เวทีความคิด - เสฏฐชน -
วิชาใดเท่ารู้จักอวิชชา

พระพุทธองค์ตรัสว่า "คนจะพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร" แต่ในอีกมุมหนึ่ง "คนสร้างทุกข์ได้ด้วย ความเพียร" เหมือนกัน

โจรที่พยายามขึ้นบ้านเพื่อขโมยทรัพย์ของคนอื่น ต้องใช้ความเพียรไม่น้อย เพื่อจะได้ทรัพย์นั้น พร้อมๆ กับรอดตัวจากการถูกจับได้ด้วย

ข้าราชการที่คอรัปชั่นจากภาษีประชาชน ก็ต้องใช้ความเพียรมาก เพื่อจะได้รวยเร็ว โดยไม่ถูก ตรวจสอบสินทรัพย์และถอดถอนพ้นตำแหน่ง

พ่อค้า นักธุรกิจก็ยิ่งต้องใช้ความเพียร เพื่อแข่งขันกันในเชิงธุรกิจ ทำกำไรสูงสุดให้ได้ทุกปี โดยผู้บริโภคสินค้าไม่รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ

นักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ต้องใช้ความเพียรในการโกงข้อสอบ เพื่อจะได้รับปริญญา ประกัน ความรู้ ทั้งๆ ที่เป็นลูกผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินอยู่แล้ว เพื่อจะให้เป็นบุรุษที่สมบูรณ์แบบ ตามรสนิยมของหญิงสาว คือ รูปหล่อ รวยสมบัติ มีปริญญา ฯลฯ

มองไปรอบๆ ตัว ทั่วทุกทิศ ไม่มี ณ ที่ใดๆ ที่คนจะไม่ใช้ความเพียร

โดยเฉพาะเรื่องการเพียรที่จะเอาชนะคนอื่น จนกระทั่งเป็นผู้ชนะเลิศในโลก เพียรที่จะสร้าง ความร่ำรวย จนกระทั่งรวยที่สุดในประเทศ เพียรที่จะสร้างอำนาจ จนกระทั่งมีอำนาจ ยิ่งใหญ่ ที่สุดในบ้านเมือง เพียรที่จะเรียนเอาปริญญาบัตร จนกระทั่งมากใบ มากคณะที่สุด ในคนวัย เดียวกัน

แม้แต่คนที่มีความรู้อยู่แล้ว ก็ยังไม่วายต้องใช้ความเพียรที่จะนำเอาความรู้ที่ตนเองมีนั่นแหละ ไปสร้างความเติบโตขยายผลด้านอื่นๆ ต่อๆ ไปอีก

วิชาเสพกามรสอย่างใด ที่ทำให้ถึงจุดสุดยอด พิสดารหลากหลายท่า ก็ยังอุตส่าห์มีคนอยากรู้ อยากเรียน แล้วก็ยังมีการสอนกันด้วย

วิชาคดโกงในวงการพนันขันต่อ พลิกแพลงการใช้อุปกรณ์ดูดเงินจากลูกค้าบ่อนพนันอย่างไรๆ ก็มีปรมาจารย์ที่นักพนันนับถือ

วิชาพ่อเล้าแม่เล้า แมงดา โสเภณีระดับสูง จนกระทั่งติดต่อเปิดเอเยนต์สาขาส่งเข้า ส่งออก แลกเปลี่ยนข้ามประเทศ ก็ยังมีคนเรียนเพื่อสืบทอด

วิชาศัลยกรรมเสริมความสวย ความหล่อเหลาให้ถูกสเป็คเขย่าหัวใจผู้ใฝ่หากามรส ก็มีผู้ฝึกปรือ รับการถ่ายทอด

วิชาพ่น ลงเลข ลงยันต์ เสกเป่า ยัดอัดอาคม ขมังเวท ฯลฯ ที่จะทำให้คนหลงใหล เคลิบเคลิ้ม สติสัมปชัญญะหดหาย ก็ยังมีผู้สนใจอยากเรียนรู้

วิชาหัดใช้ลิ้นตวัด หัดใช้เสียง ลีลาการพูดที่ควักล้วงหัวใจคน จนเพ้อคลั่งใฝ่ถึงคะนึงตาม ก็ยังมี สถานที่เปิดสอน

ฯลฯ................ฯลฯ

สรรพความรู้ สรรพวิชาเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์บอกว่าต้องศึกษา เป็นบันไดไปสู่ความเจริญ ใครไม่รู้ ไม่เรียน ไม่แสวงหา ไม่นิยมชมชื่น จะถูกดูหมิ่นว่ารู้น้อยโง่เขลา ไม่เจริญ

ทั้งๆ ที่วิชาบรรดามีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่ามันคือ "เดรัจฉานวิชา" ทั้งน้าน!

แต่ไฉนคนที่บอกผู้อื่นว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ กลับยังยินดีด้วยวิชาเหล่านั้นอยู่

ปัจจุบันใบรับรองความรู้ที่เรียกว่าปริญญา เป็นสิ่งที่น่าพิสมัย ต้องการของคนทุกวัย ไม่เฉพาะ แต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว แม้หนุ่มแก่ สาวใหญ่ ผู้เฒ่าก็ยังต้องเพียรพยายาม หามาเก็บ เอาไว้สักใบ ดังข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอผู้เฒ่าวัย ๙๐ กว่ายังอุตส่าห์เรียนเอาปริญญา กับเขาเหมือนกัน

ยุคก่อน และหลัง พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นต้นไป จะเป็นยุคที่ใบยืนยันความรู้ฟูเฟื่องขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวัน หดสั้นลง

แม้ในวงการศาสนา ที่บางคนไปอบรมศีลธรรมชั่ว ๔-๕ วัน ก็ยังต้องแจกใบรับรองศีลธรรม ให้ผู้เข้ารับการอบรมอบอุ่นใจ

แม้ผู้บวชครองเพศบรรพชิตเป็นถึงเถระ มหาเถระ อัครมหาเถระ พรรษากาลเนิ่นนาน จนใกล้ จะถึง หลุมฝังศพแล้ว ก็ยังต้องใฝ่เรียนเอาใบรับรองศีลธรรม รับรองความรู้ เพื่อผลประโยชน์ ทั้งที่ยังดำรงเพศนั้นอยู่ หรือจะสิกขาลาเพศไปภายหลังก็ตาม

ดูประหนึ่งคนในยุคนี้ จะมีความสุขกับการสั่งสมเดรัจฉานวิชา ยกย่องความเพียร เพื่อได้รับ ใบรับรองความรู้ด้านเดรัจฉานวิชากันทั้งนั้น

จึงไม่น่าประหลาดใจอะไร ที่ปริมาณของผู้เข้าถึง "โลกุตรวิชา" จะน้อยลงๆ จนหาเป็นตัวอย่าง ยืนยันสัจธรรมนี้ได้ยาก

แม้การจะเรียนเพื่อศึกษาร่องรอยของผู้เข้าถึงโลกุตรวิชาในอดีต สมัยครั้งพระบรมศาสดา ยังมี พระชนม์ชีพอยู่ จากพระไตรปิฎก ก็ยังอุตส่าห์ตีค่าความรู้เหล่านี้ ออกมาเป็นใบรับรอง เป็นปริญญา พุทธศาสตร์บัณฑิต อภิธรรมบัณฑิต ฯลฯ กันอีก

มิหนำซ้ำยังอาจจัดการแข่งขัน เพื่อสอบทวนความจำจากการอ่านพระไตรปิฎก วัดจาก ใครจำ เรื่องราว จำข้อความ จำหัวข้อธรรมได้มาก จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ แตกฉานใน คัมภีร์เสียด้วย

กล่าวได้ว่าเมื่อเทียบเคียงความรู้เช่นนี้ ถือบรรทัดฐานอย่างนี้ ผู้อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือ ไม่ได้ ก็คงจะหมดหวังที่จะบวชเรียน

ฉะนั้นผู้ที่จะเข้ามาบวช จึงต้องเรียน เรียน เพื่อรับปริญญาบัตรทางศาสนา รับสมณศักดิ์ เป็นลำดับต่อมา รับตำแหน่งไต่เต้ายิ่งๆ ขึ้นไป จนกิเลสกามราคะ-มานะ-ทิฐิ สังโยชน์ที่ได้รับ การฟูมฟักมาโดยตลอด รอเวลาเติบใหญ่แสดงตัวตนออกมา จนต้องลาสึกไปทำงาน กินเงินเดือน เทียบตำแหน่งหัวหน้า อธิการบดี คณบดีในกระทรวง ในมหาวิทยาลัยต่อไป นี่คือ สุดหมายปลายทางของความเพียรที่สำเร็จแล้ว

ทบทวนดูเถอะว่า บทบาทความเชื่อมโยงของกรรม กิริยาดังกล่าวมานี้ เป็นความเจริญของ ผู้ศึกษา "ไตรสิกขา" แล้วหรืออย่างไร?

ในเมื่อความมุ่งหมายดั้งเดิมของพระพุทธองค์ ปรารถนาให้พุทธบุตรศึกษาไตรสิกขา เพื่อความ หลุดพ้น เพื่อหมดสิ้นซึ่งกิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิ เห็นแก่ตัว เอามาให้ตัวทั้งด้านเบญจกามคุณ และ โลกธรรมที่ครอบงำจิตใจของสัตวโลกอยู่

แต่ทิศทางที่บรรดาพุทธบุตรทั้งหลาย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์กำลังก้าวเดินไปสวนกระแสกับ พุทธประสงค์หรือไม่?

เคยฟังเหตุผลจากการส่งเสริมในด้านนี้ว่า เพื่อนักบวชจะได้มีความรู้ ใช้ภาษา ติดต่อกับ ฆราวาส ได้ง่าย ร่วมสมัยขึ้น อธิบายธรรมะได้ดีขึ้น

อธิบายธรรมะให้ได้ภาษาดีขึ้น กับอธิบายธรรมะให้ได้อริยคุณ พระอริยบุคคลมากขึ้น อย่างไหน คือแก่นแท้ของไตรสิกขา?

ความรู้เรื่องพระไตรปิฎกมากขึ้น ปัญญาในการอธิบายความหมายภาษาพระไตรปิฎก แตกฉานขึ้น ความเข้าใจในเรื่องประวัติอริยบุคคลกว้างขวางขึ้น แต่กิเลสของผู้ศึกษาสิ่งเหล่านี้ ทั้งในด้านประวัติศาสนา คำสอนของศาสนา สังคมศาสนา ธรรมะในศาสนา ฯลฯ ลดลง หรือ เพิ่มขึ้น?

จากคนจน มาเป็นคนรวย เพราะได้ความรู้จากศาสนาไปแลกเป็นเงินมาเลี้ยงชีพ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้า เคยมีเงินให้ทิ้งเงิน เคยเลี้ยงชีพด้วยเดรัจฉานวิชา มาหยุดทำเดรัจฉานวิชา

จากคนไม่มีอะไร แม้กระทั่งชื่อเสียง ความเคารพนบไหว้ มาเป็นคนมีแทบทุกอย่าง ที่คนโดย ทั่วไปเขามีกัน ไม่ว่าที่ดิน เครื่องอุปโภคบริโภคดีๆ ยศถาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ จนกระทั่งใบปริญญา

บางคราวยังได้อ่านข่าวพบนายทุนเงินกู้ผ้าเหลือง นายหน้าค้ายาบ้าตามกุฏิ นักเที่ยวผู้หญิง ในวัด ฯลฯ ตำแหน่งเจ้าอาวาส พระอธิการ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย

ตามมหาวิทยาลัยที่ฆราวาสลูกชาวบ้านเขาเรียนกัน เพื่อให้ได้ใบกระดาษปริญญาไปติดกรอบ ข้างฝาบ้าน เพื่อคุยโก้เป็นเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูล ก็ยังอุตส่าห์ส่งเสริมเปิดห้องพิเศษ ให้เพศบรรพชิต เข้าไปเรียนอีก

ไม่รู้กันหรือว่าสมัยพุทธกาลย้อนหลังไป ๒๐๐๐ กว่าปี พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระสารีบุตร พระมหากัจจายนะ พระยสกุลบุตร ...ฯลฯ เจ้าชาย ลูกเศรษฐีเหล่านี้ ได้ทิ้งอะไรมาบวชกันบ้าง เคยมีอะไรๆ ต่อมิอะไรต่างๆ ที่ยุคนี้เพียรจะเอา แต่สมณะศากยบุตรเหล่านั้น ทิ้งมาเท่าไหร่ ต่อมิเท่าไหร่แล้ว

จะไปหาความเป็นพระอริยะจากที่ไหน จะสร้างความเป็นพระอริยะยากนักหรืออย่างไร เพียงทิ้ง สิ่งที่มี สิ่งที่ได้ สิ่งที่โลกนิยมไขว่คว้า ละความยินดีในสิ่งที่โลกเขายินดี ไม่ว่าจะยินดีในกาม ยินดีในโลกธรรม เท่านั้นแหละพระอริยะ ใครละความยินดีในสิ่งเหล่านี้เสียได้ ทิ้งสิ่งเหล่านี้ ที่เคยมี เคยได้ เคยเป็นมาได้ เท่านั้นแหละ ประตูความไปสู่อริยะก็จะเปิดกว้างขึ้น จะมานั่ง คาดเดาความเป็นอริยะจากอะไร

รู้อะไรจึงเหนือกว่ารู้วิชาใดๆ ในโลก

ถ้าไม่ใช่ "รู้อวิชชา"

ผู้มีความรู้ มีวิชาหลายๆ ปริญญาจะตอบคำถามนี้ได้ไหม?

และผู้มีหลายๆ ปริญญา หลายๆ วิชาที่ทำมาหากิน สร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้ร่ำรวย ใหญ่โต มีชื่อเสียง ยศศักดิ์ตำแหน่งได้ "รู้จักอวิชชาในตัวเอง" หรือยัง?

หากจะตอบว่าการศึกษาเป็นหนทางทำให้คนหลุดพ้นจากความไม่รู้

ถามว่าปัจจุบันสถาบันถ่ายทอดความรู้มีมากกว่าแต่ก่อน หรือน้อยกว่าอย่างไร

สมัยก่อนคนได้เรียน ได้รับรู้ ทั้งจากการไปเรียนที่นั้นๆ หรือจากสื่อที่ส่งต่อๆ มา น้อยกว่าปัจจุบัน หรืออย่างไร

คงไม่ปฏิเสธว่าสิ่งที่กล่าวถึงนี้ น้อยกว่าปัจจุบัน

แต่ทำไม? คนในยุคนี้จึงใจดำมากขึ้น "ผิดศีลธรรม" มากขึ้น คุณภาพทางจริยธรรมต่ำลง หากการศึกษา ทำให้คนเจริญ!

มิหนำซ้ำกลับตรงกันข้าม ดูจากคนสมัยก่อนกว่าจะจบปริญญาตรี อายุก็ปาเข้าไป ๒๕-๒๗ ทุกวันนี้อายุ ๒๐-๒๓ ก็หอบปริญญาเอกใบสองใบได้แล้ว

แต่จะหาคนมีน้ำใจ หาคนเสียสละ หาคนขยันขันแข็งรับผิดชอบ หาคนมีความอดทนข่มใจ หาคน ควบคุมอารมณ์ หาคนมีสำนึกดี หาคนเกรงใจคนด้วยกัน ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่จะยกขึ้นมา อ้างอิงให้คนอื่นฟังแสนยาก อาจจะมีก็คงในละครทีวี นิยายเก่าแก่สมัยพระเจ้าพรหมทัต กรุงพาราณสี โน่นกระมัง?

แม้แต่นิยายเก่าๆ ที่นักเขียนพยายามสะท้อนภาพ "นางเอก-พระเอก" ที่ดี ที่มีคุณสมบัติดีๆ ซึ่งหาได้ยากเหล่านี้ เพื่อคงรูปแบบการเขียนเดิมของเขาที่เขียนไว้ เมื่อนำมาสร้างเป็นละคร เป็นวิดีทัศน์ ผู้กำกับต้องมาเปลี่ยนบท เปลี่ยนลีลาท่าทีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรสนิยม ของตลาด ตัวเอกจะมานั่งหงิมๆ อดทนข่มใจอย่างเดิมๆ ชักจะเชยเกินไปแล้วละนาย เช่น เสียงวิจารณ์เรื่องบ้านทรายทองยุคใหม่ เรื่องดาวพระศุกร์รุ่นหลังสุวนันท์(กบ) คงยิ่ง เป็นต้น

เสียงวิพากษ์เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแนวคิด ยึดถือของคนต่างสมัย ที่มีแนวโน้มแข็งกระด้างขึ้น ในทำนองเดียวกันกับคำสอนแต่โบราณเคยถือปฏิบัติมาว่า "ผู้ใหญ่ย่อมไม่ผิด" ที่เด็กรุ่นนี้คงรับไม่ได้

ไม่ต่างจากความหนักใจของผู้ใหญ่ เมื่อพบกับเด็กรุ่นนี้ที่ถือว่า "ธุระไม่ใช่" เรื่องจะต้องไปใส่ใจ ความรู้สึกของผู้ใหญ่ ยกไว้แต่เพียงมี "เหตุผล" ค่อนมาทางตามที่ใจตัวเองต้องการ เห็นดี เห็นชอบ ด้วย จนเด็กรู้สึกว่าเป็นบุญคุณต่อพ่อแม่ วงศ์ตระกูลยิ่งแล้วเมื่อเขาจบ รับปริญญา สำเร็จ ด้วยคุณวุฒิใบรับรองที่พ่อแม่บางคนอาจไม่มี หรือมีต่ำกว่า พ่อแม่ก็ต้องไปเลี้ยงฉลองให้ ซื้อรถเก๋ง นำเงินฝากธนาคาร ซื้อแหวนเพชรให้ ฯลฯ เป็นรางวัล

การยอมรับ แสดงท่าทีเอาใจเด็กระดับนี้ เป็นช่องทางหนึ่งของการได้ใจ หลงตัวของเด็ก ต่างจาก สมัยก่อน ที่เคยปลูกฝังให้ลูกต้องมากราบเท้าขอบคุณพ่อแม่ ซื้อของขวัญให้พ่อแม่ หรือนำเงิน ก้อนแรกของการทำงานครั้งแรกด้วยหยาดเหงื่อของตนเอง มามอบแทบเท้าขอบคุณพ่อแม่ ที่ช่วยส่งเสริม อุดหนุนให้เรียนสำเร็จ เป็นทุนในการตั้งหลักฐานดำเนินชีวิตต่อไป พ่อแม่ สมัยก่อน ก็ได้พึ่งลูกชนิดนั้นแหละตลอดมา

วิชากตัญญูกตเวทีอย่างนี้ๆ พ่อแม่ยังสอนกันอยู่หรือเปล่า? ลูกๆ ยังเรียนรู้กันอยู่หรือเปล่า? และ ยังทำกันอยู่หรือเปล่า? หรือว่าความก้าวหน้าทางวิชาการต่างๆ กลบเกลื่อนวิชาดีๆ อย่างนี้ ไปหมดแล้ว

ฉะนั้นจึงไม่สงสัยเลยว่าทำไม? คนยิ่งรู้มากยิ่งอวิชชามากขึ้นทุกวัน

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗ -