ก็คือ ภพที่เป็นรูปาวจร ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงรูปฌาน หรือที่อยู่(ภพ) ของผู้ยังหลงสุข อยู่กับธรรมารมณ์ ขั้นรูปธรรม ได้แก่ พรหมทั้ง ๑๖

อรูปภพ ก็คือ ภพที่เป็นอรูปาวจร ภพของสัตว์ ผู้เข้าถึงอรูปฌาน หรือที่อยู่(ภพ) ของผู้ยังหลงสุข อยู่กับธรรมารมณ์ ขั้นอรูปธรรม ได้แก่ อรูปพรหม ๔

ก่อนจะได้อธิบายถึง "ภพ ทั้ง ๓" ก็ขอแทรก "ตัณหา ๓" และ "อาสวะ ๓" ไว้เป็นพื้นฐานเสียด้วยเลย จะได้เข้าใจ เรื่องการล้างภพ การสิ้นภพจบชาติดีขึ้น

ตัณหา ๓ ได้แก่
๑) กามตัณหา ซึ่งหมายถึง ความใคร่อยากในกาม

๒) ภวตัณหา หมายถึง ความใคร่อยากในภพ

๓) วิภวตัณหา หมายถึง ความใคร่อยากในวิภพ

อาสวะ ๓ ได้แก่

๑. กามาสวะ หมายถึง อาสวะคือกาม
๒. ภวาสวะ หมายถึง อาสวะคือภพ
๓. อวิชชาสวะ หมายถึง อาสวะคืออวิชชา

๑) ความใคร่อยากในกาม(กามตัณหา) ก็คือ เมื่อในจิตอยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอก ซึ่งเรียกว่า กามคุณ ๕ หรือกามารมณ์ ได้แก่ สิ่งที่จะมากระทบกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็เกิด"รสอร่อยสนุก สุขสมใจ" เรียกว่า อัสสาทะ เมื่อเกิดความใคร่ อยาก ไม่ได้สมใจ ก็ทุกข์ ครั้นได้กระทบสัมผัสเสียดสี มีรสอร่อยสนุก ตามที่ตนติดยึด ก็สุข

การยังหลงติด"สุข"โลกียะทั้งหลายอยู่ นั่นคือ ยัง มี"ทุกข์"อยู่ด้วย สุขกับทุกข์ของโลกีย์ เป็นคู่กันปกติ

การมีสุข มีทุกข์ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า กามสุข หรือที่รู้กันดีในวงการผู้รู้นักศึกษา มีภาษาเต็มยศ ว่า "กามสุขัลลิกานุโยค" ซึ่งหมายความว่า การประกอบตนให้พัวพันอยู่ในกามสุข ยังติดยึดในกาม หรือ กามารมณ์อยู่ เพราะยังไม่รู้จัก"กามตัณหา" ก็ยังลดตัณหาชนิดนี้ไม่ได้ไปตามลำดับ ดังนั้น "กามาสวะ" อันหมายถึง กิเลสที่ติดกามคุณ ๕ ในกามภพ ซึ่งตกคลักหมักดองอยู่ลึกใต้จิต ก็ยังไม่หมดแน่

๒) ความใคร่อยากในภพ(ภวตัณหา) ก็คือ เมื่อจิตอยากได้อารมณ์ทางใจอันเป็นภายใน ซึ่งเรียกว่า ธรรมารมณ์ ได้แก่ สิ่งที่จะมากระทบกับ"ใจ" โดยไม่ ต้องอาศัยทวารทั้ง ๕ แล้วก็เกิด"รสอร่อย สนุก สุขสมใจ" เรียกว่า อัสสาทะ เมื่อไม่ได้สมใจตามความใคร่อยาก ก็ทุกข์ ครั้นได้กระทบสัมผัสเสียดสี มีรสอร่อยสนุก ตามที่ตนติดยึดหรือใคร่อยาก ก็สุข

การมีสุข มีทุกข์ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า อัตตทัตถสุข หรืออัตตัตถสุข ที่รู้กันดีในวงการผู้รู้ นักศึกษา มีภาษา เต็มยศ ว่า "อัตตกิลมถานุโยค" หมายความว่า การประกอบตนให้ลำบากพัวพันอยู่ในอัตตทัตถสุข ยังติดยึดในอัตตาหรือสุขที่ยังเสพอัตตาอยู่ เพราะยังไม่รู้จัก"ภวตัณหา" ก็ยังลดตัณหาชนิดนี้ ไม่ได้ไปตามลำดับ ดังนั้น "ภวาสวะ" อันหมายถึง กิเลสที่ติดธรรมารมณ์ในภวภพ ซึ่งยังมีตั้งแต่ขั้นรูปภพ จนถึงขั้นอรูปภพ ตกคลักหมักดองอยู่ลึกใต้จิต ก็ยังไม่หมดแน่

"กามสุขัลลิกะ"และ"อัตตกิลมถะ" นี้คือ โลกียารมณ์ ๒ อย่างหรือ ๒ ข้าง ที่มันยังเป็น"ภพ"เป็น"ชาติ" ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งอยู่คนละข้างเป็นกิเลส ๒ ข้าง หากใครยังมีอยู่หรือเหลืออยู่แค่ใด ไม่ว่าข้างไหน ข้างกาม หรือข้างอัตตา ก็คือผู้ยัง"เอียง"หรือ"โต่ง"อยู่ข้างนั้น เรียกว่า ยังไม่ถึง"ความเป็นกลาง"(มัชฌิมา)สัมบูรณ์ จะเอียงมากโต่งมากหรือโต่งน้อยแค่ใดๆ ก็เท่าที่"กาม" หรือ"อัตตา" แต่ละข้าง ที่มีจริง เหลืออยู่จริงแค่นั้นๆ

ทั้งกาม ทั้งภพ(คือรูปภพและอรูปภพ) ผู้ศึกษาต้องเรียนรู้อย่าง"สัมมา"(ถูกถ้วน) และปฏิบัติจนกระทั่ง "หมดสิ้นอวิชชาสวะ"หรือ"พ้นอวิชชาสังโยชน์" ด้วย "วิชชา ๙" อันเป็นความรู้ยิ่งที่รู้แจ้งเห็นจริงในการเกิด-การดับ หรือการมี-การไม่มีของจิต..เจตสิก..รูป..นิพพานแล้วปฏิบัติจัดการให้ได้ประโยชน์อย่างยิ่ง(ปรมัตถะ) ให้ถึงประโยชน์หรือผลอันสุดยอด(อุตตมัตถะ) คือ อรหันต์

กามภพ นั้นหมายถึง แดนโลกีย์อันเป็นภายนอก เป็นเรื่องของกามารมณ์ ที่คนทั้งหลายหลงเป็นสุขเป็นทุกข์ วนเวียนอยู่กับมันไม่สิ้นสุดความวนลงได้เด็ดขาดสัมบูรณ์กันได้ง่ายๆ ผู้ยังเสพยังติด "กามภพ" เพราะยังมี "กามตัณหา" อยู่ ยังไม่สิ้น"กามาสวะ"และยังไม่สิ้น "อวิชชาสวะ" ด้วย

ส่วนรูปภพ กับอรูปภพ นั้นหมายถึง แดนโลกีย์อันเป็นภายใน เป็นเรื่องของธรรมารมณ์ ที่คนทั้งหลาย หลงเป็นสุขเป็นทุกข์ วนเวียนอยู่กับมันไม่สิ้นสุดความวนลงได้เด็ดขาดสัมบูรณ์กัน ได้ง่ายๆ เช่นกัน

โดยเฉพาะ ผู้ที่ยังปฏิบัติ "ฌาน" แบบโลกีย์ เป็น"รูปฌานและอรูปฌาน"นั่นแหละ ล้วนคือ ผู้ยังมี"ภพ" อยู่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น"รูปฌาน" ก็คือ"รูปภพ" และ"อรูปฌาน" ก็คือ "อรูปภพ" ซึ่งผู้ยังเสพยังติด "รูปฌาน -อรูปฌาน" นี้ ล้วนยังมี "ภวตัณหา" อยู่ หรือยังไม่สิ้น "ภวาสวะ" และยังไม่สิ้น "อวิชชาสวะ" ด้วย

ความเป็น "รูปภพ" และความเป็น "อรูปภพ" ทั้ง ๒ ภพนี้ คือสภาพ ภวังค์ เป็นภพภายในทั้งคู่ ดังนั้น ผู้ยังมี "ตัณหา" ใคร่อยากเสพ "ภพ" อยู่ ไม่ว่า "รูปภพ" หรือ "อรูปภพ" ก็ล้วนยังชื่อว่า ผู้มีภวตัณหากันทั้งคู่ แม้จะเป็น "อรูปภพ" ก็ตาม ตัณหาก็ยังคือ ภวตัณหา

มีผู้เข้าใจผิดว่า ผู้ใคร่อยากเสพ"รูปภพ" คือ ผู้มี "ภวตัณหา" ส่วนผู้ใคร่อยากเสพ"อรูปภพ " คือผู้มี" วิภวตัณหา" ซึ่งชี้ชัดว่า ผู้เข้าใจตามที่ว่านี้ เป็นผู้ยังไม่รู้แจ้ง "ภพ" สามัญ (ภว) ที่เป็น"โลกียะ" ว่า แตกต่างกับ "ภพ" วิสามัญ (วิภว) ที่เป็น "โลกุตระ" กันอย่างไร

(อ่านต่อฉบับหน้า)

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖-