ข้อพิจารณา เรื่อง แผนประทุษกรรม (ต่อจากฉบับ ๑๖๔)
- วรวิทย์ ฤทธิทิศ - ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเลย

นอกจากนี้การจัดให้มีการทำแผนประทุษกรรมเท่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ยังส่งผลกระทบถึงสิทธิ ของผู้ต้องหา ที่ได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กล่าวกันว่าสิทธิประการนี้ ของผู้ต้องหา ได้รับการมองข้าม หรือถูกหลงลืม หรือให้ความหมายความสำคัญน้อยลง () แม้หากจะมีการนำหลักการนี้มาใช้ ก็แต่เพียงในศาลเท่านั้น ไม่เป็นที่แพร่หลาย หรือยอมรับ ในหมู่ประชาชน เพราะสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางหน้าจอโทรทัศน์หรือหน้าหนังสือพิมพ์ จากการนำ ผู้ต้องหา ไปชี้สถานที่เกิดเหตุ และแสดงท่าทางรายละเอียด การกระทำความผิดนั้น ล้วนอาจ ทำให้ ประชาชนเข้าใจ หรือรู้สึกว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้กระทำความผิด เพราะสามัญสำนึก ในเบื้องต้นของประชาชน ผู้พบเห็นย่อมคิดว่าเป็นจริง ดังที่ข่าวปรากฏ ส่งผลให้สิทธิ ที่ได้รับ การสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งเท่ากับว่า เป็นการตัดสิน การเป็นผู้กระทำความผิด ของผู้ต้องหา ตามความรู้สึกนึกคิด โดยอาศัย สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือทั้งๆ ที่ยังไม่ผ่าน กระบวนการทางศาล

ในเรื่องนี้ หากพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วย่อมเห็นได้ว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา จะไม่มีกฎหมาย หรือหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการจัด ให้มีการทำ แผนประทุษกรรม ในลักษณะให้ผู้ต้องหา นำชี้ที่เกิดเหตุ หรือให้แสดง ลักษณะท่าทาง รายละเอียด ของการกระทำความผิดอย่างใด หากจะมีก็แต่เฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ การชี้ตัวผู้ต้องหา เพื่อให้พยานหลักฐานที่น่าเชื่อว่าผู้ต้องหานั้นคือคนร้ายจริง และส่วนใหญ่ จะมอง กันในแง่มุม ของปัญหาว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจ กำหนดให้ผู้ต้องหา หรือบุคคลใด ส่งลายพิมพ์นิ้วมือ ถ่ายภาพ ให้เขียน ให้พูดในการชี้ตัว ให้มาศาล ให้ยืนแสดงตน ให้สมมติ การวางท่าทาง ให้เดินหรือให้ทำกิริยาเฉพาะอย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการ ที่จะไม่ถูกบังคับ ให้ต้องให้การ เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง ในคดีอาญา (The Privilege against self-incrimination) ตามบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๕ (Fifth Amendment) หรือไม่ ซึ่งศาลสหรัฐ ปกติจะตัดสินว่า การกำหนดให้ผู้ต้องหา กระทำกิริยาต่างๆ ข้างต้น ไม่เป็นการขัดต่อสิทธิ ของผู้ต้องหา ที่จะไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง แต่อย่างใด (๕) เช่น

คดี Holt V.U.S. 218 U.S. 245 (1910) ตัดสินว่า ผู้ต้องหาถูกบังคับให้แสดงแบบเสื้อได้

คดี Schmerber V. California U.S. 757 (1966) ตัดสินว่าผู้ต้องหาไม่อาจยกข้อต่อสู้ เรื่องสิทธิ ที่จะไม่ให้เป็น การปฏิปักษ์ต่อตนเอง มาใช้อ้าง เพื่อมิให้แพทย์ตรวจตัวอย่างเลือด ตามคำสั่ง ของเจ้าพนักงานตำรวจ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ขับรถ ขณะเมาสุรา

คดี United State V. Wade, 388 U.S. 218 (1967) ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๔ มีคนร้าย เข้าปล้น The Federally Insured Bank ที่เมือง Eustace มลรัฐ Texas โดยมีคนร้าย คนหนึ่ง ติดแถบเทปเล็กๆ ที่ด้านข้างทั้งสอง ของใบหน้า เดินเข้ามา ในธนาคาร แล้วจ้องปืน ไปที่แคชเชียร์หญิง และรองผู้จัดการธนาคาร ซึ่งเป็นเพียง สองคน สุดท้าย ที่ยังอยู่ ในธนาคาร และบังคับให้คนทั้งสอง เอาเงินใส่ปลอกหมอนให้ จากนั้นคนร้าย ก็ขับรถหนีไป พร้อมกับ คนร้ายอื่น ที่คอยอยู่ในรถที่ขโมยมา ซึ่งจอดรถอยู่นอกธนาคาร

ต่อมาวันที่ ๒ เมษายน ๑๙๖๕ Wade จำเลยในคดีนี้ถูกจับกุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจ F.B.I. ก็จัดให้ Wade ยืนอยู่ในแถว รวมกับคนร้ายอื่นๆ อีก ๕ หรือ ๖ คน เพื่อให้ พนักงานธนาคาร ทั้งสองคน ชี้ตัว คนร้ายทุกคน ที่ยืนอยู่ในแถวนั้น ต่างติดแถบเทปเล็กๆ ที่ด้านข้างทั้งสอง ของใบหน้า เหมือนกับ คนร้ายที่เข้าทำการปล้นธนาคาร และให้ทุกคนพูด ทำนองเดียวกัน "เอาเงินใส่ถุง" ซึ่งเป็นคำพูด ที่อ้างว่า คนร้ายที่เข้าปล้นพูด ปรากฏว่าพนักงานธนาคาร ทั้งสองชี้ตัว Wade ซึ่งยืนอยู่ในแถวว่า เป็นคนร้ายผู้ทำการปล้นธนาคาร คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษ Wade ว่ากระทำผิดจริง ตามฟ้อง และศาลอุทธรณ์ก็วินิจฉัยว่าการจัดให้ Wade ยืนอยู่ในแถว และ กล่าวคำพูด ทำนองนั้น ไม่เป็นการขัด ต่อบทบัญญัติธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๕ ที่ว่าบุคคลใด จะถูกบังคับ หรือ ให้การเป็นปฏิปักษ์แก่ตนเอง ในคดี อาญาใดๆ ไม่ได้ (๖) เพราะการกระทำดังกล่าว ไม่เป็นการละเมิด ในการป้องกันตน จากการกระทำ อันเป็นการฟ้องร้อง ทางอาญาต่อตนเอง กล่าวคือ เอกสิทธิดังกล่าว คุ้มครอง เฉพาะการป้องกัน ผู้ต้องหา ไม่ให้ถูกบังคับให้ต้องให้การใดๆ อันจะเป็นการยืนยัน ให้ร้ายแก่ตนเอง แต่การบังคับ ให้ผู้ต้องหา แสดงตัวให้พยานดู เพื่อยืนยัน พยานหลักฐาน ของฝ่ายโจทก์ ก่อนการพิจารณาคดี ของศาลนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ การบังคับ ให้ผู้ต้องหา มอบหลักฐาน ที่มีความสำคัญ อันเป็นคำให้การ ที่เป็นคำพูด หรือลายลักษณ์อักษร แต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการบังคับ ให้ผู้ต้องหา แสดงรูปร่างหน้าตา ด้านร่างกายของเขาเท่านั้น และ ไม่ใช่เป็นการบังคับ ให้ผู้ต้องหา เปิดเผยสิ่งที่ตน ไม่อาจจะรู้ได้แต่อย่างใด (๗)

ในทำนองเดียวกัน การบังคับให้ผู้ต้องหาพูดในระยะที่พยานสามารถได้ยินถ้อยคำพูด เช่นเดียวกับ ที่คนร้ายพูด ขณะกระทำผิด ก็ไม่ได้เป็นการบังคับ ให้ผู้ต้องหากล่าวข้อความ ที่เป็นหลักฐาน ทางเอกสาร เพราะผู้ต้องหา ก็ต้องพูดตามบุคลิก ของตนเองอยู่แล้ว และ ทั้งมิใช่เป็น คำให้การ รับสารภาพผิด แต่อย่างใด (๘)

จากตัวอย่างคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาดังที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่ แตกต่างกับแนวปฏิบัติของไทย เป็นอย่างมาก และอาจกล่าวได้ทีเดียวว่า ลักษณะของ การกระทำ ที่ให้ผู้ต้องหา แสดงตน แสดงกิริยาท่าทาง หรือคำกล่าวคำพูด ในชั้นสอบสวน ของประเทศ สหรัฐอเมริกานั้น หาใช่เป็นเรื่องของ การจัดทำแผนประทุษกรรมไม่ หากแต่เป็น เพียงกระทำ เพื่อให้ผู้กล่าวหา หรือพยานชี้ตัว เพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน ที่จะทำให้แน่ใจว่า ผู้ต้องหา ที่ตำรวจจับได้นั้น คือคนร้ายเท่านั้น เพราะถ้าผู้กล่าวหา หรือพยานชี้ตัว หรือกระทำ ได้ถูกต้องแล้ว ก็น่าเชื่อว่า ผู้ต้องหานั้น คือคนร้ายจริง ย่อมทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอัยการ ได้พยานหลักฐาน ที่จะพิสูจน์ความผิด ของผู้ต้องหา อันจะทำให้สามารถสั่งฟ้อง เพื่อขอให้ศาล ลงโทษได้ต่อไป

เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุผล ความจำเป็น ความถูกต้องเหมาะสมประกอบข้อเปรียบเทียบ กับหลัก กฎหมาย ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าการจัดให้มีการทำแผนประทุษกรรม ในประเทศไทยตามสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่ กระทบกระเทือน ต่อสิทธิ ในชื่อเสียงเกียรติคุณ ของผู้ต้องหาเท่านั้น ยังเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อหลักการ ข้อสันนิษฐาน ในเรื่องความบริสุทธิ์ ของผู้ต้องหา ที่ได้รับการสันนิษฐานว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ว่า เป็นผู้กระทำผิดจริง โดยศาลอีกด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการพิจารณาถึงการเป็นผู้กระทำความผิด ของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนเลยทีเดียว และหากจะพิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ผู้ต้องหา จะได้ให้การรับสารภาพ และให้ความยินยอม ในการจัดทำ แผนประทุษกรรมนั้น แต่ความจริง การที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ก็อาจรับสารภาพด้วยเหตุผลต่างๆ มากมาย รวมทั้ง อาจกลับคำให้การ เสียเมื่อใดก็ได้ และเมื่อผู้ต้องหา กลับคำให้การรับสารภาพ เป็นให้การปฏิเสธ ในชั้นศาลเสียแล้ว หากคดีนั้น ปราศจากเสีย ซึ่งประจักษ์พยาน ผู้รู้เห็น เหตุการณ์ หรือ พยานหลักฐานสำคัญอื่นใด แม้จะมีพยานหลักฐาน ภาพถ่าย แผนที่ ที่ผู้ต้องหา ได้นำมาชี้ ที่เกิดเหตุ หรือ นำให้ค้นของกลาง พยานหลักฐานต่างๆ (จากการทำแผน ประทุษกรรม) เหล่านี้ ก็อาจ ไม่มีน้ำหนัก ให้รับฟังพอที่จะพิจารณา พิพากษาลงโทษผู้ต้องหา หรือจำเลยได้ เช่น

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๑๓-๒๘๑๔/๒๕๒๓ โจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน คงมีแต่คำรับสารภาพ ชั้นสอบสวน และบันทึก ชี้สถานที่เกิดเหตุ ประกอบคำรับสารภาพ อันเป็นพยานประกอบ เพียงอย่างเดียว เมื่อจำเลย ให้การปฏิเสธ ในชั้นพิจารณาคดี ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕๙๒/๒๕๒๙ แม้โจทก์จะมีพนักงานสอบสวน ๒ ปาก เบิกความ ประกอบ บันทึกการจับกุม บันทึกการทำแผนประทุษกรรม บันทึกการยึดของกลาง และคำให้การ ของจำเลยทั้งสาม ในชั้นสอบสวน กับแสดงท่าทางในขณะกระทำผิด และนำชี้ ที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ ๑ นำไปยึดอาวุธปืน พร้อมด้วยปลอกกระสุนปืนกับรับว่า เป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิง ผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์และพยานคนอื่นๆ ฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสาม กระทำความผิดตามฟ้อง และในชั้นพิจารณา จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่า ลงชื่อในเอกสารต่างๆ โดยไม่ทราบข้อความ พยานโจทก์ จึงไม่พอรับฟัง ลงโทษ จำเลยได้

บทสรุป
จากเหตุผลข้ออ้าง และสภาพของการจัดทำแผนประทุษกรรมในประเทศไทย เท่าที่เป็นอยู่ ในปัจจุบัน ผู้เขียนจึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ ของการจัดทำ แผนประทุษกรรม ทีเดียว เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ของการจัดทำ แผนประทุษกรรมนั้น ก็เพื่อ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้มีโอกาสศึกษาถึงกลวิธีขั้นตอน หรือแบบอย่าง ในการกระทำ ความผิดต่างๆ ของคนร้าย ล่วงหน้า เพื่อเป็นแนวทาง ในการสืบสวน สอบสวนหาตัวคนร้าย ได้โดยง่ายยิ่งขึ้น หาใช่จะต้อง ให้ผู้ต้องหา แสดงกิริยาท่าทาง กระทำความผิด ประกอบคำ รับสารภาพไม่ เมื่อผู้ต้องหา ให้การรับสารภาพ หากประสงค์จะจัด หากพยานหลักฐาน แสดงสถานที่เกิดเหตุ ประกอบ ก็อาจกระทำได้ โดยการถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุ หรือ ทำเป็นแผนที่ ประกอบกับภาพเขียน หรือภาพสเก็ตช์ก็ได้ ไม่มีความจำเป็นประการใด ที่จะต้องให้ผู้ต้องหา ไปแสดงกิริยาท่าทาง กระทำความผิดให้ละเอียดลออ ทุกแง่ทุกมุม ถึงปานนั้น ทั้งนี้เพราะ เมื่อพิจารณา ถึงผลกระทบ ของการจัดทำ แผนประทุษกรรม ในแง่มุมต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ย่อมจะส่งผล กระทบกระเทือน ต่อความศรัทธา และความเชื่อมั่น ในกระบวนการยุติธรรม เพราะในบางครั้ง หากศาลมีคำพิพากษา ยกฟ้องคดีนั้น ประชาชนทั่วไป เคยเห็นภาพ ที่ผู้ต้องหา แสดงท่าทาง กระทำความผิด ด้วยตนเอง หรือพบเห็นทางหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ก็อาจจะเกิดความรู้สึก ขึ้นในจิตใจว่า เพราะเหตุใด และทำไม ผลจึงออกมาเช่นนั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิด การวิพากษ์วิจารณ์ และทำให้ขาดความเชื่อมั่น ในกระบวนการยุติธรรมได้ และถ้าจะอ้างว่า การจัดทำแผน ประทุษกรรม จะก่อให้เกิดความยำเกรงขึ้น แก่ผู้ที่คิดจะกระทำความผิด หรือเป็นเครื่องเตือน พลเมืองดีทั้งหลาย ให้รู้ถึงเล่ห์ของคนร้าย ผู้เขียนก็เห็นว่า ยังเป็นข้ออ้าง ที่ขาดน้ำหนักอยู่มาก เพราะถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า ภาพที่ปรากฏต่อประชาชน ในแต่ละครั้ง ของการแสดง ท่าทางกระทำผิด ผู้ต้องหา เหล่านั้น ดูจะยิ้มหัว และไม่ได้มีความเกรงกลัว ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเลย พอดีพอร้าย กลับจะกลายเป็น พระเอกของเรื่อง เสียด้วยซ้ำไป มาถึงจุดนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า สมควรที่จะได้ มีการพิจารณา ทบทวนวิธีการจัดทำแผนประทุษกรรม ในประเทศไทยเสียใหม่ และจัดให้เข้ารูปเข้ารอย เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลัก ของการจัดการทำแผน ประทุษกรรม ที่แท้จริงเสียที และถือเป็นหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้อง ร่วมมือกัน สนองตอบหลักการนี้ เพื่อเรียกความศรัทธาของประชาชน ต่อกระบวนการ บริหารงานยุติธรรมทางอาญา ของรัฐ กลับคืนมา .

() อักขราทร จุฬารัตน์, "สิทธิของผู้ต้องหาที่ได้รับการมองข้ามหรือหลงลืม" นิติศาสตร์ ๑๔ (มิถุนายน ๒๕๒๗) หน้า ๘๗

() Yale Kamisar, Wayne R. La Fave, Jave, Jerold H. Israel, Modern Criminal Procedure, St. Paul, Minn . West Publishing Co., 1974 p 600

() Kadish and Paulsen, Criminal Law and its Processes Cast Material, Boston Toronto ; Little, Brown and Company, 1975, p. 1032


() Yale Kamisar, Wayne R. La Fave, Jave, Jerold H. Israel, Israel, supra note 5, p. 600

() Ibid

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๕ เมษายน ๒๕๔๗-