ตอน... ดอกเหงื่อ อาจเป็นเพราะอำเภอแว้งอุดมสมบูรณ์มากก็ได้ที่ทำให้ชาวบ้านไม่สู้กระตือรือร้นที่จะแข่งขันกันร่ำรวย พวกเขารักการใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างมีความสุข พอมีพอกินและสงบร่มเย็นมากกว่า ความสุขสงบ รักใคร่กัน ช่วยเหลือกันอย่างที่คนแว้งเป็นมานานแสนนาน ตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบนั้นน่าจะเป็น ความร่ำรวย ยิ่งกว่า การมีเงินสะสมไว้มากๆ อาชีพหลักของคนที่นั่นโดยเฉพาะที่เป็น ไทยมุสลิม คือการทำสวนยาง บางคน มีสวนของตนเอง บางคนรับจ้างตัดยาง คนไทยพุทธที่ตัดยางก็มีเหมือนกัน แต่เป็นคนไทย ที่ตั้งบ้านเรือน เป็นหย่อมๆ ลึกเข้าไปในป่าแถบหมู่บ้านบือเลาะห์ ถ้าเป็นคนไทยพุทธ ในตัวอำเภอแล้ว จะเป็นข้าราชการ กันทั้งนั้น ไม่ข้าราชการตำรวจก็ข้าราชการพลเรือน สำหรับอาชีพ ค้าขายนั้นเหมือน จะถูกสงวนไว้ ให้เป็น ของคนจีนโดยเฉพาะ ไม่มีใครสงวนหรือบังคับหรอก ทั้งคนไทยพุทธและ คนไทยมุสลิม มีธรรมดานิสัย ไม่ถนัด ด้านการค้า เท่านั้นเอง การแบ่งอาชีพ จึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่แย่งกัน ศูนย์กลางของอำเภอช่วยให้เด็กอย่างน้อยและเพื่อนๆ ทราบว่าคนไหนเป็นข้าราชการพลเรือน และ คนไหน เป็นข้าราชการตำรวจ ข้าราชการพลเรือน จะทำงานบนที่ว่าการอำเภอ ซึ่งมักเรียกกันสั้นๆ ว่า อำเภอ หรือ ถ้าเป็นไทยมุสลิมก็เรียกว่า แซ อันเป็นคำที่เพี้ยนอย่างประหลาด มาจากภาษาไทยว่า ศาล ทั้งที่แว้ง ไม่มีศาล ไม่มีใครบอกได้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ส่วนข้าราชการตำรวจ หรือที่ภาษามลายู เรียกว่า สดาดู ก็ทำงานบน สถานีตำรวจ ซึ่งคนไทยพุทธเรียกกันว่า โรงพัก ไทยมุสลิม เรียกว่า รูเมาะห์สดาดู ที่ทำงานทั้งสองนี้ตั้งอยู่เคียงกันอย่างสง่างามภายในรั้วสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงกลางอำเภอเป๊ะ รั้วนี้ไม่ได้ก่อ เป็น กำแพง หรือใช้ไม้มาทำแต่เป็นรั้วต้นไผ่พันธุ์เล็ก ปลูกไว้แน่นขนัด มีภารโรงคอยตัดเล็มยอดของมัน ที่มักแทง แหลมออกมาให้เรียบเป็นระเบียบอยู่เสมอ ไผ่พันธุ์เล็กนี้ช่างขึ้นแน่นขนัดเสียจริง จนน้อย และ เพื่อนๆ ที่เคยคิด จะลองแหวกเป็นช่อง แล้วเบียดตัวลอดผ่านไปก็ทำไม่ได้ นั่นเป็นความซน ของเด็ก ที่มักชอบลองทำ สิ่งที่ผู้ใหญ่ เขาไม่ให้ทำอยู่เสมอ อันที่จริงเขาได้เว้นที่ เป็นช่องประตู สำหรับเดิน เข้าไปอำเภอ และโรงพักได้สะดวกอยู่แล้ว ตั้งหลายช่องแน่ะ จะออกไปข้างหน้าอำเภอก็ได้ จะเลี้ยวซ้าย ไปออกสถานีอนามัยก็ได้ หรือถ้าเป็นทางโรงพัก ก็ออกด้านข้างไปถนน หน้าห้องแถว ตำรวจก็ได้ ไปสนาม ก็ได้ไม่มีใครว่าอะไร เด็กๆ ซนไปตามวัยอย่างนั้นเอง ข้างหน้าสถานที่ราชการทั้งสองแห่งเป็นสนามกว้างใหญ่เหลือเกินในความรู้สึกของเด็กเล็กๆ อย่างน้อย เวลามีงานสำคัญ ของทางการ ก็จะจัดกันที่สนามนี้ ถ้าไม่มีงานก็เป็นที่สำหรับทีมฟุตบอล อันเก่งกาจ ของอำเภอแว้ง ซ้อมฟุตบอลกันเกือบทุกเย็น ทำให้กลายเป็นสถานที่สาธารณะ ที่ชาวแว้งไปเดินเล่น พบปะ เปิดอารมณ์กันอย่างเสรี ทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยจีน บนอำเภอจะมีผู้คนพลุกพล่านมากทุกวันจึงดูไม่น่ากลัวสำหรับเด็กเท่าไร แต่ที่โรงพักดูเงียบเหงา เสียจริง ไม่ค่อยมีใครขึ้นไป เพราะอำเภอแว้ง ไม่ค่อยมีเรื่อง ตีรันฟันแทง หรืออะไรที่ไม่สงบ น่าจะเป็น สถานีตำรวจ ที่คนบนนั้นทำงานกันอย่างสบายๆ เพราะไม่มีงานอะไรมากให้ทำ แต่ถึงอย่างนั้น น้อยก็ยังรู้สึกว่า เธอไม่ชอบ มองขึ้นไปบนโรงพักอยู่ดี เพราะมองขึ้นไปทีไหนก็เห็นปืน วางเรียงอยู่ เป็นตับ แล้วก็ยังเห็น ซี่กรงเหล็ก ที่เขาเอาไว้ขัง คนทำผิดด้วย ตรงหน้าโรงพักมีเสาธงปักอยู่เสาหนึ่ง เป็นเครื่องหมายบอกเวลาแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนประชาบาลแว้ง ไปในตัว เมื่อไรกำลังเดินลัด เส้นทางทแยง ในเขตที่ว่าการอำเภอ ไปโรงเรียนแล้วเห็นตำรวจ กำลังยืน เตรียมชักธงขึ้นสู่ยอดเสา น้อยเป็นต้องรีบวิ่งเร็วจี๋ เพื่อไปให้ทันโรงเรียนขึ้น ถ้าสายก็จะถูกทำโทษ ให้ไป ถอนหญ้า ขี้เตย (หญ้าเจ้าชู้) ตรงเสาธงนี้เคยมีฟ้าผ่าลงมาตั้งหลายหนแล้ว แม่บอกว่าหลังฟ้าผ่า ถ้าขุด ลงไป จะได้ขวานฟ้า พ่อว่าที่ฟ้าผ่า คงเพราะข้างใต้ดิน ตรงนั้น มีแร่โลหะอะไรบางอย่างที่ดูด เอาสายฟ้า ลงมา น้อยไม่ทราบว่าจะเชื่อพ่อหรือแม่ดี แต่เรื่องขุดแล้วจะเจอขวานฟ้า ฟังดูน่า ตื่นเต้นมาก อีกนานมาก กระมัง กว่าเธอจะได้เห็น ขวานฟ้าด้ามแรก คนไทย สามเชื้อชาติในอำเภอแว้ง ยึดอาชีพหลักต่างกันสามอย่าง คือ ทำสวนยาง รับราชการ และ ค้าขาย ก็จริง แต่ยังมีการไขว้อาชีพดังกล่าว ตามความถนัด ของแต่ละคนด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นการดี เพราะทำให้ แว้งที่รักของน้อย ไม่ขาดอะไรเลย เช่น อาชีพขายอาหาร เมื่อใดคนแว้ง อยากรับประทาน จาโก๊ย (ปาท่องโก๋) ตอนเช้ามืด ก็มีแป๊ะหนวดทอดขาย หรืออยากรับประทาน นาซิกราบู (ข้าวยำ) ซาแร (สาหร่ายยำ) หรือนาซิลึโมะ (ข้าวมัน) ก็ไปหาซื้อได้ในตลาด แม่ค้ามุสลิม เขาขายออกเยอะไป กลางวัน จะได้กลิ่น ไก่ย่างพรมหัวกะทิ ผสมเครื่องแกงแบบมลายูของ เมาะซูแย (น้าแย) ที่อร่อยที่สุดในโลก ลอยข้ามคลอง มาชวนให้น้ำลายสอ ล่วงหน้า ตอนบ่ายเมียตำรวจบางคน ที่ขยันหาลำไพ่ ก็จะหาบ ขนมไทย ไม่ซ้ำชนิด มาขายถึงบ้านทุกวัน
ไม่มีอะไรเร่งรีบที่นี่ แป๊ะหนวด แม่ค้าในตลาด เมาะซูแย
และเมียตำรวจขายของพลาง คุยกันไปพลาง อย่างรื่นรมย์ ของก็ขายหมด ทุกวันนั่นแหละ
ไม่เห็นต้อง แก่งแย่ง ทะเลาะวิวาทกันเลย ใครอยาก มีเงินมาก ก็ขยัน ให้มากหน่อย
เท่านั้นเอง "น้อยอยากรู้ว่าทำไมเสื้อผ้าของเขาถึงต่างจากคนอื่น" น้อยพูดกับพี่แมะเรื่องหลั่นสินคืนวันหนึ่ง "ทำไมเหรอ?หลั่นสินเขาก็แต่งตัวเหมือนเด็กผู้ชายคนอื่นๆ นั่นแหละ พี่ว่า แต่เขาไม่มอมแมม ซกมก๑ เหมือนเด็กบางคน" พี่แมะว่า แบบไม่เห็นแปลก "แต่น้อยว่าเสื้อผ้าเขาไม่เหมือนคนอื่นนะ พี่แมะ ของประพนธ์ว่าสวยเรียบแล้วยังสู้ของหลั่นสินไม่ได้" น้อยยัง ฉงนอยู่ "ก็บ้านเขารับจ้างซักผ้ารีดผ้านี่ เสื้อผ้าหลั่นสินก็ต้องสะอาดเรียบร้อยเหมือนของคนที่ไปจ้างเขาซักซี" พี่แมะ ให้เหตุผล ทำให้น้อยนึกไปถึงเรื่องที่เธอ มักคิดเปรียบเทียบตนเอง กับเด็กในตลาดอยู่เสมอ "บ้านเขาแค่รับซักผ้าเท่านั้นเอง หลั่นสินก็เลยไม่ต้องขนยาง ตากยาง ดองหมากเหมือนเรา สบายดีจัง" เธอว่า ตามที่คิดขึ้นมาได้ แม่หยุดมือที่กำลังลิด (ปอก) หมากด้วยกรรไกร มองดูลูกก่อนที่จะพูดว่า "นี่ น้อย แมะ แม่จะบอกอะไรให้ งานทุกอย่างต้องออกแรงทำทั้งนั้นแหละ นอกจากคนเกียจคร้าน หรือ ไม่ก็เอาเปรียบ คนอื่นเท่านั้น ที่ไม่ชอบทำงาน ถึงใครจะเกิด มารวยก็เถอะ ถ้าไม่ทำงานก็เหมือน เอาเปรียบ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่หาไว้ให้ ตอนปู่ย่าตายายหามาเก็บไว้ให้ ก็ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ กันก่อนทั้งนั้น ลูกจำ คำแม่ไว้นะ ให้เกิดมารวยแค่ไหน ถ้าไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบ เอาแต่จ่ายอย่างเดียว ไม่นานเงินทอง ก็จะหมดลง น้อยดูครอบครัวเราก็ได้ พ่อกับแม่ต้องทำงานกันหนักมาก ไม่เพียงแต่ หนักเอาเบาสู้ แม่ต้อง ทำตามที่ ยายของลูกสอน ไว้ด้วย ต้องประหยัดทั้งเงิน ทั้งแรงถึงจะดี ไหน ลูกจำ ที่แม่เคยสอน ให้ท่อง ได้ไหม ว่าอย่างไร?" เด็กทั้งสองก็ตอบแม่พร้อมกันว่า "จำได้ค่ะ ไม่รู้จักใช้น้ำเป็นข้าน้ำ ไม่รู้จักใช้ฟืนเป็นข้าฟืน" "นั่นแหละลูก คนที่ประหยัดน้ำก็ไม่ต้องตักน้ำขนน้ำมาก คนที่รู้จักประหยัดฟืนก็ไม่ต้องไปเที่ยวหาฟืน ผ่าฟืนมาก เอาแรง มาทำอย่างอื่นได้อีก จริงไหม? น้อยน่ะ ขี้สงสัยนัก อย่างนี้ต้องช่างสังเกต ให้มากด้วย ถึงจะดี แล้วก็จะดียิ่งถ้าลองทำงานด้วยตัวเองดู" แม่สรุป คำพูดของแม่ทำให้น้อยตัดสินใจไปบ้านหลั่นสินในวันรุ่งขึ้นอันเป็นวันเสาร์ ไม่ต้องไปโรงเรียน บ้านของหลั่นสินเป็นห้องแถวไม้ตรงหัวเลี้ยวหลังที่ว่าการอำเภอถัดไปจากห้องแถวสองชั้น ที่ครอบครัว ของน้อย เคยเช่าอยู่ ก่อนที่พ่อจะสร้างบ้าน ท่าฝั่งคลองปัจจุบัน น้อยเห็นหลั่นสินนั่งอยู่ที่ข้างบ่อน้ำหลังบ้านกำลังซักเสื้อผ้าที่คนเขามาจ้างให้ซักง่วนอยู่ เธอจึงทรุดตัว นั่งลงข้างเพื่อน พลางยื่นห่อขนมขี้เสียด (สีเสียด) แผ่นบางๆ กลมๆ ไปให้ "หลั่นสินกินซี ฉันซื้อมาสลึงนึง ตั้งหลายแผ่นแน่ะ กินซีหลั่นสิน" "ขอบใจมาก น้อย เธอกินเถอะ ฉันยังกินไม่ได้ เห็นไหม ฟองสบู่เต็มมือเลย" หลั่นสินเงยหน้าตอบ หน้าของเขา มีเม็ดเหงื่อเต็ม "วันนี้มีเสื้อกางเกงชุดของตำรวจเยอะ ต้องรีบซัก เอาไปตากให้ทันแดด จะได้รีด ตอนบ่าย ตอนเย็น ตำรวจเขาจะมาเอา" "ตำรวจเขาไม่ซักเสื้อผ้าเองหรือไง?" น้อยถาม รู้สึกแปลกใจในความรู้ใหม่ "แล้วนอกจากตำรวจ ยังมีคนอื่น มาให้ซักอีกไหม?" "เยอะเลย ข้าราชการก็มา ป้าว่าเขาเป็นคนกินเงินเดือน ไม่อยากทำเองก็มาจ้างบ้านฉันซักให้ไง บางคน เราต้อง คอยค่าซักรีด จนถึงวันเงินเดือนเขาออกถึงจะได้ ที่แว้งนี่ ก็มีแต่ที่บ้านฉันนี่แหละ ที่รับจ้าง ซักรีด และยอมคอย ให้เขามาใช้หนี้ ตอนสิ้นเดือน" หลั่นสินตอบ "เธอต้องช่วยแม่กับป้าซักผ้าทุกวันใช่ไหม หลั่นสิน เหนื่อยไหม?" น้อยถามเพื่อนเมื่อเห็นหลั่นสิน เอาหลังมือ ป้ายเหงื่อ ที่ไหลเป็นทาง บนหน้าผาก ก่อนที่จะลงมือเอาไม้พาย เกี่ยวเสื้อสีขาวขึ้นมา จากถังใหญ่ ที่ต้มผ้าไว้ เสื้อที่เขาเกี่ยวขึ้นมานั้นขาวสะอาดดีมาก จนน้อยอดถามไม่ได้ "มิน่าเสื้อเธอ ถึงได้ขาวนัก เธอต้มอย่างนี้นี่เอง ต้องใส่อะไรลงไปด้วยไหม หลั่นสิน?" "ก็เพราะบ้านฉันซักให้เขาสะอาดอย่างนี้ไง พวกตำรวจกับพวกอำเภอ ถึงมาจ้างให้ซัก ฉันใส่อะไร ลงไปเหรอ ฉันก็ต้องแช่ผ้าแล้วก็ฟอกสบู่ลาย แปรงเสื้อกางเกง ทุกตัวก่อน จากนั้นก็แยกเอา เสื้อขาว ไปต้ม ทั้งฟองสบู่ นั่นแหละ แม่เขาใส่โซดาไฟลงไปด้วย ทำให้ผ้าขาวมากขึ้น บ้านเธอทำเหมือนกัน ไหมล่ะ?" หลั่นสินอธิบาย ขณะที่เอาแปรงๆ เสื้อแต่ละตัวไปพลาง พลิกหน้าหลัง ดูอย่างละเอียด เมื่อเห็นว่า ขาวสะอาดดีแล้ว จึงใส่ลงในกะละมังเคลือบขาวใบใหญ่ สำหรับล้างอีกหลายน้ำ น้อยตอบเพื่อนว่า "ซักกับสบู่ลายเหมือนกันแต่ไม่ได้ต้มกับโซดาไฟเหมือนที่นี่ ถ้าเป็นเสื้อขาวก็แค่ลงครามเท่านั้น ฉันถามว่า เธอเหนื่อยไหม ก็เพราะบ้านฉันไปซักเสื้อผ้าที่คลอง ไม่ต้องตักน้ำจากบ่อ เหมือนเธอ ซักที่ หาดริมคลอง ที่เธอเคยไปไง แล้วก็ล้างในคลองเลย" น้อยตอบเพื่อน ใจนึกไปถึงความสนุกสนาน วันขนเสื้อผ้า ใส่กะละมัง ไปซักที่คลองแว้ง ยิ่งวันไหนไปกันหลายคนกับบ้านมามุ ยิ่งสนุก ไม่ต้องนึกว่า เป็นงานอาชีพ แบบบ้านหลั่นสิน "ล้างผ้าในคลองก็สบายดีนะ ไม่ต้องตักน้ำเหมือนฉัน ฉันว่าที่เหนื่อยที่สุดก็ตอนตักน้ำขึ้นจากบ่อ นี่แหละ แต่แม่ว่า เกิดเป็นคนจีน ต้องขยัน ต้องอดทน แล้วสักวันหนึ่ง เราก็จะสบาย เธอก็ต้อง ทำงานที่บ้าน เหมือนกัน ไม่ใช่หรือ ฉันเคยไปบ้านเธอ เห็นเธอกับพี่แมะ ช่วยพ่อแม่ทำงาน ยังคิดว่า เธอก็ต้อง ทำงานหนัก เหมือนกัน แต่คนละอย่าง ..." หลั่นสินพูดยังไม่ทันจบ น้อยก็อดไม่ได้ ที่จะรีบถามว่า "คนละอย่างยังไง หลั่นสิน? ฉันว่าเธอทำงานหนักกว่า ถ้าให้ฉันตักน้ำกับติมอ๒ ใบโตขึ้นจากบ่อแบบ ที่นี่ คงตักไม่ไหวแน่ๆ แขนฉันมันเล็กน่ะ" "ฉันว่าที่เธอเอายางพาดทีละแผ่นบนไม้ยาวๆ นั่นแล้วยังแหงนคอยกขึ้นไปแขวนบนราว ให้เป็นระเบียบ ก็หนักพอๆ กับที่ฉัน ต้องก้มหน้าตักน้ำขึ้นมาจากบ่อ เหมือนกัน ของเธอกว่าจะหมดก็เหม็นยางแทบแย่ ของฉันซักผ้าสกปรก แต่พอซักเสร็จก็หมดกลิ่นสกปรกกลายเป็นผ้าสะอาด เอาเป็นว่าเราเป็นเด็ก ที่ต้อง ทำงาน ตั้งแต่เล็ก เหนื่อยเหมือนๆ กันนะ"หลั่นสินสรุปในที่สุด เอาหลังมือปาดหยดเหงื่อ ที่กำลังไหล เข้าตา น้อยนั่งดูเพื่อนทำงานไปพลางก็คิดถึงคำของแม่ รู้สึกดีขึ้นที่เพื่อนเห็นว่าเธอก็ทำงานเหนื่อยไม่น้อย เหงื่อเม็ดโป้ง ค่อยๆ ซึมออกมา อย่างที่แม่เรียกว่า ดอกเหงื่อ จนเต็มหน้าผาก ของหลั่นสิน เขาเช็ดด้วย หลังแขน แต่สักแป๊บเดีย วเหงื่อก็เต็มหน้าอีกแล้ว ไม่แต่ใบหน้าเท่านั้น ตามตัวของเขาก็เต็มไปด้วย เหงื่อ จนชุ่ม เสื้อกางเกง ที่สวมอยู่ จริงอย่างที่แม่ว่า ทุกอย่างต้องใช้แรงทำทั้งนั้น เธอนึกถึงคำที่แม่พูด เมื่อเช้า ว่า อาบเหงื่อ ต่างน้ำ ดูหลั่นสินตอนนี้ ช่างเต็มไปด้วยเหงื่อ เหมือนเขาเอาเหงื่อ มาอาบแทนน้ำ จริงๆ ด้วย เมื่อนึกอะไร ขึ้นมาได้ น้อยจึงถามเพื่อนต่อว่า "หลั่นสิน คนมุสลิมเขามาจ้างให้บ้านเธอซักเสื้อกางเกงให้ไหม พวกผู้ชายน่ะ?" "โอ๊ย ไม่มีหรอก มีแต่คนไทยที่ทำงานบนโรงพักบนอำเภอเท่านั้นแหละ เขามีเงินเดือนไง อ้อ แล้วก็พวก เถ้าแก่ ที่เขารับซื้อยางด้วย พวกนั้นเขารวยกว่า พวกกินเงินเดือนเสียอีก แค่นี้บ้านฉันก็ซักแทบไม่ไหว แล้ว ทั้งเสื้อ กางเกงอยู่บ้าน ทั้งเครื่องแบบ แต่แม่กับป้าฉันว่า ถึงมีมามากกว่านี้แค่ไหน ก็รับซัก เดี๋ยวฉันต้อง เอาเสื้อผ้า ที่ลงคราม ลงแป้งแล้วนี่ไปตากก่อนนะ เธอออกไปนั่งดูแม่กับป้าฉัน รีดเสื้อ ก่อนซี เดี๋ยวเดียว แหละ" หลั่นสินพูด ก่อนที่จะหิ้ว ถังใส่เสื้อกางเกง ที่ซักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปตาก ตรงที่ว่างหน้าบ้าน อีกฝั่งหนึ่ง น้อยเดินตามหลั่นสินออกมาหน้าบ้านที่เปิดกว้างเหมือนร้านขายของ แม่และป้าของหลั่นสินนั่งอยู่บน ม้าเตี้ย ต่างก็ขะมักเขม้น รีดผ้าที่ได้พรมน้ำ ม้วนไว้ในกะละมัง แม่ของหลั่นสิน ซึ่งเป็นผู้หญิงจีน ที่ยังแต่งกาย แบบจีนอยู่ ถามน้อยอย่างใจดีว่า "หนูมาดูหลั่นสินทำงานหรือ ไม่เห็นมีเพื่อนคนไหนเคยมาหาเขาเลย หลั่นสินต้องทำงานช่วย ทางบ้าน ทุกวัน นอกจากเวลาไปโรงเรียน เลยไม่ค่อยได้ไปเล่น กับเพื่อนฝูง ทำอย่างไรได้ล่ะหนู บ้านเรายากจน เตี่ยเขา ก็ตายไปแล้ว ไม่ทำงานก็ไม่มีกิน ต้องทำมาหากินกันไปเอง จนกว่าเขาจะโต ทำงานได้ นี่หนู บอกแม่หรือเปล่า ว่าจะมาที่นี่ แล้วกินข้าวมาแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่กิน เดี๋ยวกินก๋วยเตี๋ยวกับหลั่นสิน ก็ได้นะ" "ขอบคุณค่ะ แต่เดี๋ยวหนูจะไปในกำปง (หมู่บ้าน) กับมามุค่ะ เตารีดนั้นหนักไหมคะ ทำไมต้องเอาไปวาง บนเตาถ่าน แบบนั้นด้วยคะ?" น้อยถาม ญาติผู้ใหญ่ของหลั่นสิน ป้าของเขาพูดขึ้นว่า (อ่านต่อฉบับหน้า) (๑) คำที่ทางภาคใต้ใช้ในความหมายว่า สกปรก นั้นมีอยู่หลายคำ เช่น สักโครก ซกมก หรือบางทีก็มี สร้อยคำ ต่อเข้าไปด้วย เช่น ซกมกอกกรก คำว่า ซกมก นี้จะเป็นคำไทยเก่า ที่มีความหมาย เหมือนใน ภาคอีสานว่า จ๊กมก หรือไม่เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะท้องถิ่น มักช่วยกันอนุรักษ์ภาษา ไว้ได้มากกว่า เมืองหลวง (๒) ถังตักน้ำจากบ่อ มาจากภาษามลายูว่า ติมา (tima) คนไทยเชื้อสายมลายูทางภาคใต้ เรียกเพี้ยน ไปเป็น ติมอ ที่แปลกสำหรับศัพท์คำนี้คือ คนไทยพุทธที่พูดภาษามลายูไม่ได้ เช่นในจังหวัดสงขลา กลับออกเสียง คำนี้ว่า ติมา แต่ตัดพยางค์สั้นเรียกออกเสียงเหลือแต่พยางค์หลังเท่านั้น แถมเปลี่ยน วรรณยุกต์ เป็นเสียง จัตวาด้วย จึงเป็น ที่มาคำเรียกภาชนะตักน้ำว่า หมา หากขนาดของภาชนะนั้นเล็ก ก็จะเรียกว่า ลูกหมา วัสดุใช้ในการทำภาชนะนี้ แต่เดิมนิยมใช้กาบชะโอน ต่อมาเมื่อมีถังตักน้ำ ทำด้วย สังกะสีเข้ามา ชาวบ้านทางสงขลา จึงเรียกว่า หมาสังสี - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ - |