หน้าต่างความคิด -ศิวกานต์ ปทุมสติ-
๙. คำถามที่รอคอยคำตอบ


ผมมักตั้งคำถามแก่นักศึกษาที่ผมสอนในชั่วโมงแรกว่า "นอกจากหนังสือพิมพ์ หนังสือเรียน และ เอกสารตำรา ทางวิชาการแล้ว คุณอ่านหนังสืออะไรเป็นประจำบ้าง" คำตอบที่ผมได้รับ มักเป็น ความว่างเปล่า พวกเขาไม่มีคำตอบ เพราะเขาไม่ได้อ่าน อย่าว่าแต่อ่านประจำเลย สักปีละเล่มก็ยาก และเมื่อถามว่า ตั้งแต่เกิดมา จนถึงวันนี้ (ขณะที่มาเรียนในระดับอุดมศึกษา) ล่ะ อ่านหนังสืออะไร จบเล่มมาบ้าง พอจะบอกชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง และสาระสำคัญของหนังสือเล่มนั้นๆ ได้อย่างไรบ้าง คำตอบก็มักเป็นความว่างเปล่าอีก

ลองหยิบเอาคำถามดังกล่าวไปถามครูบางกลุ่มดูบ้าง (ในบางโอกาสที่ผมเป็นวิทยากรให้การอบรมเกี่ยวกับ การอ่าน) คำตอบที่ได้ก็แตกต่างกันไม่มากนัก ถ้าเป็นครูทางสายภาษาไทย ก็พอจะยกตัวอย่าง งานที่เคยอ่านมา เพราะถูกบังคับ ให้อ่าน ขณะเรียนครูบ้าง หรืออ่านเป็นหนังสือนอกเวลา ขณะเรียน ในระดับมัธยมบ้าง หรือหนังสือที่พลอยฟ้าพลอยฝน อ่านไปตามกระแสบ้าง ตอบพอได้เค้าบ้าง กระท่อน กระแท่นบ้าง น้อยนักที่จะเป็นครูนักอ่านและอ่านหนังสือมาเกิน ๕ เล่ม

นี่ยังไม่ได้พูดถึงความลึกซึ้งในการอ่านนะครับ ว่านอกจากรู้เรื่องรู้เหตุการณ์ที่เป็นไปตามหนังสือแล้ว รู้อะไรใต้บรรทัดอักษรที่เป็นนัยแฝง นัยประหวัด และนัยขยายเชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง สถานการณ์ของ การอ่านมันช่างเป็นความน่าวังเวงและซ่อนเศร้าอยู่อีกมากมายเหลือเกิน

เรื่องนี้, เราคงไม่อาจที่จะโทษครูหรือสถานศึกษาฝ่ายเดียว มันเป็นรากเหง้านิสัยไม่รักการอ่าน ที่มีมาจาก วิถีครอบครัวไทยโน่นแล้ว สังคมไทยเป็นสังคมของการฟังมากกว่าการอ่าน คุณคงพอจะจินตนาการ ตามผมได้กระมังว่า ในอดีต ที่ผ่านมานั้น "วรรณกรรมมุขปาฐะ" หรือวรรณกรรมที่สื่อสารผ่าน "ปาก" ของเราได้รับความนิยมเป็นอย่างดี ทั้งการเล่านิทาน ตำนานและนิยายพื้นบ้าน เพลงชาวบ้านในแต่ละภาค แต่ละถิ่น ตลอดจนการแสดงลิเก ลำตัด หมอลำ หนังตะลุง ละคร และโขน

เพราะรากเหง้าเราเป็นนักฟัง ผู้ปกครองทั้งหลายก็จึงใช้ช่องโอกาสเป็นนักออกคำสั่ง นักโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อการใช้ อำนาจ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จ ที่เมื่อเขาบอกว่า เป็นทางการ หรือที่ผ่านสื่อ ของทางราชการ คุณก็ฟังด้วยท่าทีที่เชื่อถือมาโดยตลอด ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และเสียงตามสายในหมู่บ้าน ก็ล้วนเป็นสื่อ ของราชการ ที่มักนำข่าวสารที่คุณเชื่อถือมาสื่อสารสู่หูของคุณและพี่น้องญาติทั้งแผ่นดินนี้ อยู่ทุกเมื่อ เชื่อวัน จนกระทั่ง แม้วันนี้สื่อต่างๆ จะมีข้อมูลข่าวสารขยายออกไปถึงภาคเอกชน และภาคธุรกิจ ข้ามชาติ ที่แย่งชิงตลาด ผลประโยชน์ จากคุณและคนไทย ทั้งประเทศ เราก็ยังอยู่ที่เดิม ของอุปนิสัย ...คือเป็น "นักฟังที่เชื่อนอนสอนง่าย" การศึกษาในประเทศ ของเราทั้งระบบการเรียนเขียนอ่าน ยังล้มเหลว ไม่เป็นท่า ในเรื่องนี้

เมื่อการอ่านของคุณไม่งอกงาม คุณก็ตามไม่ทันโลกที่เล่ห์ลวงมันซับซ้อนขึ้น การฟังของคุณอ่อนพลัง เกินกว่าที่ตรวจสอบ ข้อเท็จจริง ชีวิตของคุณและประเทศของเรากำลังลอยไปตามกระแส แต่ผมกำลังเป็น อ้ายบ้า ที่ยังมัวทำอะไร ก็ไม่รู้เพื่อ "รอคำตอบที่ไม่ว่างเปล่า" ทั้งที่มันว่างเปล่า!

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖-