เวทีความคิด - เสฏฐชน -

จนรวย ช่วยตอบด้วย

สังคมไทยในยามล่วงเข้า พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นไป คงจะมีแนวโน้มพูดถึงเรื่องเงินๆทองๆ มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุคนโยบายเอื้ออาทรของรัฐบาลชุดนี้ ที่พยายามแก้ปัญหาความยากจน ท่านนายกรัฐมนตรียืนยันว่า จะทำให้ความยากจนหายไปจากประเทศไทยภายใน ๕-๖ ปีนี้

มีการสำรวจคนจนภายในประเทศอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการวางแผน แก้ปัญหา รวมไปถึงการเสนอโครงการต่างๆ ที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆทางการเมืองพร้อมๆ กันด้วย

ซึ่งก็มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน มีทั้งเหตุผลด้านได้ด้านเสีย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงาน ด้านบริการสาธารณสุข การสาธารณูปโภค ฯลฯ อันเป็นเรื่องธรรมดาที่ ต้องมีปฏิกิริยาตอบรับ ซึ่งกันและกัน

"เงิน" เป็นปัจจัยกลางการแลกเปลี่ยน เป็นตัวกลางที่คนคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งยืนยันความยุติธรรม ระหว่างกันในเรื่องกำหนดค่า เมื่อเทียบกับครั้งโบราณ ครั้งที่ยังไม่เกิดตัวเงินขึ้นมาใช้ ในการ แลกเปลี่ยน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนวัตถุข้าวของสิ่งอันพึงประสงค์อย่างตรงไปตรงมา เช่น ใครต้องการข้าว แต่ทำข้าวเองไม่ได้ ก็นำไปแลกน้ำตาลกับผู้ที่เขาทำน้ำตาล คนที่ต้องการเสื้อผ้า แต่ไม่ได้ผลิตเสื้อผ้าเอง ก็นำไปแลกกับเสื้อผ้า โดยไม่คำนึงถึงราคาว่าใครได้มากได้น้อยกว่ากัน ใครได้เปรียบเสียเปรียบกว่ากัน นอกจากเรื่องความจำเป็น ความต้องการเท่านั้น ซึ่งเป็นที่พอใจ ทั้งสองฝ่าย การดำรงชีวิตของคนเหล่านั้นจึงไม่ต้องมีเรื่องเศรษฐกิจเงินตราเข้ามาเกี่ยวข้อง

บางชุมชนยิ่งมีความน่าทึ่งยิ่งกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ เสียอีก เพราะว่าแม้แต่ธาตุทอง ที่ได้รับ การยอมรับ ว่ามีค่า คนในชุมชนนั้นก็ยังไม่รู้สึกตื่นเต้น ยินดี กลับปล่อยให้แร่ทองคำนั้น เกลื่อนกลาด อยู่ตามที่ของมัน โดยไม่คิดที่จะนำมาเป็นของมีค่าเหมือนกับคนยุคนี้ ที่หลงใหล ทองคำ อย่างไม่น่าเชื่อ จนกระทั่งทำให้คนต้องทำลายชีวิตคนด้วยกัน เพียงเพื่อจะได้ เป็นเจ้าของ เงิน-ทองคำนั้นๆ

แม้จะพอมีความรู้อยู่บ้างว่าเงินนั้นคือกระดาษที่ตีหมายเลข ทองนั้นคือแร่ธาตุใต้ดิน แต่การรู้ เพียงเท่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้คนหมดความอยากได้กระดาษ แร่ธาตุเท่าที่ควร มิหนำซ้ำ ยังไปกำหนด ค่าใหม่เพิ่มขึ้นอีก ในรูปการ์ดทอง บัตรเครดิต หรือจะเรียกชื่ออื่นนอกจากนี้ ก็มีเพื่อจะใช้เป็น ตัวกลาง การแลกเปลี่ยนสิ่งของบริโภค คนจึงไม่อาจหลุดพ้นจากวงจรการให้ค่าวัตถุต่างๆ ไปได้

สังคมคนจึงวนเวียนอยู่กับความจน ความรวยที่ต้องอาศัยวัตถุมีค่า ที่ตัวเองตีราคาไว้ เป็นเครื่อง กำหนดความจนความรวยเป็นเบื้องต้น

บางแห่งของมุมโลกอาจกำหนดค่าสิ่งหนึ่งไว้สูงลิ่ว แต่บางแห่งกลับไม่ได้ให้ค่าสิ่งนั้น สุดแล้วแต่ ใครจะให้ความสำคัญและกำหนด และไม่จำเป็นว่าค่านั้นจะมีราคา หรือการกำหนดราคา จะหมายถึง ค่าทางความรู้สึกเท่าๆ กัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนต้องวุ่นวายเรื่องค่า และราคา เรื่องความรวยและความจนอยู่ตลอดกาลนาน

แต่สิ่งที่เหมือนกันไม่ว่าคนชาติไหนๆ พากันยอมรับว่าความรวยหมายถึงความมั่งคั่งความมีมาก ความจนหมายถึงความขาดแคลน ความมีน้อย ไม่จำเพาะแต่เรื่องเงินธนบัตรเท่านั้น แต่กินความ กว้างไปถึงสิ่งของต่างๆ ด้วย ทั้งที่เป็นวัตถุอุปโภคบริโภคและสิ่งที่เป็นนามธรรม

เช่น ใครมีบ้านหลายหลัง ก็ได้ชื่อว่ารวยบ้าน ใครมีรถหลายคัน ก็จะได้ชื่อว่ารวยรถ ใครมีภรรยา หลายคน ก็ได้ชื่อว่ารวยภรรยา แม้แต่ใครมีใจคอกว้างขวาง ก็จะได้ชื่อว่ารวยน้ำใจ

ตรงกันข้ามหากใครมีสิ่งที่กล่าวมาน้อยก็จะถูกตำหนิว่าจน ไล่ดะไปจนกระทั่งจนน้ำใจ

คนส่วนใหญ่จึงชอบความรวย รังเกียจความจน ในเมื่อความรวยบ่งบอกถึงปริมาณมาก เด่นกว่า คุณภาพ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่อาจปฏิเสธว่าในจำนวนปริมาณนั้น มีเรื่องคุณภาพแฝงซ้อน อยู่ด้วย ดังในกรณีการสื่อด้วยประโยคที่ว่า "รวยน้ำใจ" เป็นต้น

ปกติคนมักจะต้องการรวยด้วยกันทั้งสิ้นทั้งๆ ที่ทุกคนเกิดมามีฐานะเท่าเทียมกันโดยความเป็นคน แต่ในความเป็นคนนั้น ก็มีเรื่องของกรรมลิขิตเจือปนอยู่ด้วย แม้จะเกิดมาตัวเปล่าเปลือย แต่การ เกิดมาในตระกูลมากด้วยเงินทอง และจนด้วยเงินทอง ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่แหละคือความ แตกต่าง ที่มีอยู่ในความเหมือน ความไม่เท่ากันควบคู่อยู่กับความเท่ากัน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ส่วนหนึ่งในความรู้สึกของคนจึงทำให้แตกต่างกันด้วย ตั้งแต่เริ่มเกิดมา คนที่เกิด ในตระกูลที่มีทรัพย์สินมาก มักจะรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น น้อยคนนักที่เกิดในตระกูลรวย จะกินอยู่อย่างคนที่เกิดในตระกูลจน คนรวยจะกินมากมื้อ ฟุ่มเฟือย มีความเป็นอยู่อย่าง สะดวก สบาย จะซื้อหาจับจ่ายมากที่สุด คนรวยจึงเป็นตัวเริ่มต้นในการสร้างตัวกลางแลกเปลี่ยน มาโดย ตลอด และกำหนดค่าตัวเลขให้ขึ้นๆ ลงๆ เสมอ แม้วัตถุที่เอาเงินไปซื้อนั้นจะคงรูปเดิม เช่น

ราคากล้วย ๑ หวีเมื่อปี ๒๕๑๔ ราคาหวีละ ๕๐ สตางค์ ๑ บาทแถวชนบท เมืองใหญ่ก็อาจราคา ๒ หรือ ๓ บาท แต่กล้วย ๑ หวีปี ๒๕๔๗ ตกหวีละ ๑๐ หรือ ๒๐ บาท ข้าราชการ ชั้นตรีปี ๒๕๑๔ เริ่มต้น เงินเดือนครั้งแรกหลักพัน ปี ๒๕๔๗ ครั้งแรกหลักครึ่งหมื่น เกือบหมื่นขึ้นไป เป็นต้น

กาลเวลาที่ผ่านไปหากนำเอาความเคลื่อนตัวของตัวเลขมาวัด อาจมีคนตอบว่าคนในสังคมรวยขึ้น เพราะได้รับเงินเดือนมากขึ้น แต่เมื่อเทียบค่ากับตัวสินค้า จึงจะมีมุมมองอีกแง่หนึ่งว่า คนจน มากขึ้น จริงๆ

เมื่อเอาเงินมากำหนด ผู้ผลิตจึงต้องเร่งตัวเอง เพื่อให้สิ่งที่ตัวเองผลิตนั้น ไปแลกกับตัวเงินธนบัตร ได้มากขึ้นด้วย

หากสินค้านั้นๆ ได้ธนบัตรมาน้อย ผู้ผลิตก็จะรู้สึกว่าตัวเองจน โดยไม่ได้คิดถึงตัวสินค้าที่ผลิตว่า หากผลิตได้มากแล้ว ก็เป็นค่า เป็นความรวยแท้ๆ ของตัวเองอยู่แล้ว โดยไม่ต้องไปนำเอาเงิน ธนบัตร มาคิดเทียบค่าด้วยก็ได้ เพราะผู้ผลิตสินค้านั้นลืมไปว่าธนบัตรจะไม่มีค่าอะไรเลย หากซื้อ อะไรไม่ได้

ยิ่งเป็นของกิน เช่น ผลไม้ ผัก ฯลฯ ยิ่งจะชัดเจน เมื่อเงาะ มะพร้าวออกลูก เขาก็ได้เงาะ มะพร้าว บริโภค ไม่ต้องนำเงินไปซื้ออีก

ที่ไม่ได้พูดถึงว่าเขาไม่ได้กินเพียงอย่างเดียว แม้กินก็ไม่ได้กินเฉพาะเงาะ มะพร้าว ยังต้องบริโภค สิ่งอื่นๆ อีก เช่น รถ เสื้อผ้ารองเท้า ฯลฯ เพราะต้องการเน้นเข้าหานามธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เรียกว่า "กิเลส-ตัณหา" ถ้าไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้แล้ว การแก้ปัญหาเรื่องความรวยความจน ไม่มีทาง สำเร็จ

เพราะความทุกข์อันเกิดมาแต่ความรู้สึกว่ารวยจนนั้น มาจากกิเลสตัณหาเป็นต้นเหตุ อุปาทาน ที่ไปกำหนดไว้ในใจ รสชาติของจิตที่เกิดขึ้นจากรากฐานอาสวะ ที่เป็นสุขเป็นทุกข์กับการซึมซับ ให้ความหมาย ความสำคัญที่ต้องสัมผัสด้วยใจตัวเอง เป็นสิ่งที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงให้เห็นกันไม่ได้ แต่ผู้นั้น ต้องรู้จักอาการนามของมันเอง แต่พอจะสื่อความหมายจากตัวภาษา ให้โยงใยไปถึง สภาวธรรมนั้นได้บ้างอยู่ เช่น

นายแดงมีเงิน ๑๐๐ บาท นายเขียวมีเงิน ๑๐ บาท นายแดงรู้สึกปลาบปลื้มเงิน ๑๐๐ บาท แล้วรู้สึก ดูหมิ่นนายเขียวที่มีเงินเพียง๑๐ บาท นี่คือลักษณะของอาการนามที่กล่าว คือนายแดง มีกิเลสในเงิน ๑๐๐ บาทมาก จนเกิดความยึดว่ารวยกว่านายเขียว

และถ้านายเขียวที่มีเงิน ๑๐ บาท มีความน้อยใจและคิดว่าตัวเองจนกว่านายแดง อาจกระเถิบ ขึ้นไป จนถึงระดับอิจฉานายแดงด้วยก็ได้ นั่นก็แสดงว่านายเขียวก็ยึดว่าตัวเองจนกว่านายแดง

เมื่อนายแดงยึดว่าตัวเองรวยกว่า และนายเขียวก็ยึดว่าตัวเองจนกว่า ความยึดอย่างนี้แหละ ที่เป็นตัวกำหนดให้เกิดทุกข์กับความมีมาก มีน้อยของเขาทั้งสองคน

แต่ถ้านายแดงคิดว่าตัวเองมีเงิน ๑๐๐ บาทก็ยังไม่ถือว่ารวย เมื่อเห็นนายขาวมีเงิน ๑,๐๐๐ บาท เขาก็อยากจะได้เงินมากกว่า ๑๐๐ บาท แม้เขาจะมีเงินมากกว่านายเขียว แต่เมื่อเทียบกับ นายขาวแล้ว เขาก็คือคนจน ความยินดีในเงิน ๑๐๐ บาทก็หายไป เพราะความโลภอยากมีเงิน เพิ่มขึ้น เป็น ๑,๐๐๐ บาทเข้ามาแทนที่

เมื่อยึดมากๆ เข้า นายแดงก็จะหาวิธีการที่จะให้ได้เงิน ๑,๐๐๐ บาท หากพื้นฐานจิตใจ ไม่ได้อบรม ธรรมะ ไม่มีศีล เขาก็อาจไปเอาเปรียบ ไปเอากำไร ไปโกง อาจถึงกับขโมย เพื่อให้ได้เงิน ๑,๐๐๐ บาท หรืออาจใช้เงิน ๑๐๐ บาททำดอกผลให้เพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๐๐ บาท

แม้คนจะอาศัยพื้นฐานความสุจริตในการเพิ่มความรวย คนเราก็ยังต้องเบียดเบียนกันอยู่ดี เพราะว่า ต้องไปเอาจากคนอื่นๆ คนหนึ่งรวย ก็คือคนหนึ่งจนลงไป หากในโลกนี้มีคนสองคน (เพียงเทียบ ให้เห็นชัดเจนขึ้น) แต่ถ้าทั้งนายแดงและนายเขียวไม่ยึดถือในความมี ๑๐๐ บาท กับความมี ๑๐ บาท จนกระทั่งก่อพฤติกรรมไปเบียดเบียนคนอื่นเพื่อเพิ่มจาก ๑๐๐ หรือเพิ่มจาก ๑๐ แต่เปลี่ยน ความนึกคิด เปลี่ยนทิฐิใหม่ว่า เงิน ๑๐๐ บาทควรจะนำไปทำอะไรบ้าง ที่เป็นการเผื่อแผ่แจกจ่าย ให้คนอื่น เป็นการขยายประโยชน์ให้แก่คนอื่นในส่วนของนายแดง

นายเขียวเองแม้มีเงินอยู่ ๑๐ บาท แต่ปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าจะเอาเงินไปทำอย่างไร ที่จะให้ เงิน ๑๐ บาทนี้เพิ่มประโยชน์ให้แก่คนอื่นเช่นเดียวกัน

หากคิดได้อย่างที่กล่าวมานี้ ทั้งนายแดง และนายเขียวก็จะพ้นจากความจน กลายเป็นคนรวยทั้งคู่ เพราะนายแดงและนายเขียวนำเอาเงินที่ตัวมีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ๑๐๐ บาท หรือ ๑๐ บาทนั้น ไปทำ สิ่งที่เพิ่มพูนผลให้เติบโตต่อไป

ถ้าไม่คิด ไม่ทำ ไม่นำมาดำเนินการให้เกิดความรู้สึกดังที่กล่าวนายแดง กับนายเขียวไม่มีทาง ที่จะเป็นคนรวยได้เลย เพราะจะต้องมีคนอื่นๆ ที่มีเงินแตกต่างจากทั้งสองคน มีการตีค่า กำหนด ราคาไม่สิ้นสุด

ถ้าหันกลับมาเทียบค่า ตีราคาทางคุณธรรม ศีลธรรมแล้ว จะเป็นจุดยุติความทุกข์ร้อนทั้งหมด และจะเป็นจุดเริ่มต้นของความอุดมสมบูรณ์ที่แท้จริง

ลองมองไปรอบๆตัวว่าวิธีคิดอย่างที่คน ในสังคมที่คิดนอกเหนือจากนี้ จะหาข้อยุติได้อย่างนี้ไหม?

เพราะคนที่มีเงินเป็นหมื่นล้าน พันล้านแล้ว ก็ยังถูกสื่อหนังสือพิมพ์จัดอันดับคนรวย คนจน ครั้งแล้วครั้งเล่า คนที่มีเงินหมื่นล้าน พันล้าน ก็ยังถูกจัดเป็นคนจน เมื่อมีคนที่มีเงินแสนล้าน แสนแสนล้านล้าน ฯลฯ เกิดขึ้นมาแทน หากนับกำหนดค่าความรวยความจนด้วยวิธีนี้ ลองไตร่ตรอง ดูให้ดีๆ เถอะว่าแล้วใครจะได้ชื่อว่ารวยที่สุด ความที่สุดของความรวยอยู่ตรงไหน?

คนที่มีเงินมากๆ ล้นเหลือ แม้ตายไปก็ยังเหลือกองไว้ในโลก เขาเหล่านั้นชื่นชมกับความรวยความมี ของตนเท่าใดๆ แต่เขาได้ใช้ความรวยธนบัตรนั้นไปทำให้เกิดอะไรดีๆ แก่ตัวเขาบ้าง

มิหนำซ้ำอาจใช้ความรวยนั่นแหละไปสร้างสิ่งเสพติด ไปเสริมคนเลวร้าย ไปทำร้ายคนอื่น ไปเหยียบย่ำ ทำลายจิตใจอันดีงามของคนอื่น

ส่วนความจนล่ะ คนที่ยังอยากรวย แม้ตัวเองจน ก็ยังถูกความทะเยอทะยานเข้าเผาผลาญจิตใจ ถูกความจนที่ตัวเองยึดไว้นั่นแหละทำร้าย เริ่มตั้งแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความอิจฉาริษยาคนรวย ถูกความจนบีบคั้นให้ไปทำผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม ผิดมนุษย์มนาสารพัด

คนจนคนนั้นก็ไม่ต่างจากคนรวย คือถูกความทุกข์กลุ้มรุม ถูกความเดือดเนื้อร้อนใจ รวมไปถึง ถูกคนด้วยกันปะทะประหาร อันเนื่องมาแต่ความรู้สึกจน ผนวกกับความอยากรวย บงการให้เขา ไปทำชั่ว ผิดศีล ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ อันเป็นบทปฏิบัติเบื้องต้นของชาวพุทธ และคงจะผิดศีล ยิ่งขึ้นเมื่อยกระดับศีลขึ้นเป็นศีล ๘ (อุโบสถศีล)

แต่ถ้านายแดง นายเขียวละลายความรู้สึกเหล่านี้ นายเขียวจะเป็นคนรวยจริงๆ จะไม่ใช่คนจนกว่า นายขาวที่มี ๑ พันบาท จะไม่ใช่คนรวยกว่านายเขียวที่มี ๑๐ บาท

ส่วนนายเขียวก็จะหมดความทุกข์กับความรู้สึกว่าตัวเองจน เพราะมี ๑๐ บาท เมื่อเทียบกับนายแดง ที่มีเงิน ๑๐๐ บาท แล้วทั้งนายเขียวและนายแดงก็จะเป็นคนหมดปัญหา ไม่ไปสร้างปัญหา ให้คนอื่น หรือเรื่องอื่นๆ ต่อไป

เพราะทั้งคู่จะรู้จักใช้เงิน ๑๐๐ บาท และเงิน ๑๐ บาทนั้นบริโภค รู้จักสร้างเงินเพิ่ม รู้จักใช้เงิน ที่มีอยู่ รู้จักนำเงินไปก่อประโยชน์ให้คนอื่นๆ แม้ยังยึดถือเงินอยู่ และยังเห็นว่าเงินจำเป็น ในการ ดำรงชีวิต ตราบที่ยังไม่เห็นทุกข์ในการมีเงิน ไม่เห็นทุกข์ในการใช้เงิน แต่เขาก็จะเป็นเศรษฐีอาริยะ เหมือนนางวิสาขา เหมือนอนาถบิณฑิกะเศรษฐีที่รู้จักบริหารเงิน ในฐานะของอุบาสก อุบาสิกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนร่ำรวยในยุคที่พระศาสดายังมีพระชนม์อยู่

คนรวยที่เป็นอาริยะจะรวยอย่างเรียบง่าย รวยอย่างสุจริต รวยอย่างมีศีลธรรม และจะใช้ความรวย นั้นอย่างมีศีลธรรม เพราะรู้จักอาศัยความรวยตัดกิเลส

ส่วนคนจนที่เป็นอาริยะก็จะจนอย่างสบายใจ จนอย่างมีศีลธรม และเข้าใจอาศัยความจนนั้น ตัดกิเลส

คนรวยก็จะไม่ผยองลำพองในความรวย ความรวยไม่สามารถไปเพิ่มกิเลสให้เขาง่ายนัก เพราะเขา ไม่ประมาทในความรวย และไม่อยู่บนความรวยอย่างประมาท

คนจนก็จะไม่น้อยอกเสียใจในความจนความจนจะไม่เป็นสิ่งกดดันให้เขาต้องไปเพิ่มกิเลส เพราะเขา ไม่หมิ่นเมินดูถูกในความจน และจะอยู่กับความจนนั้นอย่างมีสติสัมปชัญญะ ปัญญา

ที่สุดแห่งที่สุดก็คือคนที่รวยทรัพย์สินบริโภค ก็จะไม่กลัวจนทรัพย์สินบริโภค และคนที่จนทรัพย์สิน บริโภค ก็จะไม่กลัวจนยิ่งทรัพย์สินบริโภคยิ่งกว่าเดิม

เพราะว่าเขาทะลุถึงสัจธรรมสูงสุดแล้วว่า ไม่มีอะไรในโลกที่ยั่งยืนแท้จริง สิ่งที่ปรากฏเป็นเพียง มายา และการเข้าไปยึดถือ ให้ความสำคัญมั่นหมาย มีตัวกิเลสหลง โลภ โกรธ เข้าไปกำกับทั้งสิ้น ตราบใด ที่คนยังตกเป็นทาสของกิเลสโลภ โกรธ หลงแล้วไซร้ คนก็จะไม่มีทางหลุดพ้นจากวงจร ของความรวย ความจน ที่ก่อให้เกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดการแย่งชิง ฆ่าประทุษร้าย เบียดเบียนกัน และกัน

ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงความรวยดังกล่าวนี้ หากสนใจศึกษาโลกุตรธรรม และเริ่มต้นจากการทาน ไม่ห่วงกังวล เรื่องกลัวจะหมด ไม่วิตกเรื่องไม่ได้เพิ่ม ไม่มีเพิ่ม

ที่ยกเรื่องธนบัตรขึ้นมาเพียงเรื่องเดียว ก็เพื่ออาศัยเป็นสื่อไปถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ซับซ้อน แต่เมื่อใคร ศึกษาโลกุตรธรรมมากเพียงพอก็จะเข้าใจได้ และไม่ต้องคิดถึงเรื่องความรวย ความจน อีกเลย

เพราะผู้นั้นคือคนไม่จนปัญญา ไม่จนความดีงาม ไม่จนบุญกุศล

แต่จะคือผู้พัฒนาขึ้นไปเป็นคนรวยที่คนรวยซึ่งมีเงินกี่ล้านล้านล้านฯลฯเท่าใดก็คาดคะเนไม่ถึง เขาคือ ผู้รวยที่สุดในโลก

หนทางทิศนี้แหละเป็นทางสายเอกทางสายเดียวที่คนผู้ต้องการความรวยมีโอกาสเดินไปถึง

บทความนี้ขอมอบให้คนรวยที่แสนดี และคนจนที่มีปัญญา ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ ไม่ต้อง ไปลำบากหาเงิน หรือคิดว่าคนรวยเงินจะมีโอกาสมากกว่าเรา

เพียงแต่ทั้งคนรวย และคนจน เหล่านั้นจะหันกลับมาให้ความสำคัญในการสั่งสม"โลกุตรสมบัติ" พากเพียรทำทาน เริ่มต้นจาคะออกซึ่งวัตถุสมบัติ แล้วศึกษาปริยัติธรรม ลงมือปฏิบัติธรรม จนเกิด ปฏิเวธธรรมในเรื่องนี้ให้ชัดเจน ละเอียดลออ เข้าถึงแก่นแท้ของนัยรวย-จน จริงๆ เถิด สังคมก็จะ ร่มเย็น เป็นสุข ก่อประโยชน์ไพศาลอันจะกำหนดค่าตีราคาไม่ได้ คนรวยที่ว่ามีสมบัติเงินทอง เป็นกี่ล้านๆ ก็จะกลายเป็นคนจนไปเลย เมื่อนำมาเทียบกับคนรวยโลกุตรธรรมดังกล่าว

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๘ กรกฎาคม ๒๕๔๗ -