ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -
จีเอ็มโอ คืออะไร

จีเอ็มโอ หรือ GMOs ย่อมาจากคำว่า Genetically Modified Organisms หมายถึง สิ่งมีชีวิต ดัดแปลง พันธุกรรม ที่เกิดจากการตัดเอายีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มายิงใส่เข้าไปในยีนของ สิ่งมีชีวิต ชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ ในธรรรมชาติ เพื่อให้เกิดสิ่งมีชีวิต ชนิดใหม่ ที่มีคุณลักษณะ ตามต้องการ เช่น นำยีนทนความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลก มาผสมกับมะเขือเทศ เพื่อให้มะเขือเทศ ปลูกในที่ที่อากาศหนาวเย็นได้ นำยีนจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มาใส่ในยีน ของถั่วเหลือง เพื่อให้ถั่วเหลืองทนทาน ต่อยาปราบวัชพืช นำยีนจากไวรัส มาใส่ในมะละกอ เพื่อให้ มะละกอต้านทานโรค ไวรัสใบด่างวงแหวนได้ เป็นต้น

พืชจีเอ็มโอที่มีขายตามท้องตลาดในปัจจุบัน ได้แก่ ถั่วเหลือง, ข้าวโพด, มันฝรั่ง, มะเขือเทศ, มะละกอ, ฝ้าย, คาโนล่า (พืชให้น้ำมัน)

ในการก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตต่างๆ ยีนและดีเอ็นเอถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ยีนเป็นตัวสร้าง สิ่งมีชีวิต ให้มีคุณลักษณะ และคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น ยีนทำให้ผมดำ ยีนที่ทำให้ทน ความหนาวเย็นได้ ยีนที่ทำให้มีปีก เป็นต้น กลไกการทำงานของยีน ในสิ่งมีชีวิตนั้น ซับซ้อน กว้างใหญ่ไพศาล และเป็นเครือข่ายที่เปราะบาง ยีนตัวเดียวกันแต่อยู่คนละตำแหน่งในสายยีน ก็อาจกำหนดคุณสมบัติ ที่แตกต่างกันได้ และยีนหนึ่งตัว ก็ไม่ได้มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว การดัดแปลงยีน (จีเอ็มโอ) คือการพยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ของสิ่งมีชีวิต อย่างที่ไม่สามารถ เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบมหาศาล ต่อมนุษย์ สัตว์ และพืชทั้งหลายบนโลกใบนี้ เนื่องจาก มนุษย์ ไม่มีวันที่จะควบคุมมันได้

จากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนับล้านๆ ปีที่ผ่านมา มะเขือเทศสามารถผสมพันธุ์กับมะเขือเทศ พันธุ์อื่นได้ แต่ไม่เคยเลยสักครั้ง ที่มะเขือเทศจะผสมพันธุ์ กับปลาหรือคางคก ถั่วเหลืองอาจผสม ข้ามพันธุ์ ระหว่างถั่วเหลืองด้วยกันเอง แต่ไม่มีวันที่จะผสมพันธุ์ กับแบคทีเรีย นี่คือกฎที่ธรรมชาติ สรรสร้างขึ้นเพื่อเป็นกำแพงกั้นให้สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อความ อยู่รอด ของโลก แต่การดัดแปลงพันธุกรรม (วิศวพันธุกรรม หรือจิเอ็มโอ) เป็นการละเมิดธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น การบีบบังคับ ให้ยีนของปลา เข้าไปผสมอยู่ใน สตรอว์เบอร์รี่ หรือยีนของแมงป่อง เข้าไปผสมกับ มะเขือเทศ

นักวิศวพันธุกรรมนำยีนแปลกปลอมเหล่านี้ใส่เข้าไปโดยใช้ไวรัสเป็นพาหนะหรือใช้ปืน ยิงยีนเข้าไป ในเซลล์ของพืช สัตว์ หรือมนุษย์ ที่ต้องการ ดัดแปลงพันธุกรรม การทดลองตัดต่อยีน เข้าไปแบบ สุ่มเสี่ยงนี้ บ่อยครั้งที่ล้มเหลว ส่วนครั้งที่ทำสำเร็จ ก็ไม่รู้ได้ว่ายีนใหม่ จะเข้าไปแทรกตัวอยู่ตรงไหน ของสายยีน และจะก่อให้เกิดผลกระทบอื่น นอกเหนือไปจากที่ต้องการหรือไม่

ตั้งแต่เกิดเทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมขึ้นมา ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดกล้ายืนยันได้ว่า อาหาร ที่มี ส่วนประกอบของจีเอ็มโอ ปลอดภัยต่อการบริโภคในระยะยาว การทดลอง ในสัตว์ทดลอง เป็นเพียง การทดลองระยะสั้นๆ เมื่อเทียบกับช่วงชีวิต ของมนุษย์ที่ยาวถึง ๖๐ - ๗๐ ปี การนำ อาหาร จีเอ็มโอ มาให้มนุษย์กิน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าปลอดภัยหรือไม่ จึงเท่ากับใช้มนุษย์ เป็นหนูทดลอง โดยที่พวกเราเอง ก็ไม่รู้ตัวว่ากินอาหารจีเอ็มโอ เข้าไปหรือไม่ ถ้าไม่มีฉลากที่ชัดเจน บอกไว้ และ หากเกิดผลร้าย ต่อสุขภาพขึ้นมาในอนาคต เราจึงไม่สามารถระบุได้ว่า ผลร้ายนั้น เกิดจากการ บริโภคอาหาร จีเอ็มโออย่างต่อเนื่องหรือไม่

ปัจจุบัน อันตรายต่อสุขภาพที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าอาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ คือ โรคภูมิแพ้ ดังกรณีที่เกิดขึ้น ในอเมริกา คนที่แพ้บราซิลนัท และไปกินถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ที่มียีน ของบราซิลนัทอยู่โดยไม่รู้ตัว จะเกิดอาการแพ้ถั่วเหลืองนั้นทันที นอกจากนี้ การใส่ยีนแปลกปลอม ที่ไม่เคยมีมาก่อนเข้าไป อาจก่อให้เกิดโปรตีนพิษชนิดใหม่ ที่ร่างกายไม่รู้จัก และกระตุ้นให้เกิด โรคภูมิแพ้ได้

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเป็นห่วงว่าจีเอ็มโออาจกระตุ้นให้ร่างกายดื้อยาปฏิชีวนะ เนื่องจาก ในการทดลองจีเอ็มโอ ต้องใส่สารต้านทาน ยาปฏิชีวนะเข้าไป เพื่อเป็นตัวตรวจสอบว่า การทดลอง ครั้งนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ สมาคมแพทย์อังกฤษ เห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ควรให้ใช้สาร ต้านทาน ยาปฏิชีวนะในจีเอ็มโอ ประเทศในสหภาพยุโรป ได้ออกกฎหมายห้ามใช้สารต้านทาน ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ แต่พืชจีเอ็มโอที่นำมาผลิตเป็นอาหาร อยู่ใน ท้องตลาดขณะนี้ ยังคงมีสารต้านทานยาปฏิชีวนะ เป็นส่วนประกอบอยู่

จากการที่จีเอ็มโอเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถขยายพันธุ์และเผยแพร่พันธุ์ได้ง่าย เมื่อใดที่มันถูกปล่อย ออกไปสู่สภาพแวดล้อม เราจะไม่สามารถ จำกัดบริเวณ หรือเรียกมันกลับคืนมาได้ หากเราพบ ในภายหลัง ว่ามันมีอันตราย ตัวอย่างนี้มีให้เห็นจากเรื่องของดีดีที สารเคมีกำจัดแมลง ที่มนุษย์ คิดค้นเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ในตอนนั้นไม่มีใครรู้ถึง อันตรายของมัน และนำดีดีทีมาใช้กันอย่าง กว้างขวาง หลังจากนั้นอีก ๓๐ ปี จึงค้นพบว่า ดีดีที เป็นตัวการทำให้พืช สัตว์และมนุษย์ ต้องล้มป่วย พิการ หรือเสียชีวิต โครงการสิ่งแวดล้อม แห่งสหประชาชาติ จึงออกประกาศ ห้ามใช้สารดีดีที นับแต่นั้นมา สารเคมีพิษเหล่านี้แม้จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมหรือในอาหารไปแล้ว แต่เมื่อหยุดใช้ไประยะหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นร้อยปีพันปี ก็จะย่อยสลายไปได้ แต่สำหรับจีเอ็มโอ อาจซ้ำร้ายกว่านั้น หากใน ๕๐ ปี ข้างหน้า เราพบว่ามันส่งผลเสีย ร้ายแรงกว่าที่พบในตอนนี้ เราคงไม่สามารถ หยุดยั้งการปลูกพืชจีเอ็มโอ หรือหาพืชพันธุ์พื้นเมืองที่ปลอดจีเอ็มโอมาปลูกได้ เพราะพืชหรือสัตว์จีเอ็มโอ ได้แพร่พันธุ์ กลืนกินพืช ที่ไม่ใช่จีเอ็มโอไปหมดแล้ว

การครอบงำจากบริษัทข้ามชาติ

มีบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆ เพียง ๔ - ๕ บริษัทเท่านั้นที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในเทคโนโลยี การทำ จีเอ็มโอ รวมถึงตัวยีน และเมล็ดพันธุ์ จีเอ็มโอ ที่เพาะปลูกกันอยู่ ในโลกขณะนี้ ในการทดลองวิจัย บริษัทเหล่านี้อาจบอกว่า เป็นความช่วยเหลือ แบบให้เปล่า แต่หากต้องการปลูก เพื่อการค้า จะต้อง ทำสัญญาทางการค้า และจ่ายเงินแทนให้แก่บริษัท เกษตรกรในแคนาดาและสหรัฐอเมริกา จำนวนมาก ต้องตกเป็นทาส ในที่ดินของตนเอง เนื่องจากปลูกพืชจีเอ็มโอ หรือถูกพืชจีเอ็มโอ เข้ามาปนเปื้อน ในพืชผลของตน จีเอ็มโอจึงเป็นหนทางให้ บริษัทข้ามชาติเหล่านี้ เข้ามามีอิทธิพล และครอบครอง แหล่งเกษตรกรรมและแหล่งอาหารของเรา

กลุ่มผู้สนับสนุนอาหารจีเอ็มโอมักกล่าวว่าอาหารจีเอ็มโอที่วางขายในท้องตลาดผ่านการประเมิน ความปลอดภัยแล้วว่า ปลอดภัย เหมือนอาหารทั่วไป การกล่าวอ้างเช่นนี้ มาจากหลักการที่เรียกว่า หลักความเทียบเท่า (Substantail Equivalence)

ความเทียบเท่าจะเปรียบเทียบพืชจีเอ็มโอกับพืชชนิดเดียวกันที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ เช่น ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ กับถั่วเหลืองปกติ โดยดูจากรูปลักษณ์ภายนอก และองค์ประกอบพื้นฐานบางประการเท่านั้น ถ้าไม่แตกต่างกัน ก็ถือว่ามีความปลอดภัยเทียบเท่ากัน

แต่ในความเป็นจริงพืชจีเอ็มโอเกิดจากการตัดต่อยีนของพืชหรือสัตว์โดยใส่ยีนแปลกปลอมเข้าไป การเปลี่ยนแปลง ในยีนนี้ ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า การใช้หลักความเทียบเท่า ไม่ได้คำนึง ถึงการเปลี่ยนแปลงของยีน และไม่ได้ตรวจสอบ ความเป็นพิษ หรือสารก่อเกิดโรคภูมิแพ้ ชนิดใหม่ๆ ที่อาจเกิดจากยีนแปลกปลอมนั้นๆ

นอกจาก "หลักความเทียบเท่า" แล้ว ผู้ผลิตพืชจีเอ็มโอไม่เคยวิจัยทดสอบความปลอดภัย ของอาหาร อย่างเพียงพอ ก่อนที่จะนำมาผลิต เพื่อการค้า ยกตัวอย่างเช่น เมื่อบริษัทไบเออร์ ยื่นขออนุมัติป ลูกข้าวจีเอ็มโอเพื่อการค้า ต่อองค์การอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกา ไบเออร์ ทดสอบความปลอดภัย ทางอาหาร โดยนำข้าวจีเอ็มโอชนิดนี้ ให้ไก่กินเป็นเวลา ๔๒ วัน เมื่อพบว่า ไก่ไม่เป็นอะไร จึงถือว่าข้าวจีเอ็มโอนี้ ปลอดภัยต่อการบริโภค ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ก็ยอมอนุมัติให้ปลูกโดยไม่ได้ทำการทดสอบด้วยตนเอง แต่อย่างใด

ระบบการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารจีเอ็มโอในปัจจุบัน ยังไม่สมบูรณ์ และข้ออ้างว่า อาหารจีเอ็มโอ ปลอดภัย ก็เชื่อถือไม่ได้ เพราะในความเป็นจริง อาหารจีเอ็มโอกับอาหารปกตินั้น แตกต่าง

ุ จนถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗ ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ เพื่อการค้า และ ยังมีมติ ครม. สั่งระงับการทดลองปลูกพืช จีเอ็มโอระดับไร่นา

ุ ประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบจีเอ็มโอจำนวนมากเพื่อใช้ผลิตอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง ซึ่งนำเข้ามาจาก สหรัฐอเมริกา และอาร์เจนตินา มากที่สุด (ทั้งสองประเทศนี้เป็นผู้ผลิตและส่งออก ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ รายใหญ่ที่สุดในโลก โดย ๙๙% ของถั่วเหลือง ที่ปลูกในอาร์เจนตินา เป็นถั่วเหลือง จีเอ็มโอ และ ๘๐% ของถั่วเหลืองที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา เป็นจีเอ็มโอ) จากการ ตรวจสอบของ กรีนพีซพบว่า ผลิตภัณฑ์อาหาร สำเร็จรูปในท้องตลาด มีการปนเปื้อนถั่วเหลือง จีเอ็มโอ โดยไม่ได้ติดฉลาก ให้ประชาชนได้รับทราบ

ุ กฎกระทรวงเรื่องการติดฉลากอาหารดัดแปรงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่บังคับใช้ ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๖ นั้น เป็นกฎข้อบังคับ ที่หละหลวมมาก คือกำหนด เปอร์เซ็นต์การปนเปื้อนจีเอ็มโอ ไว้สูงถึง ๕% ถ้าต่ำกว่านั้นก็ไม่ต้องติดฉลากบอก นอกจากนั้น ยังกำหนด ให้ติดฉลาก เฉพาะเมื่อมีถั่วเหลือง หรือข้าวโพดจีเอ็มโอ เป็นส่วนประกอบ ในสาม อันดับแรกเท่านั้น หากมีถั่วเหลืองหรือข้าวโพดจีเอ็มโอ อยู่ในระดับที่ ๔ ลงไป ก็ไม่ต้องติดฉลาก และถ้ามีวัตถุดิบอื่น ที่ไม่ใช่ถั่วเหลือง หรือข้าวโพด แต่เป็นจีเอ็มโอ เช่น มะละกอจีเอ็มโอ หรือ ข้าวสาลีจีเอ็มโอ ก็ไม่จำเป็นต้องติดฉลาก กฎกระทรวงฉบับนี้ จึงไม่ได้ให้ข้อมูลที่แท้จริง แก่ผู้บริโภค หรือให้สิทธิในการรับรู้ และปฏิเสธอาหารจีเอ็มโอ แก่ผู้บริโภคแต่ประการใด

ุ บริษัทผลิตอาหารข้ามชาติบางบริษัทใช้มาตรฐานต่างระดับกับประชาชนชาวไทย โดยประกาศ นโยบายปลอดจีเอ็มโอ ในยุโรป แต่ยังยืนยันว่า จะใช้ส่วนประกอบอาหาร ที่มีจีเอ็มโอ สำหรับ ประเทศไทย เช่น บริษัท เนสท์เล่ ซึ่งกรีนพีซตรวจพบจีเอ็มโอ ในซีรีแล็ค อาหารเสริมสำหรับเด็ก และทารก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ุ ยึดหลักการป้องกันไว้ก่อน โดยหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ตรวจพบว่ามีจีเอ็มโอ จนกว่าบริษัท ผู้ผลิต อาหารนั้นๆ จะมีนโยบาย และมีมาตรการ ปลอดจีเอ็มโอ ที่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง ตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่มีนโยบายปลอดจีเอ็มโอ ได้จากคู่มือจ่ายตลาด สำหรับซื้ออาหาร ปลอด จีเอ็มโอ

ุ ตั้งข้อสงสัยอาหารสำเร็จรูปที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา หรือ แคนาดาซึ่งเป็นประเทศที่ เพาะปลูกพืชจีเอ็มโอ มากที่สุดในโลก ตรวจสอบรายชื่อ บริษัทผลิตอาหารในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ส่วนประกอบจีเอ็มโอ ได้ที่เว็บไซต์ www.truefoodnow.org

ุ ตรวจดูฉลากข้างกล่องว่า อาหารนั้นมีส่วนผสมของถั่วเหลืองและข้าวโพดและผลิตภัณฑ์ที่ทำ จากถั่วเหลือง หรือข้าวโพดหรือไม่ (เช่น ฟองเต้าหู้ แป้งถั่วเหลือง ใยถั่วเหลือง ผักสกัด ถั่วเหลืองสกัด โปรตีนถั่วเหลือง เลคซิตินจากถั่วเหลือง สารปรุงแต่งจากถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันพืช แป้งข้าวโพด น้ำตาลข้าวโพด น้ำมันจากคาโนลา น้ำมันจากเมล็ดฝ้าย เป็นต้น) หากไม่ปรากฏ รายการส่วนผสมดังกล่าวนี้ ก็พอจะเชื่อมั่นได้ว่า อาหารสำเร็จรูปชนิดนั้น ปลอดจีเอ็มโอ

ุ ซื้อผักผลไม้และอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ปลูกในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยยังคงห้าม การปลูกพืช จีเอ็มโอเพื่อการค้าอยู่ แต่หากท่านพบวัตถุดิบ ที่ปลูกในประเทศไทย เป็นจีเอ็มโอ แสดงว่ามีการละเมิดกฎหมาย ท่านสามารถแจ้งเบาะแส ให้แก่ทางการได้

ุ บริโภคอาหารธรรมชาติที่เพาะปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย และอาหารจากเกษตรอินทรีย์ โดยสังเกต ตรารับรอง จากสำนักงานมาตรฐาน เกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งรับรองได้ว่าปลอด ทั้งสารเคมี และ จีเอ็มโอ ท่านสามารถสอบถามถึงแหล่งผลิต และขายสินค้า เกษตรอินทรีย์ ได้จากกรีนเนท โทรศัพท์ ๐-๒๖๕๑-๙๐๕๕-๖

[จากคู่มือจ่ายตลาดสำหรับซื้ออาหารปลอดจีเอ็มโอ] โดย กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ตู้ปณ.ฯ. ปณฝ.สนามเป้า กทม. ๑๐๔๐๖
สายด่วนจีเอ็มโอ ๐-๒๖๑๖-๘๑๗๐ e-mail:[email protected]
(ขอรับคู่มือนี้เพียงสอดซองจดหมายมาตรฐานติดแสตมป์ ๕ บาท จ่าหน้าซองถึงตัวเอง ส่งมายัง ที่อยู่ข้างบน)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๘กรกฎาคม ๒๕๔๗ -