- สมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ -


เหตุที่มนุษย์มีอัตตา

"ตัวกู-ของกู" ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้บัญญัติคำนี้มานานหลายสิบปี

ทุกครั้งที่พูดถึง "ตัวกู-ของกู" เราก็จะเห็นภาพอึ่งอ่างค่อยๆ พองลมใหญ่ขึ้นๆ

ความมีตัวตนเป็นรากแก้วของชีวิต ก่อเกิดบทบาททั้งสุขทั้งโศกในหล้าโลกมากมายสุดจะพรรณนา

มีผู้ใดที่สอนการละตัวตน?

ทอดตาดูทั่วแผ่นดิน มักจะเป็นแนวฉับโผงเสียมากกว่า เอาตัวตนมานั่งดูพิจารณาให้เห็นความไร้แก่นสารว่าแล้วก็กระโดดผลุง บรรลุธรรมทันที หมดตัวหมดตน เป็นการบรรลุแบบฉับพลัน

สมัยพุทธกาลมีบุคคลเช่นนี้มากมาย แต่วันนี้ถ้าใครยังคิดกรอบเดิม ก็ประดุจไขว่คว้าฟ้าดาว!

เกิดมาชาตินี้ น่าจะรู้ตัวว่า บารมีไม่ค่อยมี ต้องหมั่นพากเพียรสะสม

การบรรลุธรรมแบบทันใด หรืออย่างที่นิกายเซ็นสอนไว้เปรียบดุจความร้อนแฝงองศาสุดท้าย ที่เผากันมานานจน ณ วินาทีสุดท้าย เพียงความร้อนอีกนิดก็เดือดพล่านทันที

การละอัตตาตัวตน แท้จริงมีเบื้องต้น-ท่ามกลาง-บั้นปลาย ไม่วุ่นวาย ไม่สับสน หากมีบารมีจริง ก็จะผ่านแต่ละฐานเร็วจึงไม่ต้องกังวล กลัวตัวเองจะปฏิบัติได้ช้า

กระบวนท่ามาตรฐานในธรรมจักร ท่านจะเริ่มที่ "ของกู" ตั้งแต่ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม ๘

คนที่จับ "ตัวกู" หากไม่ผ่านการปล่อยวาง "ของกู" ก็เหมือนคนยกน้ำหนักทีเดียว ๒๐๐ กิโล ก็จะได้แต่ฝัน!

ชั่วโมงบินแห่งการฝึกฝนละทิ้ง "ของกู" จะทำให้มีประสบการณ์ มีไหวพริบ มีพลังจิต ที่จะฝึกฝน เอาชนะ "ตัวกู" ได้ในขั้นต่อไป

หากย้อนศึกษาพระเถระเกจิฯ เราจะพบว่า ท่านมักจะสอนจากประสบการณ์ของตัวเอง หมายความว่า ท่านมักจะสอนจากกรรมฐานของท่าน มิใช่จากกรรมฐานของลูกศิษย์!

เพราะเหตุนี้ ลูกศิษย์จึงปฏิบัติตามได้ยาก ผู้รับสืบทอดมรดกธรรมจึงไม่มี (มีแต่หัว-หาง กลางไม่มี)

พลังแห่งลูกศิษย์ที่มีการลดละกิเลส เห็นชัดได้ในยุคนี้หากสังเกตสักนิด ก็จะพอได้เห็นรูปรอยว่ามีอยู่ ณ ที่ใดบ้าง

อะไรเป็นสาเหตุแห่งอัตตาตัวตน?

ข้อที่ ๑ ค่านิยมของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะเรื่องของการศึกษา เรื่องของหน้าตา ฯลฯ

อะไรก็ตามที่สังคม เขาหลงใหล เขาชมชื่น อยากได้ อยากมี อยากเป็น นั่นคือ สิ่งที่เป็น "ค่านิยม"

ใครมีมากก็หลงตัว หลงตนมาก เกิดความ "ลำพอง"

ใครมีน้อยก็ตีกลับสุดโต่งมาเป็น "ปมด้อย"

ข้อที่ ๒ ก่อนปฏิสนธิ เชื้อชีวิตของพ่อ (สเปิร์ม) ที่วิ่งเข้าไปหาไข่ของแม่ มีมากมายนับเป็นร้อยๆ ล้านตัว การได้ปฏิสนธิกับไข่ของแม่นั้น you are number one ๗-๘๐๐ ล้านชีวิต เราชนะที่ ๑ จะไม่ให้ภูมิใจได้อย่างไร?

ข้อที่ ๓ ก่อนเป็นสเปิร์ม ในพระไตรปิฎกมีพุทธพจน์ตรัสไว้หลายตอน ถึงความเป็นไปได้ยากในการเกิดเป็นมนุษย์

มีการวิวัฒนาการ มีการเรียนรู้ สั่งสมในห้วงเวลาที่นานแสนนาน นานขนาดไหน ลองเทียบเคียงดูก็พอจะเห็น

กว่าจะถึงวันนี้ พวกเราต่างเวียนว่ายตายเกิดนานนับอนันต์เป็นแสนๆ อสงไขยกัปป์

อสงไขยกัปป์ นั้นก็คือ ระยะเวลาของ "กัปป์" ที่กินเวลาเป็นแสนๆ กัปป์

และในอสงไขยก็ยังมี "แสนๆ" ขึ้นต้นอีกครั้ง

ใน ๑ กัปป์ มีระยะเวลาดังนี้ ภูเขา กว้าง ยาว สูง ๑ โยชน์ ทุกๆ ๑๐๐ ปี เทวดาจะมาลาดผ้าแพรปัดภูเขา ๑ ครั้ง ปัดไปเช่นนี้ ทุก ๑๐๐ ปี จนภูเขาทั้งลูกแบนราบในระดับเดียวกับแผ่นดิน

๑ กัปป์ กินเวลากี่ปี

๑ อสงไขยกัปป์ กินเวลาอีกหลายแสนเท่า แสนอสงไขยกัปป์.....คิดเอาเองเถิด!

ความเป็นมนุษย์ จึงเป็นเครื่องจักรที่สุดยอดในจักรวาลทีเดียว ผ่านการเรียนรู้ หล่อหลอมล้านๆๆๆ ยกกำลังล้านๆๆๆ พูดจากเช้าไปจนถึงเย็น ก็ยังน้อยไป

ข้อสำคัญก็คือ นายช่างใหญ่คนนี้มิใช่ใครที่ไหนเป็น "ตัวเรา" ต่างหาก

เพราะเหตุนี้คำว่า "กูแน่" ทุกคนจึงมีสิทธิ์คิดและภาคภูมิใจ แต่เจ้าตัวก็ลืมไปบางอย่าง นั่นก็คือทุกคนที่เกิดมาก็ล้วนต่าง "กูแน่" ทั้งสิ้น เก่งพอๆ กันก็เท่านั้น

ความจริงแล้ว "ภาคจุติ" เราต่างแน่กันถ้วนหน้าทั่วแต่ "ความตาย" ต่างหาก ที่บางคนแสนจะทุเรศ!

"กูแน่" เพียงคำเดียว ชาตินี้ของเจ้าตัวก็จะกลายเป็นความอัปมงคลในทันใด

เพราะ "กูแน่" ทำให้มีพฤติกรรมชั่วร้าย น่าเบื่อหน่ายมากมาย

นอกจากตัวเองจะกลายเป็นน้ำชาล้นถ้วย เจ้าอารมณ์ โง่ดักดานมากขึ้น วุฒิภาวะแห่งอารมณ์ตกต่ำ ผู้คนรังเกียจ ฟังใครสั่งสอนไม่ได้ ดูถูกความคิดคนอื่นเสมอ เห็นตัวเองสำคัญกว่าเขา

บรรยากาศเหล่านี้ จะค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปตามอายุขัย

ที่สุดของ "กูแน่" ชาตินี้ก็อาจเห็นผลทันตา แต่บางคนต้องชาติต่อไป เนื่องจากมีต้นทุนมากพอชาตินี้จึงยังไม่ล้มละลายง่ายๆ

ปลายทางของ "กูแน่" จึงไม่พ้นตายอย่างเขียด ตายอย่างหมากลางถนน ที่เนื้อตัวเป็นขี้เรื้อนเต็มไปหมด!

การแก้ไขนั้น บนเส้นทางแห่งการฝึกฝนมีแต่หนามกุหลาบที่จะคอยขู่ให้หวาดกลัว ท้อแท้ แต่มันก็กลัวคนเอาจริง!

๑. การลดละความฟุ่มเฟือย จะเป็นกำลังภายในพื้นฐานให้เรามีจิตแข็งแรงที่จะฟันฝ่า มิฉะนั้นก็จะก้าวผ่านไปข้ออื่นๆ ยาก

๒. การฝึกไม่โกรธ ฝึกไม่ถือสา อาจไม่ถูกใจ ไม่สมใจอะไรก็ตาม เราต้องหัดวาง ฝึกอภัย

๓. ฝึกรับฟังความคิดผู้อื่น เปิดใจให้กว้าง

๔. ฝึกรับคำตักเตือนสั่งสอนจากทุกคนแม้คนที่ด้อยกว่าเรา

๕. อย่าหลงปรากฏการณ์ คนนั้น คนนี้ทำกับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ถอดรหัสให้เป็น เหตุการณ์ทั้งหมด ถอดรหัสเข้าหา "อัตตา" ของเราให้สำเร็จ ความผิดของคนอื่นไม่ยิ่งใหญ่และน่ากลัวเท่ากับ อัตตาของเรา!

๖. อัตตาจะเล็กลง อ่อนโยนขึ้น ละพยศ ก็จะมีแต่ความเจ็บปวดเท่านั้นที่เป็นตัวล่อ

๗. ทฤษฎีก็เป็นเพียงทฤษฎี ชั่วโมงบินแห่งการถูกขัดเกลาเท่านั้นที่จะทำให้ตัวตนเล็กลง

เพราะกรุงโรมมิไดสร้างเสร็จในวันเดียว จึงต้องให้เวลาให้โอกาสแก่ตัวเอง

อัตตาจึงเป็นของปกติของมนุษย์ทุกคน

เมื่อเห็นจึงไม่ใช่เรื่องตื่นเต้น มันเป็นของปกติเหมือนทุกคนต้องมีกลิ่นตัว

การค้นหาจุดบกพร่องของตัวเองจะเป็นปฏิภาคผกผันกับการถือสาผู้อื่น

คนที่ยิ่งจับผิดตัวเอง เขาจะยิ่งจับผิดคนอื่น น้อยลง

ยิ่งอยู่กันนานๆ ก็จะยิ่งเห็นข้อบกพร่องของเขา หากอัตตามี ก็จะยิ่งรังเกียจถือสา

แต่หากอัตตายิ่งเล็ก เรากลับจะยิ่งเห็นใจ

โถ! คนมีอัตตาช่างน่าเห็นใจ โรคเดียวกับเราเลย!

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ -