พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ที่สอดคล้องกับหลักฆราวาสธรรม ๔ ประการนี้ คือ เครื่องมือสำคัญ ที่จะใช้ขัดเกลา ความต้องการส่วนเกินจำเป็น ของผู้คนให้ลดน้อยลง อันจะเป็น รากฐานสำคัญ ของระบบ เศรษฐกิจ แบบพอเพียง และเศรษฐศาสตร์การเมืองบุญนิยมในสังคมมนุษย์


กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาท เรื่องคุณธรรม ๔ ประการ
(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๔)

๒.๑.๔ มองไม่เห็นปัญหาเพราะไม่มีสิ่งที่ดีกว่าสำหรับเปรียบเทียบ
ปัญหาหรือภาวะ ความบีบคั้น เป็นทุกข์ ในแง่หนึ่งจะขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบเชิงสัมพัทธ์ (relative deprivation) กับสิ่งที่ดีกว่า

เช่น มาตรฐานด้านสุขอนามัยของคนในสังคมชนบทแห่งหนึ่ง ที่ไม่มีการติดต่อกับสังคมอื่น ที่เจริญกว่า ผู้คนในสังคมนั้น ก็อาจมีความคิดว่า เขามีชีวิตเป็นปรกติสุขดีแล้ว ตามอัตภาพ ดังเช่น ที่เป็นมา ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่เมื่อคนในสังคมนี้ มีโอกาสไปเห็นระบบสาธารณสุข ของสังคมอื่น ที่ดีกว่า ก็จะเกิดความรู้สึกนึกคิดใหม่ว่า มาตรฐานด้านสุขอนามัย ที่เขาเคยคิดว่า ไม่มีปัญหาอะไรนั้น แท้จริงยังมีปัญหาต่างๆ อีกมากมาย ที่ควรปรับปรุงแก้ไข เป็นต้น

หรือในสมัยปู่ย่าตายายของเรา ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ถึงแม้จะไม่มีรถยนต์ ไม่มีตู้เย็น ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีวิทยุ ฯลฯ ก็สามารถอยู่ได้ อย่างมีความสุข ตามแบบวิถีชีวิตของเขา โดยไม่มีความรู้สึกว่า ตนเองขาดแคลน หรือ มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ต่ำต้อยอะไร เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ในสังคม โดยรวมแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ เขาก็ไม่มี วัตถุเหล่านี้เหมือนๆ กับเรา จึงไม่รู้สึก เป็นปัญหาอะไร

แต่ในสังคมทุกวันนี้ เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองมีรถยนต์ มีตู้เย็น มีโทรทัศน์ มีเครื่องเล่น สเตอริโอ ฯลฯ หากครอบครัวไหน ไม่มีสิ่งอำนวย ความสะดวกสบาย ทางวัตถุเหล่านี้ ก็จะเกิดความรู้สึกว่า เป็นปัญหา เพราะเหมือนตนเอง ถูกลดค่าเป็นพลเมืองชั้น ๒ ของสังคม จึงต้อง กระเสือกกระสน ดิ้นรนแสวงหารถยนต์ โทรทัศน์ เครื่องเล่นสเตอริโอ ฯลฯ เพื่อมาเติม ความขาดพร่อง ของชีวิตให้เต็ม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในกรณีเช่นนี้ ภาวะความรู้สึกบีบคั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นปัญหา ดังกล่าว เกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบ กับบุคคลอื่น อันเป็นลักษณะสัมพัทธ์ (relative) ไม่ใช่เป็นปัญหา ซึ่งดำรงอยู่ อย่างเป็นวัตถุวิสัย (objective) โดยตัวของมันเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย และรู้สึกว่าพระองค์มี ความสมบูรณ์ พูนสุข อาทิ จากการได้นอนบนบรรจถรณ์ ที่อ่อนนุ่มเป็นต้น ได้เห็นพระพุทธเจ้า ทอดทิ้งชีวิต ที่สุขสบายแบบนี้ในวัง ออกบวชเป็นบรรพชิต มานอนอยู่ใต้โคนไม้บนพื้นดิน ที่แข็งกระด้าง และสกปรก ก็เข้าใจไม่ได้ว่าทำไม พระพุทธองค์ มาทรงใช้ชีวิต ที่ทุกข์ยากลำบาก เช่นนั้น ทั้งๆ ที่จะอยู่อย่าง สุขสบายในวังก็ได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายให้พระเจ้าปเสนทิโกศลฟังว่า ถึงพระเจ้าปเสน-ทิโกศลจะมีความสุข ก็เป็นเพียง แค่ความสุข ที่มีความทุกข์ซ่อนแฝงอยู่ คือจะมีความสุข ต่อเมื่อได้นอน บนบรรจถรณ์ ที่อ่อนนุ่ม แต่ถ้าให้มานอนใต้โคนไม้ ก็จะเป็นทุกข์ทรมาน จนนอนไม่หลับ ส่วนพระพุทธองค์นั้น มีความสุขโดยส่วนเดียว คือเมื่อนอนใต้โคนไม้ ก็เป็นสุข หรือได้นอนบนบรรจถรณ์ที่อ่อนนุ่ม ก็เป็นสุข วิถีชีวิตแบบนี้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จึงมีความสุขเหนือกว่าวิถีชีวิต แบบของพระเจ้า ปเสนทิโกศล

ตัวอย่าง ๓ กรณีข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้การเปรียบเทียบกับสิ่งที่สมบูรณ์กว่า จะช่วยให้เรามองเห็น แง่มุมใหม่ๆ ของความไม่สมบูรณ์ อันเป็นปัญหา ที่เราจะต้องแก้ไข เพื่อพัฒนาไปสู่ ความสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นต่อไป แต่บางครั้งสิ่งที่รู้สึกว่า เป็นปัญหา อันเกิดจากการเปรียบเทียบ กับสิ่งอื่นดังกล่าว ก็อาจจะ เป็นเพียง "ปัญหาเทียม" (pseudo-problem) ไม่ใช่ "ปัญหาแท้" (real-problem) ก็ได้ เพราะลวงให้เรา กระเสือกกระสน ดิ้นรนไขว่คว้า สิ่งที่ตนเองคิดว่า เป็นปัญหา เพื่อหวังจะเติม ความบกพร่อง ของชีวิต ให้เต็ม แต่แล้วก็กลับนำไปสู่ การสร้างปัญหาใหม่ๆ เพิ่มทับซ้อนปัญหาเดิม ให้ขยายตัวมากยิ่งๆ ขึ้น เช่น คนที่รู้สึกว่า มีปัญหา เพราะมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์จากการเปรียบเทียบ กับครอบครัวอื่น ที่มีรถยนต์ ตู้เย็น เครื่องเล่น-สเตอริโอ ฯลฯ แล้วก็กู้หนี้ยืมสิน เพี่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก ทางวัตถุเหล่านั้น มาเป็นสัญลักษณ์ ในการ ยกระดับสถานะทางสังคม ให้เท่าเทียมญาติพี่น้อง หรือเพื่อนฝูงคนอื่นๆ แต่สุดท้าย ก็กลับกลายเป็น ภาระของครอบครัว จากการมีรายจ่าย เกินรายรับ มีรสนิยม สูงเกินรายได้ จนต้องเป็นหนี้เป็นสิน กลายเป็นปัญหาใหม่ซ้อนทับปัญหาเดิม เป็นต้น

การไปดูงานต่างประเทศ จึงมีประโยชน์ในแง่ช่วยเปรียบเทียบให้เห็นปัญหาบางอย่าง ของการ พัฒนา บ้านเมือง ที่เรามองไม่เห็น หรือไม่เคยคิดว่า เป็นประเด็นปัญหามาก่อน แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าไปดู งานแล้ว แยกแยะไม่ออก ระหว่างสิ่งที่เป็น "ปัญหาแท้" กับ "ปัญหาเทียม" ดังตัวอย่างที่กล่าวมา แล้วไปรับเอาค่านิยม หรือแนวคิดที่ผิดๆ มาใช้ โดยหลงเข้าใจ "ปัญหาเทียม" ว่าเป็น "ปัญหาแท้" ก็จะกลายเป็น การสร้างปัญหาใหม่ ยิ่งกว่าช่วยแก้ไขปัญหาเก่า ที่มีอยู่แต่เดิมได้เหมือนกัน

๒.๒ องค์ประกอบที่จะเป็นตัวช่วยให้เห็นปัญหา
ขณะที่ปัญหาหรือภาวะความบีบคั้นเป็นทุกข์ มักจะซ่อนตัวอยู่ในภาวะแฝง (Potentiality) โดยมีสิ่ง คอยกลบเกลื่อน บดบังมากมาย ดังที่ได้กล่าวมา อันทำให้เห็นหน้าตา ตัวตนของปัญหาไม่ได้ง่ายๆ แต่ก็จะปรากฏตัว สู่ภาวะจริง (Actuality) เพื่อสร้างปัญหา ภาวะความบีบคั้น เป็นทุกข์ให้แก่เรา อยู่เนืองๆ โดยที่ไม่สามารถจับตัวตน ของปัญหาให้ชัดเจนได้

ฉะนั้นในกระบวนการฝึกอบรมการวิเคราะห์และปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาชีวิตนี้ จึงต้องอาศัย องค์ประกอบ ของสภาพสังคมสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องของบุคคล สถานที่ กระบวนการฝึกอบรม ฯลฯ เพื่อช่วย กระตุ้น ให้เห็นหน้าตาตัวตน ของปัญหา และสามารถจับประเด็นปัญหา ได้อย่างถูกต้อง กล่าวคือ

๒.๒.๑ ครูผู้ชี้แนะ
การแสวงหาครูที่จะเป็นผู้ช่วยชี้แนะ ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่เราเคารพนับถือวิทยากรในหลักสูตร การศึกษา อบรม ที่จัดขึ้น ตลอดจนความรู้ ที่ได้จากสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือ เทปบรรยาย วิดีทัศน์ ฯลฯ จะเป็นจุด เริ่มต้นสำคัญ ที่ช่วยสะกิดให้เราเกิดแง่มุมมองใหม่ๆ ในการมองเห็นปัญหา ที่เราอาจเคย มองข้าม และไม่คิดว่า เป็นประเด็นปัญหามาก่อน

เนื่องจากกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญทางสังคมนั้น มักจะเกิดจากการเรียนรู้ ผ่านทางสัญญลักษณ์ ที่มีนัยสำคัญ (Significant Symbols) ฉะนั้น หากจะมีการสอน เรื่องคุณธรรม 4 ประการนี้ ตัววิทยากร ที่มาเป็นผู้บรรยาย จะมีความสำคัญ อย่างยิ่ง ที่ต้องคัดเลือกจากบุคคล ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่าง อ้างอิง ที่มีนัยสำคัญทางสังคม (Reference others) จึงจักมีพลังในการ สื่อแสดง ให้เกิด กระบวนการ เรียนรู้ และมองเห็นปัญหา

วิทยากรอาจไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม แต่อย่างน้อย ต้องมีประสบการณ์จริง ของชีวิต ที่สามารถจะเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นแบบอย่าง ของกรณีศึกษา ให้ผู้ฟังได้เรียนรู้ และมองเห็น ปัญหา บางอย่าง ซึ่งตนอาจมองไม่เห็นจาก ตัวอย่างของชีวิตจริง ดังกล่าว ถ้าสิ่งที่วิทยากรพูดให้ฟัง เป็นเพียงแค่เรื่องของความคิด ซึ่งตนเองยังทำไม่ได้ น้ำหนักของการเป็นสัญลักษณ์ ที่มีนัยสำคัญ ในการสื่อแสดง ให้ผู้ฟังเห็นปัญหา ก็จะมีพลัง ลดน้อยลงมาก เหมือนการดูสารคดี ที่ถ่ายทำ จากเหตุการณ์จริง กับการดูภาพยนต์ที่จัดฉากแสดง ซึ่งถึงแม้จะเลียนแบบ เหตุการณ์จริง ได้แค่ไหน ก็ตาม ก็ให้ความรู้สึก ไม่เหมือนกับ การได้ชม ภาพเหตุการณ์จริง ที่บันทึกไว้นั้นๆ

มีเรื่องเล่าว่าผู้หญิงคนหนึ่งได้พาลูกของตนไปพบมหาตมะคานธี เพื่อจะให้ท่านคานธีสอนลูกของตน ไม่ให้ติด ขนมหวาน และทอฟฟี่ คานธีบอกให้หญิงคนนั้น กลับไปก่อน รออีก ๑ เดือนค่อยพาลูก มาหาท่านใหม่ เมื่อครบกำหนดเวลาหญิงคนนั้น ก็พาลูกมาพบคานธี ตามที่นัดหมาย

คานธีได้ชี้ให้เด็กเห็นว่า การที่เด็กติดขนมหวานและทอฟฟี่เช่นนั้น เป็นสิ่งไม่ดี จะทำให้เสียทั้งเงิน และส่งผลให้เสียสุขภาพด้วย หญิงคนนั้น ได้ถามคานธี ด้วยความฉงนว่า การสอนเด็กแค่นี้ ทำไม ไม่สอน ตั้งแต่เมื่อเดือนก่อน ต้องรอถึง ๑ เดือน จึงค่อยนัดให้มาใหม่ คานธีอธิบายให้ผู้หญิงคนนั้น ฟังว่า เมื่อเดือนก่อน ตนยังติดขนมหวาน อยู่เหมือนกัน ถ้าจะสอนให้เด็ก เลิกติดขนมหวาน โดยที่ ตนเอง ยังติดอยู่นั้น ย่อมจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี จึงขอเวลา ๑ เดือน เพื่อตนจะเลิกขนมหวาน ให้เด็ดขาดก่อน

เหตุผลที่คานธีชี้ให้เห็นนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ไม่เข้าใจ การปลูกฝัง เรื่องจริยธรรม จึงไร้ผล เพราะถ้าครูหรือพ่อแม่ ผู้ปกครองสอนลูก ให้ทำสิ่งที่เป็นความดีต่างๆ เช่น การไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน ไม่พูดโกหก มีความซื่อสัตย์เสียสละ ฯลฯ แต่ตนเองยังกระทำ พฤติกรรม ตรงกันข้าม กับสิ่งที่สอนเด็ก และก็ทำให้เด็กเห็นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กก็จะเกิดความรู้สึก ที่เป็น "Double Standard" ว่าจะเชื่อสิ่งที่ผู้ใหญ่สอนดี หรือเชื่อสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ เป็นแบบอย่างให้เห็นดี

ผลที่สุดเด็กก็อาจได้ข้อสรุปว่า จริยธรรมที่ผู้ใหญ่สอนให้ประพฤติด้วยคำพูดเหล่านั้น แท้จริงแล้ว มีไว้สำหรับ หลอกเด็ก หรือหลอกคนที่โง่กว่า เพื่อตัวเองจะได้รับประโยชน์ จากพฤติกรรม ทางจริยธรรม ที่คนอื่นกระทำดังกล่าว โดยคนที่ฉลาด ไม่ต้องทำเอง ให้ยากลำบาก อาทิ หากหลอก ให้คนอื่น มีความซื่อสัตย์ เสียสละได้เป็นผลสำเร็จ เราก็ย่อมจะสามารถ เอารัดเอาเปรียบ และตักตวง ผลประโยชน์ต่างๆ จากความเสียสละของบุคคลผู้นั้นได้มากขึ้น เป็นต้น การพูดกับคนอื่น ตามอย่าง ที่ผู้ใหญ่พูด แต่ทำกับคนอื่น เหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่ กระทำให้เห็น จึงเป็นความชาญฉลาด ของคนที่มี วุฒิภาวะ ที่จะสามารถเอาตัวรอด อย่างผู้ชนะในสังคมนี้

สุดท้ายวิธีการสอนจริยธรรมด้วยการสักแต่พูด โดยตนเองยังทำในสิ่งตรงกันข้ามกับที่พูด ดังกล่าว ก็จะกลับกลายเป็น การปลูกฝังค่านิยม ที่ตรงกันข้ามกับบรรทัดฐาน ทางจริยธรรมนั้นๆ ให้เด็ก โดยไม่รู้ตัว ชั่วโมงแห่งการสอน วิชาศีลธรรม จึงอาจกลายเป็นชั่วโมง แห่งการทำลายศีลธรรมได้ โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์แบบนี้ ฉะนั้น การคัดเลือกวิทยากรบรรยาย ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม จึงเป็นเงื่อนไข ที่มีความสำคัญมาก ของหลักสูตรฝึกอบรมการปฏิบัติ ตามแนวพระบรมราโชวาท เรื่องคุณธรรม 4 ประการนี้

๒.๒.๒ แบบอย่างที่ดี
ตัวอย่างที่ดีบางครั้งยังมีคุณค่ายิ่งกว่าคำสอนที่ดี การเลือกคบมิตรสหายหรือเลือกอยู่ในสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี จึงมีผลอย่างมาก ต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลง ชีวิตตนเอง ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น

หากจะสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมการปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ นอกเหนือ จากตัววิทยากร ซึ่งจะต้องคัดเลือกจาก บุคคลที่สามารถ เป็นแบบอย่างอ้างอิง ที่มีนัย สำคัญ ดังกล่าวมาแล้ว แม้แต่อาสาสมัครหรือ ผู้ช่วยปฏิบัติงาน ด้านต่างๆ ในกระบวนการฝึกอบรม ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะต้องกลั่นกรอง คัดเลือกด้วย เพื่อให้สามารถเป็นแบบอย่าง อ้างอิง ที่มีนัยสำคัญ สำหรับผู้เข้ารับ การฝึกอบรม เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น ในหลักสูตรฝึกอบรมคนที่ตั้งใจจะเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งถึงแม้จะมีวิทยากร ที่สามารถพูดได้เก่ง อย่างไรก็ตาม แต่หากผู้ปฏิบัติงาน ที่ช่วยทำงานด้านต่างๆ ในกระบวนการฝึกอบรม ยังแอบสูบบุหรี่ ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพบเห็น ความเชื่อถือ ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีต่อหลักสูตรการฝึกอบรมนั้น ก็จะลดลงทันที เพราะจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า ถ้าหลักสูตรการฝึกอบรมนั้น มีประสิทธิผล ในการช่วย ให้สามารถ เลิกสูบบุหรี่ ได้จริงแล้ว ทำไมกระทั่งผู้ปฏิบัติงาน ใกล้ชิดกับกระบวนการ ฝึกอบรม ดังกล่าว จึงยังเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ และเมื่อขาดความศรัทธาเชื่อถือ เป็นพื้นฐานเช่นนี้แล้ว กระบวนการ ฝึกอบรมนั้นๆ ก็ยากที่จะประสบ ผลสำเร็จด้วยดี เป็นต้น

มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีเหตุผล การที่มนุษย์จะเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็มักจะอาศัยเหตุผลใน ๒ ลักษณะ คือการอาศัยเหตุผล จากการอนุมาน แบบนิรนัย (Deduction) ที่อาศัยหลักทางตรรกะ ดึงเอาข้อสรุปออกมา จากข้ออ้างอิง เช่น เชื่อว่า พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสิ่งที่ดี และเนื่องจากเรื่อง คุณธรรม ๔ ประการ เป็นหนึ่งในพระบรมราโชวาท ของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้น เรื่องคุณธรรม ๔ ประการ (ตามพระบรมราโชวาท) จึงย่อมจะเป็นสิ่งที่ดี เป็นต้น

อ่านต่อฉบับหน้า

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๕ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ -