เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ - สมณะโพธิรักษ์ -

(ต่อจากฉบับที่ ๑๖๐)


ในความเป็น"โลกุตรภูมิ" จะมี"อธิปัญญา" หรือ"วิชชา ๙" ที่สามารถเข้าใจในความเป็น"ประโยชน์" (อัตถะ) ต่างๆ อย่างละเอียดประณีตซับซ้อนซ่อนเชิง ไม่ว่าจะเป็น"ทิฏฐธัมมิกัตถะ" หรือ "สัมปรายิกัตถะ" ไม่ว่า "ประโยชน์ตน" ที่เรียกว่า "อัตตัตถะ" ไม่ว่า"ประโยชน์ผู้อื่น"ที่เรียกว่า"ปรัตถะ" และทั้งประโยชน์ของตนทั้งของผู้อื่น ๒ ฝ่ายที่เรียกว่า"อุภยัตถะ" จะประโยชน์ตนก็ดี ประโยชน์ผู้อื่นก็ดี ประโยชน์ ๒ ฝ่ายก็ตาม ก็ยังแยกออกไปเป็น "ประโยชน์แบบโลกียะ" นั้นก็อย่างหนึ่งเป็น "ประโยชน์แบบโลกุตระ" นั้นก็อีกอย่างหนึ่ง และถ้าประโยชน์นั้นเข้าขั้นอาริยะ หรือเป็น "ประโยชน์แบบโลกุตระ" ก็เรียกว่า "ปรมัตถะ" หากประโยชน์นั้นถึงขั้นอาริยะสูงสุด คืออรหันต์ ก็เรียกว่า "อุตตมัตถะ"

เรามานิยามความว่า "ประโยชน์แบบโลกีย์" กับ "ประโยชน์แบบโลกุตระ" กันให้ชัดๆว่า เป็นไฉน และ เส้นแบ่งเขต ความแตกต่างกัน ที่คมชัดที่สุดอยู่ตรงไหน

คำจำกัดความของ "ประโยชน์แบบโลกีย์" ก็คือ "เราได้วัตถุได้แรงงานหรือได้อารมณ์สุข ได้อะไรๆก็ตาม ที่ตนพอใจ" ไม่ว่าจะเป็นทางรูปธรรมหรือทางนามธรรม ชาวโลกีย์ต่างก็ถือกันว่า นี่คือ "ผลประโยชน์"

ส่วน"ประโยชน์แบบโลกุตระ" ก็คือ หมายเฉพาะจิต..เจตสิก เป็นสำคัญ ชาวโลกุตระถือกันว่า "ผลประโยชน์"ที่แท้ ที่เราจะได้ คือ "เราได้ลดละกิเลสตัณหาอุปาทานในจิต" แม้เราจะทานวัตถุ หรือให้แรงงานแก่ผู้อื่น เราไม่ได้วัตถุ เรา "ให้" ออกไปด้วยซ้ำก็ตาม ประโยชน์ที่ชาวโลกุตระ "ได้" ก็คือ ต้องรู้จักจิต..เจตสิก ปฏิบัติที่จิต ถ้าทำจิตใจของตน ให้ละโลภโกรธหลง หรือทำให้กิเลสตัณหา อุปาทานของตนลดได้ นั่นคือ "ผลประโยชน์แบบโลกุตระ"ที่แท้จริง

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ -