บทความชวนคิด
TIP : เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ หรือเป็นเพียงวัฒนธรรม (อเมริกันชน) ?
- พิมพ์บูชา รัศมีวิเชียรทอง -

เมื่อพูดถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ทุกคนย่อมนึกภาพของประเทศมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ ทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม เชื้อชาติ และเจ้าแห่งเศรษฐกิจโลกรวมทั้งหน้าที่สำคัญอีกประการคือ ตำรวจโลก ที่คอยตรวจตราพฤติกรรมของประเทศน้อยใหญ่ให้อยู่ในกรอบที่วางไว้

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดินแดนแห่งนี้ยังคงดำรงความดึงดูดเย้ายวนใจให้เหล่าผู้แสวงหาโชคเดินทางไปขุดทองเสี่ยงโชคกัน เพราะถ้าขุดได้ (เจอช่องทางในการสร้างเนื้อสร้างตัว) นั่นหมายถึง ชีวิตความเป็นอยู่ที่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ความหอมหวนนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดจากประชากรหลายเชื้อชาติ หลายภาษา หลายศาสนาที่หล่อหลอมขึ้นมาบนดินแดนที่รู้จักในนาม "ประเทศสหรัฐอเมริกา" คนเหล่านี้ได้อพยพมาตั้งหลักปักฐานบนแผนดินที่อยู่ไกลโพ้นหรือคนละซีกโลกกับบ้านเกิดเมืองนอนของตน เพราะหวังที่จะสร้างโชคชะตาของตนขึ้นมาใหม่ในดินแดนที่เรียกว่า Land of opportunity (ดินแดนแห่งโอกาส)

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐที่ไปนั้นก็เป็นรัฐยอดนิยมที่มีคนเอเซียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นคือ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองที่ไปก็คือ ซานฟรานซิสโก แหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวสำคัญเมืองหนึ่ง ด้วยมีเอกลักษณ์สำคัญโดดเด่น สวยงาม ที่รู้จักกันดี "สะพานโกลเด้นเกต" ( Golden Gate Bridge) เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมือง ที่เมื่อพูดถึงก็รู้ทันทีว่า คือ ซานฟรานซิสโก

โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของ ในเมืองนี้ จึงผุดขึ้นมายิ่งกว่าดอกเห็ด ด้วยเหตุผลทางการค้าที่ไม่อาจปฏิเสธได้ถึงรายได้และผลกำไรที่ได้รับมากมายจากนักท่องเที่ยว (ทั้งคนต่างชาติและคนอเมริกันจากต่างเมือง) รวมถึงระบบขนส่งมวลชนที่มีให้เลือกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถราง หรือรถแท็กซี่ มีพร้อมสรรพ

ข้าพเจ้าพักอยู่ที่ซานฟรานซิสโกประมาณ ๑ อาทิตย์ เข้าพักที่โรงแรมย่านใจกลางเมือง (Union Sqrare) นั่งรถแท็กซี่มิเตอร์จากสนามบินโอ๊คแลนด์มายังโรงแรมที่พัก กินเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จ่ายเงินค่าโดยสารตามมิเตอร์ ๓๐ เหรียญ และจ่ายค่า tip ให้อีก ๗ เหรียญ !!! เนื่องจากรู้จากคนเคยมีประสบการณ์ว่า ไม่ได้จ่าย tip หรือจ่ายน้อยเกินไป คนขับแท็กซี่แสดงท่าทีโกรธฉุนเฉียวมาก ด้วยความเกรงใจข้าพเจ้าจึงยอม (จำใจ) จ่าย หลังจากนั้นพนักงานโรงแรมก็มาช่วยยกกระเป๋าขึ้นไป เมื่อ check in เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปบนห้องพร้อมกับบริกรโรงแรมที่ลากกระเป๋า โชคร้ายเหลือเกินไม่สามารถเปิดประตูห้องพักเข้าไปได้ เนื่องจากการ์ดกุญแจห้องมีปัญหา ข้าพเจ้าต้องขึ้นๆ ลงๆ ไปติดต่อที่เคาน์เตอร์เพื่อขอเปลี่ยนใหม่จึงได้เข้าห้อง หลังจากเก็บกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ tip อีก ๓ - ๔ เหรียญ รวมทั้งให้ tip ช่างซ่อมประตูด้วย

ถึงเวลาอาหารมื้อเย็น พี่ชายข้าพเจ้าเป็นเจ้าภาพเลี้ยงที่ภัตตาคารฮาวาย อิ่มหนำสำราญแล้วก็ถึงคราวจ่ายเงิน จะว่าไปค่าอาหารที่นี่อย่าได้คิดเทียบเงินบาทเป็นอันขาด เพราะอาจถึงกับช็อคได้ เนื่องจากค่าเงินบาทของเราอ่อนกว่าสหรัฐถึง ๔๐ เท่า ! อาจอิ่มทิพย์ไปเลยก็ได้ ค่าอาหารมื้อนั้นตกคนละ ๕๐ - ๖๐ เหรียญ แต่ต้องบวกค่า tip เพิ่มอีก ๙ - ๑๐ เหรียญ ประมาณ ๑๕ % ของค่าอาหารเป็นอย่างต่ำ

สรุปแล้ววันนั้น ค่า tip ที่ต้องเสียไปทั้งหมดก็หลายสิบเหรียญอยู่ ความเสียดายจึงบังเกิดขึ้นพร้อมกับความสงสัยที่ว่าทำไมต้องให้ tip? Tip กับคนอเมริกันเป็นของคู่กัน ? คนอเมริกันที่รู้จักคนหนึ่งเคยบอกว่า "ที่นี่มีทุกอย่างที่คุณต้องการ ขอมาสิ ได้ทั้งนั้น แต่คุณต้องมีค่าตอบแทนนะ เราบริการให้คุณได้อยู่แล้ว"

ข้าพเจ้าลองกลับมาเปิดพจนานุกรม ดูความหมายที่แท้จริงของคำว่า "tip" ซึ่งแปลว่า "a small amount of additional money that give to someone sush as a waiter or a taxidriver" (จาก Longman Dictionary of Contempory English) คือ เงินเพิ่มเติมให้แก่คน เช่น บริกร หรือคนขับรถแท็กซี่ ด้วยความหมายของ tip ทำให้คิดว่า คนอเมริกันมีเกณฑ์หรือเหตุผลอะไรหรือไม่ในการให้ tip ? ทำไม tip จึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของคนอเมริกัน?

ถ้าใช้หลักเศรษฐศาสตร์อธิบายการจ่าย tip (เงินเพิ่มเติม) สำหรับบริการใดๆ ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ทุกคนตัดสินใจโดยใช้เหตุและผล" (Rational Dicision) คนเราต้องเลือก (make choice) เลือกที่จะทำสิ่งนี้ ไม่ทำสิ่งนั้น โดยเกณฑ์ในการเลือกหรือตัดสินใจนั้น พิจารณาจาก "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" (Opportunity Cost) ที่ว่า ถ้าเราเลือกทำสิ่งนี้แล้ว จะเกิดต้นทุนเท่าไร หรือถ้าไม่ทำสิ่งนี้แล้วเลือกทำอีกสิ่งแทน จะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการไม่ได้ทำสิ่งอื่นๆ เท่าไร เราต้องเอาต้นทุนของทางเลือกแต่ละทางมาชั่งน้ำหนัก แล้วเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด (อาจจะต้นทุนต่ำสุดหรือกำไรสูงสุด) คิดง่ายๆ ก็คือ ดูว่าคุ้มไหมที่จะทำ! จะว่าไปแล้ว ทุกวันนี้เราใช้หลักเศรษฐศาสตร์โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะซื้อของ ต่อรองราคา สมัครสอบ เลือกคณะ สมัครงาน เป็นต้น

ข้าพเจ้าเรียนเศรษฐศาสตร์ จึงพยายามเอาหลักเศรษฐศาสตร์มาอธิบายการให้ tip จะเห็นได้ว่า tip เป็นจำนวนเงินที่ให้เพิ่มเติมในบริการที่เราได้รับ อาจกล่าวได้ว่าเป็นค่าสิเนหาจากการบริการ การให้เงินเพิ่มจากเงินพื้นฐานที่ต้องจ่ายให้แก่บริกร เช่น จ่าย tip ให้คนขับรถแท็กซี่นอกเหนือจากเงินค่าโดยสารที่ต้องจ่ายตามมิเตอร์ หรือจ่าย tip ให้แก่บริการนอกเหนือจากค่าอาหาร เป็นต้น ย่อมต้องมีเหตุผลรองรับ เหตุผลหนึ่งคือความพึงพอใจ (Satisfaction) ของผู้รับบริการที่มีต่อผู้ให้บริการ ทำให้เขายอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อตอบแทนความสุข ความสะดวกสบายที่เขาได้รับจากบริการนั้นๆ

จะเห็นได้ว่า tip ส่วนใหญ่จะให้เฉพาะสินค้าบริการเท่านั้น เราไม่ค่อยเห็นหรือแทบจะไม่เห็นการให้ tip ในการซื้อสินค้าทั่วๆ ไป ที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจากเหตุผล ๒ กรณี คือ กรณีแรก สินค้าทั่วไปความพึงพอใจที่เกิดขึ้นกับตัวสินค้า ไม่ใช่คนที่ผลิตสินค้า ดังนั้นจึงไม่มีการให้ tip ในการซื้อสินค้านั้น ถึงแม้ว่าที่จริงแล้ว สินค้าที่เราพึงพอใจคนก็สร้างขึ้นมานั่นเอง ผู้ซื้อส่วนใหญ่มักเห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้ tip เพราะได้บวกค่าแรง ค่าฝีมือ ค่าต่างๆ รวมทั้งกำไรลงไปในตัวสินค้าแล้ว ต่างจากสินค้าบริการซึ่งตัวสินค้าคือ การบริการและผู้ให้บริการ ผู้ให้และผู้รับบริการสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้โดยตรง จึงไม่แปลกถ้าเราต้องการให้รับรู้ว่าเราพึงพอใจในบริการนั้นด้วยการให้ tip เป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ให้บริการซึ่งถือว่าเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ความแตกต่างกัน คือ สินค้าทั่วไป (สิ่งของ) ไม่มีชีวิต แต่สินค้าบริการมีชีวิต

กรณีที่สอง คือ สินค้าทั่วไปบางอย่างเราไม่สามารถรับรู้ถึงอรรถประโยชน์ของสินค้า (Utility) หรือความพึงพอใจที่แท้จริงต่อสินค้าได้ ดังนั้นเราได้แต่เพียงคาดเดาว่าหลังจากซื้อสินค้านั้นไปใช้แล้ว อรรถประโยชน์หรือความพึงพอใจที่ได้รับจริงจะสูงกว่าราคาที่จ่ายเงินซื้อมา ทำให้เขายอมจะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น (tip) เพื่อตอบแทนส่วนเกินนั้น ต่างจากสินค้าบริการที่เราได้รับบริการก่อน มีโอกาสพิจารณาความสมเหตุสมผลที่จะจ่ายเงินเพิ่มเติม (tip) หลังรับบริการนั้นแล้ว

เมื่อ tip เกิดขึ้นกับสินค้าประเภทบริการ การให้ tip อธิบายได้โดยหลักเศรษฐศาสตร์ คำถามที่ตามมา คือ การให้ tip ที่ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำจนติดเป็นนิสัยของชาวอเมริกัน คนอเมริกันส่วนใหญ่พึงพอใจกับบริการที่ได้รับแต่ละเรื่อง แต่ละโอกาส และสถานที่ทุกครั้งหรือ ซึ่งขัดกับความเป็นจริงตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มีทั้งชอบและไม่ชอบสิ่งนี้สิ่งนั้น นั่นแสดงว่าการให้ tip ของคนอเมริกันนั้น อาจจะไม่ได้อยู่บนฐานการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ก็เป็นได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องจ่าย tip ให้อย่างน้อยๆ ขั้นต่ำ! ทำไมต้องมีขั้นต่ำ ? ข้าพเจ้าเคยถามว่า "แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรให้ tip เท่าไร ?" คำตอบที่ออกมาทำให้ผิดคาด เพราะเข้าใจมาตลอดว่า การให้ tip ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเรานั่นเอง แต่คำตอบ คือ อย่างต่ำประมาณ ๑๕ % ของราคาสินค้าในร้านอาหาร

การที่มีกำหนดเปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำของ tip ไว้นั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างภาษีมูลค่าเพิ่มก็ตาม แต่เป็นที่รับรู้กันในสังคมอเมริกันชน การจ่ายเงินให้แก่สินค้าบริการนั้น มี ๒ ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง เป็นค่าวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานในการผลิตสินค้าบริการหนึ่งๆ รวมทั้งกำไรที่บวกเพิ่มเข้าไปเพื่อการอยู่รอดในธุรกิจ ขอเรียกว่าเป็นราคาพื้นฐาน ซึ่งถือเป็น fix price ส่วนที่สอง คือ tip ซึ่งถือเป็น variable price สามารถผันแปรได้ ดังนั้นถ้าเมื่อมีการกำหนดขั้นต่ำไว้ก็ไม่ต่างกับการบังคับจ่ายนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่า ราคาพื้นฐานในสินค้าบริการ จะขยับตัวสูงขึ้น tip ที่แท้จริง คือ เงินที่จ่ายเพิ่มเติมเกินกว่า tip ขั้นต่ำที่ต้องถูกบังคับจ่าย สินค้าบริการจึงมีราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น

จากทั้งหมดนี้เอง ทำให้ข้าพเจ้าพยายามหาสมมติฐาน จากคำถามในช่วงต้นที่ว่า คนอเมริกันจ่าย tip ให้แก่บริการหนึ่งๆ ใช้เกณฑ์อะไรตัดสิน มีเหตุผลอะไร? ข้าพเจ้าเกิดความกังขาว่า คนอเมริกัน (แทบทุกครั้ง) จ่าย tip ให้แก่บริการด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ที่ว่าเป็นผลตอบแทนความพึงพอใจที่ได้รับ...จริงหรือ? หรือเพียงแค่วัฒนธรรมประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นปกติจนหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเชื่อว่าเป็นมารยาททางสังคม เป็นจิตสำนึกที่ต้องปฏิบัติของชาวอเมริกัน!

และบางครั้งก็อดคิดไม่ได้ว่า จะให้ tip ด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่การให้ tip ก็สะท้อนได้ว่า การช่วยเหลือ การบริการ การให้ด้วยใจจริง ไม่ต้องการเงินทองตอบแทน กลายเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง และห่างไกลจากการดำเนินชีวิตของอเมริกันชนเสียจริงๆ


เรียนรู้หยั่งลึกถึงสัจธรรม
ดำเนินชีวิตด้วยสัมมาทิฐิ
เกิดเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ลดละเลิกอบายมุข
ขยันอย่างมีความสุข
มีชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น
พึ่งตนได้ แต่ไม่กักตุน ไม่โลภ
หากแต่กล้าให้ กล้าจน
เป็นคนจนที่คนอื่นพึ่งได้
อยู่ในสังคมอย่างภาคภูมิใจ
สังคมร่มเย็น
เพราะมีคนกล้าให้มากกว่ากล้าเอา

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ -