...ย่อมไม่ร้างสามัคคี


พี่แมะและน้อยได้เรียนภาษาต่างประเทศกับพ่อทุกคืน คืนละหนึ่งคำ ตอนนี้ก็ถึงคำว่า อภิวาเทมิ พ่อบอกว่าแปลว่า "ข้าพเจ้าขออภิวาท" และพ่อบอกด้วยว่า อภิวาท แปลว่า กราบไหว้

"ทำไมเราไม่สวดมนตร์ว่า ข้าพเจ้าขอกราบไหว้เลยล่ะคะพ่อ?" พี่แมะถามพ่อ คืนที่เรียนถึงคำนั้น "แมะว่าสวดเป็นภาษาไทย จะได้รู้เรื่องเสียเลย ไม่ต้องจำอีกภาษา แล้วคำก็ยากๆ ยาวๆ ทั้งนั้นเลย"

"ไม่ดีหรอกลูก ที่พ่อสอนลูกแม่ก็ฟังนะ แม่ได้รู้ไปด้วย ยายเขาก็สอนแม่ให้ท่องเหมือนกัน" แม่บอกพี่แมะ

"แม่ก็ไม่ได้เรียนภาษาบาลีเหมือนกันหรือคะ?" พี่แมะถาม

"โอ๊ย สมัยของแม่เด็กผู้หญิงไม่รู้หนังสือกันหรอกลูก อย่าว่าภาษาบาลีเลย ภาษาไทยก็ไม่ได้เรียน ผู้ใหญ่เขากลัวลูกสาว จะเขียนเพลงยาว" แม่ตอบ

"เพลงยาวเป็นอย่างไรคะแม่ เขาแต่งสำหรับร้องยาวๆ หรือคะ? น้อยก็อยากเขียนเพลงยาว ไว้ร้องเหมือนกัน" น้อยบอกแม่ ตามประสาเด็ก แล้วก็ต้องแปลกใจ เมื่อแม่กลับร้องห้าม ส่วนพ่อก็หัวเราะดัง

"ไม่ได้ ไม่ได้ ห้ามเขียนเพลงยาวอย่างเด็ดขาด"

"ลูกยังเด็ก แม่ แม่เรียก'เพลงยาว' แกก็นึกว่าเป็นเพลงสำหรับร้องยาวๆ น่ะซี โทษเด็กไม่ได้" พ่อพูด แล้วหันมาพูด กับสองพี่น้องว่า "ที่แม่บอกว่าผู้ใหญ่สมัยก่อนเขากลัวลูกสาวที่รู้หนังสือจะเขียนเพลงยาวน่ะ เพลงยาว คือ จดหมายที่ผู้หญิง ผู้ชายที่โตๆ แล้วเขียนถึงกัน เขาเขียนกันเป็นกลอน เหมือนเรื่องสังข์ทอง พี่แมะอ่านในชั้น ป.๔ นั่นแหละลูก แต่ไม่เป็น เรื่องสนุกๆ แบบพระสังข์ ใส่รูปเงาะหรอก พ่อแม่ทุกคนเขาห่วงลูก โดยเฉพาะลูกผู้หญิง แมะกับน้อยพอเข้าใจไหม?"

"ก็น้อยเห็นแม่เรียกเพลงยาวก็เลยนึกว่า เขาแต่งไว้ร้องเล่นกัน อย่างนั้นผู้หญิงไทยรุ่นแม่ก็เลย ไม่ได้เรียนหนังสือ กันเลยซีคะ ว้า! น้อยว่า น่าเสียดาย" น้อยพูด

"สมัยของแม่ไม่มีโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิง แต่ยายๆของลูกทุกคนรวมทั้งลูกๆ ของยาย คือรุ่นแม่ยังโชคดีนะ ที่ผู้ใหญ่ หาครูมาสอน ให้หัดอ่านหนังสือในบ้าน เขาเรียกว่า สอนให้ชักสวด ส่วนมากเขาจะให้ชักสวด ด้วยเรื่องพระอภัย แต่เขาสอน ให้อ่านออก เท่านั้นนะ เขาไม่สอนให้เขียน พวกเราจึงอ่านได้แต่เขียนไม่ได้ไงลูก มาหัดเขียนกันก็ตอนรัฐบาล จอมพลป. เขาให้มีการศึกษาผู้ใหญ่ แต่ส่วนมาก ก็ขี้เกียจเรียนกันแล้ว แค่อ่านได้ก็พอ"

"ของแมะก็ว่าแค่อ่านได้เขียนได้ก็พอเหมือน แต่น้อยเขาชอบ นี่เห็นเค้าเที่ยวพูด เน่มๆ อะไรกันอยู่กับมามุ ภาษาบาลี ที่พ่อสอนเรา แมะว่าเพราะ แต่จำยากจัง น้อยเค้าว่าพ่อสอนวันละคำเท่านั้น เค้าจำได้จริงๆ ด้วยค่ะ แม่" พี่แมะหันไปเล่าให้แม่ฟัง

"ลูกพ่อแท้ๆ" แม่พึมพำขณะที่น้อยพูดว่า

"น้อยว่าภาษาบาลีที่เราสวดมนตร์เพราะดี แล้วพ่อก็สอนแต่ง่ายๆ นะคะแม่ พ่อว่าถ้าเมื่อไหร่ลงตรงท้ายว่า มิ ก็แปลว่า ฉัน ได้เลย ก็ง่ายดีนะคะ" น้อยแสดงความชอบ ที่ทั้งพ่อและแม่ สังเกตกันมานานแล้ว แต่พี่แมะกลับแย้งว่า

"ถ้าว่า ฉันกราบพระพุทธเจ้า ก็ง่ายซี แต่นี่พ่อสอนให้แปลว่า ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า พี่ก็ว่าภาษาบาลี ยากน่ะซี"

"ภาษาไทยเรามีหลายระดับลูก พระพุทธเจ้านั้นเราเคารพสูงสุด แมะจะใช้ภาษาแบบเรา พูดกันไม่ได้ แม้แต่กิริยามารยาท เวลาลูกพูด กับผู้ใหญ่ ก็ต้องใช้กิริยามารยาทต่างกับพูดกับเด็ก ใช่ไหมเล่า เวลาลูกสวดมนตร์ก็เหมือนกับลูกพูดกับ พระพุทธเจ้า ยิ่งต้อง ระวังมากที่สุด เห็นไหม ลูกต้องนั่งแบบไหน พนมมือแบบไหน กราบแบบไหน" พ่ออธิบายช้าๆ

"แต่แม่ว่า สวดมนต์เป็นภาษาบาลีก็ฟังศักดิ์สิทธิ์ดี แม่ชอบ" แม่ตอบพ่อเบาๆ

"เวลาคนมุสลิมเขาสวด มณีพรรณบอกน้อยว่าเขาก็ไม่ได้สวดภาษามลายูค่ะ เขาต้องสวดเป็นภาษา อาหรับ แล้วเขาก็ต้อง ยืนสงบนิ่ง นึกถึงพระอัลเลาะห์ แล้วก็คุกเข่าลงกราบให้หัวติดพื้น เหมือนเรากราบพระเหมือนกัน น้อยว่าคนไทยมุสลิม สวดภาษาอาหรับ ก็เหมือนคนไทยพุทธสวดภาษาบาลี เหมือนกันเลย แต่คนละภาษา ก็เลยเรียกว่า คนละศาสนา ใช่ไหมคะพ่อ?" น้อยถามสิ่งที่ค้างอยู่ในใจและเธออธิบายตนเองไม่ได้

"ไม่ใช่แค่คนละภาษาแล้วจะเป็นคนละศาสนาหรอกลูก แมะกับน้อยยังเด็กก็เลยคิดอย่างนั้น โตขึ้น ลูกจะเข้าใจ แต่ตอนนี้ จำไว้ให้ขึ้นใจนะว่า ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีทั้งนั้น ไม่มีศาสนาไหนสอนให้คนเป็นคนชั่ว" พ่อพูดต่อ

"แต่น้อยบอกเพื่อนว่า นโม แปลว่า นอบน้อม เป็นภาษาบาลีสำหรับสวดมนตร์ พวกเขาไม่ว่าตามน้อย สักคนเดียว ทำไมล่ะคะ พ่อ" น้อยถามต่อ

"อ๋อ อันนี้พ่ออธิบายได้ ไม่ต้องรอลูกโตหรอก ถ้าเป็นคำของภาษาหนึ่ง ในประเทศอินเดีย ใครก็พูดได้ แต่เมื่อน้อยบอก ก็เป็นคำในบทสวดมนตร์ ในพุทธศาสนา เพื่อนๆ น้อยเขาเป็นไทยมุสลิม เขาก็เลยคิดว่า เป็นคำสวด ซึ่งของเขาใช้ภาษา อาหรับ เขาก็เลยมาว่า คำสวดมนตร์ของศาสนาอื่นไม่ได้ น้อยเข้าใจไหม ยากเกินไปไหมลูก" พ่อพยายามอธิบาย แม่ก็เข้าช่วยด้วยว่า

"เหมือนเขตรั้วบ้านแต่ละหลังนี่แหละ บ้านน้อยก็มีเขตบ้านของน้อย มามุก็มีเขตบ้านของมามุ ถึงจะอยู่ติดกันก็เถิด จะเล่น ด้วยกัน กินขนมด้วยกัน ซนด้วยกัน" แม่อดแว้งเข้ามาเรื่องน้อยซนไม่ได้-น้อยคิด แต่เป็นเรื่องจริง และเด็กๆ ต้องไม่เถียง ไม่ขัดผู้ใหญ่ แม่จึงอธิบายต่อว่า "แต่น้อยและมามุก็รู้ไม่ใช่หรือว่า พอตะวันชาย(๑) ต่างคนต่างก็กลับบ้านตัว ไม่ไปยุ่มย่าม บ้านคนอื่น แม่ว่าอย่างนี้แหละเหมือนกันเลยกับน้อยเป็นพุทธ มามุเป็นมุสลิม แต่ก็เป็นเพื่อนกัน พ่อกับแม่ก็สอน ให้ลูก เป็นเด็กดี แชอาลีกันโต๊ะซารี ก็สอนให้มามุเป็นคนดีเหมือนกัน เข้าใจไหมลูก?"

"เข้าใจแล้วค่ะ" พี่แมะตอบ

"น้อยก็เข้าใจ แล้วพอน้อยโตขึ้นก็จะเข้าใจมากขึ้นอีกอย่างที่พ่อบอกน้อยอยู่เรื่อย แต่เมื่อไหร่ น้อยจะโตสักทีก็ไม่รู้" น้อยตอบ อย่างแบ่งรับแบ่งสู้

ก่อนเข้าหน้าฝนปีนั้นอากาศร้อนอบอ้าวมาก แต่ตราบใดที่ฝนยังไม่ตก ชาวบ้านของอำเภอแว้ง ก็ยิ้มได้อยู่ เพราะถ้าฝนไม่ตก พวกเขาก็จะตัดยาง ได้ทุกวัน ยางแผ่นที่ตากไว้บนราวไม้ไผ่กลางแจ้งก็ตากได้จนแห้งสนิท แล้วก็หาบบ้าง ทูนบ้าง หรือไม่ก็ วางซ้อนเป็นตั้ง บนแคร่ท้ายจักรยานมาชั่งขายในตลาด

แต่ฝนทำท่าจะตกไม่ตกอย่างตอนนี้นับว่าไม่ดีเพราะถ้าไม่ไปตัดยางกะว่าฝนคงตก แต่เอาเข้าจริง กลับไม่ตก ก็เท่ากับสูญเสีย รายได้ที่ควรจะได้ไป หรือถ้าคิดว่าฝนไม่ตก ออกไปตัดยาง แต่ฝนเกิดตกก็ไม่ได้น้ำนมยางอีก เพราะฝน ตกลงมาปน จนน้ำยาง เจือจางหมด เอามาทำเป็นแผ่นไม่ได้

คนในเขตตัวอำเภออย่างพ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็หน้าตาไม่ค่อยแจ่มใสเพราะชาวบ้านที่อยู่ลึกเข้าไป ตามหมู่บ้าน ในป่ายางลึกๆ ตามเชิงภูเขา ก็ไม่ค่อยออกมาซื้อของ

พ่อจะคลายร้อนโดยการนุ่งกางเกงขาสั้นตัวเดียว ไม่สวมเสื้อ มีแต่ผ้าขาวม้าพาดไหล่ผืนเดียว ไปนั่งตากลม ที่พัดมานานๆ ทีตามใต้ต้นไม้หลังบ้าน พร้อมด้วยหนังสือในมือกับมีไอ้ดำตามไปนั่งอ้าปากลิ้นห้อยอยู่ใกล้ๆ

แม่นั้นไม่ยอมทิ้งที่นั่งขายของหน้าร้านอย่างเด็ดขาดทั้งๆ ที่ทราบดีว่าจะไม่ค่อยมีใครมาซื้อของ ถ้าลูกๆ ยังไม่กลับ จากโรงเรียน นั่งคนเดียว นานเข้า แม่ก็จะ "ยืดหลัง"(๒) หนุนกระป๋องใบจากบ้าง หนุนหัวนอ(๓) บ้างม่อยเคลิ้มไป พอลมพัด มาทีหนึ่ง แม่ก็รู้สึกตัว พึมพำกับตัวแม่เองว่า

"ฮือ! ได้แรงใจ(๔)เทวดาเอ๋ย!"

แต่แม่ก็จะไม่สามารถยืดหลังอย่างสบายอารมณ์ได้นานนัก เพราะเพื่อนบ้าน ซึ่งล้วนแต่เป็น เพื่อนมุสลิม จะมานั่งคุยเล่นกัน ด้วยเรื่องจิปาถะ

บ่ายวันหนึ่ง แม่กำลังนั่งคุยกับเพื่อนบ้านรวมทั้งโต๊ะซารีที่มานั่งคอยมามุ กลับจากโรงเรียน พร้อมน้อย เจ้าขวัญ(๕) ซึ่งบ้าน อยู่หน้าวัดเขาเข็มทอง ก็เดินนำหน้าพระภิกษุ ๒ รูป มาหา แม่รีบลุกไปตามพ่อ มาจากหลังบ้าน

พ่อและแม่กราบพระซึ่งเจ้าขวัญแนะนำว่าท่านเดินทางมาจากหาดใหญ่ และจะพักที่วัดร้าง ชื่อวัดเขาเข็มทอง สักระยะหนึ่ง เผื่อจะได้มีโอกาส แสดงธรรมเทศนา แก่คนไทยพุทธในอำเภอแว้ง

ระหว่างที่พ่อแม่ และเจ้าขวัญสนทนาอยู่กับพระภิกษุทั้งสองรูป เพื่อนบ้านมุสลิมของแม่ ก็หลีกไปนั่งหน้าร้านด้าน โต๊ะทำงานของพ่อ ทุกคนสำรวมตนดีมาก นั่งพูดคุยในกลุ่มของเขา อย่างเบาๆ เพื่อจะได้ไม่รบกวน แขกของเจ้าของบ้าน สักพักหนึ่ง ต่างก็กล่าวลาแม่ว่า "อามอกึเละดูลูเด้ะแมะเด้ะ คอมาฆีปูเลาะ (กลับบ้านก่อนนะคะ คุณนาย แล้วค่อยมาใหม่)"

หรือไม่ก็กล่าวลาอย่างไพเราะ ตามแบบมุสลิมพื้นบ้านว่า

"ตะปอ เด้ะแมะเด้ะ (ไม่เป็นไรนะคะ คุณนาย หรือ อยู่ดีนะคะ คุณนาย"

ภาพพระสงฆ์ทั้งสองรูป ครองจีวรสีเหลือง เดินบิณฑบาตไปตามห้องแถวบ้านพักตำรวจ บ้านพักข้าราชการอำเภอ แล้วเดินผ่านตลาด มาที่บ้านฝั่งคลองนั้นเป็นภาพที่แปลกตามาก สำหรับคนในตลาด ซึ่งสวนใหญ่ เป็นมุสลิม พวกเขา มองตามบ้าง ถามกันบ้าง แต่ไม่มีใคร มาใส่บาตร เพราะเขาเป็นมุสลิม และพระภิกษุก็ทราบดี จึงเพียงแต่เดินผ่านไป อย่างสำรวม

พ่อ แม่ พี่แมะ น้อย ลุกขึ้นกันแต่เช้าเพื่อทำอาหารใส่บาตร ทุกคนร่าเริงแจ่มใส จนน้อยต้องนึกถึงเนื้อเพลง ที่เธอจำมา จากพี่จบ ได้ท่อนหนึ่งว่า

...ทั่ววัดวาอาราม ทั่วเขตนิคาม เหลืองงามยามมองใกล้ไกล
สีจีวรสงฆ์อันสดใส ออกโปรดสัตว์ไป ให้ชนพ้นบาปตามเคย
...อรุณจรุงรุ่งแล้ว ทั่วแคว้นเพริศแพรว สู่วันใหม่แล้วเพื่อนเอ๋ย
ตื่นมาเสียจากกิเลสนั้นเลย มืดมิดเหลือเอ่ย ออกมาชมเชยแสงแห่งบุญ

แต่ในวันอันแสนงดงามนั้นเอง ใครจะนึกว่า ได้เกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง อย่างรุนแรงขึ้นระหว่าง น้อยกับ นักเรียนหญิง มุสลิม ชั้น ป.๒ ชื่อบีเด๊าะห์ จนคุณครูสองคน ต้องเข้ามาตัดสิน และเด็กๆ มามุงดูกันเต็ม

อาจเป็นเพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าวในตอนพักกลางวันก็ได้ที่ทำให้เด็กๆ พากันไปที่ลำห้วย หลังโรงเรียน แล้วก็บังเอิญ อีกเช่นกัน ที่หลังจากเล่นลุยน้ำ วักน้ำสาดล้อกัน และช้อนปลา หัวตะกั่วกัน จนหนำใจแล้ว เด็กคนนั้นและน้อย เกิดต้องการ ปีนต้นจำปูนป่า ซึ่งมีอยู่เพียง ดอกเดียว

"ชั้นเห็นก่อนเธอ! ชั้นเห็นก่อนเธอ!" ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์

"ชั้นฉุบ(๖) ไว้ก่อนตั้งแต่เมื่อวานนี้!" น้อยตัวผอมว่า

"หน้าไม่อาย! ชั้นฉุบไว้ก่อนเธอตั้งหลายวันแล้ว!" บีเด๊าะห์ตัวโตเถียง

"เธอนั่นแหละน่าไม่อาย! เธอนั่นแหละหน้าไม่อาย!"

ต่างคนต่างอ้างความเป็นเจ้าของ ต่างคนต่างกอดโคนต้นจำปูนไว้แน่น ไม่ยอมปล่อย จนกระทั่งเพื่อนๆ มาดึงแยกจากกัน ครึ่งลากครึ่งจูง กันไปตามทางเดิน ที่ขรุขระด้วยรากยาง ทั้งบีเด๊าะห์และน้อย ยังคงทำตาเขียวใส่กัน จนถึงโรงเรียน

สายลมที่พัดเอื่อยมาเป็นครั้งคราว และพื้นซีเมนต์ที่เย็นสบายทำให้อารมณ์เด็กทั้งสองเย็นลง เด็กผู้หญิง ชั้นเดียวกับน้อย นั่งล้อมกันเป็นวง เล่นอีมอญซ่อนผ้า กันอย่างสนุกสนาน แต่ก็เกิดเรื่องอีกจนได้ เมื่อน้อยเป็นคนเดินรอบวง เธอวางผ้า อย่างเบาที่สุด ไว้ข้างหลังบีเด๊าะห์ แล้วยังทำเป็นซ่อน เศษผ้าไว้ใต้เสื้อผ้าป่าน ดอกแดงที่สวมอยู่ เมื่อครบรอบ ก็หยิบผ้านั้น ไล่ตีบีเด๊าะห์ แต่บีเด๊าะห์ซึ่งยังโมโหอยู่ทั้งเรื่อง ที่ลำห้วยและที่ถูกเพื่อนตีด้วยผ้าหลายครั้ง เกิดโมโหร้องกรี๊ดลั่น ตรงเข้าทุบตี และ หยิกข่วนน้อย เป็นพัลวัน

"เธอแกล้งชั้น!" บีเด๊าะห์แผดเสียงดัง เพื่อนๆ ต่างตกตะลึง เด็กๆ ที่เล็กกว่าหยุดเล่นเข้ามาล้อมดู "นี่แน่ะ!" บีเด๊าะห์กระชาก ชายเสื้อของน้อย จนขาดแควก ยกมือฟาดไปที่หน้าของน้อย

เสียงเพื่อนๆ ร้องห้ามกันขรม แต่น้อยเลือดขึ้นหน้าเสียแล้ว เมื่อได้ยินเสียงเสื้อป่าน ดอกแดง ของเธอขาด เสียงวิ้งๆๆๆ ดังขึ้น ในหัวพร้อมกับ เสียงเพลงปลุกใจประจำตัว "ดั่งงูตัวนิด มีพิษเหลือใจ" เธอยกมือขึ้นฟาดหน้าบีเด๊าะห์บ้าง พลางพูดเสียงดังว่า

"เห็นชั้นเล็กกว่าเหรอ ชั้นตีเธอเป็นเหมือนกัน คนขี้อิจฉา วันก่อนก็ว่าบ้านชั้น เธอว่าบ้านชั้นทำไม ฮึ? ใส่บาตรพระแล้วเป็นยังไง?"

"เออใช่! เธอไอ้เด็กซิแย ไหว้โต๊ะชา (พระ) มาขอข้าว" บีเด๊าะห์ไม่ลดละ

"หยุดนะ อย่ามาว่าพระนะ พระไม่ได้มาขอข้าวซักหน่อย พระมายืนบาตรหรอก" น้อยตะโกนกำหมัดแน่น

"นั่นแหละ สตังค์ไม่มี มายืนขอข้าว โต๊ะหะยีไม่เห็นเดินขอข้าวเลย" บีเด๊าะห์ทำเสียงเยาะ

"หยุดนะ พระเป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านอยู่วัด ก็โต๊ะหะยีเธออยู่บ้าน มีเมียได้นี่" น้อยโต้กลับ

"แหม! ทำท่ากำหมัด เธอจะต่อยกับชั้นเหรอ ก็ด้าย! ชั้นไม่กลัวหรอก ชั้นมีพระเจ้า เธอไม่มี" บีเด๊าะห์เสียงลั่น

น้อยเลื่อนมือ ไปกำพระองค์เล็กๆ ที่ห้อยคอไว้ ร้องตอบว่า "ได้เลย ชั้นก็ไม่กลัวเหมือนกัน ชั้นก็มีพระพุทธเจ้า เอาเลย! เลิกเรียนแล้ว ไปพบกันที่ต้นไม้ใหญ่"

ต้นไม้ใหญ่ที่น้อยพูดนั้นอยู่ในป่าข้างโรงเรียน ตรงกับบ้านนายอำเภอ เป็นที่ที่เด็กผู้ชายที่ทะเลาะกัน จะไปต่อยกัน เด็กๆ ทุกคนเข้าใจดีว่า ถ้าพูดถึงต้นไม้ใหญ่ ก็หมายถึงการนัดชกต่อยกัน และทุกครั้ง จะมีคนไปฟ้องคุณครู ผู้ซึ่งจะเดินไปลากตัว ออกมาเฆี่ยนทั้งคู่

โชคยังดีที่มวยหญิงคู่แรกของโรงเรียนแว้งไม่ทันได้เกิดขึ้น ครูมนัสและครูสุภาได้ยิน เสียงดัง ผิดปกติ จึงรีบเดินมา ได้ทันเห็นภาพ และเสียง ของสถานการณ์ ที่เปลี่ยนไป จากเรื่องเดิม อย่างสิ้นเชิง เด็กๆ เริ่มมีอาการแบ่งพวก โดยไม่ได้ตั้งใจ อุทัย วิมล จริยา เป็นเด็กไทยพุทธ ไม่กี่คนของโรงเรียนแว้ง เตร่เข้าไปข้างหลังน้อย ขณะที่เด็กส่วนใหญ่ เป็นไทยมุสลิม ยืนอยู่โดยรอบ เสียงน้อย กับบีเด๊าะห์ยังคงแลกปากคำกันดังขึ้นๆ

บีเด๊าะห์ "ชั้นมีพระเจ้า"

น้อย "ชั้นมีพระพุทธเจ้า"

บีเด๊าะห์ "อย่ามาเลย พระเจ้ามีองค์เดียวเท่านั้นแหละ คือ อัลเลาะห์"

น้อย "อย่ามาเลย พระพุทธเจ้าก็มีองค์เดียวเหมือนกัน คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

บีเด๊าะห์ "เออ เดี๋ยวเลิกเรียนแล้วรู้กัน อัลเลาะห์จะช่วยชั้น"

น้อย "เออ ก็ได้ พระพุทธเจ้าก็จะช่วยชั้น"

"มานี่ มานี่ อัลเลาะห์และพระพุทธเจ้าไม่ช่วยเด็กผู้หญิงที่ทะเลาะกันอย่างนี้หรอก มานี่"

ครูมนัสผู้ใจดีพูดเสียงเฉียบขาด ตรงเข้าไปแยกเด็กทั้งสอง ดึงมือน้อยลากไปที่โต๊ะครู ครูสุภาดึงแขนบีเด๊าะห์ตามไปด้วย พลางออกคำสั่งกับเด็ก ที่รุมล้อมอยู่เต็มว่า "ทั้งหมดออกไปเล่นกันข้างนอกก่อน อย่าเพิ่งเข้ามาในห้องเรียน"

น้อยและบีเด๊าะห์ยืนหน้าง้ำอยู่หน้าโต๊ะครูมนัส กลัวว่าจะต้องถูกทำโทษก็กลัว แต่โทสะในใจยังดับไม่หมด เมื่อคุณครูซักว่า เกิดอะไรขึ้น บีเด๊าะห์เป็นคนพูดก่อนว่า

"ก็จริงนี่คะ พระเดินไปขอข้าวที่บ้านเค้า หนูเห็น แล้วเค้ามาว่าโต๊ะหะยีทำไม โต๊ะหะยีไม่ใช่พระ ซักกะหน่อย หนูก็เป็นลูกโต๊ะหะยี"

"พระไม่ได้มาขอข้าวค่ะ พ่อว่าท่านมาโปรดสัตว์ต่างหาก เค้ามาว่าพระทำไม แล้วโต๊ะหะยี ก็มีเมียจริงๆ นี่คะ พระอยู่วัด แต่หะยีไม่ได้อยู่ที่สุเหร่า" น้อยให้เหตุผลฝ่ายเธอบ้าง

"อ้อ เถียงกันเรื่องพระกับหะยีหรือ แต่ครูแว่วๆ ได้ยินเสียงเธออ้างถึงพระพุทธเจ้า กับพระอัลเลาะห์ด้วย ใช่หรือไม่? บีเด๊าะห์" ครูมนัสซักต่อ "ตอบมาตามตรง อย่าคิดว่าครูเป็นมุสลิม แล้วจะเข้าข้างเธอนะ เธอเอ่ยพระนามอัลเลาะห์ อย่างไม่สมควร ไม่ได้นะ เธอก็รู้นี่นา"

บีเด๊าะห์ก้มหน้าเหมือนจะนึกอะไรได้ ตอบคุณครูเสียงอ่อนลงว่า

"ก็เราจะต่อยกันเย็นนี้ หนูกลัวหนูแพ้ หนูก็เลยขอให้อัลเลาะห์ช่วยค่ะ"

"เป็นเด็กผู้หญิงนี่นะจะต่อยกัน เออ เอาจริง" ครูมนัสพูดอย่างอ่อนใจ "บีเด๊าะห์เธอตัวโตกว่าน้อยมาก ทำร้ายคนตัวเล็กกว่าได้อย่างไร น้อยล่ะ ว่าไง? เธอจะสู้เขาได้หรือ?"

"ก็บีเด๊าะห์เขาท้า เขามาว่าพระทำไม หนูก็เลยขอให้พระพุทธเจ้าช่วยเหมือนกัน" น้อยตอบ เสียงอ่อยลงเหมือนกัน

"ครูเข้าใจแล้ว ฟังให้ดีนะ ทั้งสองคน คราวนี้เธอจะไม่ถูกทำโทษ" ครูมนัสพูด เด็กทั้งสองหน้าชื่นขึ้น อย่างเห็นได้ชัด "ต่อไปนี้ ห้ามเด็ดขาด ไม่ให้ทะเลาะกัน เธอเป็นเด็กไทยทั้งคู่ เรียนโรงเรียนเดียวกัน ร้องเพลงชาติ เพลงเดียวกัน ทำความเคารพ พระเจ้าอยู่หัว องค์เดียวกัน เธอต้องรักกัน นี่ข้อที่หนึ่ง ข้อที่สอง น้อยเวลาคนไทยทักทายกัน เธอกล่าวคำ สวัสดีใช่ไหม" น้อยรับคำเบาๆ "สวัสดี แปลว่า เธอขอให้คนที่เธอทักนั้นมีความดีงาม ความสงบและความเจริญ บีเด๊าะห์ เธอก็เหมือนกัน เวลาคนไทยมุสลิม ประสานมือทักทายกัน ก็ทำด้วยใจบริสุทธิ์ใช่ไหม คำทักทายของมุสลิม ก็แปลเหมือนกันว่า "ขอความสงบสันติ จงมีแด่ท่าน" แล้วนี่เหมือนกันไหม ตอบครูซิ"

"เหมือนกันค่ะ" เด็กทั้งสองตอบพร้อมกัน

"ข้อที่สาม ฟังให้ดีนะ" ครูมนัสพูดต่อ "ทั้งพระอัลเลาะห์และพระพุทธเจ้า ไม่เคยสอนให้เด็กต่อยกัน ถ้าท่านสอน เธอจะทักทายกัน แบบที่ว่าหรือ ถ้าเธอต่อยกัน ท่านจะไม่ช่วยพวกเธอหรอก จะบอกให้ อีกอย่างหนึ่ง เธอทั้งสองคน เข้าใจศาสนาผิด บีเดาะห์ การเดินบิณฑบาตของพระสงฆ์ ในศาสนาพุทธ ไม่ใช่การขอทาน เธอเข้าใจผิด อย่างสิ้นเชิง น้อยก็เหมือนกัน เธอเข้าใจผิด ว่าโต๊ะหะยี เป็นพระของศาสนามุสลิม อย่าได้พูดทับถมศาสนา ของกันและกัน อีกอย่างเด็ดขาด เธอต้องดูว่า ศาสนาสอนให้พวกเธอทำดีทั้งนั้น เอาเถอะ เกิดเรื่องอย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะครับ คุณครูสุภา" ครูมนัสหันไปพูด กับครูสุภา "เห็นท่าพวกเราที่เป็นครูจะต้องช่วยสอน เรื่องศาสนา และศีลธรรม ให้เด็กๆ ของเราเข้าใจ กันและกัน ให้มากเสียแล้วละครับ ผมว่า คุณครูเห็นด้วยไหม?"

"ดีที่สุดเลยค่ะ" ครูสุภาตอบ "เราต้องช่วยกันเน้นให้เขาเข้าใจว่า ในประเทศไทย มีคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา แต่เราเป็น คนไทยด้วยกัน อยู่กันได้อย่างสงบแบบที่แว้งนี่แหละ คุณครูมนัสพูดแล้ว ขอให้ดิฉันพูดกับทั้งสองคนนี่บ้าง" ครูสุภา หันมาทางน้อย และ บีเด๊าะห์ ถามว่า "ไหนบอกครู ตามตรงซิว่า ตอนเที่ยงเธอไปไหนกันมา ก่อนจะมาเล่น อีมอญซ่อนผ้า แล้วทะเลาะกัน เอ้าตอบซิ"

"หนูไปเล่นน้ำกันที่ห้วยค่ะ แล้วก็จะไปเก็บดอกจำปูนต้นนั้น" เด็กทั้งสองตอบตรงกัน

"แล้วไง ทำไมต้องทะเลาะกัน เธอจะเอาดอกจำปูนมาผูกผมหรือ?" ครูถาม

"เปล่าค่ะ หนูจะเก็บมาฝากคุณครู หนูรักคุณครูมากค่ะ" น้อยตอบ

"หนูก็จะเก็บมาฝากคุณครูเหมือนกัน หนูก็รักคุณครูมากค่ะ" บีเด๊าะห์ตอบบ้าง "แต่วันนี้มันบาน ดอกเดียว เราเลยแย่งกัน แล้วทะเลาะกันค่ะ"

"ขอบใจเธอทั้งสองมากที่นึกถึงครู ไหนล่ะ ดอกจำปูนดอกนั้น?" ครูถาม

น้อยและบีเด๊าะห์มองหน้ากันเหมือนเพิ่งนึกขึ้นได้ การทะเลาะกัน ทำให้ทั้งคู่ลืมดอกจำปูน ดอกเดียวนั้น ไปเสียอย่างสิ้นเชิง

"หนูมัวทะเลาะ กอดโคนต้นจำปูนกันค่ะ เลยไม่มีใครได้ปีนขึ้นไปเก็บ ดอกมันยังอยู่บนต้นค่ะ" ทั้งสองตอบครู

"เอาละ เธอคงเข้าใจดีแล้วสินะ การทะเลาะกันไม่ทำให้อะไรดีขึ้นเลย เธอก็เจ็บตัว ครูก็อดได้ดอกจำปูน ดอกเดียวหอมๆ ดอกนั้น ทีนี้ เราจะทำกันอย่างไรดีล่ะ?" ครูถามทิ้งท้าย

น้อยและบีเด๊าะห์มองตากัน รอยยิ้มปรากฏขึ้นบนใบหน้าอันอ่อนเยาว์บริสุทธิ์ ขณะตอบครูสุภาว่า "คุณครูคอยประเดี๋ยวนะคะ หนูสองคนจะไปเอาดอกจำปูนมาให้ค่ะ"

เด็กหญิงทั้งสองจูงมือกันวิ่งหายไปทางลำห้วยเล็กในป่ายางหลังโรงเรียนสักครู่ใหญ่ ก็วิ่งกลับมาพร้อมด้วย กรวยใบไม้ ที่ช่วยกันทำ ภายในกรวย มีดอกจำปูนส่งกลิ่นหอมฟุ้ง อยู่ดอกเดียว ทั้งสองประคองกรวยดอกไม้นั้น อย่างทะนุถนอม ไปวางไว้หน้าครูสุภา พลางพูดว่า "หนูขอโทษที่ทะเลาะกัน และหนูจะไม่ทะเลาะกันอีกต่อไป นี่ค่ะ ดอกจำปูน ของหนูสองคน ให้คุณครูค่ะ"


หมายเหตุ : เขียนเสร็จเวลา ๙.๓๕ น. วันพฤหัสที่ ๒๙ ม.ค. ๔๗ ก่อนบินไปเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ เวลาประมาณ ตีสี่ ได้รับโทรศัพท์ทางไกล จากหลานว่า โรงเรียนที่เขาสอนที่ สุคิรินถูกเผา ที่แว้งก็ถูกเผาไป ๓ โรง ตกใจและงงมาก ไม่เข้าใจ จนเดี๋ยวนี้ว่า อำเภอแว้ง ที่ไม่เคยมีเรื่องร้ายๆ กับใครเขาเกิดอะไรขึ้น ถึงอย่างไร ขอขอบใจ สมาน มหินทราภรณ์ ที่อุตส่าห์อ่าน แว้งที่รัก และชมว่า เขียนได้ตรง ตามความเป็นจริง เพียงแต่ติงเรื่องหนึ่ง อันเป็นสภาวะ ที่เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว กราบขออภัย ต่อผู้อ่าน ที่เป็นไทยมุสลิมทุกท่าน ที่ผู้เขียนได้ใช้คำว่า "แขก" ไปบ่อยๆ ในการเขียนเรื่องนี้ ต่อไปจะระมัดระวังให้มาก


(๑) "ตะวันชาย" คนปักษ์จะตัดสั้นเป็น 'วันชาย' ใช้กันทั่วไปเป็นสามัญ หมายถึงเวลาบ่ายคล้อยเข้าช่วงเย็น

(๒) "ยืดหลัง" เป็นสำนวนปักใต้ตรงกับภาคกลางว่า "เอนหลัง" แต่เน้นการนอนเหยียดหลัง จากทำงานหนัก หรือนั่งมานาน

(๓) "หัวนอ" คือไม้หนาและยาวตรงขอบของห้อง ผู้ใหญ่มักใช้หนุนศีรษะต่างหมอน

(๔) บางครั้งจะใช้ว่า "ได้แรงอก" เป็นสำนวนไทยโบราณที่อธิบายถึงความรู้สึกเต็มตื้น เป็นสุขทางกาย ทางใจ เช่น เวลากระหายน้ำจัด แล้วได้ดื่มน้ำฝนเย็นๆ เราจะยังพบสำนวนนี้ ได้ในวรรณคดีเก่าๆ เช่น ในของศรีปราชญ์ หรือ นิราศนรินทร์ "กลกระแจะต้องน้อย หนึ่งได้แรงใจ"

(๕) "เจ้าขวัญ" คนละแวกนั้นบางกลุ่มจะใช้เจ้านำหน้าชื่อผู้ชาย

(๖) เป็นคำที่มีความหมายคล้าย "อุบ" ของภาคกลาง ส่วนมากเด็กๆ จะใช้ในการเล่นแสดงความเป็นเจ้าของก่อน