ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา - สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง -


พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ที่สอดคล้องกับหลักฆราวาสธรรม ๔ ประการนี้ คือเครื่องมือ สำคัญ ที่จะใช้ขัดเกลา ความต้องการส่วนเกินจำเป็น ของผู้คนให้ลดน้อยลง อันจะเป็น รากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ แบบพอเพียง และเศรษฐศาสตร์ การเมืองบุญนิยมในสังคมมนุษย์

กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ
ต่อจากฉบับที่ ๑๗๓

ค. การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง (Rationalization) กลไกป้องกันตัวเองทางจิตวิธีนี้ จะทำงานโดยการ พยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง ในประเด็นเรื่อง ที่เป็นปัญหานั้นๆ เพื่อลดภาวะความบีบคั้น ทางจิตใจที่เกิดขึ้น

นิทานอีสปเรื่องสุนัขป่าที่พยายามจะกระโดดกินพวงองุ่นบนต้น แต่กระโดดไม่ถึง แล้วหาเหตุผลอธิบาย กับตัวเองว่าองุ่นพวงนั้น ดูรูปลักษณะแล้ว คงเปรี้ยวแน่นอน ไม่น่ากินอะไร ก็คือตัวอย่างของการใช้ กลไกทางจิตวิธีนี้ เพื่อลดภาวะความเครียด หรือความบีบคั้น ทางจิตใจ การพยายาม มองหาเหตุผล ในแง่มุมที่เป็นประโยชน์จากอุปสรรค ปัญหานั้นๆ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ของการใช้กลไกทางจิตแบบนี้ เพื่อช่วย ลดภาวะ ความบีบคั้นเป็นทุกข์ ดังเช่นเรื่องของหลวงพ่อ "ดีเนาะ" ที่มองปัญหาต่างๆ ในแง่ดีหมด อาทิ เมื่อคนที่จะมารับ ไปกิจนิมนต์ เกิดผิดนัด หลายชั่วโมง แทนที่ท่านจะหงุดหงิด หลวงพ่อกลับมองว่าเป็นเรื่อง "ดีเนาะ" วันนี้จะได้อยู่วัด ไม่ต้องเดินทางให้เหนื่อย แต่ในที่สุด เมื่อคนรถมาถึง พร้อมกับขอโทษขอโพย เพราะรถเกิดอุบัติเหตุทำให้มาช้า หลวงพ่อก็มองว่าเป็นเรื่อง "ดีเนาะ" วันนี้จะได้ไปกิจนิมนต์ ให้เสร็จๆ จะได้ไม่ต้องไปใหม่ ในวันหลัง ฯลฯ

การมองอุปสรรคให้เป็นโอกาสเช่นนี้ ถ้าใช้อย่างเหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์มาก แต่ถ้าใช้กลไกป้องกัน ตัวเอง ทางจิต ด้วยการหาเหตุผล เข้าข้างตัวเอง วิธีนี้มากเกินขอบเขต หรือใช้อย่าง ไม่เหมาะสม เหตุผลเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเครื่องกลบเกลื่อนบดบังตัวปัญหา จนทำให้ไม่เกิด การพยายาม ค้นหาสาเหตุเพื่อแก้ที่มูลราก ของปัญหานั้นๆ อย่างถูกฝาถูกตัว ผลที่สุด "เหตุผล" ก็จะกลับกลาย เป็นข้อ "แก้ตัว" ให้กับตนเอง แทนที่จะเป็นข้อ "แก้ไข"ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป

แม้กระทั่งเหตุผลในระดับที่เป็นแนวคิดเชิงปรัชญาอันลึกซึ้ง ดังเช่นเรื่องอนัตตา หรือเรื่อง "ความไม่ยึดมั่น ถือมั่น" ในพุทธศาสนา เป็นต้น ถ้าไม่ประจักษ์แจ้งในแก่นธรรมดังกล่าว จริงแล้ว ก็จะเป็นเพียงกลไกป้องกันตนเองทางจิตด้วยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเองแบบนี้ โดยไม่ได้ นำไปสู่ การปรับปรุงแก้ไข ที่ต้นเหตุเพื่อพัฒนาตัวเองให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้น เช่น จะเลือกใช้เหตุผล "ไม่ยึดมั่น ถือมั่น" เฉพาะกับสิ่งที่บีบคั้น ให้ตนเกิดภาวะ ความเครียดเป็นทุกข์เท่านั้น เวลาเสียเปรียบคนอื่น จนทำให้เป็นทุกข์ ก็อาศัยเหตุผล ความไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นกลไก ป้องกันตนเอง ทางจิตใจ เพื่อช่วย ลดภาวะความเครียดดังกล่าว แต่ตอนที่สามารถ เอารัดเอาเปรียบคนอื่นมาได้ เพราะความโลภ จะไม่คิด "ไม่ยึดมั่นถือมั่น" ปล่อยวางความโลภนั้นๆ เพื่อแบ่งปันเกื้อกูลให้กับเพื่อนมนุษย์ ที่อดอยาก ขาดแคลนกว่า หรือเอื้ออาทร คนที่กำลังถูกเรา เอารัดเอาเปรียบ จนกำลังเป็นทุกข์อยู่นั้น เป็นต้น

เหตุผลที่เป็นแนวคิดทางศาสนาหรือปรัชญาอันมีความลึกซึ้ง ซับซ้อนมากเท่าไร ในแง่หนึ่ง ก็อาจกลายเป็น สิ่งบดบังปัญหา จนทำให้ยากที่จะมองเห็นประเด็นปัญหาแท้จริงมากเท่านั้น

ง. การกดข่ม (Suppression) กลไกป้องกันตนเองทางจิตวิธีนี้ จะทำงานโดยพยายามกดข่ม ไม่ให้นึกถึง เรื่องที่เป็นปัญหานั้นๆ เหมือนการเอาหิน มาทับหญ้าไว้ เพื่อไม่ให้หญ้าโผล่ขึ้นมา แต่เมื่อเอา ก้อนหิน ออก หญ้าก็จะงอกงามขึ้นมาใหม่ฉันใด กลไกป้องกันตนเองทางจิตแบบนี้ ก็จะทำงาน ในลักษณะ ทำนองเดียวกันฉันนั้น วิธีหยาบๆ ในการกดข่มปัญหา ด้วยกลไกแบบนี้ เช่นอาศัยการกินเหล้า การเสพยาเสพติด หรือการใช้ยา กล่อมประสาท เพื่อช่วยให้ลืมโลกแห่งปัญหาความเป็นจริง ไปได้ ชั่วครั้งชั่วคราว ฯลฯ แต่แล้วก็ไปติดสารเสพติด ที่มีผลกระทบ ต่อการทำงาน ของระบบสมอง ดังกล่าวแทน อันอาจทำให้เกิดพยาธิสภาพของความผิดปกติในกลไกทางชีวเคมีของสมอง (ซึ่งต้อง เยียวยาบำบัดรักษา โดยแพทย์ ชำนาญเฉพาะทาง) จนกลายเป็นปัญหาใหม่ เพิ่มทับทวีจากปัญหาเดิม

การสะกดจิตตัวเองด้วยวิธีต่างๆ แม้กระทั่งการสวดมนต์ภาวนาหรือนั่งหลับตาทำสมาธิ ให้จิตไปจดจ่อ ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าทำอย่าง ไม่เข้าใจ แก่นสาร ก็จะเป็นเพียงกลวิธีหนึ่งของการใช้กลไกทางจิตแบบนี้ ที่ละเอียดประณีตขึ้น เพื่อลดภาวะความเครียด หรือความบีบคั้น เป็นทุกข์ชั่วคราว เท่านั้น

กลไกป้องกันตนเองทางจิตวิธีนี้มักจะใช้ควบคู่กับกลไกอีกวิธีหนึ่งคือการเพ้อฝัน (Hallucination) ด้วยการ จินตนาการ ว่าตนอยู่ในโลก (แห่งความคิด) อีกโลกหนึ่ง ที่มีสิ่งสมหวังต่างๆ อันตรงข้ามกับเหตุการณ์ ในโลกแห่งปัญหา ความเป็นจริง ที่เผชิญอยู่ เพื่อกดข่มให้ลืม ปัญหานั้นๆ

การอ่านหนังสือนวนิยายหรือดูภาพยนต์ ที่มีโครงเรื่องคล้ายๆ กันที่บางคนมองว่าเป็นละครน้ำเน่า เช่น ตัวละคร ที่เป็นพระเอก หรือนางเอก เกิดมา มีฐานะยากลำบาก แต่ต่อมาก็ได้พบกับพระเอก หรือ นางเอก ที่มีฐานะและชาติตระกูลเหนือกว่า สุดท้าย ก็สามารถเอาชนะ ตัวผู้ร้าย ขี้อิจฉาในเรื่อง และ ได้แต่งงาน กับพระเอกหรือนางเอก มีชีวิตที่สุขสบายสมหวัง ทั้งความรัก และฐานะทางเศรษฐกิจสังคม ฯลฯ เหล่านี้ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ของกลไกทางจิต ที่ช่วยให้เราได้สวมบทบาท การมีส่วนร่วมเป็นพระเอก หรือนางเอก ในโลกแห่งความฝัน ที่สมหวังนั้นๆ จนลืมปัญหา ของโลกแห่งความเป็นจริงได้ชั่วคราว การที่ละครทีวี อย่างเรื่องบ้านทรายทอง มีชาวบ้านติดกันมาก หรือการ์ตูนอย่างเรื่อง โดราเอมอน ที่เด็กๆ ชื่นชอบ รวมทั้งนวนิยายอย่างเรื่อง แฮรี่พอตเตอร์ที่โด่งดัง ก็เพราะภาพยนต์ ทีวีหรือนวนิยายเหล่านี้ ช่วยสนองกลไก ลดภาวะความเครียด ทางจิตดังกล่าว

แต่ถ้าใช้กลไกป้องกันตนเองทางจิตแบบนี้มากเกินขอบเขต บุคคลผู้นั้นก็อาจกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรม ผิดปกติ เก็บตัว หลงอยู่ในโลก แห่งความเพ้อฝัน จนแยกไม่ค่อยออก ระหว่างโลกแห่งความฝัน กับโลก แห่งความเป็นจริง เช่น บางคนอาจหลงคิดว่า ตนเองมีพลังพิเศษ เหนือคนอื่น เป็นคนโน้นคนนี้ กลับชาติมาเกิด ฯลฯ

สุดท้ายก็กลายเป็นคนที่มีสภาพความผิดปกติทางจิต ซึ่งบางกรณีของการกดข่มปัญหาไว้มากๆ ก็อาจก่อ ให้เกิดผลโป่งออกมา เป็นความผิดปกติ ทางร่างกาย (Psychosomatic) เช่น มีอาการปวดหัวเรื้อรัง ไม่มีเรี่ยวแรง มือเท้าเป็นอัมพาต ฯลฯ โดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุของ พยาธิสภาพทางกาย และรักษา ด้วยวิธีปกติทั่วไป ทางกายให้หายได้ แต่เมื่อใช้วิธีการรักษาทางจิตบำบัดแล้ว อาการเจ็บป่วยทางกาย ดังกล่าว ก็หายไปเอง โดยอัตโนมัติ

กลไกป้องกันตนเองทางจิตใจแบบนี้ยังมีรายละเอียดอีกหลายกลไกซึ่งโดยสรุปแล้วจะมีหลักการทำงาน คล้ายกัน กล่าวคือทำหน้าที่ เหมือนใช้วิธี กวาดเอาเศษขยะไปซุกไว้ใต้พรมในห้องนอน แล้วฉีดน้ำหอม กลบให้ห้องนั้นมีกลิ่นหอม แต่คนที่พักในห้องดังกล่าว มักจะมีอาการเจ็บป่วย ไม่สบายต่างๆ โดยหา สาเหตุไม่พบเพราะมาจากเชื้อโรคที่ซ่อนอยู่ในขยะใต้พรม ซึ่งยังไม่ได้ถูกกำจัดให้หมดไปนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การจะเลิกพรมขึ้นมาเพื่อทำให้เจ้าของห้องเห็นขยะดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีเทคนิค วิธีที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้น เจ้าของห้อง แทนที่จะยอมรับความจริง แล้วขอบคุณเรา ก็อาจพาลโกรธ หาว่าเราไปทำให้ห้องนอนที่สะอาดสะอ้านของเขาสกปรก แล้วถ่ายโอน ภาวะความเครียด หรือ ความบีบคั้นเป็นทุกข์ จากปัญหาเดิมที่ถูกกลบซ่อนไว้ ไปที่ตัวบุคคล ซึ่งชี้ให้เขาเห็นปัญหานั้นๆ แทน (Transference) เหมือนการโกรธแพทย์ที่ไปสะกิดแผล ซึ่งเขาปิดไว้ให้เกิดความเจ็บปวด แทนที่จะนึก ขอบคุณแพทย์ ที่พยายามช่วยค้นหา สาเหตุของ อาการบาดเจ็บ เพื่อจะได้เยียวยารักษาได้อย่างถูกจุด เป็นต้น

๒.๑.๓ มองไม่เห็นปัญหาเพราะไม่คิดว่าเป็นปัญหา
ในขณะที่ปัญหาคือสิ่งซึ่งทำให้เราเกิดภาวะ ความบีบคั้นเป็นทุกข์ ไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ หรือเป็นอุปสรรค ทำให้เราไม่สามารถ บรรลุถึงเป้าหมายสุดท้าย ที่พึงปรารถนาของชีวิต (อันจะช่วย ให้เราเป็นอิสระจากภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์เพราะปัญหานั้นๆ) ปัญหาจึงเป็นสิ่งที่ "ไม่ดี" และ การกระทำ ที่นำไปสู่ปัญหาก็คือสิ่งที่เป็น "ความเลว" ในทางกลับกันการกระทำที่ช่วยให้เราเป็นอิสระ จากปัญหาตลอดจน บรรลุถึงเป้าหมายสุดท้าย ที่พึงปรารถนาในชีวิต ก็เรียกได้ว่าเป็น "ความดี"

ความหมายของคำว่า "ความดี" ที่พึงกระทำ กับ "ความเลว" ที่ไม่พึงกระทำนี้ จะขึ้นอยู่กับแบบวิถีชีวิต ที่ฝังตัวอยู่ภายใต้วัฒนธรรม ของระบบ ความคิด ความเชื่อที่ครอบงำสังคมนั้นๆ ซึ่งจะชี้นำเป้าหมาย สุดท้าย ที่พึงปรารถนาของชีวิต ตามค่านิยม กรอบอุดมการณ์ หรือ ลัทธิความคิดความเชื่อ ที่ผู้คน ในสังคมดังกล่าวยึดถือวิตเกนสไตน์นักปรัชญาชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงชี้ให้เห็นว่า แบบวิถีชีวิต (Form of life) จะทำหน้าที่ กำหนดความหมายของมโนทัศน์ต่างๆ (Concepts) ที่สะท้อนผ่านทางภาษา ซึ่งเราใช้ ในชีวิตประจำวัน เหมือนเป็นกติกา ของเกมอย่างหนึ่ง อันเรียกได้ว่าเป็นเกมภาษา (Language game) ที่จะกำหนด ความหมายของภาษาที่เราใช้

คล้ายคลึงกับกรณีกติกาเกมส์การแข่งขันกีฬาที่แตกต่างกัน จะกำหนดความหมายของภาษาที่ใช้ ให้แตกต่างกันไป อาทิ ภายใต้กติกา ของเกมการเล่นฟุตบอล ความหมายของคำว่า "ฟาวล์" จะเป็น อย่างหนึ่ง โดยผู้เล่นในสนามต้องใช้เท้าเตะลูกฟุตบอล ถ้าเกิดใช้มือ จับถูกลูกฟุตบอล จะเรียกว่า "ฟาวล์" แต่ในกติกาของเกมการเล่นบาสเก็ตบอล ความหมายของคำว่า "ฟาวล์" จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง โดยผู้เล่น ต้องใช้มือจับลูกบอล ถ้าเกิดใช้เท้าเตะถูกลูกบอล จะเรียกว่า "ฟาวล์" เป็นต้น

ภายใต้แบบวิถีชีวิตและเกมภาษาของผู้คนในวัฒนธรรมหนึ่งๆ อาจเรียกพฤติกรรมอย่างหนึ่งว่าเป็น "ความดี" และใช้ภาษาคำว่า "ความดี" ในความหมายแบบนี้พูดคุยกันเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน ขณะที่ผู้คนในสังคม ซึ่งมีแบบวิถีชีวิต และเกมภาษาภายใต้วัฒนธรรม อีกอย่างหนึ่ง อาจเรียก พฤติกรรม แบบเดียวกันนั้นว่าเป็น "ความชั่ว" และใช้ภาษาคำว่า "ความชั่ว" ในความหมายเช่นนี้ สื่อสารกัน เป็นปรกติ ในชีวิตประจำวัน

ถ้าบุคคลทั้ง ๒ มาพูดคุยกัน จะสื่อความกันไม่รู้เรื่อง เพราะต่างใช้ภาษาคำเดียวกัน ออกเสียง อย่างเดียวกัน สะกดเหมือนกัน แต่ใช้ในความหมาย ที่แตกต่างกัน อันทำให้เกิดการพูดคุย "คนละเรื่องเดียวกัน" โดยหากบุคคลผู้หนึ่ง ชี้ให้อีกคนเห็นว่า พฤติกรรมแบบนั้น เป็นปัญหา เพราะเป็น "ความชั่ว" คนผู้นั้นจะเข้าใจไม่ได้และมีความรู้สึกนึกคิดที่ขัดแย้งเกิดขึ้นทันที เพราะมองไม่เห็นว่า พฤติกรรมแบบนั้น เป็นปัญหา หรือความชั่วอะไร เนื่องจากในวัฒนธรรมที่ครอบงำระบบสังคม ซึ่งเขามีชีวิตอยู่นั้น เรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเป็น "ความดี"

ตัวอย่างเช่น ภายใต้อิทธิพลครอบงำของลัทธิทุนนิยมบริโภค ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมจะมีค่านิยมว่า ความขยันหมั่นเพียร และชาญฉลาด รู้เท่าทันคนอื่น ในอันที่จะหาเงินมาสะสมให้ร่ำรวยมากๆ นั้น เป็น "ความชอบธรรม" ที่พ่อแม่พึงปลูกฝังให้กับลูก เพื่อจะได้สามารถเติบโตขึ้น โดยมีชีวิตอยู่รอด ในสังคม นั้นๆ อย่างมีความสุขสบาย ขณะที่วัฒนธรรมของสังคมที่ยึดถือจริยธรรมบางอย่าง อาจเรียกพฤติกรรม การสะสมทรัพย์สินเงินทอง ให้ร่ำรวยยิ่งๆ ขึ้น (จากความยากจนของคนอื่น) เช่นนั้นว่าเป็น "ความไม่ชอบธรรม" ที่ควรปรับปรุงแก้ไข เป็นต้น

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าคนที่มีแบบวิถีชีวิตทางจริยธรรมแบบนั้น ชี้ให้คนที่มีแบบวิถีชีวิตในวัฒนธรรม ของสังคม ทุนนิยมบริโภคเห็นว่า พฤติกรรม การสะสมเงินทอง ให้มีความร่ำรวยมั่งคั่งเช่นนั้น เป็นปัญหาหรือ "ความไม่ชอบธรรม" คนที่มีแบบวิถีชีวิตภายใต้วัฒนธรรม ของสังคม ทุนนิยมบริโภค ก็จะเข้าใจ ไม่ได้เลยว่า พฤติกรรมดังกล่าว เป็นปัญหาหรือเป็น "ความไม่ชอบธรรม" อย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่ ผู้คนในสังคม ซึ่งเขาเติบโตขึ้นมา และมีชีวิตอยู่ ประพฤติปฏิบัติกันเป็นปรกติ มานานแล้ว โดยไม่เห็นมี "ปัญหา" อะไร

บางคนเรียกกรอบความคิดที่ถูกครอบโดยวัฒนธรรมของแบบชีวิตที่เราเคยชินนี้ว่าเป็นกระบวนทัศน์ (Paradigm) ซึ่งถ้าไม่สามารถ คิดออกนอกกรอบ ของกระบวนทัศน์เดิม ที่ครอบงำเราอยู่ หรือมีการเปลี่ยน กระบวนทัศน์ใหม่ (Paradigm shift) ก็ยากที่จะมองเห็นได้ว่า พฤติกรรมแบบเดิมๆ ของเราเช่นนั้น เป็นปัญหา อย่างไร

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๔ มกราคม ๒๕๔๘ -