ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -
แก่นเชื้อยั่งยืน


สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วจากการบริโภคอย่างสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย ไม่ประณีต-ประหยัด ไม่รู้จักคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ การเรียนรู้การบริโภคเท่าที่จำเป็นและมีคุณค่าแก่ชีวิต เป็นความสำคัญ ที่จะช่วยรักษา ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับการกิน ถ้าเรารู้จักกิน ทุกอย่างที่เราปลูก และปลูกทุกอย่างที่เรากิน เราจะมีส่วนในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดี ที่สำคัญ เราจะได้ตอบแทนพระคุณของแม่พระธรณี พระแม่โพสพ และพระแม่คงคา ทำให้อากาศดี ชีวิตดี ซึ่งนั่นก็หมายถึงโลกนี้จะดีด้วย เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสรรพชีวิตต่อไปได้อีกยาวนาน

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่คนกำลังมองข้ามไปคือ ความ หลากหลายของพันธุ์พืชที่แข็งแรงตามธรรมชาติ (เช่น พันธุ์ข้าว) จะบำรุงดิน เพราะสามารถหาธาตุอาหารหาน้ำในดินได้เอง ต่างกับพืชที่กำลัง นิยมบริโภคในโลกขณะนี้ ซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นพืชเลี้ยง (เหมือนสัตว์เลี้ยง) ต้องหาอาหาร (ปุ๋ย) หาน้ำให้ตลอด เวลา ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ

การสร้างปุ๋ยที่ถาวรให้ดินนั้น เกี่ยวเนื่องกับการ ใช้พันธุ์พืชที่แข็งแรงให้ได้หลายๆ ชนิด หลายๆ พันธุ์ หลายๆ ขนาด หลายๆ ระดับมาปลูกในพื้นที่เดียวกัน พืชหลากหลายชนิดที่นำมาปลูก โดยให้มีระดับ แตกต่างกันให้ได้ถึง ๗ ระดับ

-ใต้ดิน ๒ ระดับ ๑) ลึกไม่เกิน ๑ เมตร
) ลึกกว่า ๑ เมตร

-บนดิน ๕ ระดับ ๑) ผิวดิน
) ไม้พุ่ม
) ไม้ขนาดเล็ก
) ไม้ขนาดกลาง
) ไม้ขนาดใหญ่ (นี้ยังไม่ได้ รวมไม้เลื้อย)
จะเป็นสังคมพืชที่มีการแลกเปลี่ยนอาหารกันมีการสร้างน้ำ สร้างอาหาร สร้างอากาศ และสร้าง พันธุ์พืชที่แข็งแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้างปุ๋ยถาวรให้แก่พืช แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อคน "ลด" ความเห็นแก่ตัวลงแล้ว

พันธุ์พืชที่มีรากลึกจะให้ธาตุอาหารมากกว่า ให้เซลล์ที่แข็งแรงกว่า อายุก็ยืนกว่า กินได้นานกว่าพืช ที่มีรากตื้น

ฉะนั้นเราต้องหันกลับมาเรียนรู้ มาหัด มาฝึก กินอาหารจากพืชพันธุ์ที่มีอายุยืนยาว เพื่อเราจะได้ มีร่างกายแข็งแรง และมีอายุขัยยืนยาว เพื่อสั่งสมกรรมดีจนกว่าจะหมดกิเลส

*** พันธุ์พืชที่อ่อนแอ มีข้อเสียดังนี้
๑. ทำลายดินที่จะต้องใช้ปลูก
๒. ทำลายน้ำที่จะต้องใช้รด
๓. ทำลายวัสดุที่จะต้องใช้ทำปุ๋ย
๔. ทำลายพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า แรงงานคน-สัตว์
๕. ทำลายพันธุ์พืชที่แข็งแรง เพราะไม่ปลูกต่อพันธุ์
๖. ทำลายทรัพยากร เวลา
๗. ทำลายสุขภาพ ผู้บริโภคจะมีร่างกายอ่อนแอ
๘. ทำลายสิ่งแวดล้อม

*** ลักษณะพันธุ์พืชที่อ่อนแอ
๑. ต้องปลูกบ่อยๆ ปลูกทุกครั้งที่จะกิน
๒. มีระบบอ่อนแอหรือรากไม่ลึก
๓. ไม่ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง
๔. หาธาตุอาหาร (ปุ๋ย-น้ำ) กินเองไม่เป็น ต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำตลอดเวลา ถ้าไม่ใส่ปุ๋ย รดน้ำก็จะไม่ได้ผล
๕. ต้องใช้สารเคมีช่วย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน ฯลฯ
๖. เป็นพืช ผัก ผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
๗. ผลไม้จากกิ่งตอน จากการเสียบยอด ต่อกิ่ง
๘. เป็นพืช ผัก ผลไม้ ที่ผ่านกรรมวิธีทางเคมี หรือทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ได้แก่ การตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) การใช้รังสีฉายแสง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเลี้ยงในสารละลาย หรือ มีการใช้สารเคมีอื่นๆ
๙. พืช ผัก ผลไม้ ที่ถูกบังคับ-ถูกหลอกให้ออกผิดฤดูกาล เช่น เห็ด

*** พันธุ์พืชที่แข็งแรง มีประโยชน์ดังนี้
๑. หากินเองได้ (ไม่ต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำ)
๒. สร้างปุ๋ยบำรุงดิน
๓. ประหยัดน้ำ ทนแล้งได้ดี
๔. ประหยัดทุนรอน แรงงานและเวลา
๕. เมื่อนำมาบริโภค จะทำให้สุขภาพแข็งแรง
๖. ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้เหมาะแก่การอยู่อาศัย หมุนเวียนธาตุต่างๆ ธาตุอาหาร-น้ำ อากาศ ปรับอุณหภูมิให้ปกติ

*** ลักษณะของพันธุ์พืชที่แข็งแรง
๑. ปลูกครั้งเดียวกันกินได้นานตลอดชีวิต
๒. ทนต่อความแห้งแล้ง
๓. ไม่ต้องใส่ปุ๋ย รดน้ำ ก็มีชีวิตอยู่ได้ (อาจจะต้องช่วยดูแลในระยะแรกที่ปลูก)
๔. เป็นพืช ผัก ผลไม้ ในท้องถิ่น ออกตามฤดูกาล
๕. มีการคัดเลือกพันธุ์ต่อพันธุ์ด้วยวิธีธรรมชาติ

*** การคัดเลือกพันธุ์พืช มีความสำคัญคือ
๑. เป็นความจำเป็นที่จะต้องปลูกต่อพันธุ์ไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์ ถ้าไม่คัดเลือกพันธุ์ที่ดีปลูกต่อไว้ ในอนาคตก็จะไม่มีกิน
๒. เพื่อให้ได้พันธุ์ที่แข็งแรง เมื่อนำมาบริโภคแล้วร่างกายจะแข็งแรง
๓. พันธุ์ที่แข็งแรงจะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นดินก็จะดี น้ำก็จะตามมา อากาศก็จะไม่ร้อน สัตว์มีที่อยู่อาศัย มีอาหาร มนุษย์มีจิตใจงาม

*** วิธีคัดเลือกพันธุ์
๑. พืชแต่ละชนิดจะมีหลายสายพันธุ์ (ตั้งแต่ ๕ ถึง ๑๐๐ สายพันธุ์)
๒. เลือกพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุด ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง มีชีวิตอยู่ได้ แม้ว่าจะไม่มีการรดน้ำ ให้ปุ๋ย
๓. ให้คัดเลือกจากต้นแม่ที่แข็งแรง เลือกผลหรือเมล็ดที่แข็งแรง เช่น ข้าวให้เดินดูว่ากอไหนแข็งแรง มีเมล็ดเต็ม ไม่มีลีบทั้งรวง ให้เลือกเก็บเกี่ยวไว้เป็นกอ ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวทั้งแปลง
๔. ต้นที่มีรากลึก มีขนาดใหญ่ มีความสูง จะให้พันธุ์ที่แข็งแรงกว่า (เช่น ผลมะม่วงจากต้นที่เกิดจากเมล็ด จะแข็งแรงกว่ามะม่วงจากกิ่งตอน) ส่วนของไม้เลื้อยที่ยิ่งเลื้อยขึ้นสูงก็ยิ่งแข็งแรงยิ่งกว่าส่วนที่อยู่ติดดิน เช่น ตำลึง ถั่วต่างๆ บวบ ฟักทอง น้ำเต้า ฯลฯ
๕. เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ฝรั่งขี้นก พุทราพื้นบ้าน ฯลฯ

*** การเก็บรักษา
๑. พืชที่เป็นหัว เป็นเหง้า แง่ง ที่อยู่ใต้ดิน ให้ขุดหลังจากแก่เต็มที่แล้ว แยกส่วนที่แก่ไว้กิน ส่วนที่ยังใหม่แยกออกไปฝังดินไว้ในที่ที่จะปลูกต่อไป (ถ้าบริเวณนั้นมีแดดมาก ให้หาฟาง หรือหญ้า หรือใบไม้แห้งมาโรยปิดกันแสง เพราะถ้าร้อนมาก จะแห้งตาย)

๒. พวกที่เป็นเมล็ด คัดเลือกเมล็ดที่แก่จัด เมล็ดเต็ม ไม่ลีบ
๒.๑ พวกเมล็ดแห้ง
๒.๑.๑ ให้เก็บไว้ในภาชนะ (เช่น หม้อดิน) หรือใส่ถุงไว้ในห้องที่แมลงเข้าไปไม่ได้ ถ้าไม่มีห้องเก็บ ให้หาขี้เถ้าหรือใบไม้แก่ๆ ที่มีรสขมใส่ไปด้วย เพื่อกันแมลง
๒.๑.๒ เก็บแบบสูญญากาศ ด้วยการใช้ถุงพลาสติกอัดสูญญากาศ หรือใส่ภาชนะมีฝาปิด เป็นสูญญากาศ มีเมล็ดบางชนิดที่เปลือกเก็บ เป็นสูญญากาศแล้ว เช่น เมล็ดกระบก ถั่วลิสง เมล็ด มะค่าโมง เมล็ดแตง

๒.๒ พวกเมล็ดที่มีน้ำในเมล็ดมาก เช่น มะม่วง มะปราง ขนุน มะนาว มะกรูด สะเดา หว้า ฯลฯ ให้นำ เมล็ดมาล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้ง (ห้ามนำไปผึ่งแดด เพราะน้ำในเมล็ดจะระเหยออกจนหมด จะปลูกไม่ขึ้น) แล้วเก็บใส่ถุงกระดาษ พับถุง เก็บรักษาไว้ในที่ที่ไม่มีมดหรือแมลงรบกวน และ มีอุณหภูมิ ค่อนข้างคงที่ พอดี ไม่ร้อน (ถ้าจะกันมอด แมลง ต้องใส่ขี้เถ้าหรือใบไม้ที่มีรสขมลงไปด้วย)
เมล็ดที่มีน้ำมาก ชนิดเปลือกบาง ต้องรีบนำลงดิน ไว้ในที่ไม่ร้อน ให้แผ่นดินเป็นผู้รักษา เช่น เมล็ดขนุน มะม่วง

๒.๓ ควรปลูกลงดินโดยตรง แต่ถ้าจำเป็นจะต้องเพาะใส่ภาชนะ เช่น ถุง เมื่องอกแล้วอย่าปล่อยไว้นาน จนรากงอ-วน (รากถึงก้นถุงแล้วงอ วนขึ้น ข้างบน) พืชบางชนิดอาจจะคัดเลือกพันธุ์ ด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น มะละกอ หลังจากกินผลแก่แล้ว เมล็ดที่ได้ให้หว่านลงในบริเวณที่เห็นว่าควรจะปลูกได้ ต้นที่เกิด คือต้นที่ได้ผ่าน การคัดพันธุ์โดยธรรมชาติแล้ว

๒.๔ ไม้ผลที่ไม่มีเมล็ด ไม่ต้องปลูก เพราะไม่มีพันธุ์ให้ปลูกต่อ ควรชนิดพันธุ์ที่มีเมล็ดยิ่งมากยิ่งดี

*** สำหรับรายละเอียดนั้นมีมากมาย ขอให้
) สังเกต
) จดจำได้
) เปรียบเทียบเก็บข้อมูล เดิมเป็นระยะ แล้วปรับปรุงก็จะได้ความรู้เพิ่มเติมตลอดไป

พืชที่แข็งแรง ทำให้ดินมีธาตุอาหารสมบูรณ์

ดินสมบูรณ์ ทำให้คนแข็งแรง

(ข้อมูลจากคุณไพรลั่น อรรคสีวร)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๓ ธันวาคม ๒๕๔๗ -