แปลงทรัพย์สินเป็นทุน สนับสนุนงานศาสนา


หลวงปู่พุทธทาส เคยสอนไว้ว่าการไถนา ต้องมีควายสองตัว ตัวที่เป็นแรงอยู่หลัง ส่วนตัวหน้า จะเป็นตัวนำ ขาดตัวตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้

หากเปรียบธรรมะต้องบอกว่าสมถะคู่กับวิปัสสนา

หากเปรียบรัฐนาวาก็ต้องมีทั้งใบและหางเสือ

"ใบ" เอาไว้ขับเคลื่อน "หางเสือ"เอาไว้ควบคุมทิศทาง จะได้ไม่เสียแรงเปล่า

หากเป็นชีวิต จึงไม่ใช่มีวันนี้ แต่ต้องมีหลักประกันอนาคต

การสร้างรายได้ การทำประชาชนอิ่มปากอิ่มท้อง การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การเอาที่ดิน มาทำ ไถ่ถอน จำนองได้

การเอาเงินนอกระบบ ให้โผล่ขึ้นมาเปิดเผย มาแบ่งกันใช้ไม่ใช่มุบมิบกับมือเจ้าหวย

การนำเงินอนาคตมาเบิกใช้ก่อน

แม้แต่ภาคเอกชนจะเปิดสินเชื่อให้กู้ทีละมากๆ เป็นหลายเท่าของเงินเดือน เป็นหลายเท่า ของรายได้ ที่หาได้ในแต่ละเดือน

วันนี้อนาคตเป็นของเรา แต่วันหน้าเราจะเป็นของ "ซาตาน" !

เศรษฐกิจกำลังเขียวขจี เป็นใครก็ต้องปลาบปลื้ม

นี่ขนาดใช้ควายตัวเดียวไถ ถ้ามีอีกตัวมานำจะสนุกสนานขนาดไหน?

งาน "ทางโลก" ดีแล้ว แต่งาน "ทางธรรม" ยังรอคอยเสียงนกหวีด

เมื่อถาดทองจมลงกระทบหัวนาคให้ตื่นจากสะลึมสะลือ ต่อไปนี้ก็เป็นงานของศาสนจักร

วัตถุและจิตใจต้องไปด้วยกัน จึงชักช้าไม่ได้

"จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร จะพัฒนาการต้องเตรียมประชาชน จะพัฒนาคน จะต้องเริ่มที่ใจ จะพัฒนาใคร ต้องเริ่มที่ตัวเอง"

จำอุดมการณ์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ได้ไหม แม้เก่าแต่ก็ทรงคุณค่า เพราะเป็นเก่าลายคราม!

มหาตมะคานธีบอกว่าต่อให้ทองเต็มโลกก็ไม่พอกับความต้องการของมนษุย์

เปรตในพุทธศาสนา ตัวจะโตเท่าต้นตาล พุงใหญ่เบ้อเร่อ แต่ปากเล็กเท่ารูเข็ม กินเท่าไหร่ ไม่หายหิว

จัดการกับประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐ

จัดการกับเปรตเป็นภาระของวัด

แต่เมื่อวัดขึ้นกับรัฐ รัฐต้องส่งสัญญาณ "ปฏิบัติการ"

จะใช้วิธียักคิ้วหลิ่วตาหรือกวักมือเรียกก็แล้วแต่ท่านจะถนัด

โอ่งน้ำวันนี้ต่างพากันช่วยเติมให้เต็มตุ่ม

ทุกครั้งที่เราคิดโครงการได้ ก็นึกดีใจประชาชนจะได้มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ๆ

แต่หลวงพ่อทองวัดโบสถ์ หลวงปู่วัดซับไห้ หลวงปู่โตวัดระฆัง หลวงพ่อคูณ อาจารย์ฟื้น หลวงปู่ขาว เจ้าคุณนรฯ อาจารย์มั่น ฯลฯ

ต่างกันพาส่ายหน้า

ยังไม่พอ นั่นแค่ชั่วคราว แค่ขณิกสมาธิเป็นสมาธิสั้น

เป็นจอกแหนในบึงใหญ่

เป็นพาราเซตามอลแก้ปวดหัวชั่วคราว!

ไข้ไม่ทรุดได้แต่ทรง แต่ก็ดีแล้วแหละ...โยม!

หากมองชีวิตเหมือนพยับแดด นั่นคนจะละหน่าย แต่มองสังคมเหมือนโอ่งมีรูรั่ว เหมือนคนมีลูกตุ้ม เต็มตัว

มีแต่คนตาทิพย์ มีแต่คนมีดวงตาเห็นธรรมจึงรู้แจ้ง

โอ่งรั่วต้องอุด

ลูกตุ้มต้องตัด

เป็นพันธกิจ เป็นภาระหน้าที่ของผู้มีดวงตาที่สามที่จะต้องจัดการ

รัฐบาลผลักดันอะไรมาเยอะ สร้างปาฏิหาริย์ก็หลายอย่าง

ลองนำกำลังภายใน มาผลักดันให้กงล้อธรรมจักรเคลื่อนไหว

ให้งานอบรมจิตวิญญาณบานไสวทุกแห่งหน

เรามีทุนทางสังคมที่ทรงพลังมหาศาล สถาบันทางศาสนามีบุคลากรพร้อมเสียสละมากมาย ประชาชน มีศรัทธาเป็นพื้นฐาน อะไรจะเหมาะเจาะไปกว่านี้?

ดวงตาเห็นเงิน นำร่องไปแล้ว

ดวงตาเห็นธรรม ต้องรีบวิ่งตาม ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

ผลงานของรัฐบาลจึงเป็นดาบสองคม

จิตวิญญาณของประชาชนยังเหมือนเดิม ลัทธิบริโภคนิยมก็จะยิ่งสนุกสนานเมามัน

เพราะชีวิตมิใช่แค่กินสูบดื่มเสพ

เพราะชีวิตมิใช่แค่รูปรสกลิ่นเสียง

เพราะชีวิตมิใช่การไขว่คว้าหาความสุขไปวัน ๆ

ดวงตาที่สามจึงจำเป็นต้องเป็นตัวช่วยตัวสุดท้าย

เจตนาที่แสนดี ยังไม่ครบองค์ประกอบ

มิฉะนั้นแล้ว "กรรม" วันนี้จะเป็นแค่...

การซื้อเวลา

การเลี้ยงไข้วันต่อวัน

มือที่ยื่นให้ด้วยความหวังดีดุจเทพประทาน สักวันจะกลายเป็นมือแม่มดที่ยื่นลูกแอ๊ปเปิ้ลให้แก่ สโนว์ไวท์แทน!

ปรมาจารย์เซ็นจึงบอกไว้เสมอ "นรก-สวรรค์" นั้นอยู่ใกล้ชิดกันมาก ห่างกันน้อยกว่าช่องว่าง ระหว่างโมเลกุล

พลาดนิดเดียวจากขาวกลายเป็นดำไปทันที!

โครงการรัฐทำคนไทยเหลิง หนี้บัตรเครดิตพุ่ง 6 หมื่นล้าน
เผยผลสำรวจคนไทยแบกหนี้เฉลี่ยทั่วประเทศสูงถึง ๑.๑๕ แสนบาทต่อหัว ชาวต่างจังหวัด แซงคนกรุง ภาคเหนือนำโด่งสุด แถมแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุโครงการรัฐ-ดอกเบี้ยต่ำ แบงก์-บัตรเครดิต ปล่อยกู้เพลิน ยอดหนี้ "รูด" สูงถึง ๖ หมื่นล้าน ระบุคนใต้ใช้บริการสูงที่สุด โครงการรัฐทำเหลิง

สถาบันพระปกเกล้า ประชุมใหญ่แก้ยากจน
เมื่อเวลา ๑๒.๐๐ น. วันที่ ๘ พฤศจิกายน ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถนนราชดำเนิน สถาบันพระปกเกล้า โดยนายนรนิติ เศรษฐบุตร เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แถลงว่า สถาบันจะจัดการประชุมวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ ๕ ขึ้น ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ พฤศจิกายน ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น และการแก้ปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยจะได้แนวทางใหม่ๆ นำมาปรับปรุง แก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีนักวิชาการจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมจำนวนมากแล้ว ที่สำคัญ มีเจ้าชาย อัลเฟรด แห่งประเทศ ลิกเตนสไตน์ เสด็จฯมาเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การแก้ปัญหาความยากจน" ด้วย

นายนรนิติกล่าวว่า นอกจากนี้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานฝ่ายไทย ร่วมด้วย หน่วยงานต่างๆ กว่า ๔๐ หน่วยงาน นำเสนอผลงานที่น่าสนใจ พร้อมกับมอบรางวัล "พระปกเกล้า" ให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีผลงานดีเด่น ด้านการบริหารจัดการ ที่โปร่งใส

ชี้ "เกษตรกร" หนี้พุ่ง! ลูกเรียนแค่ ม.ปลาย
สศช. ชี้หลังโครงการพักชำระหนี้และกองทุนหมู่บ้าน หนี้นอกระบบลด แต่ชาวบ้านกลับเป็นหนี้ ทั้งใน และนอกระบบเพิ่มขึ้น เผยคนจน มีหนี้ ๖.๓๕ เท่าของรายได้ต่อเดือน เกษตรกร ยังเป็นกลุ่มที่มีหนี้สูงสุด

หนี้บัตรเครดิต
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม บริษัท เอสบิค จำกัด ผู้ทำการวิจัยด้านการตลาดได้นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในหัวข้อ Consumer Decision Regarding All Financial Aspect สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๓,๗๑๗ คน ในจังหวัดต่างๆ ทั้ง ๔ ภาค โดยนายสุมาส วงศ์สุนพรัตน์ ประธานศูนย์เอสบิค กล่าวว่า จากผลการศึกษาพบว่า มีแนวโน้มที่คนไทยทั้ง ๔ ภาคจะมีหนี้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น โดยทั่วประเทศ ประชาชนมีหนี้เฉลี่ย ๑๑๕,๓๕๕ บาทต่อคน และเมื่อเปรียบเทียบรายภาค พบว่าภาคใต้มีสัดส่วน จำนวนคนเป็นหนี้มากที่สุด แต่ภาคเหนือ มีจำนวนหนี้สิน เฉลี่ยต่อคน สูงสุดที่ ๑๒๖,๙๕๒ บาท มีสาเหตุหลักมาจาก ภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคล ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเกิดจากหนี้ของ บัตรเครดิต และหนี้สิน จากโครงการของภาครัฐ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น

นายสุมาสกล่าวว่า การสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่เมื่อจะกู้เงินจะนึกถึงพ่อแม่ญาติพี่น้อง เป็นอันดับแรก ร้อยละ ๒๙.๕ รองลงมาคือสถาบันการเงินร้อยละ ๒๕.๒ และกลุ่มเพื่อนร้อยละ ๑๓.๒

สำหรับวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อและการต่อเติมที่อยู่อาศัยร้อยละ ๑๙.๑ รองลงมา เพื่อการลงทุน ร้อยละ ๑๗.๔ และเพื่อการศึกษาร้อยละ ๑๑.๕

"จังหวัดที่มีหนี้สินต่อหัวสูงในระดับ ๑ แสนบาทต่อคนขึ้นไป ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น อยุธยา ขณะที่คนในกรุงเทพฯ จะมีหนี้เฉลี่ย ๙.๕ หมื่นบาทต่อหัวต่อคน ชี้ให้เห็นว่าคนต่างจังหวัด มีแนวโน้มก่อหนี้สูงมากขึ้น เมื่อเทียบกับ คนในเมืองหลวง ซึ่งโดยหลักแล้ว บุคคลควรจะมีหนี้ ในระดับ ไม่เกินร้อยละ ๒๐ ของรายได้ แต่ปัจจุบันคนไทย โดยเฉลี่ยมีหนี้ เกินกว่า ร้อยละ ๕๐ ของรายได้ อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยาประชาชนมีหนี้สินเฉลี่ยถึง ๕๙% ของรายได้" ประธานศูนย์เอสบิคกล่าว นายสุมาสกล่าวว่า ปัจจุบันคนไทย มีหนี้บัตรเครดิต โดยรวม ทั้งประเทศ ประมาณ ๖ หมื่นล้านบาท และเมื่อศึกษาพฤติกรรม การใช้บัตรเครดิต ของกลุ่มตัวอย่างพบว่า แต่ละเดือนจะเป็นการใช้บัตรเครดิต เพื่อซื้อสินค้า และบริการ และปรากฏว่า คนภาคใต้ มีการใช้ บัตรเครดิต เฉลี่ยโดยรวม เป็นมูลค่ามากที่สุด คือประมาณ ๒๑,๐๕๓ บาทต่อคน รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๘,๗๘๐ บาท และอาชีพ ที่มีบัตรเครดิต มากที่สุด คือพนักงาน บริษัทเอกชน และเมื่อเปรียบเทียบ ตามรายได้พบว่า ผู้ที่มีรายได้มากกว่า ๒๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีบัตรเครดิตมากที่สุด

นายสุมาสกล่าวว่า นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีบัตรเครดิตเพียง ๑ ใบ คิดเป็นร้อยละ๔๙.๓ และบัตรเครดิต ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่บัตรเครดิตกรุงไทย, อิออน, ซิตี้แบงก์, ไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ โดยสินค้า ที่นิยมซื้อด้วยบัตรเครดิต ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นอันดับ ๑ รองลงมาได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย คอมพิวเตอร์ และการท่องเที่ยว

เกษตรกร
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า สศช. ได้สำรวจสัดส่วน ครัวเรือน ที่มีหนี้สิน ระหว่างปี ๒๕๓๗-๒๕๔๕ จำแนกตามประเภท การเข้าถึงสินเชื่อทั้งชุมชนเมืองและชนบท พบว่า หลังจากที่รัฐบาล มีโครงการพักชำระหนี้ และ ลดภาระดอกเบี้ย ให้เกษตรกร รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ มีครัวเรือน ที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ๑.๑ ล้านครัวเรือน จากปี ๒๕๔๓ รวมเป็น ๑๐,๑๘๙,๗๙๘ ครัวเรือน โดยมีการกู้ยืม จากแหล่งเงิน นอกระบบลดลง แต่ครัวเรือน ที่มีหนี้สิน ทั้งจากในและนอกระบบ กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่ งเป็นผลจากการเข้าถึงแหล่งเงินใหม่ ของกองทุนหมู่บ้าน แต่การกู้ยืม จากกองทุนหมู่บ้าน ก็เป็นการกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งเป็นข้อจำกัด

ข่าวแจ้งว่า เมื่อจำแนกประเภทตามการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเปรียบเทียบระหว่างชุมชนเมือง และ ชนบท ในปี ๒๕๔๓ ที่มีจำนวนครัวเรือน ที่มีหนี้สิน ๙,๐๕๑,๕๗๓ ครัวเรือน พบว่า ครัวเรือน ในชุมชนเมือง มีหนี้สินในระบบ ๑๒.๒% นอกระบบ ๗.๒% ทั้งในและนอกระบบ ๑.๙% ขณะที่ ในชนบท มีหนี้สิน ในระบบ ๒๐.๕% นอกระบบ ๔๙.๑% ในและนอกระบบ ๕.๑% ส่วนปี ๒๕๔๕ มีครัวเรือนที่มีหนี้สิน ๑๐,๑๘๙,๗๙๘ ครัวเรือน โดยครัวเรือนในชุมชนเมือง มีหนี้ในระบบ ๑๐.๙% นอกระบบ ๔.๗% ทั้งใน และนอกระบบ ๑๐.๓% ส่วนครัวเรือนในชนบท มีหนี้สินในระบบ ๑๔.๓% นอกระบบ ๒๙.๑% ทั้งในและนอกระบบ ๓๐.๖%

"เมื่อพิจารณาภาระหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนยากจนทั้งในภาคเกษตร และ นอกภาคเกษตร มีภาระหนี้เฉลี่ย ๖.๓๕ เท่าของรายได้ ครัวเรือนต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าทั่วไป ที่มีภาระ หนี้สิน ๔.๐๓ เท่าของรายได้ต่อเดือน โดยครัวเรือนยากจน ในภาคเกษตร มีภาระหนี้เฉลี่ย สูงกว่า ครัวเรือนยากจน นอกภาคเกษตร ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มเกษตรกรยากจน เป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้สิน สูงสุด เมื่อเทียบกับ ความสามารถ ในการชำระหนี้" แหล่งข่าวกล่าว

ข่าวแจ้งว่า หากพิจารณาถึงความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนของเกษตรกรยากจน รวมทั้ง การเข้าถึง โครงการต่างๆ ที่มุ่งเน้น การสร้างโอกาส ในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ของคนยากจน มีเกษตรกรยากจน ที่มีหนี้สิน ๗๓% เข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ในระบบได้ ในจำนวนนี้ กู้เงินนอกระบบ ด้วยประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ ๓๖% ในขณะที่ ๒๗% ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ในระบบได้ จึงต้องกู้เงินนอกระบบ ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า

ข่าวแจ้งอีกว่า สศช.เสนอว่า รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยหาแหล่งสินเชื่อระยะยาว ที่มีระยะ เวลาการกู้ สอดคล้องกับ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ของประชาชน เพราะหนี้ของครัวเรือน ในภาคเกษตร มีภาระดอกเบี้ยสูง และครัวเรือนเกษตรกรที่ยากจน ก็เข้าถึงพักชำระหนี้ได้จำกัด เพราะขาดหลักทรัพย์ ค้ำประกัน ทั้งนี้หากพิจารณาจากระดับการศึกษาสูงสุด ของสมาชิก ในครอบครัว มาประกอบกับ ภาวะหนี้สิน พบว่าครัวเรือนที่มีหนี้สินส่วนใหญ่ สมาชิกในครัวเรือน มีระดับการศึกษาสูงสุด ระดับมัธยมศึกษา ตอนปลาย หรือเทียบเท่า ซึ่งสะท้อนว่า การปลดเปลื้องหนี้สิน ต้องดำเนินควบคู่ กับการสร้างโอกาส ในการเรียนรู้ ตลอดชีวิต และการยกระดับ ฝีมือแรงงาน

อนึ่ง การกู้ยืมของครัวเรือนยากจนในปี ๒๕๔๕ มีการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนและลงทุน ในการทำการเกษตร เป็นสัดส่วนสูง ประมาณ ๘.๘ แสนครัวเรือน หรือ ๙๒.๖% ของครัวเรือนยากจนที่มีหนี้สินทั้งหมด คิดเป็นหนี้สินทั้งสิ้น ๒๘,๙๒๘ ล้านบาท

- เราคิดอะไร ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑๖๒ มกราคม ๒๕๔๗ -