ที่เผาศพ (อุปสาฬหกชาดก)

การแสวงหา "ทำเลเผาศพ" หรือ "ที่ฝังศพ" หาสุสานที่ดีที่บริสุทธิ์พ้นจากความเลวร้ายของศพใดๆ มาแปดเปื้อน เลือกหาซื้อแผ่นดินตรงบริเวณที่ฝังศพไปแล้ว จะนำโชคดีความสุขความเจริญ สู่ลูกหลาน และตนเองสืบไป นี่เป็นความเชื่อที่มีผู้ยึดถือกันมาช้านาน

แต่สำหรับผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่าความบริสุทธิ์ ความโชคดี ความมั่งมีศรีสุขนั้น เป็นผลสืบทอดมาจาก"กรรมดี" ด้วยการทำบุญทำทาน ถือศีลปฏิบัติธรรม ของคนคนนั้นเอง ไม่มีใครอื่นช่วยทำให้ได้ แต่ถ้าหากหลงผิดมักทำ "กรรมชั่ว" เอาไว้ ตนเอง นั่นแหละ ก็จะเคราะห์ร้าย ได้รับทุกข์เป็นมรดกสืบทอดให้เดือดร้อนเอง โดยไม่มีใครอื่น มาทำให้เลย แล้วอย่างนี้ "หลุมฝังศพ" จะช่วยอะไรให้ใครได้

พราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า อุปสาฬหกะ เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก แต่เพราะการที่เป็นคน เจ้าทิฏฐิ ดื้อดึงในความเชื่อของตนว่า จะโชคดีมีสุขหากศพถูกเผาในทำเลที่ดีๆ บริสุทธิ์ ปราศจาก ความชั่ว ของศพอื่นๆ มาแปดเปื้อน ถือมั่นว่าจะได้ดีก็อยู่ที่ทำเลเผาศพอย่างนี้ จึงไม่ได้ทำบุญ ทำทานแก่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย แม้กระทั่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ อยู่ ณ พระวิหาร เชตวัน ใกล้ๆ นั้นก็ตาม

ครั้นถึงเวลาแก่เฒ่ามากแล้ว ชีวิตเข้าใกล้ความตาย พราหมณ์นั้นจึงได้เอ่ยปาก กับบุตรชายของตน ซึ่งเป็นคนฉลาดมีปัญญาดีว่า

"นี่แน่ะลูก หากพ่อตาย เจ้าจงอย่าเอาศพของพ่อไปยังป่าช้า ที่เผาพวกคนโฉดชั่วทั้งหลาย แต่จงเผาศพพ่อในป่าช้าที่บริสุทธิ์ดี ไม่ปะปนกับใครๆ เลย"

เมื่อฟังแล้ว บุตรพราหมณ์ก็กล่าวด้วยความลำบากใจเป็นอย่างมากว่า

"พ่อจ๋า จะมีที่ดินตรงไหนเล่า ดีได้ดังที่พ่อปรารถนาไว้ ลูกไม่เคยรู้จักสถานที่ ซึ่งควรเผาศพพ่อ เช่นนั้นเลย ทางที่ดีพ่อพาลูกไปดู แล้วบอกว่าให้เผาตรงนั้นตรงนี้เลยจะดีกว่า"

พราหมณ์พยักหน้าตอบว่า

"ดีละลูก ถ้าอย่างนั้นพ่อจะนำเจ้าไป"

แล้วจึงพาบุตรชายเดินทางออกนอกเมือง ขึ้นไปยังยอดเขาคิชฌกูฏ พอถึงสถานที่แห่งหนึ่ง ก็กล่าวว่า

"ตรงนี้แหละ เป็นสถานที่ซึ่งไม่เคยเผาศพคนเลวใดๆ มาก่อนเลย หากพ่อตาย ลูกควรเผาศพพ่อที่ตรงนี้"

เมื่อได้กำหนดที่เผาศพไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งสองก็พากันลงจากภูเขานั้น

ก็ในวันนั้นเอง พระศาสดาทรงเล็งเห็นถึงอุปนิสัยแห่งมรรคผลของพราหมณ์พ่อลูกคู่นั้น จึงทรงถือ เอาเส้นทางสายนั้นเสด็จไปยังเชิงเขาคิชฌกูฏ ประทับนั่งรอพ่อลูกลงมา จากยอดเขา ครั้นได้พบเห็นกันแล้ว พระศาสดาจึงทรงกระทำปฏิสันถาร (ทักทาย ปราศรัย) ด้วยการตรัสถามว่า

"พราหมณ์เอ๋ย ไปที่ไหนกันมาล่ะ"

บุตรพราหมณ์ได้กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงตรัสว่า

"ถ้าอย่างนั้นก็จงไปด้วยกันเถิด พาเราไปดูที่ที่บิดาของเจ้าบอกไว้"

ทรงให้พราหมณ์กับบุตรชายขึ้นสู่ยอดเขาอีกครั้ง เมื่อถึงสถานที่นั้นแล้ว บุตรพราหมณ์ เป็นผู้กราบทูลว่า

"บิดาของข้าพระองค์บอกว่า ที่ตรงระหว่างภูเขาสามลูกนี้แหละ พระเจ้าข้า"

พระศาสดาทอดพระเนตรแล้วตรัสว่า

"ดูก่อนมาณพ บิดาของเจ้าไม่ใช่เชื่อถือความบริสุทธิ์แห่งป่าช้าเผาศพในกาลนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็เคยเชื่อถือมาแล้ว อีกทั้งได้บอกกับเจ้าว่า จงเผาศพเราตรงนี้แหละ ไม่ใช่ในกาลนี้ เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็เคยบอกกับเจ้าอย่างนี้เหมือนกัน"

บุตรพราหมณ์ได้ยินได้ฟังดังนั้น ก็กราบทูลอาราธนาขอให้พระศาสดาตรัสเล่า พระพุทธองค์ จึงทรงแสดง เรื่องราวในอดีตนั้น .............

ในอดีตกาล มีชายหนุ่มผู้หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์แว่นแคว้นมคธ ครั้นได้ร่ำเรียน จบศิลปศาสตร์แล้ว ก็ไม่ยอมอยู่ครองเรือน ได้ออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญเพียรในอภิญญา (ความรู้ยิ่ง) และสมาบัติ (สภาวะสงบอันปราณีต) ให้เกิดขึ้น แล้วเพลิดเพลินอยู่ด้วย ฌาน สภาวะสงบอันประณีตยิ่ง ในป่าหิมพานต์เป็นเวลาช้านาน ครั้นต่อมาได้ย้ายไปพักอาศัยอยู่ ณ ศาลาที่มุงบัง ด้วยกิ่งไม้ ใกล้ภูเขาคิชฌกูฏ

ในช่วงเวลานั้นเอง ที่กรุงราชคฤห์นครหลวงของแคว้นมคธนี่แหละ ก็ได้มีพราหมณ์ ชื่อ อุปสาฬหกะ อาศัยอยู่ร่วมกับบุตรชายของเขา และพราหมณ์นั้น ก็ได้บอกกับบุตรชาย ในทำนอง เดียวกัน เรื่องราวดำเนินไปเช่นเดียวกัน จนกระทั่งสองพ่อลูกเดินลงจากยอดเขา แล้วได้พบกับ ฤาษี ที่ศาลานั้น ครั้นฤาษีได้ฟังเรื่องราวจากคำของบุตรพราหมณ์แล้ว จึงกล่าวว่า

"ไปด้วยกันเถิด เราอยากจะรู้ว่าสถานที่ซึ่งพ่อของเจ้าบอกว่า บริสุทธิ์ดีแล้วนั้น จริงหรือไม่"

ทั้งหมดจึงขึ้นไปบนยอดเขาอีกครั้ง พอไปถึงสถานที่นั้นบุตรพราหมณ์ก็ยกมือขึ้นชี้ แล้วกล่าวว่า

"อยู่ที่ตรงระหว่างภูเขาสามลูกนี้แหละ เป็นที่เผาศพซึ่งไม่ปะปนใครตายมาก่อนเลย"

ฤาษีแลดูแล้วก็เอ่ยขึ้นว่า

"ดูก่อนมาณพ ในที่นี้ก็เถอะ แม้ไม่มีใครอื่นเคยถูกเผาศพมาเลย แต่พ่อของเจ้านั่นเอง เคยเกิด ในตระกูลพราหมณ์เมืองราชคฤห์นี้ แล้วก็ชื่อ อุปสาฬหกะ ก็อย่างเดียวกัน เคยถูกเผาศพ ในที่ระหว่างภูเขานี้มาแล้วถึงหมื่นสี่พันชาติ ดังนั้นตามความเป็นจริง จึงไม่มีสถานที่ใด ที่ไม่เคยถูกเผาศพ สถานที่ใดที่ไม่ใช่ป่าช้า เพราะสถานที่ใด ที่ไม่เคยมีใครตายนั้น ย่อมหาไม่ได้ ในโลกนี้เลย"

ฤาษีได้กำหนดรู้ด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณอันระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ จึงกล่าวต่อไปอีกว่า

"ส่วนผู้ใดจะเป็นอมตะได้นั้น จะต้องมี สัจจะ (มีความจริง) ธรรมะ (ทรงความดีไว้) อหิงสา (ไม่เบียดเบียนใครๆ) สัญญมะ (สำรวม ด้วยศีล) และ ทมะ (ฝึกฝนข่มใจด้วยสติปัญญา) หากสิ่งเหล่านี้ มีอยู่ในบุคคลใด พระอริยะทั้งหลายย่อมคบหาบุคคลนั้น และผู้ที่มีคุณลักษณะ อย่างนี้แหละชื่อว่า เป็นอมตะ ไม่ตายในโลก"

ครั้นฤาษีสอนธรรมะแก่สองพ่อลูกแล้ว ก็ได้กระทำพรหมวิหาร ๔ (เมตตา-กรุณา - มุทิตา - อุเบกขา) เอาไว้เป็นอันมาก มุ่งหมายพรหมโลก เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เมื่อพระศาสดาตรัสแสดงชาดกนี้แล้ว ก็ตรัสว่า

"พราหมณ์ผู้เป็นบิดาและบุตรในครั้งนั้น ได้มาเป็นพราหมณ์และบุตรในบัดนี้ ส่วนฤาษีนั้นก็คือ เราตถาคตนี้เอง"

แล้วทรงประกาศสัจธรรม เมื่อจบสัจธรรมนั้นเอง สองพ่อลูกก็ได้บรรลุธรรม ตั้งอยู่ใน โสดาปัตติผล ทันที

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๘๑, อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๑๐๓)


 

พระพุทธองค์ตรัส

กรรมชั่วอันบุคคลกระทำด้วยตน
จะเศร้าหมองด้วยตนเอง
กรรมดีอันบุคคลกระทำด้วยตน
ย่อมบริสุทธิ์ด้วยตนเอง
ความบริสุทธิ์ หรือความไม่บริสุทธิ์
เป็นของเฉพาะตน
ผู้อื่นไม่สามารถช่วยชำระผู้อื่นให้บริสุทธิ์ได้
*** เมื่อบุคคลรู้ว่า ตนนั้นเป็นที่รัก
ก็ไม่พึงกระทำบาป
เพราะความสุขไม่เป็นผลที่ผู้ทำชั่วจะพึงได้โดยง่าย
และผู้มาเกิดแล้วก็จะต้องตายในโลกนี้
หากทำกรรมใดไว้เป็นบุญหรือเป็นบาป
บุญและบาปนั้นจะเป็นสมบัติของเขา
เขาจะพาเอาไป จะติดตามเขาไป
ประดุจเงาติดตามตน

ฉะนั้นบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งแก่ชนทั้งหลายในโลกหน้า

(พระไตรปิฎกเล่ม ๓๐ "โธตกมาณวกปัญหานิเทส" ข้อ ๒๑๙ เล่ม ๑๕ "ปิยสูตรที่ ๔" ข้อ ๓๓๖)

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๕ เมษายน ๒๕๔๗-