ตอน เอื้อไออุ่น


เช้ามืดวันนั้นพี่แมะต้องเข้ามาปลุกน้อยที่ยังนอนหลับคุดคู้อยู่ในมุ้ง ตัวงอเพราะความหนาวเย็น ของอากาศหน้าฝนของอำเภอแว้ง

"ตื่นได้แล้ว เดี๋ยวก็ไปโรงเรียนไม่ทันหรอก" พี่แมะว่า "เค้าตั้งหม้อจนหม้อข้าวพลุ่ง(๑) แล้ว ตัวเองยังไม่ตื่นอีก ลุก ลุก ลุกเดี๋ยวนี้"
น้อยลืมตา พลิกตัวไปอีกด้าน อยากจะหลับตาต่ออีกนิด อากาศน่านอนออกอย่างนี้และที่นอนในมุ้ง ก็แสนจะอบอุ่น แต่ความที่ได้รับการฝึกมา ไม่ให้เป็นเด็ก "นอนกด"(๒) ทำให้เธอเปลี่ยนใจ กระโดดผึงขึ้นยืนพร้อมด้วยผ้าห่มในมือ พี่แมะออกจากห้องนอน กลับเข้าครัวไปแล้ว
น้อยลงมือพับผ้าห่มอย่างรวดเร็วตามแบบที่แม่สอนให้ทำ เธอจับมุมผ้าห่มด้านยาวประกบกัน บีบแน่น ด้วยนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ขวา ใช้นิ้วมือซ้าย รูดชายผ้าทบกันไปจนสุด วางทาบลง กับที่นอน จากนั้นจึงทำกับอีกชายหนึ่งแบบเดียวกัน จากนั้นจึงลากไปวางทบลง บนชายแรก ลูบผ้าให้เรียบ แล้วลากผ้าทบไปมา แบบเดียวกันอีกสี่ครั้ง ก็เสร็จเรียบร้อย ถ้าพี่แมะพับ เขาไม่ต้องทำแบบนี้หรอก เพราะเขาโตแล้ว สูงกว่าน้อยตั้งเยอะ ยืนพับได้เลย โดยไม่ต้องวางผ้า ลงบนที่นอนแบบน้อย
"แต่แบบน้อยก็ได้ผลเหมือนกันแหละลูกถ้าน้อยทำตามที่แม่สอน" แม่เคยบอกน้อยอย่างนั้น
และจนเช้าวันนี้ น้อยก็ยังทำอย่างที่แม่สอนอยู่ เธอวางผ้าห่มที่พับเสร็จแล้ว บนเบาะผืนเล็ก ที่แม่เย็บให้ เธอและพี่แมะ ช่วยกันยัดนุ่น ที่เก็บมาจากต้น ริมคลอง จากนั้นจึงตบหมอนหนุนหัว ที่แบนบุ๋มให้นุ่นฟูเสียก่อนที่จะวาง บนผ้าห่มอีกทีหนึ่ง ยังมีหมอนข้างอีกใบหนึ่ง ที่จะต้องตบ ให้ฟูยืด ตามรูปที่ควรเป็น แล้วจึงวางบนที่นอนให้ชิดกับหมอน และผ้าห่ม เมื่อเรียบร้อยทุกอย่าง แล้วจึงตลบ'สาดเตย' (๓) ขึ้นมาคลุมเครื่องนอน ทั้งหมด
เสร็จหน้าที่ของเธอแล้ว เหลือแต่มุ้งไว้ให้พี่แมะจัดการเพราะเธอปลดหูมุ้งไม่ถึง
น้อยดึงสลักไม้เนื้อแข็งของบานหน้าต่างออก ชะโงกหน้ามองดูดินฟ้าอากาศข้างนอก เธอมอง ไม่เห็นทิวเขา ที่โอบล้อมอำเภอแว้งที่รัก แม้แต่ยอดเขาโต๊ะโมะ เขาสามสิบ และยอดเขานาซิ (ข้าว) ที่สูงลิ่วเป็นรูปภูเขาไฟ ก็เลือนหายเข้าหลังม่านหมอก สีขาวอมเทาป่ายาง ป่าสาคู ทึบทะมึน สีเขียวแก่ ก็แทบมองไม่เห็นเหมือนกัน ท้องนามีน้ำเจิ่งนองไปหมด เหลืออยู่แต่ ถนนหน้าบ้านที่สูงหน่อย และมีหญ้ารากเหนียว แข็งแรงยึดดินไว้แน่น จนถึงขอบถนน ทั้งสองข้าง ที่เป็นคูน้ำ ประดับด้วย กอบอน ใบโตเป็นหย่อมๆ
ฝนในหน้ามรสุมที่แว้งจะตกติดกันทั้งวันทั้งคืน พอตกหมดฟ้า ก็หยุดหรือซาไปหน่อยหนึ่ง ก่อนที่จะเท กระบอก ลงมาใหม่อีก เป็นอย่างนั้น อยู่เรื่อยไป จนหมดฤดู น้อยตะโกนลั่น ก่อนผละ จากหน้าต่างว่า
"ฝนห่าแก้ว
ตกแล้วแล้วไป! ฝนห่าใหญ่ตกลง! ตกลง!"
แม่เคยบอกว่าผู้ใหญ่สมัยก่อนจะสอนไม่ให้ท้าทายฟ้าดินเพราะอำนาจดินฟ้านั้น เหนือกว่ามนุษย์ ทั้งโลกรวมกัน น้อยไม่ได้ ท้าทาย ฟ้าดินหรอก เพียงแต่รู้ดีว่า ประเดี๋ยวเธอก็จะต้อง ลงไปอาบน้ำ ที่คูนั้นแล้ว ฝนจะตกจั๊กๆ อย่างไรก็ต้องไปอาบ เพื่อจะได้ให้ไอตัวออก แล้วกลับมากินข้าวเช้า ร้อนๆ ก่อนเดิน ถือทางกล้วย กันฝนไปโรงเรียน กับพี่แมะและมามุ
น้อยเปลื้องเสื้อผ้าที่ใส่นอนออกสะบัดก่อนแขวนไว้กับราวลวดข้างฝาห้อง ความหนาวเหน็บ กระทบผิวกาย อย่างกะทันหัน จนต้องกอดอกด้วยสองมือ แล้วย่องหย็องแหย็ง เหมือนตัวตลก หนังตะลุง ออกไปที่นอกชานกลาง ระหว่างเรือนใหญ่และครัว พี่แมะกำลังช่วยแม่ ทำกับข้าวอยู่ กลิ่นหอมฉุย ของกับข้าว ทำให้รู้สึกหิว "รีบไปอาบน้ำคูดีกว่า" เธอบอกตัวเอง ขณะฉวยตลับสบู่ ใส่ลงขันเคลือบ สำหรับ อาบน้ำที่คว่ำอยู่บนถาดปิดโอ่งน้ำ
สบู่ที่ใช้กันในแว้งในสมัยที่น้อยเป็นเด็กนั้น มีอยู่เพียงสองแบบเท่านั้น แบบที่ใช้ซักผ้า และ ล้างถ้วยชาม เป็นสบู่ก้อน สี่เหลี่ยมจตุรัส สีขาว มีลายในเนื้อสบู่ เป็นจุดสีแดง สีฟ้า บางที คนเขาเรียกสบู่แบบนี้ว่า สบู่ลาย ส่วนสบู่ที่ใช้ถูตัวเป็นก้อนรูปไข่ สีเขียวตรงกลาง ที่นูนขึ้นมา เป็นรูปนกแก้ว พ่อบอกว่า สบู่ทั้งสองชนิดนี้ คนไทยเราทำเอง หลังสงครามอย่างนี้ ต้องใช้ทุกอย่าง อย่างกระเหม็ดกระแหม่ที่สุด พอสบู่ถูตัว เหลือก้อนนิดเดียว ก็ต้องเอาปะลง บนก้อนใหม่ ทิ้งขว้างเสียไม่ได้ ส่วนสบู่ซักผ้าพอเหลือก้อนเล็ก แม่ก็ให้เอาใส่กะลา มีขี้เถ้าอยู่ด้วย ไว้สำหรับล้างหม้อ ล้างชาม
แม่ชอบกลิ่นสบู่ถูตัวสีเขียวหนักหนาและใช้แต่ชนิดนี้ตลอดชีวิตของแม่ น้อยเห็นด้วยกับแม่ 'มันหอมจริงจริ๊ง' เธอคิด ขณะยกขัน ขึ้นดมสบู่
"ไปอาบน้ำเร็วเข้า น้อย ยืนล่อนจ้อนอยู่ได้" แม่พูดมาจากในครัว "ไปอาบน้ำให้ไอตัวออกเสียไป๊ จะได้หายหนาว พี่แมะเขาอาบเสร็จแล้ว"
น้อยเดินผ่านห้องโถงกลางและหน้าร้านที่พ่อเปิดไว้แค่ซีกเดียวเพราะยังเช้าอยู่มาก และฝนตก อย่างนี้ คงไม่มีใครฝ่าฝน มาซื้อของ ตรงนอกชานหน้าบ้าน มีทางกล้วย ขนาดเหมาะมือ วางเรียงอยู่ ๓ ทาง พ่อได้ตัดเตรียมไว้ให้เด็กนักเรียนทั้งสามคน ไว้กางไปโรงเรียน แทนร่มแล้ว น้อยห่อตัว ด้วยความหนาว มองดูทางกล้วย พูดกับตนเอง ก่อนออกวิ่งไปที่คูน้ำ ตรงกอเตยว่า "พ่อไปร้านโกปี๊แล้ว เมื่อไหร่เราจะได้ กางกระแชง ไปโรงเรียนเสียทีน้า?"
ฝนขาดเม็ดแล้วตอนที่แม่เร่งให้ไปอาบน้ำ น้อยหันดูรอบตัวด้วยความหวังว่าอาจจะมีแดดส่อง ผ่านกลีบเมฆ ลงมาบ้าง แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะมองไปทางไหน ก็ดูอับชื้นไปทุกทิศ เธอจึงหันมา หาความสนใจ สิ่งที่จะเห็นได้อย่างแน่นอน ยิ่งอากาศเย็นอย่างนี้ ยิ่งเห็นชัด เธอตักน้ำใส ในคูกว้าง รดหัวก่อน นั่น---ปลิงเข็มว่ายมาทีเดียวเชียว ก็ไม่ได้ลงไปว่ายน้ำในคู จะต้องไปกลัว มันทำไม จ้วงตักขันที่สอง สาม สี่ ห้า รดตัวต่อไป ยังไม่ต้อง ฟอกสบู่หรอก รอดูสิ่งมหัศจรรย์ จากตัวเองเสียก่อน
นั่นไง! สิ่งมหัศจรรย์! ไอลอยออกจากผิวหนัง ที่เปียกชุ่มฉ่ำของเธอ
มันลอยเหมือนหมอกออกไป ตั้งแต่หัวจรดเท้า แม่เรียกมันว่า ไอตัว!
ทั้งๆ ที่พ่อเคยอธิบายแล้วว่า ไอตัวนี้เกิดขึ้นจากความร้อนในตัว ของคนเราทุกคน ที่ยังมีชีวิต พอน้ำ มากระทบเข้า และอากาศโดยรอบเย็น ความร้อนในร่างกาย จะทำให้น้ำนั้น กลายเป็นไอ เหมือนหมอก แต่น้อยก็คิดว่าไอตัวของทุกคนในบ้านวันนี้ ไม่แปลกเท่าของเธอ พ่อนุ่งผ้าขาวม้า อาบน้ำ แม่นุ่งกระโจมอก และพี่แมะ ก็นุ่งผ้าถึงสะเอว ไอตัวจึงออกแค่ที่ผ้าที่นุ่ง ไม่ได้ปิด ผิวหนังไว้ เธอคนเดียวเท่านั้น ที่ยังอายุน้อย พอที่แม่จะอนุญาต ให้ล่อนจ้อน เล่นน้ำฝน และ อาบน้ำ ในวันอย่างนี้ได้ จะได้ไม่ต้องผลัดผ้าและตากผ้า ในวันที่ไม่มีแดด เธอคนเดียวเท่านั้น ที่มีไอลอย ออกรอบตัว อย่างนี้ คิดแล้ว น้อยก็ยืนตัวตรง ชูมือทั้งสองขึ้น ทำให้ไอตัว ยิ่งสูงขึ้นด้วย ตะโกนลั่นว่า
"มนุษย์วิเศษ! มีควันไฟออกจากตัว!"
น้อยอ้อยอิ่งอยู่กับจินตนาการครู่ใหญ่ จึงคิดขึ้นได้ว่า แม่สั่งให้รีบอาบน้ำ เธอจึงจ้วงตักน้ำรดตัว ฟอกสบู่หอม สีเขียวของแม่ แล้วก็ตักน้ำรดตัวอีก จนหมดฟองสบู่ ขณะเก็บกล่องสบู่ ลงขัน นั่นเอง เธอเห็นอะไรขาวๆ อยู่ที่ขอบถนน ห่างไปอีกสักสองวา
ปลาช่อนตัวยาวประมาณคืบหนึ่งนอนตายอยู่ มันเป็นปลาหลงน้ำ กระโดดขึ้นฝั่ง แล้วแถกดิ้นไป แต่หา คูน้ำไม่เจอ น้อยเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเธอเป็น เด็กบ้านนอก หาปลา จับปลาเก่งนักหนา จนมาถูก ปลาด้านยักเอาด้วยเงี่ยงพิษ ถึงเป็นลมหมดสติ จึงได้เลิกทำบาปทำกรรมเช่นนั้น
"แต่นี่เป็นปลาตายแล้ว เราไม่ได้ฆ่ามันซักหน่อย ไม่บาปหรอกน่า" เธอบอกตัวเอง เมื่อก้มลง เก็บปลา ไปให้แม่ทำปลาทอดเครื่อง ให้รับประทาน กับข้าวสวยร้อนๆ สองคนกับพี่แมะ ก่อนไปโรงเรียน
ฝนห่าใหญ่เทจั่กๆ ลงมาอีกเมื่อพี่แมะมามุ และน้อย ยืนกันอยู่ที่ชานหน้าร้าน ฝนตกอย่างนี้ จะฉวยกระเป๋า แล้วออกเดินไปเลย อย่างทุกวันไม่ได้ ต้องเตรียมตัว ให้พร้อมก่อน รองเท้า ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีใครสวมไปโรงเรียนหรอก แม้แต่ประพนธ์และไพฑูรย์ ก็ไม่สวม เพราะรองเท้า ผ้าใบ จะเปียกชื้น หรือไม่ก็มีน้ำเข้าไป ทำให้เวลาเดินดังฟ่อดๆ แค่เดินด้วยเท้าเปล่า ก็จะติดโคลน หนายิ่งกว่ารองเท้าเสียอีก ไหนจะลื่นพรืด ถ้าไม่ใช้นิ้วหัวแม่เท้า จิกแน่นกับ พื้นถนน ไว้ทุกก้าวย่าง
มามุนุ่งผ้าโสร่งแบบเด็กผู้ชายมุสลิม จึงสะดวกที่จะพับผ้าข้างหน้า แล้วม้วนรอบเอว ขึ้นไป สูงเท่าไรก็ได้ แต่พี่แมะและน้อย เป็นเด็กผู้หญิง จะนุ่งผ้าถุง แบบมามุนุ่งโสร่งไม่ได้ ถ้ามีเข็มขัด ก็รัดเข็มขัด ถ้าไม่มีก็ต้องนุ่งให้เรียบร้อย คือเมื่อพับผ้าข้างหน้า แล้วต้องดึง 'ลิ้น' คือส่วนที่พับ ตลบข้างในขึ้น ให้ชายผ้าข้างล่างเสมอ กันหมด จากนั้นจึงตะบิด ตรงปลายเหน็บไว้กับ หน้าท้อง ให้แน่น แต่ไม่ต้องทำ 'ชายพก' สำหรับเก็บเงิน และยานัตถุ์แบบยาย
นั่นคือการนุ่งผ้าในวันปรกติ แต่ในหน้าฝนแบบปักษ์ใต้จะนุ่งแบบนั้นไม่ได้ ผ้านุ่งจะเปื้อนโคลน เลอะเทอะหมดจะ 'ถกเขมนปั้นเตี่ยว' (๔) ให้เหมือนนุ่งกางเกง เวลาปีนต้นไม้ก็ไม่ได้ เพราะจะไม่เรียบร้อย และผ้านุ่ง จะยับยู่ยี่เสียหมด จึงทำได้เพียง 'ถกเขมนหยักรั้ง' (๕) เท่านั้น คือจับเอาตรงกลางๆ ของผืนผ้า ตรงไหนก็สุดแท้แต่ จะให้สูงแค่ไหน เอาเหน็บเข้ากับผ้า ที่รัดแน่นที่เอว การเหน็บตามปกติ จะเหน็บสองข้างสะเอว เท่านั้น แต่สำหรับน้อย วันนี้ เธอเหน็บ เสียเกือบรอบเอว
"ดูเธอตลกจัง น้อย เหมือนนุ่งกระโปรงบานๆ สามสี่ชั้นงั้นแหละ" มามุว่าอมยิ้ม
"ดีกว่าผ้าเปื้อนโคลน" น้อยตอบเพื่อน
สำหรับเสื้อไม่มีปัญหา มีอย่างไรก็สวมอย่างนั้น
สมุดหนังสือเรียนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของนักเรียนแว้งในหน้าฝน เพราะถ้าเกิดลื่นหกล้ม ระหว่างทาง สมุดหนังสือ ก็จะเปียกและเปื้อนโคลน เสียหายหมด พี่แมะกับน้อย มีกระเป๋า หนังสือแสนสวย ทำด้วยเสื่อจันทบูรคนละใบ ของพี่แมะสีเขียว ของน้อยสีแดง แต่ในหน้าฝน แม่บอกว่า ไม่ควรเอามาใช้ เพราะสีสวยอาจจะตก และน้อยก็คิดว่า มันสวยเกินไป ที่จะทำให้เปียก หรือเปื้อนโคลนเสีย แม่ได้ให้โต๊ะ (ยาย) ตีเมาะห์ สานกระเป๋าใบเตย ให้คนละใบ มามุก็มีใบหนึ่งเหมือนกัน สมัยนั้น ยังไม่มีถุงใสๆ ที่เรียกว่า 'ถุงพลาสติก' ใช้กัน แต่กระเป๋าเตย ก็ใช้ได้ดี โต๊ะตีเมาะห์ สานแบบเดียวกับซูเป๊ะห์ เหน็บข้างเอว สำหรับน้อย ไว้ใส่ปลา เวลาไปวิดปลา แต่โต๊ะสานให้ขนาดใหญ่กว่า ใหญ่พอสำหรับเด็กๆ ใส่สมุดหนังสือ ของเล่น และข้าวห่อได้ แถมโต๊ะยังสานฝาไว้ สำหรับครอบต่างหากด้วย ฝาครอบนี้วิเศษมาก เพราะเวลาเรียน ก็สามารถเอามาวางบนโต๊ะ ไว้ใส่ยางลบ ดินสอ และไม้บรรทัด ได้อย่างดี
เสื้อกันฝนสมัยนั้นยังไม่มีใช้ แค่ร่มก็แทบไม่มีใช้เลยในเวลาหลังสงคราม ที่มีใช้ก็มักเป็นรูพรุน เพราะแมลงกัด และก้านหัก ร่มผ้าไม่มีใช้กันเลย มีแต่ร่มกระดาษ สองแบบ แบบหนึ่ง เป็นสีน้ำตาลอ่อน เหมือนกระดาษถุงสีน้ำตาลโปร่งแสง แบบนี้น้ำหนักเบาหน่อย อีกแบบ เป็นกระดาษ อาบน้ำมันอะไรสักอย่าง สีดำสนิท หนาหนักอึ๊ดเลยทีเดียว ตรงหัวจุก ข้างบน มีผ้าหนา อาบน้ำมัน แบบเดียวกัน ครอบกันน้ำซึม แล้วยังมีฝา เหมือนฝาสังกะสีครอบ ทับอีกทีหนึ่ง อย่างแน่นหนา น้อยคิดว่าแบบแรก เขาไว้กางกันแดด และแบบหลัง สำหรับกันฝน ทั้งสองแบบ มีด้ามและก้าน ทำด้วยไม้ไผ่ แล้วก็มีกำไลทำด้วยหวาย ห้อยลงมาจากก้าน สำหรับ สวมรัดปลายร่ม เวลาหุบเก็บ
ที่บ้านแว้งมีร่มอย่างนี้ไว้ใช้ในยามจำเป็นแบบละหนึ่งคัน คันสีน้ำตาล เป็นรูมากกว่าคันสีดำ แต่ก้านของคันสีดำ เสียมากกว่า พ่อได้ซ่อม โดยเอากระดาษทากาว ปะรูพรุนเสีย และ เปลี่ยนก้าน เจาะรูร้อยเชือกเสียใหม่ ไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อ และอาจจะหาซื้อไม่ได้ด้วย เพราะเขาว่า เป็นร่ม ส่งมาขายจากเมืองจีนอ (จีน) โน่น มิน่าเล่า ถึงได้มีตัวหนังสือจีนเขียนไว้ เวลากางออก จะเห็นได้ แต่น้อยอ่านไม่ออก
แม่ออกมาส่งลูกๆ ตรงหน้าร้านส่วนของแม่ตามเคย แววตาแม่เป็นห่วงและกังวลเล็กน้อย เมื่อพูดว่า
"หนาวไหมลูก? แมะน้อย น้อยเดินดีๆ นะ มามุก็เหมือนกัน อย่าให้เสื้อผ้าเปียก เดี๋ยวจะเป็นหวัด นี่พ่อไปร้านโกปี๊อาลี ทำไมนานนักก็ไม่รู้"
แม่พูดยังไม่ทันขาดคำ และขณะที่เด็กๆ ที่ถือกระเป๋ามือหนึ่ง ทางกล้วยอีกมือหนึ่ง กำลังก้าว ลงบันได ก็ได้ยินเสียง พ่อกระแอมดังมาจาก หัวโค้งข้างกอไผ่
"พ่อกลับมาแล้วค่ะ แม่" ้อยบอกแม่
แล้วพ่อก็โผล่มาตรงทางตรง ภาพพ่อเป็นภาพที่น่าแปลกที่สุด พ่อไม่ได้ถือทางกล้วยไว้ในมือ เหมือนเช่นเคย แต่พ่อเดินมาใต้อะไร สักอย่าง ที่น้อยยังไม่เคย เห็นมาก่อนในชีวิต มันเป็นอะไร กันหนอ? ดูพ่อเดินอย่างสบายอารมณ์เสียจริงๆ !
แม่ออกมาชะโงกหน้าดูพ่อตรงริมนอกชาน แล้วแม่ก็อยู่ในอาการเดียวกับเด็กๆ คือตะลึง และแปลกใจ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นขำ จนหัวเราะกันออกมา พ่อพูดเสียงดังมาจาก ใต้ของประหลาดนั้นว่า
"คอยพ่อเดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งไป"
"อะไรน่ะ พ่อ? อะไรน่ะ พ่อ? อะปอตูเจ๊ะ (พ่อ)" ทุกคนเข้าไปมะรุมมะตุ้ม ดูของสิ่งนั้นและถามพ่อ จนถ่อต้องพูดว่า
"อย่าเพิ่งถาม อย่าเพิ่งถาม เดี๋ยวคอยดูก่อน"
แล้วพ่อก็ก้าวขึ้นมาบนนอกชาน พ่อยกสิ่งนั้นขึ้นจากศีรษะ วางพิงลงกับพื้นหน้าร้าน อ้าว ! พ่อซ้อนมันมาสองอันแน่ะ พ่อแยกมันออกให้ดู เด็กและแม่ ต่างเข้าไปจับต้อ งแล้วยกขึ้น
"ว่าไง แม่ ฉันนึกว่าจะกลับมาไม่ทันเด็กๆ เสียแล้ว นี่แหละ กระแชงที่ฉันบอกแม่วันก่อนว่า จะให้เขาลองทำ อย่างที่ฉันคิดไว้ ถ้าได้ เด็กๆ ก็จะได้พ้นฝน กันเสียที นี่ไง เสร็จแล้วสองอัน คนเย็บจาก เขาว่าทำไม่ยากนัก เอาใบสาคูมาเย็บตามยาวลงมาตลอด ไม่ต้องหัก เหมือนหักตรงตับจาก พอกะได้พอดีแล้ว ก็เย็บตรงหัวให้หุ้มเข้า อีตรงนี้ยากหน่อย แต่ที่สุด เขาก็ทำได้สวยด้วย" พ่ออธิบายแม่อย่างยืดยาว ก่อนที่พูดกับพี่แมะว่า "เอ้า ! แมะ ไหนมาลองดูซิ"
"ลมจะไม่พัดหลุดเหรอ พ่อ?" แม่ถามเพราะยังไม่เข้าใจวิธีใช้
"ไม่หลุดแน่ แม่ ฉันลองแล้ว นี่ไง" พ่อเอากระแชง ครอบลงบนหัวพี่แมะ มันยาว ลงไปถึงน่อง "หนักไหมลูก?" เมื่อพี่แมะสั่นหัว ตอบว่าไม่หนัก พ่อก็พูดต่อว่า "พอใบสาคูแห้งก็จะยิ่งเบา เอาละ นี่เห็นไหม พ่อให้เขาจักตอกหวายเส้นเล็กๆ มาฟั่นเป็นเชือก แมะเอาสลักเล็กๆ ตรงปลายเชือก ที่ห้อยลงมา รัดเข้าใต้คางลูก แล้วสอดสลักนั่น เข้ากับห่วงข้างคางอีกด้าน หาพบไหม? นั่น สอดเข้าอย่างนั้นแหละ"
"ดีจังพ่อ แล้วเชือกนั้นก็ทำให้มันไม่หลุดจากหัวเรา" น้อยตื่นเต้นกับของวิเศษของพ่อ อย่างเต็มที่ ให้น้อยลองอีกอันได้ไหมคะ?"
"อีกอันเป็นของน้อย แต่น้อยจะไม่ให้มามุลองก่อนหรือ ลูก?" พ่อว่า และมามุก็รีบยื่นมือ ไปรับกระแชงจากน้อย ซึ่งก็รีบยื่นให้เพื่อน อย่างเต็มอก เต็มใจเหมือนกัน พ่อพูดต่อกับมามุว่า "ถ้ามามุชอบ ก็ไปบอกโต๊ะซาร์แล้วมาบอกเจ๊ะ (พ่อ) เย็นนี้นะ จะได้ให้เขาเย็บให้เสียเลย"
"ผมชอบครับ ชอบมาก" มามุรีบตอบทันทีขณะทดลองเอาเชือกหวายเส้นที่สอง รัดรอบสะเอว ก่อนเอา สลักใส่ห่วง แบบพี่แมะ ที่ยืนยิ้ม อยู่ใต้กระแชง ของเขา
น้อยมองดูพี่สาวและเพื่อน พูดว่า
"น้อยว่าเหมือนเดินเอาปอเนาะ(๖) ไปด้วยไม่เปียกฝนดี แต่พอมองข้างหลังพี่แมะ กับมามุแล้ว เหมือนแมงพลับ(๗) เดินยังไงยังงั้นเลย"
"แม่ว่าพ่อเขาทำเข้าท่ามากเลยแหละ" แม่ชมพ่ออย่างออกหน้า พ่อยิ้มแป้น "คราวนี้ ถึงฝนสาด เสื้อผ้าลูก ก็ไม่เปียกฝนแล้ว แม่กับพ่อ จะได้ไม่ต้องห่วงว่า เสื้อผ้าลูกจะชื้น แล้วลูกจะเป็นหวัด"
"ไม่ต้องถือทางกล้วย จนเมื่อยมือด้วยค่ะ ถือแต่กระเป๋าอย่างเดียว" พี่แมะว่า
มามุถอดกระแชงมาให้น้อยสวม ตนเองฉวยทางกล้วยอันเดิมมาถือไว้ เมื่อน้อยสวมกระแชงเสร็จ พ่อก็พูดว่า "เอาละไปโรงเรียนกันได้แล้ว เดี๋ยวโรงเรียน จะขึ้นเสียก่อน"
ระหว่างทางไปโรงเรียนทั้งลมและฝนกระโชกมาอย่างแรง จนมามุเซหลุนๆ เพราะทางกล้วยที่ถือ ถูกตีกลับไปมา แต่น้อยกับพี่แมะ เดินกันไป อย่างสบาย พอฝนสาด มาแรงด้านไหน ก็เบี่ยงกระแชง ไปรับฝนด้านนั้นเสีย เม็ดฝนเลยไม่กระเซ็นมาถูก
มามุซึ่งเสื้อและผ้าโสร่งเริ่มเปียกปอนแล้วถามขึ้น เมื่อพากันเดินกลางฝน ตัดสนามฟุตบอล หน้าอำเภอ เพื่อลัดไปสู่โรงเรียนว่า
"ลมนี่แรงจัง ใบกล้วยนี่กันฝนกันลมไม่ได้เลย ฉันหนาวแล้วนะน้อย เธอกางกระแชง เธอหนาวไหม นั่นหนะ?"
"ไม่หนาวมามุ เหมือนมีฝาบ้าน มีหลังคาอยู่บนหัวด้วย ใต้กระแชงนี่อุ่น มามุ"
"เย็นนี้ ฉันจะขอให้เจ๊ะ (พ่อ) พาฉันไปที่เขาทำมั่ง จะได้อุ่นเหมือนเธอ" มามุตอบ
น้อยนึกไปถึงเมื่อเช้านี้ เมื่อเธอยืนตัวเปล่าให้ไอตัวออกตามแม่สอน นึกถึงความเอื้ออาทร ห่วงใยของพ่อ จนได้เกิด กระแชงนี้ขึ้น ลึกลงไปในหัวใจ น้อยรู้สึกถึง "ความอุ่น" ที่เหนือกว่า ความอุ่นของร่างกาย ใต้กระแชงเป็นความรู้สึกอบอุ่น ที่มั่นคงปลอดภัย ด้วยไอรัก ของพ่อ และแม่ เธอพึมพำ เหมือนจะย้ำกับตัวเอง มากกว่าพูดกับมามุว่า
"ฉันรู้สึกอบอุ่นจริงๆ"

หมายเหตุ เขียนเสร็จเวลา ๑๑.๔๕ น. วันพฤหัสบดี ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๗ ภารกิจมาก จนไม่แน่ใจว่า ทางวารสาร จะจัดการลง ให้ทันหรือไม่ แต่ก็ได้ทำ เสร็จลงแล้ว ก่อนเดินทางไป ศรีลังกาหนึ่งวัน ภาพกระแชง ของพ่อ กระจ่างชัด ภาพลมฝนในฤดูมรสุม ที่แว้งก็ชัด รู้สึกเหมือน ตัวเอง กำลังเขียน แย้งใครๆ ที่ว่าชายแดนใต้ น่ากลัวเหลือทน ขอให้ผลแห่งการให้ ภาพแว้งที่รักนี้ ได้มีส่วนดึงสภาพน่าอยู่ ของชายแดนกลับมาด้วยเถิด มีส่วนสักธุลีก็ยังดี .


๑. คือ "เดือด" แต่คนปักษ์ใต้ใช้ว่า "พลุ่ง" น่าจะเป็นลักษณะการเลือกคำคู่คนละคำกับ คนภาคกลาง คือ "เดือดพลุ่ง" มาใช้ เช่นเดียวกับที่คนปักษ์ใต้ เลือกใช้คำว่า "หาญ" ขณะที่ คนภาคกลางใช้ "กล้า"
๒. น่าจะถูกตัดมาจากคำเต็มว่า "สะกด" ที่แปลว่า "ทำให้หลับ" โดยตัดพยางค์หน้าเสียงสั้น ออกเสีย "นอนกด" หมายถึง การที่ตื่นแล้ว แต่ไม่ยอมลุก จากที่นอน ถือว่าเป็นนิสัยเกียจคร้าน
๓. คนปักษ์ใต้ไม่ได้ใช้ "เสื่อ" เหมือนคนภาคกลาง แต่ใช้ "สาด" เหมือนคนไทยภาคเหนือ และ ภาคอีสาน 'สาดเตย' เสื่อที่สานด้วยใบเตย
๔-๕. คือการรั้งผ้านุ่งขึ้นมานุ่ง ลักษณะเดียวกับโจงกระเบน แต่สูงกว่า เป็นการ 'ปั้นเตี่ยว' คือทำเป็นกางเกง เพื่อความทะมัดทะแมง ส่วนการรั้งขึ้นมา "หยักรั้ง" นั้น ไม่ทำเป็นกางเกง เพียงแค่ รั้งขึ้นไปให้สูงเท่านั้น แน่ใจว่า "ถกเขมน" นี่ไม่ใช่ "ถกเขมร" ที่เป็นการคุยกันเรื่องเขมร แต่มีที่มา คนละทาง เช่นเดียวกับ "ตะเบ็งมาน"
๖. "ปอเนาะ" บัดนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักของคนไทยทั้งประเทศแล้ว ในฐานะเป็นโรงเรียน สอนศาสนาอิสลาม แท้จริง ศัพท์ "ปอเนาะ" มาจาก ภาษามลายูกลางว่า "ปอนด็อก" [PONDOK] แปลว่า โรงเรียนหลังเล็ก อย่างเพิงขายของกินและผลไม้ คนเชื้อสายมลายู ในรัฐทางภาคเหนือ ของมาเลเซีย และชายแดนใต้ ของประเทศไทย ออกเสียงเพี้ยนไปจากเดิม โดยการตัดเสีย ด [D] ออก แล้วแบ่งพยางค์ใหม่ เอา น [ N] ไปไว้พยางค์หลัง และ กร่อนเสียง ก [K] ออกเสียด้วย จึงเหลือเป็น "ปอเนาะ" เยาวชนมุสลิม ที่ไปเรียนที่สถานศึกษาแบบนี้ จะต้องอยู่แยกกัน ตามโรงเรือนเล็กๆ ที่เรียกว่า "ปอเนาะ" ทำนองเดียวกับ "กุฏิ" ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
๗. คนปักษ์ใต้เรียก "แมลงทับ" ว่า "แมงพลับ"
-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๕ เมษายน ๒๕๔๗-