คนมีไตรสิกขาคือ เครื่องบ่งชี้ความเป็นพุทธ

แม้จะมีเสียงทักท้วงถึงการเดินทางไปพักรอนแรมตามวัดต่างๆ ของท่านนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการสร้างภาพ หรือเป็นการหาเสียง ฯลฯ อยู่บ้าง แต่เสียงชื่นชมยินดีจากสื่อมวลชนที่พยายามสะท้อนถึงความรู้สึกของประชาชนดูจะมีมากกว่า

เป็นทั้งให้เห็นถึงการทำงานแบบติดดิน การเข้าถึงปัญหาของประชาชนด้วยตนเอง ก่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยืดเยื้อเรื้อรังมายาวนานได้ฉับไวและยังเป็นการให้ความสำคัญทางด้านจิตวิญญาณ เพราะวัดทั้งหลายนั้นล้วนต่างเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า จิตใจหรือจิตวิญญาณนั้นเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง ซึ่งต้นเหตุปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่ร้อนระอุอยู่ในโลกจนแทบจะลุกไหม้เป็นไฟบรรลัยกัลป์ก็ล้วนมาจากไฟบรรลัยวัน ที่เกิดจากไฟคือ ความโกรธ (โทสัคคิ) ไฟคือราคะ (ราคัคคิ) และไฟคือความหลง (โมหัคคิ) ไฟต่างๆ เหล่านี้ ล้วนสุมในจิตใจของมนุษย์

เมื่อท่านนายกฯ ลงทุนเอาตัวเองเข้าไปมอบความรักความจริงใจและความทุ่มเทที่จะเข้าไปดับปัญหาไฟใต้ เสียงขานรับส่วนใหญ่จึงออกมาดี ซึ่งผิดกับที่ผ่านๆ มา ที่รัฐแก้ปัญหาด้วยการใช้อำนาจ กระบอกปืนและกฎอัยการศึก แต่ก็ดูเหมือนจะยิ่งเป็นดั่งการราดน้ำมันเข้ากองไฟ เพราะเมื่อเรามอบความรุนแรงให้แก่มนุษย์ เราก็ย่อมได้รับความรุนแรงกลับคืนมา แต่เมื่อใดที่เราเปลี่ยน มาเป็นความรักความจริงใจให้แก่เพื่อนมนุษย์ธรรมชาติ ของมนุษย์ด้วยกัน แม้จะร้ายแค่ไหนก็ย่อมสัมผัสได้ถึงความรัก ความจริงใจ ที่ผู้อื่นให้มา

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ได้เขียนบทความ เรื่อง "นายกรัฐมนตรีทำดี" ลงในมติชนเมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย. โดยชื่นชมการตะลอนไปตามวัดต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้และยังเสนอแนะว่าถ้าจะให้ดียิ่งกว่านี้นอกจากจะ ไปนอนในวัดแล้ว ควรจะได้ตั้งใจสมาทานศีล ๘ งดอาหารมื้อเย็น ด้วยก็ยิ่งดี

ข้อเสนอนี้ ถ้ามองแบบโลกีย์ดูออกจะโหดร้าย เพราะแค่ตะลอนทัวร์ วิ่งแก้ปัญหาทั่วประเทศ ก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว แต่ความมหัศจรรย์ก็ได้เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อว่า ท่านนายกฯ ได้อดอาหารมื้อเย็นจริงๆ เมื่อได้ไปนอนตามวัดต่างๆ ทำให้รัฐมนตรีบางท่านต้องลดอาหารตามไปด้วย บางท่านก็ขอแค่ผลไม้รองท้องเท่านั้น

อานิสงส์ของการอดอาหารมื้อเย็น ทำให้กายเบา จิตเบา (แววไว) จนท่านนายกฯ ได้ปรารภออกมาว่า นอนวัดทีไร พอตี ๔ ต้องตื่นขึ้นมาทุกที และเกิดปัญญาได้เห็นความจริงขึ้นมาว่า ถ้ารู้จักปล่อยวาง ไม่ต้องปรุงแต่ง ไปตามอารมณ์ จะนอนในป่า หรือนอนในคฤหาสน์ก็สบายเหมือนกัน ต้องอย่าให้ชีวิตเป็นนายเรา แต่ทำชีวิต ของเราให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อสังคมให้มากที่สุด (จากรายการนายกฯพบประชาชน เสาร์ที่ ๒๔ เม.ย. ๔๗)

เมื่อถือศีลย่อมมีผลทำให้จิตใจสงบเป็นสมาธิ และเมื่อจิตสงบย่อมเกิดปัญญา คือการรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงขึ้นมา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเล่ม ๙ ยืนยันไว้ว่าศีลมีในผู้ใด ปัญญาก็มีในผู้นั้น ปัญญามีในผู้ใด ศีลก็มีในผู้นั้น และในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๑ ได้ตรัสถึงศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือไตรสิกขานี้ ไม่ได้แยกส่วนออกจากกันแต่การปฏิบัติศีลที่เป็นกุศลนั้น ย่อมมีผลทำให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดความหลุดพ้น จนเป็นพระอรหันต์ได้ในที่สุด

ดังนั้นไตรสิกขาจึงคือหลักใหญ่ในการประพฤติของผู้ที่เป็นพุทธมามกะทุกคนไม่ละเว้นใคร ชาวพุทธที่
ปราศจากไตรสิกขา จึงเป็นชาวพุทธได้แค่ใบสำมะโนครัว แต่ไม่เข้าถึงมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ซึ่งไม่ว่าเราจะ "คิด-พูด-ทำ" สิ่งใดๆ ก็ตาม ถ้าทำลงด้วยเจตนาทุกๆ กรรมก็จะสั่งสมลงไปเป็นทรัพย์แท้ของมนุษย์ ที่จะติดตัวเราไปชั่วกัปชั่วกัลป์ และจะมีอำนาจดลบันดาลชีวิตของผู้นั้นๆ ให้เป็นไปต่างๆ นานาตราบปรินิพพานทีเดียว

ส่วนคนที่คิดพูดทำตามหลักไตรสิกขา จึงเป็นชาวพุทธที่ได้ประกาศความเป็นพุทธ ด้วยกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมอยู่ตลอดเวลา ถ้าผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้ทำกันได้ ก็เท่ากับเป็นการต่ออายุพุทธศาสนา ให้มีเนื้อแท้สืบทอดต่อไปให้ลูกหลานอีกชั่วนาน

- จริงจัง ตามพ่อ -

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ -