ศีลบารมี(จัมเปยยชาดก)


พุทธจริงไม่นิ่งเฉย
ไม่ละเลยศีลตน
ต้องตายก็ยอมทน
เพื่อผลพระนิพพาน

พระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงเอ่ยถึงเรื่องของอุโบสถกรรม (การประพฤติศีล ๘) ดังนี้

กาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคนยากจนเข็ญใจ ได้มีโอกาสไปที่ฝั่งน้ำจัมปานที ร่วมกับ มหาชนเป็นจำนวนมาก เฝ้าดูสมบัติของพญานาคราช (ราชาแห่งงูใหญ่) พอได้เห็นแล้วก็เกิด จิตโลภ ปรารถนาจะได้สมบัติเหล่านั้น จึงพยายามเพียรทำบุญให้ทาน รักษาศีล เพื่อที่จะได้มี ได้เป็น อย่างนั้นบ้าง

ต่อมา...เมื่อพญานาคราชตายไปได้เจ็ดวันแล้ว ชายยากจนเข็ญใจนั้นก็ตายตาม ด้วยผลบุญ ที่สะสมพาไปเกิดในนาคพิภพนั้นซึ่งชื่อว่าจัมปา ได้เป็นพญานาคราชชื่อ จัมเปยยะ มีสรีระใหญ่โต ศีรษะเท่าคันไถ ยอดศีรษะคล้ายคลุมไว้ด้วยผ้ากัมพล (ผ้าทอด้วยขนสัตว์) แดง ผิวหนังขาว ราวกับพวงดอกมะลิสด มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก มีสมบัติมากมายมหาศาล แต่ถึงกระนั้น จัมเปยยนาคราช ก็ยังทรงดำริว่า

"ด้วยผลแห่งบุญกุศลที่เราทำไว้ จึงได้ครอบครองจัมปานาคพิภพนี้ แต่เราก็ได้กำเนิดเป็นสัตว์ ดิรัจฉานเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้บำเพ็ญบารมียิ่งไปกว่านี้ ประโยชน์อะไรที่เราจะมีชีวิตอยู่เยี่ยงนี้เล่า เราควรจะเข้าอุโบสถ (รักษาศีล ๘) เพื่อบำเพ็ญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก จะได้พ้นไปจากความเป็น นาค อย่างนี้ จะได้กำเนิดเป็นมนุษย์ สามารถแทงตลอดสัจธรรมกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้"

ตั้งแต่นั้นมา ทุกวันอุโบสถ (วันพระแรมและขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ) จัมเปยยนาคราช จึงถือศีล ๘ อยู่ในปราสาทของตนนั้นเอง แต่บรรดาเหล่านางนาคทั้งหลาย ก็พากันตกแต่งร่างกายให้งดงาม แล้วพากัน ไปยังปราสาทเสมอๆ ทำให้นาคราชเกิดความกังวลขึ้น

"หากเรายังคงอยู่ที่ปราสาทนี้ จะเป็นอันตรายแก่ศีลของเราเป็นแน่"

จึงย้ายที่รักษาศีลอุโบสถ ไปอยู่ในอุทยานอันสงบ แต่นางนาคเหล่านั้นก็ตามไปยั่วยวนอีก หวังทำลาย ศีลของจัมเปยยนาคราชให้ได้ ทำให้นาคราชต้องตัดสินใจหลบออกจาก นาคพิภพ มุ่งสู่โลกมนุษย์ เพื่ออยู่รักษาศีล ๘ ณ ที่นั้น

ฉะนั้น ทุกๆ วันอุโบสถจึงเสด็จออกจากนาคพิภพไปโลกมนุษย์ นอนขดขนดตัวอยู่บนยอด จอมปลวก ใกล้ทางเดินที่ผู้คนสัญจรไปมา ในหมู่บ้านชายแดนแห่งหนึ่ง โดยตั้งศีลไว้อีกว่า

"ร่างกายนี้เรายินดีเสียสละ หากใครต้องการแม้เนื้อหนังของเรา ก็จงมาเถือเอาไป หากใครต้องการ เอาเราไปทำอะไร ก็จงทำเถิด"

นาคราชจึงประพฤติศีลเสียสละเช่นนี้เป็นประจำ จนนางนาคสุมนาอัครมเหสี อดเป็นห่วงมิได้ ต้องทูลถาม นาคราชว่า

"โลกมนุษย์นั้นน่ารังเกียจ มีภัยรอบด้าน หากภัยใดเกิดขึ้นแก่พระองค์ พวกหม่อมฉันจะรู้ได้ด้วย นิมิต (เค้ามูล) ใด ขอพระองค์ตรัสบอกนิมิตนั้นด้วยเถิด"

จัมเปยยนาคราชจึงนำนางสุมนาเทวี ไปยังขอบสระโบกขรณีอันเป็นมิ่งมงคล แล้วตรัสว่า

"หากใครทำร้ายเราให้ลำบาก น้ำในสระนี้จะขุ่นมัว หากพญาครุฑจับเราไป น้ำจะเดือดพุ่งขึ้น หากหมองู จับเราไป น้ำจะมีสีแดงดังโลหิต"

หลังจากนั้นไม่นาน มีชายหนุ่มตระกูลพราหมณ์ชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งชื่อ ลุททกะ ไปร่ำเรียน ยังเมืองตักกศิลา เขาได้เรียนมนต์อาลัมพายน์ (มนต์สะกดจิต) จบแล้ว จึงเดินทางกลับบ้าน แต่ระหว่างทางนั้นเอง ได้พบเห็นนาคราชขดตัวอยู่ที่จอมปลวก ก็เลยคิดว่า

"เรื่องอะไรที่เราจะกลับบ้านมือเปล่า น่าจะจับนาคตัวนี้ เอาไปแสดงการละเล่นตามหมู่บ้าน และ ในเมือง ก็จะได้ทรัพย์มากมายเป็นแน่"

ชายหนุ่มลุททกพราหมณ์จึงทำการร่ายมนต์ และพ่นยาใส่นาคราช ทำให้รู้สึกเหมือนมีซี่เหล็ก เผาไฟร้อน ยอนเข้าไปในหูของนาครราช ศีรษะก็ปวดร้าวราวถูกเหล็กสว่านไชทนไม่ไหว จำต้องยก ศีรษะขึ้นมองดู

"ใครกันหนอทำกับเราอย่างนี้"

ครั้นเห็นเป็นพราหมณ์หมองู จึงคิดในใจว่า

"เรามีพิษอยู่มากมาย มีพิษแรงกล้า หากเราโกรธแล้วพ่นลมพิษออกไป ร่างของหมองูนี้ก็จะย่อยยับ แหลกกระจุย กระจัดกระจายดังแกลบทีเดียว แต่ถ้าทำอย่างนั้น ศีลของเราก็จะขาดทะลุไป ประโยชน์ใด ที่เราปรารถนาไว้ก็จะไม่บรรลุผล ฉะนั้นเราจะบำเพ็ญศีลบารมีให้มั่นคง จะไม่ยอม แลดูหมองูคนนี้ล่ะ เราจะหลับตาทั้งสองของเราเสีย"

คิดอย่างนั้นแล้วจึงสอดศีรษะเข้าไปในขนด ส่วนพราหมณ์หมองูก็ยังคงเคี้ยวยาร่ายมนต์ พ่นลง ที่ร่างของนาคราชอีก ซึ่งบริเวณใดที่ถูกพ่น บริเวณนั้นก็พุพองบวมขึ้นทันที จากนั้นหมองูก็ฉุดหาง ลากตัวนาคราชให้นอนเหยียดยาว เอาไม้ (ตีนแพะ) กดจุดสำคัญให้นาคราชอ่อนกำลังลง แล้วจับ ศีรษะบีบเค้น เพื่อให้นาคราชอ้าปาก พอได้โอกาสก็พ่นยาใส่เข้าไปในปากของนาคราช ฤทธิ์ยา เข้าไปกัดทำลาย จนฟันของนาคราชหลุดถอน เลือดกบปาก

แต่นาคราชก็ยอมอดทนอดกลั้นต่อความรู้สึกทุกข์ทรมานเหล่านั้น เพราะเกรงว่าศีลของตน ที่ถือ ปฏิบัติอยู่ จะขาดทะลุด่างพร้อยไป จึงหลับตานิ่ง ไม่ยอมลืมตามองดูหมองูอีกเลย

ฝ่ายหมองูกลับคิดว่า เราต้องทำให้นาคราชตัวนี้หมดกำลัง สิ้นเรี่ยวแรงอย่างสิ้นเชิง จึงขึ้นเหยียบย่ำ และ บีบขยำทั่วตัวของนาคราช ราวกับจะทำให้กระดูกแหลกละเอียด แล้วจับด้านหางม้วนพับ คล้ายดังพับผ้า จนทั่วร่างของนาคราชเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด แม้ทุกข์สาหัสถึงขนาดนี้ นาคราช ยังคงพยายามอดกลั้นใจไว้ได้ หมองูจึงเอาเถาวัลย์ทำเป็นตะกร้า จับนาคราชยัดใส่ในตระกร้านั้น เพื่อใช้แสดงการละเล่น ให้แก่ผู้คนได้ดู

นาคราชถูกทรมานมากมาย ก็ยังยอมทำตามที่หมองูสั่งทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น.... การให้ให้เปลี่ยนสี ของร่างกายเป็นสีต่างๆ ให้ทำตัวเป็นทรงสี่เหลี่ยม ให้ทำตัวเป็นทรงกลม ทำตัวเล็กบ้าง ทำตัวใหญ่บ้าง และแผ่พังพานร่ายรำบ้าง ซึ่งประชาชนได้ดูการแสดงแล้ว พากันชอบใจ ให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เป็นอันมาก เพียงวันเดียวเท่านั้นก็ได้ถึงพันกหาปณะ (๔,๐๐๐ บาท) แล้วยังได้ข้าวของมีค่าอื่นๆ อีกมากมาย

ตอนแรกนั้นพราหมณ์ตั้งใจไว้ว่า หากได้ทรัพย์ถึงพันแล้ว ก็จะปล่อยนาคราชไป แต่ครั้นได้ทรัพย์ มากเข้าจริง ก็เกิดความโลภจัดขึ้นมา คิดว่า

"นี่ขนาดเป็นเพียงหมู่บ้านชายแดน เรายังได้ทรัพย์มากมายถึงปานนี้ ถ้าจัดแสดงให้แก่พระราชา มหาอำมาตย์ชม จะต้องได้ทรัพย์มากกว่านี้แน่นอน"

เมื่อคิดอย่างนี้ จึงซื้อเกวียนเป็นพาหนะให้เดินทาง แล้ววางแผนว่า "เราจะบังคับนาคราช ให้แสดง การละเล่นไปตามหมู่บ้าน จนกว่าจะได้เล่นถวายต่อ พระเจ้า อุคคเสนะ ในกรุงพาราณสี แล้วจึง จะปล่อยตัวนาคราชไป"

ในระหว่างการเดินทางนั้น หมองูฆ่ากบเป็นอาหารแก่นาคราช แต่นาคราชไม่ยอมกิน ด้วยรำพึง ในใจว่า

"หมองูฆ่ากบ ก็เพื่อเลี้ยงดูเราให้มีชีวิตอยู่ ไว้ใช้แสดงต่อไป เหตุนี้เราจะไม่ยอมกินเป็นอันขาด"

พราหมณ์หมองูเห็นนาคราชไม่กินกบ จึงเปลี่ยนเป็นข้าวตอกเคล้าน้ำผึ้งให้ แต่นาคราชก็ไม่กินอีก ด้วยความรู้สึกหวั่นเกรงว่า

"หากเรากินอาหารเหล่านี้ ก็คงจะต้องมีชีวิตอยู่ในตะกร้านี้จนตายเป็นแน่แท้"

ครั้นเดินทางถึงกรุงพาราณสี หมองูก็บังคับให้นาคราชแสดงการละเล่นอยู่ที่เขตใกล้ประตูเมือง ได้ทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เมื่อพระราชาอุคคเสนะทรงทราบข่าว ก็ตรัสสั่งให้หมองูนำนาคราช มาแสดงให้ดู

ดังนั้นในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ หมองูจึงเปิดแสดงการละเล่นของนาคราช ให้พระราชา เหล่าอำมาตย์ และประชาชนได้ชมกันที่หน้าพระลานหลวง ทุกคนต่างชื่นชมยินดี พากันดีใจต่อการแสดง ของ นาคราช จนอดไม่ได้ที่จะปรบมือสนั่นหวั่นไหว โบกธงโบกผ้าไปมา ด้วยอาการรื่นเริงบันเทิงใจยิ่ง

แต่สำหรับนาคราชแล้ว นับเป็นการถูกจับตัวมาครบหนึ่งเดือนเต็มพอดี ยังไม่ได้บริโภคอาหาร อะไรเลย ต้องอดทนต่อทุกข์ทรมานตลอดมา

ครั้นเมื่อนางสุมนาเทวีได้เห็นสระโบกขรณีมีน้ำเป็นสีแดงดังเลือด ก็วิตกกังวลเป็นห่วง จัมเปยย นาคราช จึงออกจากนาคพิภพเที่ยวตามหา พอได้รับรู้ข่าวคราวก็ให้โศกเศร้าคร่ำครวญ ออกติดตาม ไปจนถึงเมืองพาราณสี ได้พบนาคราชกำลังโดนหมองูบังคับให้แสดงการละเล่นอยู่ นางจึงยืน ร้องไห้ อยู่ตรงนั้นเอง

เมื่อนาคราชแลเห็นนางสุมนาเทวีเข้าเท่านั้น ก็รีบเลื้อยหลบเข้าสู่ตระกร้าทันที ด้วยคิดว่า

"ไม่อยากให้นางเสียใจทุกข์ใจกว่านี้ อีกทั้งละอายต่อการที่จะต้องมาร่ายรำ แสดงการละเล่น ต่อหน้านางสุมนาเทวี"

ขณะนั้นพระราชากำลังทอดพระเนตรอยู่ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า

"เกิดเหตุอะไรหนอ นาคราชจึงหลบลี้หนีเข้าตะกร้าไป ไฉนหญิงงามนางนี้ จึงมายืนร้องห่ม ร้องไห้เล่า"

จึงตรัสถามนางว่า

"ท่านเป็นใคร ช่างงามผ่องใสอุปมาดังดาวประจำรุ่ง เราไม่รู้จักท่านว่าเป็นนางฟ้า หรือคนธรรพ์ (ชาวสวรรค์ที่ชำนาญดนตรีและขับร้อง) หรือเป็นหญิงมนุษย์"

นางสุมนาเทวีจึงทูลตอบไปว่า

"ข้าแต่พระมหาราชา หม่อมฉันเป็นนางนาคกัญญา (นางงูสาว) ไม่ใช่นางฟ้า หรือคนธรรพ์ หรือ หญิงมนุษย์"

"ดูก่อนนางนาคกัญญา ท่านมีอาการเหมือนคนสติฟั่นเฟือน ใบหน้าเศร้าหมอง ดวงตานอง ไปด้วยหยาดน้ำตา เกิดเหตุอะไรขึ้นแก่ท่าน จึงได้มาในเมืองนี้ เชิญท่านบอกเล่าเถิด"

นางสุมนาเทวีจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ พระราชาจึงตรัสถามด้วยความสงสัย ยิ่งกว่าเดิมอีกว่า

"นาคราชนี้เป็นผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากมาย ทำไมจึงตกอยู่ในเงื้อมมือของพราหมณ์หมองูได้เล่า"

"ข้าแต่พระราชา นาคราชนี้ปกติประพฤติศีล ๘ ในวันอุโบสถ ตั้งจิตมอบร่างกายของตนเป็นทาน นอนอยู่บนยอดจอมปลวกใกล้ทางหลวง จึงถูกหมองูจับตัวเอาได้ ทั้งๆ ที่พญานาคราชนี้มีฤทธิ์เดช มหาศาล สามารถพลิกแผ่นดินได้ มีนางนาคกัญญานับพันที่งามดั่งเทพอัปสร (นางฟ้า) มีสมบัติ ในนาคพิภพ มโหฬารราวกับสมบัติในเทวโลก (สวรรค์) แต่เพราะเกรงกลัวว่าศีลของตนจะขาด ศีลของตน จะแตกทำลายไป จึงยอมรับทุกข์และความอัปยศอดสูถึงปานนี้ ก็เพียงเพื่อมุ่งจะรักษา ศีลของตนเอาไว้เท่านั้น"

รับฟังแล้วพระราชาทรงเกิดอาการสลดสังเวชใจ ตรัสกับหมองูว่า

"ดูก่อนลุททกพราหมณ์ เราจะให้ทอง ๑๐๐ แท่ง กุณฑล(ตุ้มหู) แก้วมณีราคาแพง บัลลังก์สี่เหลี่ยม สีดอกผักตบ ภรรยารูปงามอีก ๒ คน และโคผู้ ๑๐๐ ตัวแก่ท่าน ขอท่านจงปล่อยนาคราช ผู้สะสมบุญ ด้วยศีลของตนนี้ ให้พ้นไปจากที่คุมขังเถิด"

พราหมณ์หมองูจึงยอมปล่อยตัวนาคราชออกจากตะกร้า เมื่อจัมเปยยนาคราชได้รับอิสรภาพแล้ว ก็แปลงร่าง ให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม ประดับประดาด้วยเครื่องทรงอันงามวิจิตร ถวายบังคม ต่อพระราชาแล้วทูลว่า

"ข้าแต่พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ ข้าพระพุทธเจ้าถูกจับกุมคุมขังอยู่ในตะกร้า จนเกือบจะถึงแก่ความตาย พระองค์เป็นผู้มีอุปการะคุณช่วยไว้ ข้าพระพุทธเจ้าขอประคองอัญชลีแก่พระองค์ ขอถวายบังคม พระองค์ และขอเชิญเสด็จทอดพระเนตรนาคพิภพ อันเป็นรมณียสถาน ซึ่งเป็นนิเวศน์ (วัง) ของข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด"

พระราชาทรงรับคำ นาคราชจึงพาพระราชาพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปยังนาคพิภพ ทรงบันดาล ให้นาคพิภพ ปรากฏเป็นกำแพงแก้ว ๗ ประการ ทั้งประตู ป้อมคู หอรบ ให้ประดับตกแต่ง ด้วยเครื่องประดับงดงาม พื้นปูลาดด้วยทรายทอง หอมฟุ้งขจรไปด้วยดอกไม้ทิพย์ เหล่านางนาค กัญญาไล้ทาตัว ด้วยแก่นจันทร์อันเป็นทิพย์ มีข้าวน้ำอันเป็นทิพย์เป็นอาหาร พากันเพลิดเพลิน เจริญใจอยู่ด้วยกามคุณ อันเป็นทิพย์ตลอด ๗ วัน จนในที่สุดพระราชาอดที่จะตรัสถามไม่ได้ว่า

"ดูก่อนท่านนาคราช ก็เพราะเหตุใดหรือ ท่านจึงละสมบัติเห็นปานนี้ไปอยู่รักษาอุโบสถศีล ณ จอมปลวก ในโลกมนุษย์ ท่านมีวิมานอันประเสริฐ งามผุดผาด รัศมีดังพระอาทิตย์ วิมานเช่นนี้ ไม่มีในโลกมนุษย์เลย ท่านไปบำเพ็ญศีลตบะธรรมเยี่ยงนั้น เพื่อประโยชน์อะไรกัน

แม้นางนาคกัญญาเหล่านี้ สวมใส่กำไลทองมือกลมกลึง ฝ่ามือและเท้าแดงงามยิ่งนัก ผิวพรรณ ก็งดงาม คอยยกอาหารทิพย์ถวายให้พระองค์ สนมนารีเหล่านี้ไม่มีในโลกมนุษย์เลย ท่านไป บำเพ็ญศีลตบะธรรมเยี่ยงนั้น เพื่อประโยชน์อะไรกัน

แม้แต่ในแม่น้ำอันชุ่มชื่น ก็ดาษดื่นไปด้วยปลานานาชนิด ทั้งท่าน้ำที่ขึ้นลงก็ราบรื่นเป็นอย่างดี แม่น้ำเช่นนี้ ไม่มีในโลกมนุษย์เลย ท่านไปบำเพ็ญศีลตบะธรรมเยี่ยงนั้น เพื่อประโยชน์อะไรกัน

แม้ฝูงนกกระเรียนทิพย์ หงส์ทิพย์ นกยูงทิพย์ ดุเหว่าทิพย์ ส่งเสียงร่ำร้องไพเราะจับใจ โผผินบิน จับอยู่บนต้นไม้ทิพย์ นกทิพย์เหล่านี้ไม่มีในโลกมนุษย์เลย ท่านไปบำเพ็ญศีลตบะธรรมเยี่ยงนั้น เพื่อประโยชน์อะไรกัน

แม้ต้นมะม่วงทิพย์ สาละทิพย์ ชมพู่ทิพย์ คูนทิพย์ แคฝอยทิพย์ ผลิดอกออกผลเป็นพวงงดงาม ต้นไม้ทิพย์เหล่านี้หาไม่มีในโลกมนุษย์เลย ท่านไปบำเพ็ญตบะธรรมเยี่ยงนั้น เพื่อประโยชน์อะไรกัน

แม้ดอกไม้ทิพย์ทั้งหลาย ก็ฟุ้งตลบอบอวลไม่ขาดสายในสระโบกขรณี กลิ่นทิพย์เช่นนี้หาไม่ได้ ในโลกมนุษย์ ดูก่อนพญานาคราช ท่านไปบำเพ็ญศีลตบะธรรมเยี่ยงนั้น เพื่อประโยชน์อะไรกันเล่า"

นาคราชได้ยินคำถามนั้น จึงทูลเฉลยพระราชาว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าบำเพ็ญตบะธรรม คือการรักษาศีลอุโบสถ เพราะเหตุต้องการบุตรก็หาไม่ หรือ ต้องการทรัพย์ก็หาไม่ หรือต้องการให้อายุยืนยาวก็หาไม่ แต่เป็นเพราะข้าพระพุทธเจ้าปรารถนา จะได้เกิดเป็นมนุษย์ จึงได้บากบั่นมุ่งมั่นบำเพ็ญสมณธรรม (ธรรมของผู้สงบระงับกิเลส) อย่างนี้"

"ท่านผู้ประกอบด้วยเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก เพียบพร้อมด้วยสรรพกามคุณ ดูก่อนท่านนาคราช ก็แล้วโลกมนุษย์ ประเสริฐกว่าพิภพนาคที่ตรงไหนกันเล่า"

ข้าแต่พระองค์ นอกเสียจากโลกมนุษย์แล้ว ความบริสุทธิ์แห่งนิพพานหาไม่มีในโลกอื่น ข้าพระพุทธเจ้า จึงสำรวมในศีลด้วยคิดว่า จะได้กำเนิดเป็นมนุษย์ จะสามารถกระทำที่สุด แห่งความเกิด และความตายได้"

พระราชาทรงสดับแล้ว ก็ตรัสยกย่องนาคราชาว่า

"ชนผู้มีปัญญาเป็นพหูสูต (ฟังเล่าเรียนศึกษามาก) ตรึกตรองในธรรมอยู่เสมอ ย่อมควรคบหาโดยแท้ ดูก่อนนาคราช เราได้พบปะกับท่านแล้ว เราจะขวนขวายทำบุญไว้ให้มาก"

ครั้นพระเจ้าอุคคเสนะประสงค์จะเสด็จกลับไปยังโลกมนุษย์ นาคราชจึงให้พนักงานเภรี เที่ยวตีกลอง ประกาศว่า

"ราชบุรุษทั้งหลาย จงพากันมาขนเอาทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทองไปได้ตามใจปรารถนาเถิด"

และเอาเกวียนหนึ่งร้อยเล่มบรรทุกมหาสมบัติถวายแก่พระราชา แล้วจึงส่งเสด็จให้กลับคืนสู่ พระนครพาราณสี

พระศาสดาตรัสชาดกนี้แล้ว ทรงย้ำเตือนอุบาสกอุบาสิกา (ชายหญิงที่ยึดถือพระพุทธ - พระธรรม - พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง) ว่า

"โบราณบัณฑิตทั้งหลาย อาจหาญละนาคสมบัติได้ เพื่ออยู่รักษาอุโบสถศีลด้วยอาการอย่างนี้"

แล้วทรงเฉลยชาดกนั้นว่า

"ในกาลครั้งนั้น หมองูได้มาเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ นางนาคกัญญาสุมนาเทวีได้มาเป็น พระนางพิมพา พระเจ้าอุคคเสนะได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนจัมเปยยนาคราชได้มาเป็นเรา ตถาคต"

*** พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๑๘๐ ' พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ ๑๓
*** อรรถกถาแปลเล่ม ๖๑ หน้า ๑๘๕ ' อรรถกถาแปลเล่ม ๗๔ หน้า ๒๖๔

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๗ มิถุนายน ๒๕๔๗ -