ใครคือชาวพุทธไทยร่วมสมัย (ตอน ๙)
* ส.ศิวรักษ์
* มุทิตาสักการะในโอกาสที่พระราชมงคลวุฒาจารย์
มีชนมายุครบ ๗ รอบนักษัตร ๑๐ มกราคม ๒๕๔๕



เมื่อได้ฟังคำของคนอเมริกันรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกวีอย่างมีชื่อเสียง ที่ท้าทายความคิดกระแสหลัก ของสหรัฐ ในทางวัตถุนิยม จนกลายมาเป็น พุทธศาสนิกแล้ว ขอให้เรามาฟังคำของพระธนิสสโรภิกขุ ซึ่งเป็น ชาวอเมริกัน ที่เคยมีชื่อว่า เจฟรีย์ เดอกราฟ แล้วมาบวชที่เมืองไทย ในปี ค.ศ. ๑๙๗๖ (พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งเป็นปีมหาวิปโยคของไทย) แล้วกลับไปเป็นเจ้าอาวาส ที่วัดป่าในสหรัฐแต่ปี ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ดูบ้าง โดยที่เรานับถือ ฝรั่งมานาน ลองฟังถ้อยคำของฝรั่งนอกกระแสหลัก ที่หันมาหา พระศาสนา ดูสิว่า จะเป็นบทเรียน ให้กับไทยร่วมสมัย ได้อย่างไรหรือไม่

ในช่วงอาทิตย์อุทัย อาตมานั่งอยู่บนขอบของแผ่นศิลาบนยอดเขาทางภาคใต้ ของรัฐยูทาห์ เหนือ อาตมา ขึ้นไป คือท้องฟ้าที่มีสีจางๆ อันกว้างใหญ่ ใต้อาตมาลงไปเป็นเมืองรอกวีล และพ้นนั้น ออกไป ก็มีหน้าผา สีกุหลาบและ สีปลาซัลมอน ของอุทยานแห่งชาติ ชื่อซีออน

ถ้านี่เป็นเมืองไทย อาตมาย่อมอาจลงไปบิณฑบาตที่เมืองรอกวีลได้ แล้วอาตมาก็จะเป็นอิสระ ที่จะจาริก ไปตามแผ่นศิลาใหญ่ บนยอดเขาต่างๆ เพื่อนั่งภาวนาใต้หุบเขายามกลางวัน และภาวนา บนนั้น ยามกลางคืน โดยอาจทำความเพียรอยู่ เป็นสัปดาห์ๆ ก็ได้ แต่ตามความเป็นจริง ณ ที่สหรัฐนี้ เพื่อนของอาตมาซึ่งขับรถพาอาตมามาที่นี่ ย่อมต้องทำอาหารเลี้ยงอาตมา และเพียงภายใน เวลา ไม่กี่วัน เราต่างก็ต้องกลับไปสู่ภาระหน้าที่ของเราในรัฐคาลิฟอร์เนีย เพื่อนคนนี้ย่อมกลับไปสู่ ครอบครัว ของเขา อาตมาก็กลับไปวัด ของอาตมา

ชีวิตของพระในอเมริกานั้น มีอิสรภาพน้อยกว่าในเมืองไทย อาตมาได้รับการฝึกอบรมที่ ประเทศไทย มาสิบสี่ปี อาตมารู้ได้ถึงข้อแตกต่าง จนเข้าไปถึงกระดูก ของตัวเอง ที่เมืองไทย พระจะจาริกไปไหนๆ เป็นเดือนๆ ก็ได้ โดยแน่ใจได้ว่าจะมีคนเอาอาหารมาใส่บาตร เมื่อเราเดินออกบิณฑบาต ตอนเช้า แม้พระส่วนใหญ่จะพอใจแสวงหาความมั่นคงของชีวิตตามวัดบ้าน หรือวัดเมือง ยิ่งกว่าการออกไป เสี่ยงภัยในป่าก็ตามที แต่อุดมคติของพระป่าก็ยังดำรงคงอยู่ในเมืองไทย ไม่ใช่มีอยู่อย่างลอยๆ หากเป็นทางเลือกของ การดำรงชีวิตอย่างหนึ่ง

นับเป็นศตวรรษๆ มาแล้ว ที่พระนักปฏิบัติได้จาริกไปในป่าต่างๆ ทางเอเชียอาคเนย์เรื่อยมา นับเป็น การดำรงชีพ อย่างพึ่งพากันและกัน ของนักบวช ที่มีชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ ที่บรรสานสอดคล้องกับ ชาวไร่ ชาวนา ที่อยู่ตามชายป่า ซึ่งมีปัจจัยไว้พอ สำหรับเลี้ยงพระเหล่านี้

พระวินัยกำหนดให้พระดำรงชีพอยู่นอกเหนือระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด คือให้พระเลี่ยงกิจกรรม อันจะทำให้พระเหินห่าง จากการมีชีวิต อย่างป่าๆ อันบริสุทธิ์นี้ กล่าวคือพระวินัยห้ามพระทำไร่ไถนา ห้ามพระเลี้ยงปศุสัตว์ ห้ามพระทำมาค้าขาย หรือเก็บอาหารไว้ แต่มองในอีกแง่หนึ่ง พระก็เป็นนักล่า และนักเก็บเกี่ยว แต่พระย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เก็บพืชผักผลไม้ หรือขุดดิน พระก็ล่าและเก็บเกี่ยว ต่างหาก ไปจากชาวบ้าน คือพระเก็บเกี่ยวจากอามิสทาน ที่ชาวบ้านถวาย และพระก็ล่ากิเลสของตน เพื่อทำตน ให้บริสุทธิ์ สมกับไทยทานที่พระได้รับมา ด้วยการเลี้ยงชีพอย่างปล่อยวาง อย่างเบาบาง และอย่าง มีคุณธรรม ด้วยการมีความต้องการ น้อยที่สุด สำหรับการดำรงชีพ

ทั้งพระและโยมต่างก็เป็นผู้ให้ ในความสัมพันธ์ของกันและกันเช่นนี้ โดยที่พระก็มีอิสระ ที่จะมีเวลา เป็นวันๆ สำหรับภาวนา ตามสิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติที่เหมาะสม สำหรับการเจริญสติ เพื่อทดสอบ ขันติและวิริยะ โดยกล้าเผชิญกับภยันตราย ในทางร่างกาย และจิตใจ จากสัตว์ป่า เพราะยึดเอา พระธรรม เป็นสรณะ ที่ช่วยให้เกิดความมั่นใจ เป็นหลักในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ช่วยให้พระรู้ซึ้ง ถึงพระธรรมคุณ และเข้าใจในรสพระธรรม จากการปฏิบัติธรรม ซึ่งไม่อาจหาได้จากการอ่านพระคัมภีร์

ข้างฝ่ายทายกทายิกาก็ย่อมมีโอกาสใกล้ชิดกับสมณะ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ชีวิต ทั้งหมด เพื่อรสของพระธรรม โดยพระก็พร้อม ที่จะอธิบายพระธรรม ที่ตนได้สัมผัส ให้เป็นคุณประโยชน์ แก่ญาติโยม

ตามปกติพระป่ามักไม่เขียนอะไรไว้บนแผ่นกระดาษ หรือทิ้งรอยเท้าไว้ตามรอยที่ท่านจาริก ไปตามวนา คนที่เขียนประวัติศาสตร์ ของพุทธศาสนา ในเอเชียอาคเนย์ โดยทั่วๆ ไป จึงมักไม่ได้รับรู้ถึงพระคุณเจ้า เหล่านี้ แต่ถ้าเจาะลึกลงไป ในทางอดีตอย่างจริงจัง ก็จะเห็นได้ว่า พระป่าได้มีบทบาทอย่างสำคัญ ที่ช่วยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่อย่างมีชีวิตชีวา

เวลาเกิดสภาวะวิกฤต ที่คนในศูนย์แห่งอำนาจขาดศรัทธาปสาทะ โดยเฉพาะก็เมื่อพุทธศาสนา ไกล่เกลี่ย กับชีวิต ชาวเมือง จนเนื้อหาสาระ ของพระธรรม จางหายไปได้มากๆ ผู้คนย่อมจะหันไปหา พระป่า ให้มาช่วยผลักดัน ในการทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา ขึ้นได้

ด้วยวิธีนี้นี่แล ที่พระป่าเหล่านี้เป็นตัวสร้างคุณค่าในทางธรรม เพื่อต้านพลังทางเศรษฐกิจ และค่านิยม ทางโลกๆ ให้หันมาหา พระสัทธรรมที่แท้ได้

ถ้าพุทธศาสนาแบบป่า มาลงรากได้ที่อเมริกา ก็จะเป็นการดีมิใช่น้อย โดยที่นี่ก็เหมือนขบวนการ ความเป็นป่าอย่างอื่นๆ ที่มีในสหรัฐ คือต้องอยู่นอกเหนือ กระแสหลัก เพราะนี่แลคือประเด็นที่สำคัญ คือความเป็นพระป่า มีอยู่เพียงอย่างทางเบื้องหลังเท่านั้น เพื่อช่วยให้พุทธศาสนา ในอเมริกา มีตีน อันติดดิน โดยช่วยสร้างทางเลือกให้ และบางครั้ง ก็ช่วยแก้ไขให้ หรืออาจต้านทานกระแส ของ การตลาด ทางกระแสหลักได้ด้วย เพื่อให้ปรากฏ ซึ่งวัฒนธรรมแห่งการตื่น คือความเป็นพุทธนั่นเอง

พร้อมๆ กันนั้น คณะสงฆ์ที่ถือธุดงควัตรตามรุกขมูล ย่อมอาจช่วยฝึกปรือให้ฆราวาสที่อาจ อยากแสวงหา ธรรมะ อย่างป่าๆ ให้เข้าหาป่า อย่างจริงจัง และลึกซึ้ง ดังประเพณีของอเมริกัน ก็เคยมีแล้ว จากภูมิปัญญาของชาวป่า เช่น ของพวกอินเดียนแดง รวมมาจนถึงบุคคลเช่น ทอโร่ และมูอีส์ แต่พวกนี้ไม่อาจเข้าได้ถึง ที่สุดแห่งทุกข์ เพราะไม่ได้วิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงความแก่ ความเจ็บ และความตาย โดยไม่มีข้อเสนอแนะ ว่าจะไปพ้นความแก่-เจ็บ-ตาย ได้อย่างไร

ขอให้คิดดูว่าสหรัฐของเราจะร่ำรวยขึ้นถึงเพียงไหน ถ้าตามวนาของเรา มีคนซึ่งเป็นที่ยอมรับ กันว่า เขาเข้าถึงสภาวะจิต อันสูงส่ง หรือลุ่มลึก ทางด้านการภาวนา โดยเขาอาจให้คำตอบได้อย่างแม่นยำ ในเรื่อง ความทุกข์ต่างๆ โดยที่คนพวกนี้ก็เข้าได้กับ ชาวบ้าน ชาวเมือง

คนที่เบื่อระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ย่อมต้องการบางคนที่เขาควรหันไปหาได้ โดยที่คน บางคน ที่ว่านี้ ย่อมอาจหันพระธรรมจักร ให้เป็นไปได้เรื่อยๆ ในทุกขณะที่เขาแนบสนิทกับป่า โดยมีชีวิต ที่แท้จริง กับความเป็นป่าที่ว่านี้

เขาเหล่านี้ย่อมเข้าถึงพระธรรมวินัย ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่านำมาประยุกต์ได้อย่างไม่จำกัดกาล เป็นเวลา กว่า สองพันห้าร้อยปี ที่ช่วยให้บางคน ไปพ้นการเกิด และการตาย

บุคคลที่ว่าหรือพระป่าเหล่านี้ ดำรงชีพอยู่ได้เพราะวัฒนธรรมแห่งการให้ทาน หรือการถวาย บิณฑบาต ซึ่งช่วยให้สมณะพวกนี้ มีอิสรภาพในการดำเนิน ตามครรลองแห่งพระธรรมวินัยเท่านั้น อย่างเต็มเวลา เอาเลย

แม้คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ก็อาจต้องหันไปหามิตรของเขาที่ละวิถีชีวิต กระแสหลัก ออกไปมีประสบการณ์อย่างป่าๆ เพื่อเข้าได้ถึง องค์คุณทางปัญญา ซึ่งสังคมปัจจุบันของเราโยนทิ้ง ไปเสียแล้ว อย่างน่าเสียดาย

ถ้าคนในและกระแสเศรษฐกิจแบบการตลาด มีโอกาสได้เรียนรู้ดังวิธีที่กล่าวมานี้ อาจช่วยให้ สังคม มีสุขภาพดีขึ้น ทั้งผู้ที่ออกไปอยู่ป่า ก็มีโอกาส ได้อยู่กับป่า เพื่อรักษาป่าไว้ให้อยู่ในสภาพทางธรรมชาติ ที่เหมาะสมอีกด้วย และยิ่งถ้าเราได้รับสติปัญญา จากป่ามากเท่าไร ประชาชาติของเราทั้งหมด ก็จะเจริญขึ้น ในทางอารยธรรมอีกด้วย

ความสัมพันธ์ดังที่ว่ามานี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบก็คือ ต้องมีมวลชนที่รู้จักวิพากษ์ วิจารณ์ สองประเภท ประเภทหนึ่งคือชาววัด อีกประเภทหนึ่ง คือชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ป่า และชาวบ้าน เหล่านี้ ต้องเห็นคุณค่า ของระบบวัดป่า

จะต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะเกิดมวลชนที่มีสติปัญญาเช่นนี้ขึ้นได้ คำตอบก็คือ ต้องใช้เวลา ไม่น้อย กว่าสิบปี แม้สิบทศวรรษ ก็อาจไม่พอ เพราะวัดที่ดี เกิดขึ้นไม่ได้อย่างฉับพลัน แต่ละคนของชาววัด และชาวบ้านที่ว่า ต้องใช้เวลาส่วนตัว และความเพียรพยายามมาก เพื่อฝึกปรือนิสัยปัจจัย ให้เกิด ความพร้อม ยิ่งจะให้ชาวบ้านชาววัดเชื่อใจ และไว้ใจซึ่งกันและกัน อย่างสนิทได้ วัดพุทธในตะวันตก ต้องใช้เวลาพิสูจน์ จนคนเห็นว่าคุณค่าของวัด มีจริงอย่างนอกเหนือ ศีลธรรมจรรยาทั่วๆ ไป

ในปัจจุบัน ทางอเมริกาเหนือ มีวัดป่าเล็กๆ ตามธรรมเนียมไทยเพียง ๗ วัด เปรียบได้กับว่าแต่ละวัด เป็นดังโรงกระจก ที่ทดลองปลูกพืช เมืองร้อน ในเมืองหนาว โดยญาติโยมที่อุดหนุนวัดเช่นนี้ ก็มีเป็น จำนวนน้อยเช่นกัน บางครั้งพระก็ออกพ้นฟองสบู่มา จนได้พบกับ ญาติโยม ที่มีทุนทรัพย์ถึงขนาด ให้ขยายวัดออกไปได้ในภาคอื่นๆ ของประเทศ แม้กระนั้นวัฒนธรรมพุทธ ตามแบบที่ว่านี้ ก็ยังบอบบาง และยังไม่แน่นอน อาตมาเองก็มองไม่เห็นว่า บรรยากาศทางวัฒนธรรมที่ว่านี้ จะปลี่ยนแปลงไป จนพืชที่เพาะชำไว้ ในโรงกระจก จะออกมาหยั่งรากลึกได้หรือไม่ เพื่อเราจะได้ไม่ต้องการโรงกระจก อีกต่อไป

แต่ที่เรามองไม่เห็นมาก่อนนั้น ก็เกิดปรากฏการณ์บางอย่างขึ้นได้ ดังเมื่ออาตมาออกจากสหรัฐ ไปเมืองไทย ในปี ค.ศ.๑๙๗๖ นั้น มองไม่เห็นได้เลยว่า เมื่อกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนของตน จะได้รับการตอบสนองด้วยจากญาติโยม ในรอบ ๑๐ ปี ที่อาตมาตั้งวัดป่าขึ้น ในประเทศนี้

ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ชาวเราเป็นนักล่าและนักเก็บเกี่ยว เราจึงถือว่าอะไรก็ตาม ที่เข้ามาถึง หนทาง ของเรา ว่านั่นเป็นของขวัญ เราจึงไม่จำต้องวางแผน ระยะยาวไว้ให้เสียเวลา สิ่งที่เราควรจะทำคือ ทำตนของเราให้สมควรกับ ของขวัญอันเราควรจะได้รับ กล่าวคือ ธุรกิจประการแรก ของเราคือ เริ่มต้น จากการรู้จักเดินลมหายใจให้ถูกต้อง ตั้งแต่ที่นี่ในเวลานี้เลยทีเดียว

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -