กำไร ขาดทุนแท้ ของอาริยชน
(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๒)

เพราะฉะนั้น "ศีล" ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติจัดระดับให้นั้น ก็คือ การชี้ระดับ"บาป" อันควรรีบจัดการ ปฏิบัติให้แก่ผู้ที่ชื่อว่า"คน"ทุกคน ไม่ว่าใครคนใดทั้งนั้น เช่น ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เป็นขั้นตอนของบาป ซึ่งมีต้น-กลาง-ปลาย จะได้รีบงดเว้นเสีย จะได้เป็นคนดีคนเจริญขึ้นๆ เพราะกรรมที่ทำอยู่ทุกขณะ ล้วนเป็นวิบากของตน เป็นสมบัติของตนทั้งสิ้น ทุกกรรมกิริยาที่ตนทำอยู่ทั้งหลาย ตนทำลงไปทันที ก็เป็นกรรมทันที เป็น"ผล"เป็น"วิบาก"ทันที (อัตถิ สุกตทุกฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก) จะหนักจะเบา ปานใด ก็ล้วนสั่งสมลงเป็นสมบัติของผู้ทำเองนั้นๆทุกกรรมทุกกิริยาไม่ขาดหก ตกหล่น (กัมมัสสกะ) ดังนั้น ถ้าเป็นการสะสม "สมบัติบาป" มันก็ควรจะรีบลด "สมบัติบาป" เร่งหาทางกำจัด "เหตุ" ที่มันทำให้เรา สั่งสมบาปด่วนที่สุด ช้าไม่ได้ เพราะ"เหตุบาป" ที่มันอยู่ในตัวเรามันพาเราทำบาป ทำชั่วแน่ๆ หากมันอยู่กับเราแม้ ๑ วินาที มันก็ทำหน้าที่พาเราก่อบาป ก่อชั่วได้ตลอด ๑ วินาทีไม่มีหยุด ยิ่งอยู่กับเรานานมันก็ยิ่งจะออกฤทธิ์พาเราทำบาปทำชั่วมากขึ้นและนานยิ่งๆขึ้น จึงเป็นความจำเป็น รีบด่วนที่สุด ที่เราจะต้อง จัดการกับ"เหตุ"ที่มันก่อ"บาปสมาจาร" ก่อนที่จะไปสนใจกับ "เหตุ" ที่มันก่อ "อภิสมาจาร" (ความประพฤติที่ด) หรือก่อนที่จะไปจัดการกับ"เหตุ"ในตัวเรา ที่มันพาเรากระทำความดี-กระทำ"บุญ" เพราะ "เหตุแห่งความดีหรือบุญ" ในตัวเราก็ทำหน้าที่พาเราก่อบุญก่อความดีอยู่แล้ว จะน้อยจะมาก จะกี่วินาทีกี่ชั่วโมง มันก็ไม่ได้ก่อความเสียหาย แก่ตนแก่สังคมอยู่แล้ว ดังนั้น แม้จะไม่ไปรีบเร่งรัดพัฒนาให้มันดียิ่งๆขึ้นก่อน ก็ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนกว่าแน่

ความเร่งด่วนต้องรีบสนใจที่จะเรียนรู้บาปรู้ชั่ว เร่งเรียนรู้"เหตุแห่งบาปแห่งชั่ว" และจัดการกำจัดเหตุ แห่งบาปแห่งชั่วนี้ จึงเป็นกิจหลัก กิจก่อน กิจจำเป็นที่ศาสนาพุทธถือเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งยวดกว่า ที่จะไปสนใจวุ่นวายกับเรื่อง "ดี" วุ่นวายกับ "เหตุที่จะพาทำดีทำบุญ" ก่อน ฉะนี้แล...พฤติภาพของ ศาสนาพุทธจึงไม่เหมือนศาสนาอื่นๆ

ศาสนาพุทธแปลกประหลาดยิ่งกว่าศาสนาอื่นๆใดๆในโลก ก็ตรงนี้เอง!!!

นั่นคือ ศาสนาพุทธสนใจและจัดการกับเรื่องบาปเรื่องชั่วเรื่องไม่ดีไม่งามของตนของคนในสังคม เป็นหลัก สำคัญยิ่งก่อน เพราะมันก่อทุกข์ ก่อเวรก่อภัยต่อตนต่อสังคมอยู่ตลอดเวลา ส่วนจะพัฒนา บุญ พัฒนาความดีจึงเป็นเรื่องรอง นี้คือ ความเป็นพุทธ

หัวใจศาสนาพุทธ จึงได้แก่ "อาริยสัจ ๔" ซึ่งหมายความว่า ต้องรีบเรียนรู้และเร่งรัดขวนขวาย ใส่ใจ จัดการกับเรื่อง "ความเสียหาย-เรื่องทุกข์-เหตุแห่งทุกข์"ก่อน (มิใช่สุขนิยม) หรือสนใจศึกษาจัดการกับ "เหตุ" ที่มันพาเสื่อม-พาชั่ว-พาทำความบาป ของตนของคนก่อน นั่นเอง เฉพาะอย่างยิ่ง.. ใส่ใจ จัดการกับ "ความเสื่อมความชั่ว-ความบาป-ความทุกข์เป็นหลัก แบบมุ่งมั่นเจาะลึกเข้าไปถึง "เหตุ" ของมัน" ที่มีอยู่ในตนในคน ซึ่งต้องรีบจัดการกำจัดมันให้ได้ นั่นแหละสำคัญที่สุดก่อน ยิ่งกว่า จะสนใจความเจริญ-ความดี-ความเป็นบุญ-ความสุข

ศาสนาพุทธจึงได้รับการกล่าวหาว่าเป็น "ศาสนาทุกขนิยม" ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งจริงดังที่เขากล่าวหา เพราะมีทัศนคติดังอธิบายมาแล้ว

เมื่อศาสนาพุทธมีทัศนคติ มีเจตคติ มีเป้าหมาย มีวิธีการ มีมโนทัศน์ มีวิสัยทัศน์ดังว่านี้ ศาสนาพุทธ จึงเป็นศาสนาที่มี "คุณสมบัติ ๔ ประการ" ไม่เหมือนใคร

) สัจธรรม คือ สภาพที่ทรงไว้เป็น"ความจริง" ไม่มีใครสามารถบิดเบือนเป็นอื่น

) สัลเลขธรรม คือ สภาพที่ทรงไว้เป็น"ความขัดเกลากิเลส"ทั้งตนและทั้งของผู้อื่น ปรากฏเด่นชัด

) นิยยานิกธรรม คือ สภาพที่ทรงไว้เป็น"เครื่องนำสัตว์ออกไปจากกองทุกข์" ลึกถึงขั้นดับเหตุสำเร็จแท้

) สันติธรรม คือ สภาพที่ทรงไว้เป็น"ความสงบอบอุ่นร่มเย็นเรียบร้อยราบรื่นง่ายงาม" แน่แท้ถาวร

โดยเฉพาะ "สัลเลขธรรม" นั้น คือคุณสมบัติที่เป็น "เอกลักษณ์" ของศาสนาพุทธทีเดียว ดังนั้น ผู้ที่เข้าข่าย "ชาวพุทธ" แท้ หรือมีความเป็นพุทธที่สัมมาทิฏฐิ จะมี "การปฏิบัติเพื่อความขัดเกลา" (สัลเลขิตาจาร) ปรากฏอยู่ประจำตัวหรือเป็นบุคลิกลักษณะอย่างเห็นได้ ผู้มี "สัลเลข" จึงได้ชื่อว่า ผู้มี "การดำรงชีพที่สูง" เพราะเป็นผู้มีชีวิตที่ปฏิบัติตนขัดเกลาพฤติกรรมของตน โดยเฉพาะขัดเกลากิเลส ย่อมเป็นผู้มีชีวิตพัฒนา ประเสริฐแท้

ผู้"เชื่อกรรม (กัมมสัทธา) -เชื่อวิบาก (วิปากสัทธา) -เชื่อกรรมเป็นของของตน (กัมมัสสกตาสัทธา)

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ -