บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ "อำนาจรัฐ" และชี้ให้เห็นช่องทางที่จะเป็นทางออกจากตรรกะแห่งความขัดแย้ง ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐานทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด "เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ"


เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ (ตอน ๒๙)
ธรรมรัฐ

บทความตอนที่แล้วชี้ให้เห็นว่า มือที่มองไม่เห็นของกลไกตลาด มีข้อจำกัดหลายอย่าง ในการทำหน้าที่ ควบคุมกำกับให้ราคาของสินค้าหรือบริการในตลาด ตรงกับมูลค่าแท้จริง ตามธรรมชาติ (real value) ของสินค้า หรือบริการนั้นๆ (เพื่อไม่ให้มูลค่าของสินค้า หรือบริการ ที่แลกเปลี่ยนซื้อขายกัน ในตลาด แปลกแยกจาก มูลค่าของ พลังแรงงาน หรือกรรม ที่แฝงอยู่ในสินค้า หรือบริการดังกล่าว)

ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมา เพื่อช่วยกำกับดูแลกลไกตลาด ให้ทำ หน้าที่อย่าง "เป็นธรรม" อาทิ ออกกฎหมาย ต่างๆ เพื่อป้องกันการหลอกลวง การผูกขาดตัดตอน การฉ้อโกง ฯลฯ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิด การบิดเบือน ของกลไกตลาด จนนำไปสู่ความ "ไม่เป็นธรรม" ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาด เป็นต้น

นอกเหนือจากนี้ ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐก็คือ การทำหน้าที่ ผลิตสินค้าสาธารณะ (public goods) ที่กลไกปรกติ ของตลาด ไม่สามารถจัดสรรให้เกิดขึ้น ประการหนึ่งของรัฐก็คือ การทำหน้าที่ ผลิตสินค้าสาธารณะ (public goods) ที่กลไกปรกติของตลาด ไม่สามารถ จัดสรรให้เกิดขึ้น

ตัวอย่างเช่น การป้องกันประเทศ การจับโจรผู้ร้าย การติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ตามถนนหนทาง การก่อสร้าง ทางสาธารณะ ฯลฯ สินค้าหรือบริการสาธารณะเหล่านี้ มีลักษณะ พิเศษ คือ ประชาชนทั่วไป สามารถแอบใช้บริการฟรีได้ โดยไม่ต้อง จ่ายเงินซื้ออาทิ เมื่อกองทัพ ช่วยป้องกันไม่ให้ศัตรูที่คิดรุกราน เข้ามาแบ่งแยก หรือแย่งชิงดินแดน ของประเทศไทย ประชาชน ชาวไทยทุกคน ที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์สุขด้วย (ไม่ว่าจะจ่ายเงิน ซื้อบริการนี้ หรือไม่ก็ตาม) เป็นต้นผลที่สุด ถ้าปล่อยให้กลไกตลาด ทำงาน ตามปรกติ ทุกคนก็คงคิดแต่จะขออาศัย โดยสารฟรี (free rider) โดยรอให้คนอื่นจ่ายเงิน เพื่อสร้าง บริการสาธารณะเหล่านี้ก่อน เมื่อทุกคนต่างคิดแต่ จะรอตีตั๋วฟรีเช่นนี้ บริการสาธารณะ ดังกล่าว ก็จะไม่เกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นที่รัฐ ต้องเข้ามาทำหน้าที่ เป็นคนกลางใน การผลิตสินค้า หรือบริการสาธารณะเหล่านี้ แล้วออกกฎหมายบังคับให้ทุกคน ต้องจ่ายเงินซื้อบริการ ในรูปการเสีย ภาษีอากรต่างๆ ให้แก่รัฐ

แต่ดังที่ชี้ให้เห็นในตอนก่อนว่า ภายใต้สมมติฐานที่มนุษย์ทุกคนมีสติปัญญา ไม่เท่าเทียมกัน พอที่จะเลือกผลิต หรือเลือกซื้อสินค้า และบริการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อันทำให้กลไก การแข่งขัน ในตลาด ไม่สามารถ กระทำหน้าที่สะท้อนมูลค่าแท้จริง ตามธรรมชาติของสินค้า และบริการต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องอาศัย อำนาจรัฐ เข้ามาช่วยปิดจุดอ่อนนี้

หากเป็นเช่นนั้น ด้วยตรรกอย่างเดียวกัน เราจะมีหลักประกันอะไรว่า ภายใต้ระบอบการปกครอง แบบประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิเสรีภาพ แก่ประชาชนทุกคน ในการออกเสียง เลือกตั้งเต็มที่ (universal suffrage) ประชาชนเหล่านั้น จะสามารถเลือก "ซื้อ" นโยบายของพรรคการเมือง และตัวนักการเมือง ในตลาดการเมือง ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

ระบอบธรรมาธิปไตยของพุทธปรัชญา จึงเป็นประชาธิปไตยแบบจำกัดสิทธิ์ (limited suffrage) ดังจะเป็นได้จาก ตัวแบบ การปกครองคณะสงฆ์ ตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมวินัย ของพระพุทธศาสนา

ในสังคมสงฆ์นั้น ภิกษุทุกรูปจะได้รับสิทธิเสรีภาพในการออกเสียงเพื่อตัดสิน เรื่องต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น เสียงของพระเถระ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ หรือพระนวกะ ที่เพิ่ง บวชใหม่ไม่นาน ก็มีสิทธิ์เสมอภาคกัน ในการออกเสียง คนละหนึ่งเสียง

ญัตติบางเรื่องในการทำสังฆกรรม(การประชุมสงฆ์) จะอาศัยเสียงข้างมากของที่ประชุม เป็นเกณฑ์ พิจารณา ตัดสิน แต่บางเรื่อง ที่เป็นเรื่องสำคัญ ก็จะอาศัยมติที่เป็นเอกฉันท์ ของที่ประชุม เป็นเกณฑ์ตัดสิน ซึ่งมองในแง่นี้ การปกครองของสังคมสงฆ์ ตามพระธรรมวินัย จะเป็นรูปแบบการปกครองที่มีการกระจายอำนาจ โดยให้สิทธิแก่สมาชิกทุกคน ในสังคมสงฆ์ อย่างเป็นประชาธิปไตยเต็มที่


แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ไม่ใช่พุทธบริษัททุกคนจะได้รับสิทธิให้เข้าร่วมออกเสียง ในการประชุม ตัดสินใจ เรื่องต่างๆ ของสงฆ์ หรือแม้แต่ได้รับสิทธิ์ย กสถานภาพเป็นภิกษุ ในพุทธศาสนา โดยง่ายดาย บุคคลที่จะได้รับการยกสถานภาพ เป็นภิกษุ และ สามารถใช้สิทธิ์ ออกเสียง ในการประชุมของสงฆ์ (หรือการทำสังฆกรรม
) จะต้องผ่านขบวนการกลั่นกรอง คัดเลือก อย่างเข้มงวด ตามพระธรรมวินัย (เพียงแต่ประเพณีการบวชพระภิกษุ สมัยปัจจุบัน ไม่ปฏิบัติตาม บทบัญญัติ ของพระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าวางไว้เท่านั้น โดยกระทำกัน สักแต่ว่า เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งปราศจาก กระบวนการ กลั่นกรองคัดเลือก ใครคิดอยาก จะเข้ามาบวชเมื่อใด ก็กระทำได้ทันที อย่างง่ายดาย ทำให้การปกครองคณะสงฆ์ สูญเสีย หลักการ ตามระบอบธรรมาธิปไตยนี้ไป)

เช่นตามพระธรรมวินัย บุคคลที่จะได้รับคัดเลือกให้มีสิทธิ์เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ของสังคมสงฆ์ จะต้องผ่าน การพิจารณา กลั่นกรองอย่างละเอียด และต้องได้รับการลงคะแนนเสียงรับรอง ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จากที่ประชุมสงฆ์ เต็มคณะ ในการทำสังฆกรรม หากในที่ประชุมสงฆ์ ดังกล่าว มีผู้คัดค้าน แม้เพียงเสียงเดียว บุคคลผู้นั้น จะยังไม่มีสิทธิ์บวชเข้ามา เป็นสมาชิกใหม่ ของสงฆ์

เมื่อบวชเข้ามาเป็นภิกษุแล้ว ก็จะต้องประพฤติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด หากประพฤติผิด พระวินัย และต้องอาบัติ (ถูกลงโทษ) ก็อาจถูกตัดสิทธิ์ชั่วคราว ในการออกเสียง หรือแม้แต่ ถ้าเป็นภิกษุ คนละหมู่คณะ (อันอาจจะมีแนวคิด บางเรื่อง แตกต่างจากสงฆ์หมู่นั้นๆ) เป็น "นานาสังวาส" ไม่ใช่ "สมาน-สังวาส" ก็จะถูกจำกัดสิทธิ์ ไม่ให้เข้าร่วมประชุม เพื่อออกเสียง ตัดสินใจ เรื่องของสงฆ์หมู่นั้นๆ เป็นต้น

การกำจัดสิทธิ์เช่นนี้ ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า การออกเสียงตัดสินเรื่องต่างๆ ของสงฆ์ (ซึ่งเป็นผู้นำ ของพุทธบริษัท ๔) จะเป็นไป อย่างถูกต้อง เหมาะสมโดยตั้งอยู่บนพื้นฐาน ของหลักพุทธธรรม เพราะมีกระบวนการกลั่นกรอง คัดเลือกบุคคล ที่มีปัญญาและเข้าถึง หลักพุทธธรรม อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง ให้มาเป็นผู้ร่วมออกเสียง ตัดสินใจ เรื่องต่างๆ ที่จะมีผลต่อการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อน พระพุทธศาสนา ให้พัฒนาไปสู่ทิศทาง แห่งความเจริญ

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงหลักการเรื่องนี้ว่า "สภาที่ปราศจากบัณฑิต ไม่ชื่อว่าเป็นสภา" เพราะ หากปราศจาก กระบวนการกลั่นกรอง คัดเลือกบุคคล ที่มีปัญญาและคุณธรรมเพียงพอ (ดังที่เรียกว่า "บัณฑิต") ให้เข้ามาเป็นผู้ใช้สิทธิ์ ตัดสินใจ เรื่องต่างๆ ของสังคมนั้นๆ ขณะที่ ให้สิทธิแก่ทุกคน ในการออกเสียงอย่างกว้างขวาง และอาศัย เสียงข้างมาก ของคนส่วนใหญ่ ลากพาไป ตามระบบ "โลกาธิปไตย" โอกาสที่จะเกิดการตัดสินใจผิดพลาด ย่อมเป็นไปได้สูง

ทั้งนี้เนื่องจากโดยธรรมชาติของสังคมทั่วไป ย่อมมีสัดส่วนของคนโง่มากกว่า คนฉลาด และมีสัดส่วน ของคนมี คุณธรรมน้อย มากกว่าคนที่มีคุณธรรมมาก ฉะนั้น ถ้าให้ทุกคน มีสิทธิออกเสียงอย่างเสมอภาคเท่ากันหมด เต็มที่ ก็เท่ากับสังคมนั้นๆ อาศัยคนโง่ และคนที่ มีคุณธรรมน้อย (ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคม) เป็นเกณฑ์ตัดสินใจ กำหนดชะตากรรม ของสังคม อันมีโอกาสสูงที่คนโง่และคนมีคุณธรรมน้อยเหล่านั้น จะตัดสินใจเลือก นโยบายต่างๆ ที่นำพาสังคม ไปสู่ความเสื่อมต่ำ ยิ่งกว่าจะนำพาสังคม ไปสู่ความเจริญ

ถ้าถอดแบบโครงสร้างการปกครองในระบอบธรรมาธิปไตยจากตัวแบบการปกครอง สังคมสงฆ์ ดังที่กล่าวมา หลักการสำคัญ จะอยู่ที่การจำกัดสิทธิการลงคะแนนเลือกตั้ง ให้อยู่เฉพาะ ในกลุ่มประชาชน ที่เป็นคนมี สติปัญญา และคุณธรรม อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง เพื่อเป็น หลักประกันว่า บุคคลที่ได้รับสิทธิออกเสียง เลือกตั้งเหล่านั้น จะสามารถใช้สิทธิของตน ลงคะแนนเสียง ได้อย่างถูกต้อง ในทิศทางที่จะไม่นำพา บ้านเมือง สู่ความเสื่อมต่ำ

เช่นจะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมและการประเมินผลตามที่รัฐจัดไว้ให้ โดยกระบวนการ ฝึกอบรมดังกล่าว อาจสอดแทรก ในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ที่เด็กทุกคน ต้องเข้าเรียน อยู่แล้ว หรือสำหรับคนที่ยังไม่เคยผ่าน การศึกษา ตามหลักสูตรปรกติ ในสถานศึกษา ก็ให้เข้า รับการฝึกอบรม ในหลักสูตรพิเศษ ที่รัฐจัดขึ้น หรือไม่ก็ต้อง มีหลักฐานอื่น (ตามที่รัฐกำหนด) เพื่อมายืนยันว่า ตนเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะทางสติปัญญา และคุณธรรม เพียงพอ ที่จะสามารถ ใช้สิทธิ์ดังกล่าว ได้อย่างถูกต้อง จึงจะได้รับสิทธิเลือกตั้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ หากประชาชนคนใดที่กระทำผิดกฎหมายบางเรื่อง ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึง ความไม่มีวุฒิ ทางสติปัญญา และคุณธรรม เพียงพอ อันอาจเสี่ยงต่อการที่บุคคลผู้นั้น จะใช้สิทธิที่ตนได้รับ ในทิศทางที่ นำพาบ้านเมือง ไปสู่ความเสื่อมต่ำได้ ก็ต้องถูกระงับสิทธิ์ชั่วคราว จนกว่าจะมี หลักประกัน อันเชื่อได้ว่า บุคคลผู้นั้น จะได้ปรับปรุง พัฒนาตัวเอง ให้มีวุฒิภาวะทางสติปัญญา และคุณธรรมเพียงพอแล้ว อาทิ พ้นโทษตามกฎหมายแล้ว หรือผ่าน กระบวนการพัฒนาตัวเอง ตามเงื่อนไข ที่รัฐกำหนดให้ปฏิบัติแล้ว เป็นต้น จึงจักได้รับสิทธิการเลือกตั้งกลับคืน

รัฐที่ปกครองโดยมีหลักประกันว่า จะไม่ถูกชักนำไปสู่ความเสื่อมต่ำ และตั้งอยู่ ในกรอบ การปฏิบัติ ที่เป็นธรรม ตามหลัก "ธรรมธิปไตย" เช่นนี้ ย่อมได้ชื่อว่าเป็น "ธรรมรัฐ"

(อ่านต่อฉบับหน้า)



การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการ
ด้วย "อำนาจ" ที่เป็น "ธรรม"
ศาสนาเป็นเรื่องของการจัดการ
ด้วย "ธรรม" จนมีฤทธิ์มีผลเป็น "อำนาจ"
งานการเมืองเป็นงานสร้าง "ระบบ"
เป็นงานสร้าง "โครงสร้าง" และใช้ "ระบบ" เป็นหลัก
งานศาสนาเป็นงานสร้าง "คน" ให้ดี
แล้วคนดีจะไปสร้าง "ระบบ"
"ระบบ" หรือ "โครงสร้าง" แม้จะดี
แต่ถ้าคนไม่ดี สังคมก็จะแย่ และเสื่อมเสียเลวร้ายได้
ในทำนองกลับกัน
"ระบบ" หรือ "โครงสร้าง" แม้จะไม่ดี
แต่ถ้าคนดี สังคมก็ยังจะพอเป็นอยู่สุขได้
ดังนั้นงานศาสนา จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน
เป็นหลักสำคัญยิ่งกว่างานการเมือง

สมณะโพธิรักษ์ ๑๒ มี.ค. ๓๕

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๕ เมษายน ๒๕๔๗-