ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ -สมณะโพธิรักษ์-


"อาหาร" หมายความว่า สิ่งที่หล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ เป็นเหตุเป็นผลหล่อเลี้ยงให้เติบโตเจริญขึ้นได้ ซึ่งมี ๔ อย่าง (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๑๑๓)

๑. กวฬิงการาหาร หมายถึง ของกินสามัญทั่วไป เช่น ข้าว กับข้าว ขนม เป็นต้น อันเป็นอาหารเลี้ยงกายขันธ์ หรือรูปธรรม ซึ่งก่อให้เกิด "กามคุณ" ได้เก่ง ก่อให้เกิด "พยาบาท" ก็ได้ ก่อให้เกิด "โมหะ" นั้นได้แน่ๆ

"กามคุณ ๕" คือ กิเลสที่อยากเสพความอร่อย (อัสสาทะ) ทางทวาร ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย) แและใน กวฬิงการาหาร นี่แหละ ที่มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ของคน สัมผัสแล้วก็อร่อย หรือสนุก หรือเป็นอนิฏฐารมณ์ หมายอย่างนั้น มันก็เจริญเติบโตขึ้น จึงเป็นการเลี้ยงกิเลส ให้มันอ้วน มันพี มันหนา มันใหญ่ขึ้นไปตามที่เสพจริงนั้นๆ คนที่มี "กิเลสอ้วนขึ้นหนาขึ้น" อันเนื่องมาจาก "อาหาร" ซึ่งเริ่มตั้งแต่ "อาหาร" ข้อที่ ๑ เพราะ ยัง"อวิชชา" ฉะนี้แล ชื่อว่า "ปุถุชน" (ปุถุ แปลว่า อ้วน,พี, หนา, ใหญ่, มาก)

๒. ผัสสาหาร หมายถึง การกระทบแตะต้องสัมผัสของตา-หู- จมูก - ลิ้น -กาย -ใจ กับ รูป -เสียง- กลิ่น -รส -สัมผัสภายนอก -สัมผัสภายใน แล้วเกิดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอารมณ์ (เวทนา) ผู้ "อวิชชา" ก็เสพก็ติด อยู่กับอารมณ์ อันเกิดจากผัสสะ ไม่รู้ละหน่ายคลาย หากเป็น "อิฏฐารมณ์" (อารมณ์ที่เป็นความพอใจ) ก็หลงติด หลงยึด ยิ่งๆขึ้น แต่ถ้าเป็น "อนิฏฐารมณ์" (อารมณ์ที่เป็นความไม่พอใจ) ก็หลงผลักหลงโกรธ ถึงขั้นพยาบาท ยิ่งๆขึ้น

๓. มโนสัญเจตนาหาร หมายถึง ความจงใจ หรือความมุ่งหมาย ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เกิดกรรมต่างๆ กรรมทางใจ ทางวาจา ทางกาย แล้วมีผลเป็นภพเป็นชาติ ผู้ "อวิชชา" ก็วนเวียนอยู่ในภพในชาติ เพราะไม่มี "วิชชา" ที่สามารถรู้จักภพชาติ ไม่รู้ความจริงแห่งการเกิดภพชาติ ไม่รู้เหตุที่ทำให้เกิดภพชาติ ไม่มีวิธีดับภพ จบชาติ ที่สำคัญไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริงภพชาติ อย่างเป็นโลกุตระ เป็นปาฏิหาริย์ ตามอนุสาสนี (คำสอนของพระพุทธเจ้า)

๔. วิญญาณาหาร หมายถึง สภาพที่ชื่อว่าวิญญาณ ว่าจิตนั่นเอง ซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัย ก่อให้เกิด นามรูป ได้นานาสารพัด ผู้ยังมี "อวิชชา" ไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริงในวิญญาณ จึงไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริงนามรูป ก็ไม่สามารถรู้ ความเป็นปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับอายตนะ ๖ ซึ่งก่อเกิดผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็เกิดเวทนา เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ

คงจะเห็นชัดขึ้นมาแล้วว่า อาหาร เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมแท้ๆโดยเฉพาะ "กวฬิงการาหาร" ที่หมายถึง ของกินเข้าปากเคี้ยวกลืนไปเลี้ยงชีวิต ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม แต่พระพุทธเจ้าถึงกับจัดไว้เป็นข้อ ๑ ใน ๔ ของ "อาหาร ๔" ปานฉะนี้ มันต้องมีความสำคัญไม่น้อยหน้า "ผัสสาหาร" มโนสัญเจตนาหาร - วิญาณาหาร" แน่ๆ จริงๆแล้ว ของกินเข้าปากเคี้ยวกลืนไปเลี้ยงชีวิต นี่แหละตัวดี เป็นตัวการที่ก่อให้เกิด กิเลสเจริญเติบโต ได้อย่างเก่งทีเดียว

แต่ชาวพุทธทั้งหลายส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ กลับไม่รู้เรื่อง นักปฏิบัติธรรมที่มุ่งมรรคผล มุ่งปรมัตถ์กันแท้ๆ แต่ไม่รู้เรื่อง กวฬิงการาหาร ไม่เห็นว่าอาหารการกิน จะเกี่ยวอะไรกันกับการปฏิบัติธรรม ออกจะงง หรือ ประหลาดใจ เสียด้วยซ้ำ ถ้าบอกว่า การปฏิบัติธรรมเพื่อไปนิพพานของพุทธนั้น จะต้องปฏิบัติกันในเรื่อง เกี่ยวกับอาหารการกินอย่างสำคัญ จะต้องสังวรสำรวม รู้เท่าทันกามคุณ เพราะอาหาร และจะต้อง ปฏิบัติธรรม ลดละกิเลสกันในขณะกินอาหารอยู่ทุกวันนี่แหละ

ในจรณะ๑๕" (ข้อปฏิบัติอันเป็นทางบรรลุวิชชา) ก็มีข้อปฏิบัติที่ว่า "โภชเนมัตตัญญุตา" (ความรู้จักยับยั้ง ชั่งใจ ในการกิน) ยืนยันกันอยู่ชัดๆ ใน "อปัญญกปฏิปทา" ซึ่งระบุอยู่โต้งๆว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดแน่ๆ หรือ ในโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็น "คำสอนหัวใจของศาสนา" แท้ๆ ก็มีหัวข้อธรรมที่บ่งชี้ป็นสำคัญอีกว่า "มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง" (ความเป็นผู้รู้จักกะประมาณในอาหารการกิน)

เราค่อยๆสาธยายอธิบายกันไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจได้ว่า การปฏิบัติธรรมของพุทธตามทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า ที่ถูกแท้ ถูกถ้วนนั้น เป็นอย่างไรกัน

ลองอ่านที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน "อวิชชาสูตร" (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๖๑ ) ละเอียดขึ้นดูบ้าง

การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรม ให้บริบูรณ์

การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้บริบูรณ์

ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจไม่แแยบคาย ให้บริบูรณ์

การทำไว้ในใจไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังบความไม่มีสติสัมปชัญญะ ให้บริบูรณ์

การไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ ให้บริบูรณ์

การไม่สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์

ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังนิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์

นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยัง อวิชา ให้บริบูรณ์

อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

(อ่านต่อฉบับที่ ๑๗๐)

เรามาขยายความตั้งแต่เริ่มสต้นที่ว่า "การไม่คบสัตบุรุษที่บริบูรณ์.....

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๖๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๗ -