คุยนิด คิดหน่อย - บรรณาธิการ -


การสัมมนาประจำปี ๒๕๔๗ ของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง "นโยบายการเงินและเสถียรภาพ ระบบสถาบันการเงิน : หาความลงตัวภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ" ที่โรงแรมแชงกรี-ลา

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ขาประจำ เจ้าเก่า ชื่นชมการทำงาน ๓ ปี ของรัฐบาลชุดนี้ว่ามีเสน่ห์ เพราะทำตามสัญญาทุกนโยบาย ที่ประกาศไว้ก่อนเลือกตั้ง ถือว่าเป็นข้อดีที่รัฐบาลอื่นไม่สามารถทำได้

แต่มีเพียง ๒ เรื่องเท่านั้นที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ คือ ปฏิรูปการศึกษาและการปราบปรามคอรัปชั่น

"โครงการกองทุนหมู่บ้านก็ถือเป็นโครงการที่มีเสน่ห์ในตัวเอง เพราะเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน คิดเองว่า จะเอาเงิน ไปทำอะไร ไม่เป็นพ่อรู้ดี เพราะรัฐบาลกลาง มักเป็นคุณพ่อรู้ดี แต่ปัญหา ใหญ่กว่า คือชาวบ้านเชื่อและคิดว่า เป็นเงินของทักษิณที่โปรยมาให้ ทำให้เสี่ยง ที่จะได้เงินคืน ....เพราะขณะนี้กองทุนหมู่บ้านเป็นเอ็นพีแอล แล้ว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะมันเหมือน เป็นเงินที่ รัฐบาลให้เปล่า"

ในรายการเดียวกันนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปว่า แม้ภาวะ หนี้ครัวเรือนจะเร่งตัวสูงขึ้น แต่ภาพรวม ยังไม่พบปัญหา จากการสัมมนาได้ให้ข้อสังเกตว่า ธนาคาร แห่งประเทศไทยควรเข้าไปศึกษา ในระดับไมโครมากขึ้น เพื่อระมัดระวัง การก่อปัญหา ในอนาคต

เป็นอันประมวลความได้ว่า

๑. ชาวบ้านเป็นหนี้กองทุนหมู่บ้าน และกองทุนนี้เป็นเอ็นพีแอลแล้ว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ...เป็นหนี้ที่ไม่ก่อ ให้เกิดผลผลิต หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั่นแหละครับ

๒. ภาวะหนี้ครัวเรือนจะเร่งตัวสูงขึ้น เรียกว่าหนี้จะท่วมหัวไง เรื่องนี้จะเท็จจริงเพียงใดก็อยู่ที่ สื่อมวลชน นะครับ (ไทยโพสต์ ๘ ก.ย. ๔๗) หมายรวมถึง "เราคิดอะไร" ด้วยครับ ถึงแม้ว่า จะเก็บข่าว มาถ่ายทอดอีกทีหนึ่งก็ไม่พ้นตัวหรอก

น่าคิดว่าฝากชีวิตไว้กับเงินที่กู้หนี้ยืมสินมาแบบไม่ประเมินประมาณกำลังการใช้หนี้แบบนี้ ต้องถามว่า เงินแก้ปัญหาความยากจน หรือเพิ่มปัญหาความยากจน หากระบบทุนนิยม ยังผงาดครอบงำสังคมอยู่เช่นนี้

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑ เดือน ตุลาคม ๒๕๔๗ -