ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ -สมณะโพธิรักษ์-


ขยายความกันดูอีกที เป็นต้นว่า ผู้ปฏิบัติสมาทานศีล ๕ ความหมายที่เรากำหนดกรอบปฏิบัติว่า เราจะเอาเพียงว่า ๑.ไม่ฆ่าสัตว์ ๒.ไม่เอาของผู้อื่น ในลักษณะที่เป็นขโมย ๓.มีผัวเดียวเมียเดียว ไม่นอกใจ ๔.ไม่พูดปด ให้ได้เป็นเบื้องต้น ส่วนไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ นั้นก็กำหนดกรอบเอาว่า จะปฏิบัติขนาดไหน ส่วนข้อ ๕.ไม่หลงเสพสิ่งที่ทำให้ติด ที่ทำให้มัวเมา ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องรู้ต้องเข้าใจ ในสภาพที่เป็นความเมาหรือความมัวเมา ไม่ว่าอย่างหยาบ-อย่างกลาง-อย่างละเอียด แล้วตนก็กำหนด ละเว้นตามที่ตนสมาทานนี้

โดยสัจจะ..จริงๆแล้วในขณะที่สังวรกายกับวาจานั้น คนผู้ปฏิบัติทุกคนก็ใช้"จิตหรือใจ"ของตนนั่นเองแหละ ที่ทำหน้าที่ "สังวรหรือระมัดระวัง กายกับวาจาของตน" ให้ปฏิบัติตามที่ตนต้องการละเลิก ไม่ให้ผิดศีล แม้แค่ทางกายกับวาจา ซึ่งผลของจิตมันก็เกิดอยู่ แต่เมื่อ ผู้สอนไป จำกัดความกำหนดไว้ แค่นั้น ความคิด ความอ่านก็เลยถูกจำกัดการทำงานแค่ตามที่รู้ตามที่กำหนดไว้แค่นั้น ผลที่จะได้ เชื่อมสัมพันธ์ เข้าไปในจิต ก็ถูกตัดขาดลงไป เมื่อไม่เรียนรู้ไปถึงจิตจึงไม่เกิดการสืบต่ออธิปัญญา ก็เห็นอยู่ชัดๆ นี่คือ ผลเสีย ประการที่หนึ่ง ในการสอนผิด ประโยชน์ที่ได้ก็แค่อธิบายกันว่า ผู้ได้ปฏิบัติกายกับวาจาบริสุทธิ์มาแล้ว ก็จะเป็นบาทฐานที่ดี ให้แก่การปฏิบัติสมาธิ ก็เท่านี้เอง ที่สอนๆกันไว้ ดังนั้น ศีลก็ปฏิบัติโดยสังวรละเว้น ให้มีผล ก็แค่กายกับวาจา ตามที่ได้สอนกัน จำกัดความกันไว้เท่านี้จริงๆ

ประการที่สอง ก็คือ "ศีล"กับ"สมาธิ"ถูกตัดขาดจากกันแน่นอน

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ -