ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -
ไบโอดีเซล BIODIESEL ()


ตามที่มีการคาดการล่วงหน้าในการใช้พลังงานจากน้ำมันปิโตรเลียม จะหมดจากโลกในอีก ๔๐ ปีข้างหน้า ซึ่งโลกใช้น้ำมันปิโตรเลียม ในการให้พลังงานในรูปต่างๆ ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทุกปี เพราะมนุษย์คุ้นเคยกับ ความสะดวกสบาย จึงเกิดความวิตกกังวลว่า น้ำมันจะหมด โลก ทำให้มีผู้คิดค้นหาพลังงานทดแทน ในหลากหลายวิธีการ เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินต่อไปได้ การแสวงหาและพัฒนาพลังงานใหม่ที่มีความยั่งยืน เป็นพลังงานที่มี ในท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อทดแทน น้ำมันเชื้อเพลิง จากปิโตรเลียม น้ำมันพืช และแอลกอฮอล์ ที่ผลิตจากพืช จึงเป็นตัวเลือก ในอันดับแรกๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ในเครื่องยนต์ ทดแทนน้ำมันปิโตรเลียม ถึงตอนนี้หลายคน อาจสงสัยว่า จะใช้กับ เครื่องยนต์ ได้จริงหรือ แท้จริงการนำผลิตภัณฑ์จากพืช มาใช้เป็นเชื้อเพลิง ในเครื่องยนต์ ไม่ใช่เป็นสิ่งใหม่ แต่อย่างใด เมื่อย้อนกลับ ไปในอดีต จะพบว่า มีการน้ำมันพืช มาใช้เป็น เชื้อเพลิง พร้อมกับการถือกำเนิด ของเครื่องยนต์เลยทีเดียว

การกำเนิดเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ที่คุ้นเคยกันอย่างดี และใช้กันอยู่แพร่หลาย ในขณะนี้ เป็นเครื่องยนต์ ที่สันดาปภายใน โดยมีการเผาไหม้ เชื้อเพลิงภายในห้องเผาไหม้ ที่อยู่ในตัว เครื่องยนต์ ซึ่งแบ่งเป็นประเภทหลักได้ ๒ ประเภท คือ

๑.เครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยประกายไฟ คือเครื่องยนต์ที่รู้จักในนามเครื่องยนต์เบนซิน

๒.เครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยการอัดอากาศให้ร้อนแล้วจุดระเบิดด้วยการ ฉีดน้ำมัน ซึ่งคือเครื่องยนต์ดีเซล

ประเภทเยอรมนีถือเป็นประเทศแรกที่ผลิตเครื่องยนต์ทั้งสองประเภท เครื่องยนต์เบนซิน ถูกประดิษฐ์ สำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๑๙ โดย ดร.ออตโต้ (Nicholas Otto) ได้ใช้น้ำมันเบนซิน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แก๊สโซลีนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งกลั่นมาจาก น้ำมันปิโตรเลียม ที่มีความไวสูง โดยใช้เชื้อเพลิงรวมกับอากาศ อัดเข้าไปในห้องเผาไหม้ ในกระบอกสูบก่อน แล้วควบคุม การจุดระเบิด ด้วยประกายไฟจากหัวเทียน

ต่อจากนั้นในปี พ.ศ.๒๔๒๘ เครื่องยนต์ดีเซลจึงถูกประดิษฐ์ได้สำเร็จ โดย ดร.ดีเซล (Rudolf Diesel) ในครั้งนั้น เครื่องยนต์ถูกออกแบบ ให้ใช้เชื้อเพลิง จากน้ำมันถั่วลิสง เครื่องยนต์ ชนิดนี้ ให้พลังสูง ขณะเผาไหม้ แต่มีความไวไฟต่ำ จึงจุดไฟ ได้ยากกว่า น้ำมันเบนซิน จึงต้องทำการอัดอากาศ เข้าห้องเผาไหม้ในกระบอกสูบ ให้เกิดความร้อนสูงก่อน แล้วจึงฉีดละออง น้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไป ให้เกิดการจุดระเบิดเอง

ในยุคแรกการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชนี้เกิดมาพร้อมๆกับการสร้างเครื่องยนต์ ดังที่กล่าวมา ตัวดร.ดีเซลเอง เคยประกาศไว้ว่า เครื่องยนต์ดีเซลที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น สามารถใช้กับน้ำมันพืช หลากหลายชนิด แต่ทว่าในยุคนั้น เป็นยุคของการปฏิวัติ อุตสาหกรรม ซึ่งขุดหาและผลิตปิโตรเลียมเฟื่องฟู มีการพัฒนาให้เชื้อเพลิง มีความ หลากหลาย สำหรับการใช้งาน ในรูปแบบต่างๆ น้ำมันดีเซล ที่ถูกผลิตขึ้นมา หาได้ง่ายกว่า สะดวกต่อการใช้งาน และมีราคา ถูกกว่าน้ำมันพืช ด้วยคุณสมบัติต่างๆข้างต้นนี้ จึงทำให้ มีการพัฒนาออกแบบ ปรับปรุงเครื่องยนต์ เพื่อตอบสนอง การใช้น้ำมันดีเซล จากปิโตรเลียม อย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

หลายประเทศสร้างแรงจูงใจให้เอกชนหันมาใช้พลังงานทดแทน โดยลดหย่อน ค่าภาษี แก่ผู้ติดตั้งเครื่องจักร หรือ อุปกรณ์การผลิต กระแสไฟฟ้า โดยใช้พลังงานทดแทน เป็นปัจจัย สำคัญ ที่ทำให้สถิติการใช้ พลังงานทดแทนนี้ เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พลังงาน ชีวภาพ เป็นพลังงาน อีกประเภทหนึ่ง ที่คาดว่า จะนำมาทดแทน น้ำมันที่ผลิตจาก ปิโตรเลียม คือ ไบโอดีเซล

ประเทศสหรัฐอเมริกามีการเร่งรัดผลักดันแนวทางไบโอดีเซลค่อนข้างชัดเจน ถึงขั้นมีบริษัท ผลิตไบโอดีเซล มีชื่อว่า เวิร์ลด์ เอ็นเนอร์ยี่ อัลเทอร์เนทีฟส์ ขายน้ำมันชีวภาพมาหลายปี และมีแนวโน้มว่า จะขายดิบขายดีขึ้นทุกปี เพราะไม่นานมานี้ ทางบริษัทประกาศ เพิ่มกำลังการผลิตเป็น ๑๕ ล้านแกลลอนต่อปี

*** พลังงานเชื้อเพลิงกับปัญหาเศรษฐกิจโลก
พลังงานเชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล เป็นปัญหาเศรษฐกิจ ระดับโลก หากราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลก สูงขึ้น จะด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับโลก หรือการเอารัดเอาเปรียบ ทางด้านระบบ ทุนนิยม ของผู้ที่มีอำนาจ ประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ทำให้สภาวะ เศรษฐกิจ ของประเทศ ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก ประชาชนได้รับ ความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากประเทศไทย ต้องพึ่งพาพลังงาน จากต่างประเทศ เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอีรัค ราคาน้ำมัน ในตลาดโลกสูงขึ้น รัฐต้องใช้งบประมาณ สำหรับตรึงราคาน้ำมัน มากกว่า ๓,๐๐๐ ล้านบาท เพื่อตรึงราคาสินค้าอุปโภค และบริโภค รวมทั้งการขนส่ง ภายในประเทศ ไม่ให้มีราคาสูงขึ้น

ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๗๐ เป็นกสิกร ผลผลิต ทางกสิกรรม เป็นสินค้าออก ทำรายได้ จากต่างประเทศ มากกว่า ๑๘๐,๐๐๐ ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ประชาชนชาวไทย มีความต้องการ ด้านพลังงาน ทั้งแก๊ส และน้ำมัน เพิ่มมากขึ้น ต้องซื้อจากต่างประเทศ เข้ามาบริโภค ปีหนึ่งมากกว่า ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่จะนำผลผลิตทางการเกษตรมาใช้ผลิตเป็น พลังงานทดแทน เนื่องจากประเทศไทย มีภูมิประเทศ ที่เหมาะแก่การทำกสิกรรม ได้ตลอด ทั้งปี ตราบเท่าที่มีแสงอาทิตย์ จากการที่มีผลผลิต และวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตร เป็นจำนวนมาก และยังสามารถลดมูลค่า การนำเข้าพลังงาน ในรูปน้ำมันปิโตรเลียมต่างๆ อีกทั้งยังยกระดับ ชีวิตความเป็นอยู่ ของกสิกรไทย ได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้น จึงน่าจะมี การศึกษา ค้นคว้า และพัฒนาต่อไป

*** น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ
น้ำมันพืชและน้ำมันดีเซลต่างก็เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน มีธาตุไฮโดรเจนกับคาร์บอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบ ที่สำคัญ ของเชื้อเพลิง ค่าพลังงานของน้ำมันพืชที่ได้มีความใกล้เคียง หรือน้อยกว่าเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซล อยู่ประมาณ ๘๐-๙๐% คุณสมบัติอื่น ของน้ำมันพืช ที่ควรพิจารณา ที่จะนำมาทำเชื้อเพลิง ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ดี และ ลดหลั่น ลงมา ถึงบางชนิด เป็นเชื้อเพลิงไม่ได้ ซึ่งมีความแตกต่าง ทั้งทางเคมีและ ทางกายภาพ ไปตามคุณสมบัติ ของกรดไขมัน ที่เป็นองค์ประกอบอยู่ น้ำมันพืชเป็น สารประกอบ ไตรกลีเซอร์ไรด์ Triglyceride ซึ่งมีกลีเซอร์รีนอยู่ ๗-๑๓ % โมเลกุลของ น้ำมันพืชใหม่ จะมีคาร์บอนเกาะกันอยู่ ๑๘ ตัว แต่เมื่อนำไปประกอบอาหาร จะมีคาร์บอน เพิ่มขึ้นเป็น ๓๒ ตัว ในขณะที่ น้ำมันดีเซล จะมีคาร์บอนเกาะกัน ๑๒-๑๓ ตัว

ปาล์มเป็นพืชที่ให้น้ำมันในสัดส่วนต่อมวลสูงกว่าพืชอื่นทั้งหมด ปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่ ปลูกปาล์มน้ำมัน ประมาณ ๑.๓๙ ล้านไร่ ได้ผลผลิตปาล์มน้ำมันปีละ ๓.๔ ล้านตัน ผลผลิตดังกล่าว ถูกใช้ในการบริโภค เกือบทั้งหมด มะพร้าว ซึ่งมีผลิตผล ที่สามารถนำ ไปผลิต เป็นน้ำมันไบโอดีเซล ก็ถูกนำไปใช้ในการบริโภคหมดเช่นกัน ปาล์มน้ำมัน เป็นพืช ที่ปลูกได้ในทุกภาค ของประเทศไทย ถ้ามีการจัดการชลประทานน้ำหยด ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ ที่สามารถ ปลูกปาล์มน้ำมันได้ถึง ๑๘ ล้านไร่ ในทุกภาค ของประเทศ

ถ้าเราสามารถปลูกพืชใดๆที่ผลิตเป็นทั้งอาหาร, น้ำมัน และแอลกอฮอล์ หากนำมาผลิต ไบโอดีเซล หรือ ไบโอเบนซิน จะช่วยผลักดัน ให้มีแหล่งตลาดขนาดใหญ่ สำหรับผลิตผล ทางการเกษตร ดังกล่าวภายในประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิด เศรษฐกิจที่ดี สำคัญยิ่งกับคน ระดับรากหญ้า ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และก่อให้เกิด มีเศรษฐกิจ ของประเทศ ที่มีเสถียรภาพ และไม่ผูกพันกับการกระเพื่อมไหว ตามความผันแปร ทางด้านพลังงาน ของโลก

*** ไบโอดีเซลคืออะไร?
ไบโอดีเซล คือเชื้อเพลิงเหลวซึ่งผลิตได้จากไขมันสัตว์หรือน้ำมันพืช กระบวนการเกิด ไบโอดีเซล คือการเปลี่ยน น้ำมันพืช ไปเป็นเอสเทอร์ (Esters) กระบวนการนี้เรียกว่า "Transesterification" ของน้ำมันพืชและไขสัตว์ ในเมทานอล (Methanol) จะเข้าไปแทนที่ โดยมีโซเดียมไฮดรอกไซด์ Sodiumhydroxide เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี เปลี่ยนไขมันให้เป็น Methyl Esters และกลีเซอร์รอล Glycerol ซึ่งเป็นผลพลอยได้ ที่มีคุณค่าทางอุตสาหกรรม และคอสเมติค Esters ชนิดนี้มีลักษณะ คล้ายน้ำมันดีเซล ใช้แทนน้ำมันดีเซล หรือเติมเป็น ส่วนผสม ในน้ำมันดีเซล ใช้กับเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องปรับแต่ง เครื่องยนต์ แต่อย่างใด และให้พลังงานเฉกเช่นเดียวกับน้ำมันดีเซลปกติ

*** คุณสมบัติของไบโอดีเซล
ไบโอดีเซลมีคุณสมบัติทางกายภาพคล้ายกับน้ำมันดีเซลปกติ แต่ให้การเผาไหม้ ที่สะอาดกว่า น้ำมันดีเซล ไอเสีย มีคุณภาพดีกว่า ทั้งนี้เพราะมีออกซิเจน อยู่ในไบโอดีเซล ให้การสันดาป ที่สมบูรณ์กว่าน้ำมันดีเซลปกติ จึงมีคาร์บอน มอนน๊อกไซด์ น้อยกว่า และเนื่องจาก ไม่มีกำมะถัน ในไบโอดีเซล จึงไม่มีปัญหาเรื่องสารซัลเฟต นอกจากนี้ ยังมีเขม่า คาร์บอนน้อย จึงไม่ทำให้เกิดการอุดตัน ของระบบไอเสียได้ และคุณสมบัติ ที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นสารหล่อลื่น ช่วยยืดอายุ การใช้งานของเครื่องยนต์..."

อ่านต่อฉบับหน้า

(ข้อมูลจากคุณไพบูลย์ เหล่าลดา)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๐ กันยายน ๒๕๔๗ -