ข้าพเจ้าคดอะไร สมณะโพธิรักษ์
กำไร ขาดทุนแท้ ของอาริยชน

(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๐)


กรรมหรือการกระทำ จึงเป็นเรื่องหลักของศาสนาพุทธ ซึ่งเทียบเท่า"พระเจ้า" เพราะทุกความประพฤติ หรือทุกการกระทำ หาก "ทำลงไปแล้วเป็นของของตน" (กัมมัสสกา) ทั้งสิ้น ไม่มีขาดหกตกหล่น แบ่งให้ใคร ก็ไม่ได้ "ตนจะต้องรับมรดกกรรมของตน หรือต้องเป็น ทายาทของกรรมวิบากนั้นๆ" (กัมมทายาทา) ไม่รับก็ไม่ได้ "กรรมของตนแท้ๆนั่นเอง ที่พาเราเกิด" (กัมมโยน) เป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ใช่ เพราะใครบันดลบันดาลให้เกิดให้เป็นเลย กรรมของตนที่สะสมมาทั้งหลาย ทั้งมวลนั่นแหละ บวกลบ คูณหารกันแล้วก็เป็นผลแห่งวิบากพาเราเกิดตามสัจจะ "ตนจะมีเชื้อมีพันธุ์เป็นสัตว์นรก ก็เพราะบาป ที่ตนทำ" (กัมมพันธุ) จะมีพันธุ์เป็นเทวดาก็เพราะ บุญที่ตนปลูกฝังสั่งสมให้ตน จะมีพันธุ์เป็นปุถุชน-กัลยาณชน-อาริยชนก็เพราะกรรมที่ตนทำแล้ว ปลูกฝังสั่งสมทั้งนั้น "กรรมจึงเป็นที่พึ่ง อย่างสำคัญยิ่งของตน" (กัมมปฏิสรณา)

ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศอย่างอาจหาญ แกล้วกล้าท้าทายท่ามกลางศาสนาที่เป็น "เทวนิยม" มากมายทั้งหลายในยุค สมัยโน้นว่า ศาสนาพุทธของพระองค์นั้น "ตนของตนเป็นที่พึ่งของตน หรือ ตนพึ่งกรรมของตน" (อัตตาหิ อัตตโน นาโถ หรือ กัมมปฏิสรณา) ไม่ใช่คนทุกคนในโลก จะต้อง "พึ่งพระเจ้า" หรือต้องอ้อนวอนร้องขอให้ "พระเจ้าบันดลบันดาลสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้" ตามที่ชาวเทวนิยม ทั้งมวล เชื่อมั่น นับถือกันนิรันดร พุทธผู้ไม่มิจฉาทิฏฐิ จะไม่ไปหลงพึ่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้บันดล บันดาลใดๆ อย่างชาว "เทวนิยม" พึ่งกันอยู่ทั่วไป

ผู้เป็นพุทธที่"สัมมาทิฏฐิ"จะมีน้ำหนักของเนื้อหาที่เป็นคุณค่าแห่งความเชื่อมั่น (ศรัทธินทรีย์) สูงเพราะ พร้อมไปด้วยปัญญา -สมาธิ-สติ-วิริยะ ยิ่งกว่าความเชื่อสามัญของคนทั่วไป (ศรัทธา) เพราะเป็น "ศรัทธาแบบโลกุตระ" ที่เจริญมี "อินทรีย์ ๕" และเจริญบริบูรณ์ ด้วยองค์แห่ง "ศรัทธา ๑๐" (พระไตร ปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๘) ว่า "กรรม" ทั้งปวงที่ตนกระทำนั้นเอง เป็นสัจจะใหญ่ยิ่ง ที่จะจัดการ ให้มีความเป็น คนของตน เป็นไปต่างๆ และสามารถจะเปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงตนเอง ให้เจริญ ให้ประเสริฐ สู่ความสูงสุด เท่าที่คนจะพึงเป็นได้ก็ด้วย "กรรม"

ดังนั้น "กรรม" ต่างๆใดๆที่เป็น "ความประพฤติ" หรือ "จรณะ" ตั้งแต่ข้อที่ ๑ คือ "ศีลสัมปทา" นั้นก็เพื่อ ประโยชน์ (อานิสงส์) หรือเพื่อผล (อัตถะ) พัฒนาตามหลักธรรมของศาสนาพุทธ ที่พระพุทธเจ้าตราไว้ ให้แก่มนุษย์แท้ๆ

และการปฏิบัติ "ศีล" ที่จะถึงขั้น"ศีลสัมปทา"กันจริงๆก็ต้องมีประโยชน์หรือมีผลขั้นพัฒนาจิต จนกระทั่ง ที่สุดก็เพื่อ "วิมุติ" แน่แท้ จะมิใช่เพื่อประโยชน์ หรือเพื่อผลแค่พัฒนากายพัฒนาวจี เท่านั้น ดังที่ได้ พูดมาซ้ำซาก แล้ว ส่วน"อธิจิต" ซึ่งหมายถึง "สมาธิ" และ "วิมุติ" นั้นก็มิใช่จะต้องแยกส่วน การปฏิบัติ ออกไปต่างหาก จากชีวิตที่ทำมาหากิน อยู่ปกติสามัญ ตามที่ได้สอนกันผิดๆ แล้ว ก็เชื่อตามๆกันมา แต่การปฏิบัติ "ศีล" จะเกิดประโยชน์เกิดผลทั้งพัฒนากายพัฒนาวจี และทั้งพัฒนาจิตให้เป็น "สมาธิ" ซึ่งปฏิสัมพัทธ์กันและกันเป็น "ปัญญา" เป็น "วิมุติ" จนถึงที่สุดของศาสนาพุทธทีเดียว ดังที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๑ และข้อ ๑๐๘

เช่น ศีลข้อ ๕ ที่ว่า ให้เรางดเราเว้นการเสพของมึนเมา เป็นต้น เราก็ต้องรู้ต้องเข้าใจแน่ชัด เสียก่อนว่า ศีลข้อนี้ เป็น "บาปสมาจาร" (ความประพฤติอันเป็นบาป) หากใครทำอยู่ก็เป็นบาปแน่ ไม่ว่าใคร จะถือศีล หรือไม่ถือศีลก็ตาม ถ้ากระทำก็บาป ทั้งนั้น เพราะ "กรรมเป็นของของตน" (กัมมัสสกะ) เมื่อผู้ใด "กระทำ" มันก็คือ "กรรม" ของผู้นั้น จะถือศีลหรือไม่ถือศีล กรรมก็คือการกระทำที่ตนทำ เมื่อตน ทำลงไปแล้ว ก็ต้องเป็น"วิบากของตน" "ศีล"นั้นเป็นพระเมตตาของพระพุทธเจ้าต่างหาก ที่ทรงช่วย ชี้ทรงกำชับ เร่งให้ปฏิบัติ เป็นขั้น เป็นระดับ ตามฐานะ

[มีต่อฉบับ๑๗๓]

เพราะฉะนั้น "ศีล" ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติจัดระดับให้นั้น ก็คือ การชี้ระดับ"บาป"

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๑-๑๗๒ ตุลาคม พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -