ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -

(ต่อจากฉบับที่ ๑๖๒)


แม้ผู้ปฏิบัติจะยังต้องเคร่งคุมการปฏิบัติอยู่อย่างลำบาก ยังไม่เบาง่ายคล่อง แต่ขณะนั้นๆ ก็สามารถทำให้จิต "ไม่มีนิวรณ์" ได้ด้วยเจตนา พยายาม ก็ถือว่านี่คือ"ฌาน" เพียงแต่จะอยู่ ในขั้นตอนของฌาน ๑ หรือฌาน ๒ หรือฌาน ๓ หรือฌาน ๔ ก็ตามประสิทธิภาพ แห่งความสามารถ แต่ละขั้นและความสำเร็จของผู้ปฏิบัติ

"ฌาน" แบบพุทธนั้น วิธีปฏิบัติ จึงไม่ใช่ไปนั่งสมาธิหลับตาสะกดจิตเข้าไปอยู่ในภวังค์ แบบฤาษี แต่ปฏิบัติตาม"มรรค อันมีองค์ ๘" กล่าวคือ ปฏิบัติอยู่ตลอด เวลา ต้องพยายามทำใจให้เกิด "ฌาน" ในทุกขณะ มีอิริยาบถปกติยืนเดินนั่งนอน จะคิดจะพูด จะทำการงาน จะทำอาชีพใดๆ อยู่ตามชีวิตสามัญได้ทั้งสิ้น ไม่ต้องแยกเวลาไปนั่งทำฌานทำสมาธิ เป็นอีกงานหนึ่งต่างหาก เลย แต่ปฏิบัติโดยรู้เท่าทัน จิตของตนกรรมของตน ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ปฏิบัติสัมมัปปทาน ๔ มีอิทธิบาท ๔ ทำใจให้เป็น"สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์" ให้เกิดอินทรีย์ ๕ เกิดพละ ๕ ด้วยความพยายาม (สัมมาวายามะ) ละมิจฉาสังกัปปะ ๓ (กามสังกัปปะ,พยาบาทสังกัปปะ,วิหิงสา สังกัปปะ) ให้ได้ ละมิจฉาวาจา ๔ (ปด, ส่อเสียด, หยาบ, เพ้อเจ้อ) ให้ได้ ละมิจฉากัมมันตะ ๓ (ปาณาติบาต, อทินนาทาน, กาเมสุมิจฉาจาร) ให้ได้ ละมิจฉาอาชีวะ ๕ (กุหนา, ลปนา, เนมิตตกตา, นิปเปสิกตา, ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) ให้ได้ แล้วจิตก็จะถูกอบรม สั่งสมลงเป็น "สัมมาสมาธิ" ตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน "มหาจัตตารีสกสูตร" (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑)

"สัมมาฌาน" หรือ "ฌาน" แบบพุทธแท้ๆก็จะเจริญ สั่งสมตกผลึกลงเป็น "สัมมาสมาธิ" และบรรลุ "สัมมาญาณ - สัมมาวิมุติ" เป็นปฏิสัมพัทธ์กัน และกัน ไปตลอดสายของ "มรรค ๘" และ "ผล ๒"

"ฌาน" หรือ "สมาธิ" แม้แต่ "วิมุติ" ของพุทธที่แท้จริง จึงมีนัยสำคัญที่แตกต่างจากลัทธิอื่นๆ จากแบบอื่นๆ แม้แต่คนผู้เป็นชาวพุทธ ทั้งหลาย ที่พากันหลงผิด หรือพากัน ไม่สัมมาทิฏฐิ อยู่ส่วนมาก ทั้งวิธีปฏิบัติและทั้งภาวะความเป็น"ฌาน-สมาธิ-วิมุติ" เพราะคุณวิเศษ ที่เรียกว่า อุตตริมนุสสธรรม แบบพุทธนั้น มีความพิเศษเฉพาะตัว ที่ตรัสรู้โดย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เหมือนใคร จึงมิใช่คุณวิเศษ แบบเดียวกันกับ ของฤาษีเก่าก่อน หรือ แบบอาจารย์อื่นๆ ทั่วไป แน่นอน

"ฌาน" ก็ดี "สมาธิ" ก็ดี "ปัญญาหรือญาณ"ก็ดี "วิมุติ"ก็ดี ต่างเกิดจาก "ไตรสิกขา" ที่สัมมาทิฏฐิ หรือ "โพธิปักขิยธรรม ๓๗" อันเป็นทฤษฎีสำคัญ และสูตรอื่นๆอีกมาก ของพระพุทธเจ้า ซึ่งทฤษฎี ปฏิบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ล้วนแตกต่าง จากแบบอื่นๆในโลกอย่างมีนัยสำคัญ

อาตมาได้อธิบายให้เห็นถึงปฏิสัมพัทธ์ของธรรมะพระพุทธเจ้า ไม่ว่าเรื่อง "ภพ ๓" ก็ดี "ตัณหา ๓" ก็ดี "อวิชชา ๓" ก็ดี หรืออื่นๆ ก็จะเห็นได้ว่า หากไม่รู้แจ้งเข้าใจชัดแจ้ง ทั้งในความเป็น "ภพ" ครบ ๓ ที่ต้อง "ออกจาก" (เนกขัมมะ) ให้พ้นให้ได้ทุกภพ

ทั้งในความแตกต่างกันของ"ตัณหา ๓" โดยเฉพาะ "ตัณหาที่ยังเป็นโลกีย์" กับ "ตัณหาที่เป็นโลกุตระ"

ไม่เช่นนั้นก็หมดสิทธิ์บรรลุธรรมถึงที่สุดแน่นอน

และทั้งใน"อวิชชา ๓" ซึ่งต้องรู้ชัดรู้คมรู้ถ้วนอย่างถูกแท้สัมมาทิฏฐิจริงว่า "อวิชชา" คือ "ความไม่รู้" นี้ในทางพุทธศาสนา หมายเอาอะไรแค่ไหน มัน "ไม่รู้ในอะไรกันแน่" เพราะคำว่า "อวิชชา" ของพุทธศาสนานี้มิใช่หมายถึง "ความไม่รู้" ที่ไม่รู้อะไร ก็เหมาว่า อวิชชาไปหมด ทุกสิ่งอย่าง ในมหาจักรวาล "อวิชชา" นี้หมายถึง "อวิชชา ๘" ซึ่งเป็น "ความไม่รู้" เฉพาะที่เป็น นัยสำคัญ

ทวนอีกนิด เรื่อง "ภพ" ผู้ปฏิบัติก็จะต้องรู้จักรู้แจ้ง รู้จริง "กามภพ-รูปภพ-อรูปภพ" เรื่อง "ตัณหา" ก็จะต้องรู้จัก รู้แจ้งรู้จริง "กามตัณหา-ภวตัณหา - วิภวตัณหา" และเรื่อง "อวิชชา" ก็จะต้องแม่น ตรงชัด คมลึกครบว่า "อวิชชาหรือความไม่รู้" นั้น ไม่รู้ในเรื่องอะไรกันแน่ เพราะ "อวิชชา" ในธรรม ของศาสนาพุทธนี้ ไม่ได้หมายถึง "ความไม่รู้" เปรอะไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ในมหาจักรวาล ดังกล่าวแล้ว ที่แน่ๆ นั้นก็คือ ต้องรู้จักรู้แจ้งรู้จริง "อาสวะ" (สภาวะอันหมักดอง อยู่ในสันดาน หรือ ในก้นบึ้งของจิต) เพราะนอกจากจะต้อง "พ้นกามาสวะและภวาสวะ" แล้ว ก็จะต้อง "พ้นอวิชชาสวะ" หรือพ้นภาวะที่เป็นอาสวะอันยังอวิชชาอันยังไม่รู้ ให้ครบสัมบูรณ์ หรือต้อง "พ้นอวิชชาสังโยชน์" (กิเลสที่ผูกใจสัตว์ไว้ในภพ ข้อที่ ๑๐ คือ อวิชชา)

ใน"ปฏิจจสมุปบาท "อันเป็น สภาพต่างๆที่อาศัยกันและกันเกิดต่อเนื่องเป็นสาย จนถึงที่สุดคือ "ทุกข์" พร้อมบริวารทั้งหลาย "ปฏิจจสมุปบาท" นี้ เป็นกระบวนการแห่งสัจจะที่สำคัญยิ่งยอด ของศาสนาพุทธ ซึ่งตรัสรู้โดย พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และใน "ปฏิจจสมุปบาท" ก็มี "อวิชชา" นั่นเอง เป็น "ต้นเหตุ" ตัวสำคัญ ที่ทำให้เกิด "ภพ" เกิด "ชาติ" ซึ่งเรียงตามลำดับ ดังนี้

เพราะ "อวิชชา" เป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขาร จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณ จึงมีนามรูป
เพราะนามรูป จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะ จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะ จึงมีเวทนา
เพราะเวทนา จึงมี "ตัณหา"
เพราะ"ตัณหา" จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทาน จึงมี "ภพ"
เพราะ"ภพ" จึงมี "ชาติ"
เพราะ"ชาติ" เป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะโสกะปริเทวะทุกข์โทมนัสและอุปายาส

ผู้ที่ศึกษาเรียนรู้อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" และเมื่อพากเพียรปฏิบัติเป็น "สัมมามรรค" ได้ยิ่งๆขึ้น สามารถ บรรลุมรรคผล ไปตามลำดับ ก็จะพ้น "อวิชชา ๘" (พระไตรปิฎก เล่ม ๓๔ ข้อ ๖๙๑ และเล่ม ๓๕ ข้อ ๙๒๖) ได้เป็นขั้นตอนแห่งการบรรลุธรรมสูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ

นั่นคือ ผู้ปฏิบัติจะเกิด "วิชชา ๙" ซึ่งเป็น "อธิปัญญา" ขึ้นมาตามสามัญผลของไตรสิกขา หรือจะมี "อนุสาสนีปาฏิหาริย์" อันเป็น "คุณวิเศษหรือความรู้อันยิ่ง ๙ ประการ" ของพุทธนั่นเอง เป็นเครื่องมือวิเศษ ที่จะพาเจริญขึ้นๆ บรรลุธรรมไปตามลำดับ ความเจริญ นั้นก็คือ ลดละ "อวิชชา" ไปได้ตามขั้นตอน หรือ มี "วิชชา" ขึ้นมาทดแทน"อวิชชา"ไปเรื่อยๆ กระทั่ง หมดเกลี้ยง "อวิชชา" ที่สุด.. สิ้นอนุสัยดับอาสวะ ด้วยการรู้แจ้งแทงทะลุรอบถ้วน หรือมี "วิชชา" สัมบูรณ์ นั้นแล

"อวิชชา ๘" ระบุนัยสำคัญไว้ชัดเจน ได้แก่

๑. ความไม่รู้ในทุกข์
๒. ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย
๓. ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ
๔. ความไม่รู้ในทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์
๕. ความไม่รู้ในส่วนอดีต
๖. ความไม่รู้ในส่วนอนาคต
๗. ความไม่รู้ทั้งส่วนอดีตทั้งส่วนอนาคต
๘. ความไม่รู้ในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันจึงมีขึ้นตามหลักอิทัปปัจจยตา หรือไม่รู้ใน "ปฏิจจสมุปบาท"

ผู้พ้น อวิชชา ๘ บริบูรณ์สัมบูรณ์ ก็คือ ผู้บรรลุ"อาริยธรรม"ของพุทธ นั่นคือ สามารถรู้แจ้ง แทงทะลุใน "อาริยสัจ ๔" และแน่นอน ต้องรู้แจ้ง "ในส่วนอดีต-ในส่วนอนาคต-ทั้งในส่วนอดีต ในส่วนอนาคต" ที่ปฏิสัมพัทธ์กับ "ปฏิจจสมุปบาท" ทั้งสายด้วย

ผู้ "พ้นอวิชชา" จึงได้แก่ ผู้สามารถปฏิบัติจนเกิด"วิชชา"นั่นเอง ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องมี "วิชชา ๙" นั่นแหละ ที่สามารถรู้จัก รู้แจ้งรู้จริงใน "ความจริง" ที่เป็น สังขาร..วิญญาณ.. นามรูป.. สฬายตนะ.. ผัสสะ.. เวทนา.. ตัณหา.. อุปาทาน.. ภพ.. ชาติชรามรณะโสกะปริเทวะ ทุกขะโทมนัส และอุปายาสะ

ผู้มี"วิชชา ๙" จะรู้แจ้งความมีสภาวะแต่ละภาวะ รู้แจ้งความมีบทบาทต่างๆ ที่มันปฏิสัมพัทธ์ กันและกัน ตลอดสายของ "ปฏิจจสมุปบาท" ทั้งอนุโลมและทั้งปฏิโลม

กระบวนการของผู้จะ"พ้นอวิชชา" ก็มีดังนี้

ผู้เริ่มนับว่าเป็น "พุทธ" ได้ ก็ต้องมี "พฤติที่บ่งชี้ว่าเป็นพุทธ" ฉะนั้นผู้เป็น"พุทธ" จะต้องมี.. ความเป็นไป หรือมีพฤติ (ความประพฤติ) ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ มี "จรณะทั้ง ๑๕" เพราะ "จรณะ" แปลว่า ความเป็นไป หรือพฤติ หรือลักษณะความเป็นอยู่ของคน นั่นเอง

แต่ถ้าผู้ใดนับถือพุทธ ทว่าไม่มี"พฤติ หรือลักษณะความเป็นอยู่"ตาม"จรณะ" ๑๕ ข้อนั้น นั่นก็คือ ผู้นั้นไม่มี ความเป็นไป ไม่มีพฤติ ไม่มีลักษณะความเป็นอยู่ ตามคุณสมบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนชาว "พุทธ" ต้องมีต้องเป็น ปรากฏอยู่ในตัวคนผู้เป็น "พุทธ" คนผู้นั้นก็ไม่มีเครื่องชี้บ่งยืนยันว่า "มีความเป็นพุทธ" กันเท่านั้นเอง ก็เลยมีกันแค่ยี่ห้อ หรือมีแต่สลากแปะๆไว้เปล่าๆว่า "พุทธ" แต่ "เนื้อพุทธ" ที่เป็นพฤติ หรือที่เป็น คุณสมบัติของความเป็นพุทธ ไม่มีอยู่ในตัวคนผู้นั้นๆเลย

ดังนั้น คนผู้เป็นพุทธ ต้องมีความประพฤติตามลักษณะความเป็นอยู่ที่เป็นพุทธ นั่นคือ "จรณะ ๑๕"

ผู้เป็นพุทธที่ได้เรียนรู้มาอย่างสัมมาทิฏฐิ ผู้นั้นก็จะมี "จรณะ ๑๕" ซึ่งหมายถึง ความเป็นไป หรือพฤติทั้ง ๑๕ ได้แก่ ศีลสัมปทา (ถึงพร้อมด้วยศีลหรือบรรลุผลของศีลนั้นๆ) อปัณณกปฏิปทา ๓ (หลักประพฤติที่ หากใครประพฤติ อย่างมีสัมมาทิฏฐิในหลัก ๓ หลักนี้ คือผู้ไม่ผิดทางดำเนินของพุทธ) สัทธรรม ๗ (ธรรมที่แท้ ๗ ประการ) และฌาน ๔ (ภาวะของจิตที่เจ้าตัวปฏิบัติเพื่อเพ่งรู้กิเลสในจิต แล้วเผากำจัดมันได้ ซึ่งเจริญ เป็นลำดับ ๔ ขั้นตอน)

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ -