>เราคิดอะไร

ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -

การเพิ่มประสิทธิภาพการงอก ของเมล็ดพันธุ์



เมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกมีความสำคัญมากสำหรับการปลูกผักไร้สารพิษเพราะการมีเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ จะนำไปสู่การเพาะปลูกที่ประสบผลสำเร็จ เมล็ดพันธุ์ที่ดี จะทำให้การงอกของผักดี ต้นแข็งแรง สมบูรณ์ ต่อสู้กับแมลงและโรคได้ดี เจริญเติบโตเร็ว และให้ผลผลิตสูง

เกษตรกรผู้ปลูกผักควรเน้นการเก็บเมล็ดพันธุ์เอง แทนการซื้อจากตลาด เพื่อลดรายจ่าย และลดความเสี่ยงจากการได้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ เพราะปัญหาของผู้ปลูกผักในปัจจุบันก็คือ เมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาเพาะไม่งอก เก็บพันธุ์ไว้ปลูกต่อไม่ได้ถ้าเก็บมาปลูกก็จะกลายพันธุ์

*** คำถามจึงมีอยู่ว่าทำอย่างไรเราจึงจะมีเมล็ดพันธุ์ดีๆ มาปลูก
คุณสมบัติของเมล็ดพันธุ์ที่ดี
๑. จะมีเปอร์เซ็นต์การงอกสูง
๒. ทนต่อดินฟ้าอากาศ
๓. ต้านทานต่อโรคและแมลง
๔. ปลูกแล้วให้ใบดอก ผล สวยสมบูรณ์น่ารับประทาน มีรสชาติดี

เมล็ดพันธุ์ผักที่มีลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ที่ผ่านการพัฒนาพันธุกรรมโดยธรรมชาติ และการเก็บคัดเลือกพันธุ์ของคนที่อยู่ในที่นั้นๆ จึงทนทานต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี

*** หลักในการเลือกเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี
๑. เมล็ดถูกบรรจุในภาชนะที่สะอาดปราศจากสิ่งเจือปนต่างๆ เช่นฝุ่นละออง กรวด ทราย
๒. ภาชนะบรรจุและเมล็ดพันธุ์ไม่มีความชื้น ไม่มีเชื้อรา
๓. ไม่มีรอยสัตว์แทะหรือแมลงติดกับเมล็ดพันธุ์
๔. ไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์จากแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีโรคระบาด
๕. ซื้อเมล็ดพันธุ์จากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ โดยพิจารณาจากประสบการณ์ในการปลูกครั้งที่ผ่านๆ มา ว่าเมื่อนำมาปลูกแล้วมีอัตราการงอกสูงหรือไม่ มีผลสูง มีรูปร่างดี มีน้ำหนักและรสชาติดีตรงตามลักษณะที่โฆษณาไว้หรือไม่ ถ้าปลูกแล้วได้ผลดี เมล็ดพันธุ์จากผู้ผลิตนั้นก็มีความน่าเชื่อถือสูง

๖. รูปทรงของเมล็ดตรงตามพันธุ์ ไม่บิดเบี้ยวจากพันธุ์ที่ต้องการ

อย่างไรก็ตามเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจากตลาด อย่างมากก็จะเก็บพันธุ์ไว้ปลูกได้เพียง ๑-๒ ครั้งเท่านั้น บางชนิดก็ไม่สามารถเก็บพันธุ์ได้เลย ดังนั้นเกษตรกรที่ต้องการปลูกผักไร้สารพิษ จึงควรพัฒนาความรู้ ผลิตและพัฒนาพันธุ์ผักเอง เพื่อให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเองมากที่สุด

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาจากตลาด หรือเก็บไว้นานแล้ว อาจมีประสิทธิภาพการงอกต่ำ หากนำไปปลูก อาจไม่งอกได้ ดังนั้นเพื่อลดการเสียเวลาและค่าใช้จ่าย ก่อนปลูกควรได้ทดสอบเปอร์เซ็นต์ การงอกของ เมล็ดพันธุ์เสียก่อน โดยวิธีการดังต่อไปนี้

*** การทดสอบประสิทธิภาพการงอกของเมล็ดพันธุ์
การทดสอบเมล็ดพันธุ์พืชว่าเสียหรือดี ขอแนะนำวิธีง่ายๆ เพียง ๒ วิธี ดังนี้
๑. การแช่เมล็ดผักในน้ำ นำถังใส่น้ำมา แล้วสุ่มหยิบเมล็ดพันธุ์จากภาชนะบรรจุใส่ลงไปในถังน้ำนั้น เมล็ดที่เสียจะลอยน้ำขึ้นมา ส่วนเมล็ดดีจะจมน้ำ ถ้ามีเมล็ดลอยน้ำ ก็หมายความว่ามีเมล็ดเสียมาก อย่าซื้อมาปลูก

๒. การทดสอบหาเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ด

อุปกรณ์
๑. จานหรือกระบะ
๒. วัสดุซับน้ำ เช่น กระดาษทิชชู ผ้าสำสี หรือทรายสะอาด
๓. เมล็ดพันธุ์ผัก
๔. น้ำ

วิธีการ
๑. ขีดตารางขึ้น ๑๐๐ ช่องบนกระดาษทิชชูหรือผ้า แล้ววางลงบนจานแบบพรมน้ำให้ชุ่ม ถ้าเป็นทรายก็เอาทรายใส่กระบะพรมน้ำให้ชุ่ม แล้วขีดตาราง ๑๐๐ ช่อง
๒. สุ่มหยิบเมล็ดผัก ในจุดต่างๆ ของภาชนะที่ใส่เมล็ดพันธุ์ ใส่ลงไปในช่องบนกระดาษ/ผ้า/ทราย ทั้ง ๑๐๐ ช่อง รวม ๑๐๐ เมล็ด
๓. เอากระดาษทิชชูทับ และพรมน้ำอีกที ถ้าเป็นผ้าก็ให้ใช้ไม้ม้วน ถ้าเป็นกระบะก็เอาผ้าชุบน้ำคลุมไว้
๔. ทิ้งไว้ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสบายๆ ดูแล กระดาษ/ผ้า ให้ชุ่มตลอดเวลา แต่อย่าให้แฉะ ประมาณ ๑-๓ วัน เมล็ดพืชจะเริ่มงอกออกมา
๕. คลี่กระดาษ หรือผ้าออก แล้วนับจำนวนเมล็ดที่งอก

*** ถ้างอกเกิน ๙๐ เมล็ดขึ้นไปนำไปปลูกได้
*** ถ้างอก ๗๐-๘๐ เมล็ดอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ควรนำไปเพิ่มประสิทธิภาพการงอก
*** ถ้างอกแค่ ๖๐ เมล็ด ไม่ควรนำไปปลูก
*** การเพิ่มประสิทธิภาพการงอกของเมล็ดพันธุ์

จากการทดสอบการงอกของเมล็ดพันธุ์ และพบว่าเมล็ดผักที่มีประสิทธิภาพการงอกต่ำนั้น มีสาเหตุได้หลายอย่าง ดังต่อไปนี้

๑. เมล็ดพันธุ์กำลังอยู่ในระยะการฟักตัว นอนหลับ
๒. เมล็ดพันธุ์ถูกเก็บในช่วงที่ไม่เหมาะสม
๓. ดูแลต้นพันธุ์ที่เก็บเมล็ดมานั้นไม่ดี
๔. ภาชนะ และวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไม่ดี มีความชื้น
๕. เมล็ดพันธุ์ถูกเก็บไว้นานเกินไป

และบางครั้งถ้าใช้วิธีทดสอบการงอกไม่เหมาะสมกับชนิดของเมล็ดผักแล้ว อาจทำให้ประสิทธิภาพการงอกของเมล็ดผักต่ำได้ จึงควรเลือกวิธีการทดสอบให้เหมาะสมกับเมล็ดผักด้วย

*** วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการงอกของเมล็ด
๑. การตัดบางส่วนของเมล็ดออกหรือนำเมล็ดมาขัดบนกระดาษทราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมล็ดผักที่เป็นไม้ยืนต้น และเป็นเมล็ดที่เปลือกแข็ง

๒. การแช่เมล็ดในน้ำร้อน ๕๐-๕๕ องศาเซลเซียส เป็นเวลา ๑๕-๒๐ นาที แล้วนำมาตากให้แห้งในที่ร่ม วิธีนี้ยังช่วยป้องกันโรคผักที่จะเกิดจากเชื้อราได้ด้วย (และมีเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิ)

๓. การแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำเย็น ๔-๑๒ ชั่วโมง แล้วจึงนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูก วิธีนี้จะช่วยให้เมล็ดที่เก็บไว้นานมีเปอร์เซ็นต์การงอกดีขึ้น ต้นผักแข็งแรงขึ้น

ผักที่เหมาะสมกับวิธีแช่น้ำร้อนหรือเย็น ก็คือ ข้าวโพด มะเขือ มะเขือเทศ ผักกาด แครอท หอมหัวใหญ่ พริก พริกไทย แตงกวา และดอกทานตะวัน

ผักที่ใช้วิธีแช่น้ำในการเพิ่มประสิทธิภาพการงอกไม่ได้คือ ผักในตระกูลถั่ว เพราะถั่วจะดูดซับน้ำได้ดี เมื่อแช่น้ำนานๆ ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อเมล็ดเสียหาย เมล็ดผักในตระกูลถั่วจึงต้องแช่ในขี้เถ้าแกลบ/ผงถ่าน/ขี้เลื่อย/กระดาษทิชชู หรือผ้าที่ชุ่มน้ำ แทนการแช่ในน้ำโดยตรง วัสดุเหล่านี้จะคายน้ำออกมาช้าๆ ทำให้เมล็ดค่อยๆ ดูดซึมน้ำไว้ และค่อยๆ ฟื้นตัวจากการนอนหลับขึ้นมา

' ข้อน่าสังเกต
โดยปกติแล้วเมล็ดผักจะใช้เวลาในการงอกประมาณ ๑-๕ วัน เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความสามารถในการงอก และปริมาณน้ำ ถ้าเป็นเมล็ดใหม่คุณภาพสูงจะใช้เวลาการงอกสั้นและใช้น้ำน้อย เมล็ดที่งอกช้า ส่วนใหญ่จะเป็นเมล็ดที่มีปัญหาเรื่องเชื้อรา

มีข้อน่าสังเกตอีกอย่างคือ บางครั้งการทดสอบเปอร์เซ็นต์การงอกได้ผลดี แต่เมื่อนำไปปลูกแล้วกลับไม่ได้ผล ซึ่งสาเหตุที่เป็นอย่างนี้ให้พิจารณาในเรื่อง ดิน ไม่เหมาะสม ดินมีความเป็นกรดหรือด่างมากเกินไป หรือขาดธาตุอาหารในดิน หรือดินมีความชุ่มชื้นไม่เพียงพอ

(ข้อมูลจากชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน)

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖-



ผู้ไม่ประสบความสำเร็จ คือ ผู้ที่ไม่เด็ดขาด
ผู้ที่ถึงจุดสุดยอดฉลาด
คือ ผู้ที่ขาดได้แล้วจริงๆ โดยไม่ต้องเด็ด

- สมณะโพธิรักษ์ -