ชีวิตนี้มีปัญหา๑ - สมณะโพธิรักษ์ -

(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๑)


เพราะฉะนั้น "กายวิเวก" จึงมิใช่"วิเวก"หรือมิใช่"ความสงบ" ที่จะต้องไปหลงยึดติดมุ่งมั่นเอาให้ได้ให้ถึง มิใช่"ความสงบ" ที่ทุกคนต้องมี ต้องเป็นให้ได้ จึงจะบรรลุนิพพาน แม้"กายวิเวก "จะหมายความถึง "กายกรรม" ที่สงบจากอกุศลทุจริต ทั้งปวงแล้วก็ตาม ก็หาใช่สภาวะแท้ของ "ความสงบ" ที่เป็น "มรรคผลนิพพาน"ไม่ เพราะรูปธรรมหรือสถานที่สงัดสงบนั้น ก็เพียงเพื่อใช้อาศัยปฏิบัติ บางคราว บางคน อาศัยใช้ฝึกฝน ใช้ตรวจสอบ ทบทวน ตามฐานะ บางฐานะ ตามกาละบางกาละ ก็เฉพาะคน เฉพาะคราว ของบางคนบางคราว แต่มิใช ่"วิเวก" หรือ "ความสงบ" ที่คนจะไปหลงยึด หลงติด แล้วก็จมอยู่ในป่าในเขา ในสถานที่ เงียบต่างๆนั้นแน่ๆ ซึ่งมีการหลงผิด เผลอไปติดไปยึด เอาป่าเขาถ้ำ หรือสถานที่เงียบสงัด และไปอยู่ไปอาศัย อย่างหลงผิด แล้วก็หลงติด จมอยู่กับสถานที่ เงียบสงบ เยี่ยงที่กล่าวนี้ ทุกวันนี้มีอยู่มาก ในวงการศาสนาพุทธ

การออกไปอยู่ป่าเขาถ้ำ หรืออยู่แต่ผู้เดียวนั้น ถ้าพินิจให้ดีตามพระพุทธพจน์ที่ยกมาให้อ่านผ่านมาแล้ว ก็ชัดๆอยู่ว่า ป่าทำวิเวกได้ยาก.. ซึ่งในวงการพุทธ ทุกวันนี้หลงผิดไปมาก โดยหลงว่าการปฏิบัติธรรม ต้องเข้าป่า สิงสู่จมอยู่ในป่า อยู่แต่ผู้เดียวกันตะพึด ซึ่งยังไม่ถูกถ้วน (ยังไม่สัมมา) ยังไม่งามด้วย เบื้องต้น -ท่ามกลาง -บั้นปลาย

หรือแม้แต่ "ความสงบ" ที่ผู้ปฏิบัติได้จากปฏิบัติ "สมถภาวนา" เป็น"เจโตสมถะ" อันมิใช่ "โลกุตระ" นั้น แตกต่างจาก "ความสงบ" ที่เป็น "อาริยผล" ของ "วิปัสสนาภาวนา" อย่างไร ก็เข้าใจปนเป ผิดสภาพ ผิดกาละ กันเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ก็มิใช่น้อย ดังนี้เป็นต้น

ที่มิจฉาทิฏฐิสำคัญกว่านั้น ก็คือ อาริยสัจ ๔ ก็ดี สัมมาสมาธิ ที่เกิดจากการปฏิบัติ "มรรค ทั้ง ๗ องค" ก็ดี ก็พาลไม่เข้าใจ และปฏิบัติไม่เป็น ไม่ถูกต้อง จึงไม่มีสัมมามรรค -สัมมาผล เพราะปฏิบัติอยู่แต่กับ ตัวเอง อยู่แต่ผู้เดียว ไม่ต้องยุ่งกับใคร ยิ่งกว่านั้นคือ หนีเข้าป่าเขาถ้ำ ไปให้ไกลผู้คน ออกห่างไป จากสังคมหมู่ชน โดยเห็นว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ นี่คือ ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ ของ"หินยานหรือเถรวาท" จึงเป็นความเสื่อม ไปจากพุทธธรรม ของพระพุทธเจ้าแล้ว เสื่อมจากมรรคผล เสื่อมจาก"มรรค องค์ ๘" เสื่อมจากโลกุตระ เพราะชาวพุทธปฏิบัติ "สัมมากัมมันตะ-สัมมาอาชีวะ" ให้เกิดมรรคผล ไม่เป็นแล้ว ต่างหลงผิด ไปยึด เอาการปฏิบัติแบบฤาษีเก่า ที่อยู่ป่าอันเป็นลัทธิดั้งเดิม เหมือนฤาษีเก่า อาฬารดาบส อุทกดาบส เพราะไม่รู้จัก "สัมมาสมาธิ" อันเป็นอาริยะ ที่ตรัสรู้โดยพระพุทธเจ้า รู้จักก็แต่ "สมาธิ" แบบหลับตา สะกดจิต เข้าไปอยู่ในภวังค์ จึงกลายเป็นพวก "อัตตาธิปไตย" หลงไปกับความเป็น "ตัวตน" โดยไม่รู้ตัวซึ่งอยู่กับ "ภพ" ภายใน หรือติดอยู่แต่ในภวังค์เป็นใหญ่

ดังนั้น ชาวเถรวาทเมื่อเอาแต่ประโยชน์ตน หลง ผิดอยู่แต่กับตัวตน หนักเข้าก็เห็นแก่ตนมากขึ้นๆ จึงมีแต่ "ความเป็นตน" (อัตตา) เพราะเห็นแต่แก่ตน จึงหลงตน (โมหะ) ยิ่งๆขึ้น หนักเข้าโมหะก็เจริญ เป็นอวิชชา จึงไม่เข้าใจไม่รู้จัก "ความเป็นตน" (อัตตา) ตนทำให้แต่แก่ตนปานใด ก็ไม่รู้เท่าทัน ความเป็นตน แม้จะมี "ตัวตน" ใหญ่หนาโตปานใด ก็ไม่สามารถรู้ "ความเป็นตัวตน" (อัตตา) ของตน เพราะความรู้ที่รู้ "ตัวตน"นี้ เป็นเรื่องของ ปรมัตถธรรม ขั้นโลกุตระ

ที่สังเกตได้ชัดๆว่า เถรวาทไม่รู้จักโลกุตระ ก็เช่น "มรรค องค์ ๘" อันเป็น"อาริยสัจ"แท้ๆ ซึ่งต่างก็เรียน ต่างก็ท่อง กันมาทั้งนั้นว่า เป็นทางปฏิบัติไปสู่ นิพพาน ไปสู่โลกุตรภูมิ เป็น"อาริยะ" ไม่ใช่ทางปฏิบัติไปสู่ โลกียภูมิสักหน่อย แต่พอเอาไปปฏิบัติก็ปฏิบัติแบบ"โลกียะ" กันทั้งนั้น เพราะ "ทิฏฐิ" ในมรรค ข้อที่ ๑ ยัง"มิจฉา" ยังเข้าใจ"โลกุตระ"ไม่ได้ ดังนั้น ข้อที่ ๒-๘ ในมรรค ๘ จึงเป็น "โลกุตระ"ไม่ได้ จึงยังเป็น "โลกียะ" อยู่นั่นเอง อาจจะเป็นกุศล แต่ก็เป็นกุศลโลกียะ ไม่ว่าสังกัปปะ-วาจา-กัมมันตะ-อาชีวะ-วายามะ-สติ-สมาธิ ล้วนยังเป็น"โลกียะ"อยู่ทั้งสิ้น เพราะประธานของมรรค ทั้ง ๗ องค์ คือ "ทิฏฐิ" ยังไม่เป็น "สัมมาทิฏฐิ" ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน "มหาจัตตารีสกสูตร" (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑)

ชาวเถรวาททุกวันนี้เมื่อพูดถึง "อัตตา ๓" (โอฬาริกอัตตา-มโนมยอัตตา-อรูปอัตตา) ก็ไม่รู้จักกันแล้ว เพราะขาด การศึกษา อย่างสัมมาทิฏฐิ ที่จะรู้จัก "ความเป็นตัวตน" (อัตตา) จึงไม่สามารถรู้แจ้ง รู้จริงใน "ความเป็นตัวตน" ที่เป็น "ปรมัตถธรรม" ฉะนั้น ความสามารถชนิดที่ "ตามเห็นความเป็นตัวตน" (อัตตานุทิฏฐิ) ของตนในขณะปฏิบัติด้วยวิปัสสนาญาณหรือด้วยวิชชา ๙ แล้วเกิด"อนุปัสสี ๔" (อนิจจานุปัสสี -วิราคานุปัสสี -นิโรธานุปัสสี -ปฏินิสสัคคานุปัสสี) จนที่สุดสามารถรู้เห็นรูปธรรม-นามธรรม ทั้งหลาย "โดยความเป็นอนัตตา" (อนัตตโต) ได้จริงแท้ ตามที่พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๘ ข้อ ๒๕๖ จึงหาเกือบไม่ได้แล้ว ในชาวเถรวาททั้งหลายปัจจุบันนี้

"ความรู้อันเกี่ยวกับตัวตน,ทฤษฎีที่ว่าด้วยความเป็นตัวตน" (อัตตทิฏฐิ) จึงเลือนหายไป จึงหมดไปจาก วงการพุทธ กลายเป็นผู้ยึดได้แค่ "อัตตวาทุปาทาน" (การยึดมั่นคำพูดว่าเป็นตัวตน) ทั้งแบบ "อุจเฉททิฏฐิ" (ความเห็นว่าขาดสูญ) และทั้งแบบ "สัสสตทิฏฐิ" (ความเห็นว่าเที่ยงแท้)

เมื่อไม่มี"ความรู้อันเกี่ยวกับตัวตน" (ไม่มีอัตตทิฏฐิ) ก็ไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริง"ความเป็นตัวตน" หนักเข้า ก็ปฏิบัติ ตามทฤษฎีของ พระพุทธเจ้า ไม่เป็น ไม่ถูกถ้วน เพราะเข้าใจ คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นโลกุตระไม่ได้ เช่น "สัมมามรรค องค์ ๘" เป็นต้น ก็ปฏิบัติไม่เป็น ถึงจะยืนยันว่าเป็น ก็ไม่ใช่ "โลกุตระ" แม้จะปฏิบัติกัน อย่างเคร่ง ก็ปฏิบัติกันผิดไปจากความเป็นโลกุตระ ต่างยังไม่พ้น "วิสัยโลกีย์" เห็นอยู่ชัดๆว่า ยังพากัน แสวงหาลาภ หายศ หาสรรเสริญ เจริญโลกียสุข อยู่โต้งๆ หรือแม้จะปฏิบัติ ชนิดลดกามสุข ไม่สะสม ลาภยศแล้ว เห็นได้ว่า เป็นผู้มักน้อยสันโดษ เหมือนชาวฤาษี ดาบส ของเดียรถีย์ ปริพาชก ซึ่งเขาก็มักน้อย ก็สันโดษ และเขาสามารถประพฤติมักน้อยสันโดษ ได้สุดอุกฤษฏ์ ยิ่งกว่าชาวพุทธ ประพฤติด้วยซ้ำ แต่ฤาษีเหล่านั้น ก็ยังไม่ใช่ "อาริยบุคคล" อยู่ดี แม้แค่เป็นโสดาบัน ตามทฤษฎีของพุทธ เพราะคุณสมบัติ แค่ มักน้อยสันโดษ ยังไม่ใช่ประเด็นหลัก หรือ นัยสำคัญ ที่เป็นตัวชี้บ่ง ความบรรลุมรรคผล ของพุทธศาสนา การลด "ตัวตน" จนมีมรรคผล มีนิพพิทาญาณ (ความรู้ที่ทำให้หน่ายโลกีย์นั้นๆ) เกิดวิราคะ (ความจางคลายของกิเลส) และได้กำจัดตัวตน กระทั่งมีผล เป็นนิโรธ (ความดับกิเลส) เป็นอนัตตา (ไม่มีตัวตนของกิเลส) ต่างหาก ที่เป็นตัวชี้สำคัญ ของศาสนาพุทธ

ผู้จะเป็น "อาริยบุคคล" ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ต้องมีภูมิถึงขั้น "ปรมัตถธรรม" และมี "วิชชา ๘" เริ่มต้น จากวิชชา ข้อ ๑ คือ วิปัสสนาญาณ หรือ มีญาณ ๗ (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๒ ข้อ ๕๔๓) ที่หยั่งเข้าไป"รู้" (ชานาติ) "เห็น" (ปัสสติ) สภาวะแท้ของ "ความละตัวตน" อันเป็นมรรคผล ดังนั้น "ตัวตน" ตัวที่ถูกละ ถูกลดนี้ จึงเป็น"ตัวตน" ที่ผู้ปฏิบัติต้องมีวิปัสสนาญาณ จับมั่นคั้นตาย จนรู้จักรู้แจ้งรู้จริงตัวมัน ซึ่งเป็น "ตัวการ" โดยเฉพาะคือ ตัวกิเลสในจิต จึงจะจัดการมันได้ แล้วต่อจากนั้น ก็ต้องมีความสามารถทางจิต คือ วิชชา ข้อ ๒ ที่ชื่อว่า "มโนมยิทธิ" (ฤทธิ์ที่เก่งทางจิต) จึงจะกำจัดกิเลสในจิต จนละจนลด "ตัวตนกิเลส" นั้นๆ ลงได้จริง ไปตามลำดับ สุดท้ายสามารถดับกิเลสนั้นๆได้สนิทสิ้น "ตัวตน" เกลี้ยง ไม่มีตัวตน (อนัตตา)

ที่น่าจะได้รู้เพิ่มขึ้นอีกประเด็นหนึ่งก็คือ "ตัวตน" ตัวที่วิปัสสนาญาณสามารถจับมั่นคั้นตายได้นี้ ท่านตั้งชื่อ เป็นภาษาใหม่ว่า "สักกายะ" มีนัยสำคัญ ที่ต่างจากคำว่า "อัตตา" เพราะ "ตัวตน" ที่เรียกว่า "สักกายะ" นี้ ผู้ปฏิบัติ "สามารถ" (สักก) รู้จักรู้แจ้งรู้จริงตัวตนนั้นจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงรู้ภาษาเฉยๆ หรือแค่รู้ลึกๆลับๆ ยังจับ "ตัวตน" นั้นไม่ได้ แต่เป็นเรื่องจริงที่ "เป็นไปได้" (สักก) จริงๆ "ตัวตน" ที่เรียกว่า "อัตตา" จึงมีนัยสำคัญต่างกับ "สักกายะ"

กล่าวคือ "ตัวตน"ที่เรียกกันว่า "อัตตา"นั้น เป็นคำเรียก "ตัวตน" กลางๆทั่วไป เป็นสามานยนาม (common noun) ส่วน "ตัวตน" ที่ใช้ศัพท์เรียกว่า "สักกายะ" นี้ เป็นวิสามานยนาม (proper noun) เพราะเป็น "ตัวตน" ที่ถูกระบุเฉพาะลงไปว่า เป็น "ตัวตน" ที่ผู้มีวิปัสสนาญาณ สามารถสัมผัส ตัวตนนั้นๆ จริง มิใช่"ตัวตน" (อัตตา) ที่พูดที่เรียกกันกลางๆทั่วไปเท่านั้น ผู้พ้นอวิชชาใน "ตัวตน" เป็นไปได้ ฉะนี้แล เรียกว่า "พ้นสักกายทิฏฐิ" ดังนั้น เมื่อมีความรู้ความสามารถละลด "ตัวตน" ตัวนี้ลงได้ จึงเรียกว่า "ละสักกายทิฏฐิ" ขยายความอีกทีก็คือ ผู้ปฏิบัติมีญาณและมีวิธีปฏิบัติ จนสามารถ ทำให้เกิด "วิราคะ" ถึงขั้น "พ้นสังโยชน์" ข้อ ๑ คือ พ้นสักกายทิฏฐิ ได้สำเร็จ จึงจะนับว่าเริ่มมีมรรคผลของพุทธ เป็นอาริยบุคคลขั้นต้น ถ้าขั้นสูงสุด ก็เรียกว่า "สักกายนิโรธ" คือ การดับตัวตนที่ชื่อว่า "สักกายะ" จนสิ้น "ตัวตน" ตัวสุดท้ายของสักกายะที่ชื่อว่า "อาสวะ" ได้ โดยดับ "สักกายสมุทัย" (ตัวเหตุ ที่ทำให้เกิด สักกายะ) กันทีเดียว มีสิ่งพิสูจน์เป็น "สิ่งจริงปรากฏ (ปาตุภาวะ) ตามความจริง (สัจจโต) " ตัวนั้นตัวนี้ ส่วนนั้นส่วนนี้ ชัดแจ้งเห็นจริง มิใช่เดาดุ่ม "ดับ" ตะพึดตะพือ หรือ "ดับ" อย่างไม่รู้ตัวเหตุตัวปัจจัย เป็นอันขาด

เท่าที่ได้อธิบายผ่านมานั้น คือ เนื้อหาสารสัจจะแห่งความเป็นพุทธ แต่ทุกวันนี้ได้ผิดไปจากสารสัจจะ อันเป็นเอกลักษณ์ของพุทธ ไปเกือบหมดสิ้นแล้ว ทั้งมรรค ทั้งผล นั่นก็เพราะความรู้และการปฏิบัติ มิได้เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกขอาริยสัจ หรือไม่เข้าทางแห่งความเป็นไป เพื่อนิพพาน ตรงตามที่ พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ และทรงสอนไว้ ฉะนี้แลคือ ความเสื่อมที่เกิดอยู่ในศาสนาพุทธ

เมื่อสารสัจจะของความรู้และการปฏิบัติ ไม่สัมมาทิฏฐิ ชาวหินยานหรือเถรวาท จึงปฏิบัติออกนอก ทางพุทธ ไปเรื่อยๆ มาถึงวันนี้ก็พลัดหลงไปยึดเอา การปฏิบัติแบบฤาษีดาบส เดิมๆเก่าๆ ที่หนีเข้าป่า นั่งสมาธิ จมอยู่ในภพเพราะไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริง"ความเป็นภพ"ที่อัตตา อาศัย การปฏิบัติแบบ ฤาษีดาบสนี้ ได้ผลสูงสุด ก็แค่ "อรูปฌาน" ในภวังค์เท่านั้น อย่างเช่น อาฬารดาบส -อุทกดาบส พึงได้พึงถึง เป็นต้น ซึ่งแม้จะสำเร็จสูงสุด ก็ยังไม่สิ้นภพ จบชาติ ยังเป็น"อรูปฌาน" ที่มีอัตตาเสวย "ภพ" อยู่โดยแท้

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -