วีระพล กมลรัตน์ หนุ่มผู้กลัาก้าวตามฝัน


เห็นแรงงานอีสานทิ้งถิ่นหนีแล้งเข้ามาหางานในกรุงเทพฯ
ก่อเกิดแรงบันดาลใจอย่างยิ่งที่จะหาทางออกให้พี่น้องชาวอีสาน
เขาและเพื่อนจึงเริ่มต้นเรียนรู้การทำกสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ น้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ
ฝ่าฟันสาหัสสากรรจ์ ท่ามกลางเสียง "เลิกเถอะ! ไม่ได้กินหรอก"
จากวันนั้นถึงวันนี้ ๗ ปีแล้ว "สวนส่างฝัน" พอมีดีอวดบ้าง

*** ศาสนาในวัยเด็ก
ตอนเด็กๆ ชอบไปวัดกับแม่ ช่วงอยู่ ป.๕ หลวงพ่อที่ผมศรัทธามรณภาพ ท่านมีเงินเหลือประมาณ ๓ แสนสมัยนั้นถือว่าเยอะ นึกว่าจะโอนให้วัด แต่ท่านโอนให้หลาน ผมก็คิดได้ว่าแล้วเราจะทำบุญไปทำไม ผมเริ่มไม่ศรัทธา ก็ค่อยๆ ห่างออกจากวัด

ตอนวัยรุ่นเห็นเพื่อนๆ ที่ไปบวช กินของต้องห้ามตอนเย็น บางทีก็นั่งเล่นไพ่ ยิ่งทำให้หมดศรัทธา ตอนนั้นเรื่องศาสนา ผมก็จะขาดไปช่วงหนึ่งเลย แต่ลึกๆ ตอนจบ ป.๕ ผมเคยขอพ่อไปบวชกับพระ ชื่อดังรูปหนึ่งที่ จ.ชลบุรี พ่อก็พาไปแต่พอเห็นสภาพแล้วพ่อน้ำตาไหล ออกอุบายให้กลับไปกับพ่อก่อน แล้วพ่อจะมาส่ง ตอนนั้นผมตัดสินใจจะอยู่เลยนะ คิดว่าพ่ออาจจะมองเห็นอะไรรางๆ ก็ได้ พอไปถึงบ้าน พ่อไม่มาส่ง บอกว่าให้เรียนที่นี่แหละ

*** พ่อค้าขายเหล้า-เบียร์
เรียนจบเทคนิคดูแลอู่ซ่อมรถให้พี่ชาย ๒ ปี ก็รู้ว่าไม่เหมาะกับเรา เพราะมันไม่มีชีวิตชีวาอยู่กับเหล็ก เครื่องยนต์ จึงมาค้าขายกับพี่ชายขายพวกของกิน-ของใช้ เหล้าและเบียร์ ทั้งปลีกและส่ง เปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตอนนั้นกำลังสร้างฐานะ

พี่ชายทำงานธนาคารออมสิน พอเย็นวันศุกร์จะนั่งรถทัวร์จากอำนาจเจริญไปฟังธรรมที่สันติอโศก แล้วกลับมาเย็นวันอาทิตย์พร้อมกับเทปธรรมะทุกเรื่องที่พระเทศน์ ทำอย่างนี้เดือนละ ๑-๒ ครั้ง เป็นประจำ ตอนนั้นผมไม่สนใจศาสนาแล้ว ตั้งแต่พระที่ผมศรัทธามรณภาพแล้วโอนเงินให้หลาน พี่ชายไปฟังธรรมกลับมาได้วิธีขายใหม่ คือขายแบบบุญนิยมแต่เอามาใช้กับการขายเหล้า-เบียร์ เอากำไรขวดละ ๑ บาท ขณะที่ร้านอื่นเอากำไร ๕-๑๐ บาท ปรากฏว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนร้าน ข้างๆ ปิดไป ๒ ร้าน ชนิดที่เอเย่นต์ต้องมาง้อขายให้เรา ถ้าเราไม่ซื้อเขาเจ๊งเลย

*** จุดประกายบุญ
วันหนึ่งเพื่อนเมาเหล้าแล้วขี่มอเตอร์ไซค์ล้ม หลังจากนั้นเขายังมาซื้อเหล้าอีก บอกว่าจะเอาไปถอน แขนก็ห้อย ขาก็ถลอก เข่าก็แตก หัวก็ยังพันผ้าอยู่ ขี่รถแขนเดียวยังอุตส่าห์มาซื้อเหล้า ผมก็นึกถึง คนอื่นที่เขากินเหล้าแล้วเกิดอุบัติเหตุ ครอบครัวแตกแยก ทะเลาะกัน แล้วเราจะมีวิบากขนาดไหนนะนี่ ผมคุยกับพี่ชายว่าน่าจะเปลี่ยนอาชีพ ตอนนั้นผมยังไม่ได้ฟังธรรม พี่ชายก็คิดเหมือนกัน ผมเลิกเลย เหลือพี่สะใภ้ทำต่อซึ่งก็เล็กลง

*** จะอยู่ ๓ เดือนแต่อยู่ ๓ ปี
ตอนนั้นผมอายุ ๒๓ ปี คิดจะเปลี่ยนอาชีพ กะว่าจะเที่ยวจนถึงอายุ ๒๕ ปี แต่เอาเข้าจริงก็ไม่อยากเที่ยว อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่จากกิจการน้อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไปมีครอบครัวอยู่ทางภาคเหนือ พี่ชายบอกว่า น่าจะไปอยู่วัดศึกษาดูก่อนสัก ๒-๓ เดือน แล้วจะไปไหนค่อยไป ผมตัดสินใจไปอยู่สันติอโศก กะว่า จะอยู่สัก ๓ เดือน ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักพระอโศก

ผมจำได้แม่นวันที่ ๑๑ ก.พ. ๒๕๒๘ ผมไปอยู่สันติอโศก ช่วยงานโรงพิมพ์ ใหม่ๆ ก็อึดอัด เพราะนอน ไม่ค่อยหลับ เช้าฟังธรรมก็นั่งโงก ไม่เคยกินมังสวิรัติ เคยใช้เงิน เคยเที่ยว เคยนอนดึก ตี ๑ ตี ๒ ตี ๔ ลุกขึ้นมาเปิดร้าน แล้วกลางวันนอนอีกรอบหนึ่ง ช่วงประมาณตี ๔ ขายส่งได้เงินเป็นหมื่น ช่วงบ่าย ไปถึงเย็น จะขายดีอีกรอบ กลางคืนก็เที่ยวจนถึงดึก

อยู่ๆ ไปเริ่มศึกษาวิธีการสอนของพ่อท่านจนเกิดศรัทธา บอกตัวเองว่าทางนี้น่าสนใจกว่า ในการ ดำเนินชีวิต ไม่ต้องไปไหนอีกแล้ว ที่โรงพิมพ์มีเครื่องพิมพ์เครื่องเดียว ถ้างานเร่งๆ ก็พิมพ์ทั้งกลางวัน กลางคืน พระท่านพิมพ์กลางวัน ผมเข้ากะกลางคืน ถือเสียว่าแต่ก่อนเราเที่ยวโต้รุ่งยังเที่ยวเลย เอาเวลา ที่เคยทำสิ่งไม่ดีมาทำสิ่งที่ดี แล้วผมก็ตั้งใจทำ ช่วงนั้นมีความสุขพอสมควร

*** ประสบการณ์วัยเด็ก
พ่อผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน เวลาลูกบ้านมีเรื่องต่างๆ จะมาขอให้พ่อไปไกล่เกลี่ย พ่อจะเอาผมขี่คอไปด้วย ได้นั่งฟัง ก็ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก เลยชอบความยุติธรรม พ่อเป็นคนซื่อสัตย์และขยัน แต่ก่อนนี้ ตี ๓ พ่อก็ลุกขึ้นมาไถนาแล้ว ทำนาเลี้ยงลูก ๑๐ คน คิดดูก็แล้วกันไม่ใช่เรื่องเล็ก พอผมโตจะทำนาได้ ทางบ้านก็เลิกทำนา เข้าไปสู่ภาคค้าขายและรับราชการ พ่อได้เป็นกำนันฐานะก็ดีขึ้น

ผมชอบชีวิตแบบองค์รวมมาตั้งแต่เด็ก มีคนมีกิจกรรมเหมือนชาวอโศกสมัยนี้ ผมยังนึกเสียดายเลยนะ ทำไมอโศกเกิดช้าไป ไม่งั้นจะได้เข้าโรงเรียนสัมมาสิกขา ผมชอบเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง

สมัยอยู่มัธยมผมชอบการเมือง เคยคิดไปช่วยพรรคโน้นพรรคนี้หาเสียง ผมศรัทธา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นนายกฯ สมัยเงินผัน แต่เป็นอยู่ได้ประมาณ ๓ เดือนรัฐบาลก็ถูกยุบ ผมก็คิดว่าการเมือง คงไม่มีอะไร ดีมั้ง เลยเลิกสนใจการเมือง

*** ก้าวสู่งานการเมือง
พอมาอยู่วัด ผมมองว่าลุง (พล.ต.จำลอง ศรีเมือง) จะเป็นความหวังของการเมือง เพราะมีทั้ง ความซื่อสัตย์ แล้วมีกลุ่มหมู่ที่เป็นญาติธรรม น่าจะใช้พลังรวมของความซื่อสัตย์เสียสละนี้ ช่วยบ้านเมืองดีขึ้นมาได้ เลยตัดสินใจไปช่วยลุง อย่างน้อยเป็นทีมงานและได้ศึกษาเรียนรู้ไปด้วย

*** ปริญญาโทจากความจริง
เริ่มจากไปช่วยศูนย์รับความคิดเห็นก่อน ช่วยพี่หมอ (เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี) ช่วยพี่ใหญ่ (คุณธำรงค์ แสงสุริยจันทร์) ช่วยพี่ภาณุ (คุณภาณุ พิทักษ์เผ่า) แล้วก็ช่วยลุง ตอนหลังมาอยู่กับเฮีย (คุณไชยวัฒน์ สินสุวงศ์) ตอนเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังธรรมและเป็นรองผู้ว่าฯกทม.(ผู้ว่าฯกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา) แล้วไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมัยรัฐบาลนายกฯบรรหาร ดร.ทักษิณเป็นรองนายกฯ พรรคพลังธรรมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นช่วงที่ผมได้เรียนรู้การเมืองมากที่สุด เรียนรู้เรื่องการบริหาร การจัดการ การวางตำแหน่ง วางคน มีโอกาสได้นั่งฟัง ส.ส.หนุ่มสาวของพรรคคุยกัน ตอนนั้นผมอยู่ ในทีมงานของเฮีย ได้เรียนรู้เหมือนเรียนปริญญาโทเลย เพราะเฮียไปดูแลทุกสิ่งที่ลุงเคยทำมา ไม่ใช่เรื่อง เล็กเลยนะ กทม. ออกจากบ้านตี ๔ กลับบ้าน ๓ ทุ่ม แทบไม่มีวันพักเลย หลังจากนั้นมา ผมมองว่า การช่วยคนทางด้านนี้มันไม่จบ ช่วยได้ชั่วคราว ไม่ถาวร

*** รักความยุติธรรมทำไมจึงหันหลังให้การเมือง
การทำงานการเมืองของพรรคพลังธรรมตอนนั้น คนที่จะซื่อสัตย์เหมือนลุงมีไม่พอ แม้แต่ในพรรค ก็มีอยู่ไม่ถึง ๑๕% แล้วที่เหลือ โอ้โห...สัมผัสรัฐมนตรีแต่ละคนนี่ไม่จืด เราเลยคิดคงไปไม่ไหวหรอก เริ่มเปลี่ยนใจแล้ว แต่ว่ายังกลับลำไม่ได้ ผมอยากช่วยลุง ช่วยคนดี ช่วยพี่ๆ น้องๆ เรา ก็ช่วยเท่าที่ ช่วยได้ ตั้งใจว่าเราไม่แตะ เราไม่เปื้อนก็แล้วกัน ได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้เห็นชีวิตการเมืองตรงนั้น ผมสรุปเลยว่า การเมือง ณ วันนั้น ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา ถ้าไม่ได้ ด้วยทั้ง ๔ อย่างนี้ก็โกงเอาหน้าด้านๆ

ผมสำรวจตัวเองหลายครั้งว่าถ้าการเมืองทำกันอย่างนี้ ผมคงเลวไม่พอที่จะเป็นนักการเมืองได้ เลยตัดสินใจเลิกทำงานการเมือง แต่ยังออกมาไม่ได้ ต้องช่วยเฮีย ก็ทำอยู่ ๘ ปี แล้วสุขภาพผมก็ทรุด มันเหนื่อย แต่ผมได้ประสบการณ์

*** เหตุที่เลิกการเมือง
ผมเริ่มคิดทำเกษตรตั้งแต่ตอนที่ไปเจอคนอีสานนั่งอยู่แถวหัวลำโพง ตอนนั้นลุงเป็นผู้ว่าฯกทม. ลุงไปเยี่ยม ไปจัดเรื่องห้องน้ำ เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ เรื่องเต็นท์ให้ เพราะคนเยอะมากในหน้าแล้ง เป็นการอพยพย้ายถิ่นเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ แล้วนั่งรองาน ผมก็ถามดู ทำไมต้องเข้ามากรุงเทพฯ เขาบอกว่าทำนาเสร็จแล้วไม่มีอะไรจะทำ ไม่รู้จะกินอะไร หน้าแล้งมันแล้งจริงๆ ผมคิดว่าน่าจะทำอะไร ที่อีสานสักอย่างหนึ่ง ก็เก็บเอาไว้ในใจ เริ่มเก็บเงินเดือนละสี่พันเพื่อสักวันหนึ่งเราอาจจะต้องมีอะไรทำ ซึ่งจะเป็นทางออก ช่วยคนไม่ให้อพยพแรงงานเข้าเมือง ตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเริ่มต้นเรียนรู้การทำเกษตรธรรมชาติ เรียนรู้เรื่องจุลินทรีย์ เรื่องปุ๋ยหมัก

*** จากความฝันสู่ความจริง
๑๔ ก.พ. ๒๕๔๑ ผมกับเพื่อน ๔ คนเข้ามาดูที่มรดก ๔ ไร่ที่พ่อทิ้งไว้ให้ที่อำนาจเจริญ แล้วยืมของ พี่ชายอีก ๒ ไร่ นอนที่กองฟาง ได้ยินเสียงกบเขียดร้อง พระจันทร์ก็สวย คุยกันว่าเราเริ่มตรงนี้แหละ เริ่มน้อยๆ แล้วทำให้ชัด จะได้เป็นจุดเล็กๆ สร้างฝันให้คนอยากทำสวน ถ้าเราชัด คนก็อยากจะทำ เหมือนกัน

ตอนแรกๆ ลำบากมาก เราขุดสระรอบที่ ๖ ไร่ เอาดินเหนียวผสมหินที่อยู่ก้นสระขึ้นมาโปะหน้านา หน้าแล้งดินแข็งเป๊ก ขุดกลางคืนออกแสงเลย หน้าฝนต้นไม้จะเอียงซ้ายเอียงขวา เพราะดินยังไม่ได้ที่ ไม่มีสารอาหาร ปลูกยากมาก พอปลูกปุ๊บรุ่งขึ้นใบหายเหลือแต่ต้น แมลงก็เยอะ ต้องกางมุ้งให้ต้นไม้ แถวๆ นั้นเป็นที่นาโล่งๆ ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ไม่มีใครเขาทำสวนกัน เราเป็นรายแรก ที่มาทำสวน อยู่ในที่นา ผู้เฒ่าผู้แก่แถวนั้นบอกว่า ไม่ได้กินหรอก! เลิกเถอะ! ไม่มีใครเขาทำหรอก เอานามาทำสวน! เดี๋ยวน้ำท่วม! เขาก็พูดไปสารพัด

*** อุปสรรคฤๅหยุดยั้งเจ้าได้
เราชักใจฝ่อ เริ่มใจไม่ดี จะสู้ต่อไหม คุยไปคุยมา เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน หนึ่ง ตรงนี้เราทำไปแล้ว ไม่มีใครไล่เราแน่ สอง ผมมีเงินสำรองพอที่จะอยู่ได้เป็นปี สาม ถ้าทำถึง ๓ ปีแล้วไม่ได้กิน เลิก! เพราะเราเริ่มต้นจากไม่มีความรู้อะไรเลย จุลินทรีย์ก็ยังไม่เคยทำ ไม่เคยใช้ต้นไม้ก็แค่รู้ ยังไม่เคยทำเลย แล้วเพื่อนที่ช่วยอยู่ก็กลับไป ๒ คน เหลือกัน ๒ คน ก็คุยกัน คุณสู้ผมก็สู้

ใช้ชีวิตธรรมชาติจริงๆ นอนกองฟาง อาบน้ำสระ เรื่องอาหารเราตกลงว่าจะไม่ซื้อผักตลาดกิน มีผักบุ้งแดงเกิดตามธรรมชาติอยู่แปลงหนึ่ง เช้ากินผักบุ้งผัด เย็นกินยำผักบุ้ง อีกวันกินแกงผักบุ้ง อีกวัน กินยำผักบุ้ง สลับไปอย่างนี้เป็นเดือนเลยนะ

ตั้งใจไม่ใช้รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ใช้แต่รถเข็นกับจักรยาน ก็เริ่มปลูกผัก ไปหาปุ๋ยคอกมาใส่ เช้าก็จะเอา รถไปเข็นเศษผักผลไม้ที่เขาทิ้งในตลาดมาหมักใส่โอ่งมังกร ก็หนักใจว่าจะบำรุงดินยังไงถึงจะดีขึ้น เอาปุ๋ยคอก เอาฟางคลุม ยังไม่งาม พอถึง ๖ เดือน โอ่งมังกรที่เราหมักจุลินทรีย์มันทะลุ น้ำไหล ออกมาข้างโอ่ง แล้วดินรอบๆ โอ่งจากดินเหนียวแข็งๆ มันซุย วันนั้นในหัวผมวาบขึ้นมาเลยนะ ดินที่แข็ง เหมือนหิน ถูกย่อยโดยจุลินทรีย์

*** ความสำเร็จเริ่มปรากฏ
ผ่านไปหนึ่งปีเริ่มมีผักกินแล้ว มีกล้วย ชมพู่ ฝรั่ง ผมเอาไปฝากพี่ชาย ไปฝากคนที่บอกว่าไม่ได้กิน เขาเริ่มเปลี่ยนความคิด เพราะกล้วยลูกโต บวบรสชาติดี คนเริ่มสนใจ ตั้งใจว่าในปีแรก เราจะไม่พูด เรื่องการทำกสิกรรมกับใครเลย เรียนรู้อย่างเดียว ไม่บอกว่าจุลินทรีย์ดีอย่างไร เพราะว่าเรายังไม่มีความรู้ ยังไม่มีประสบการณ์ ทฤษฎีก็อ่านมาเยอะเหมือนกัน แต่ความรู้กับปฏิบัติมันต่างกัน

คนเริ่มมาคุยด้วยบ่อยขึ้น มากขึ้น มีคนเข้ามาช่วยเพิ่มขึ้น ญาติธรรมก็เข้ามา ตกลงเอาตรงนี้ เป็นที่ส่วนรวม ผมก็บอกว่าไม่มีปัญหา แล้วคุณจะมาหรือเปล่า? การมาไม่ใช่แค่เดือนหนึ่งมาประชุมนะ จะต้องมาช่วยขุดดิน มาช่วยกันปลูก ผมก็มองว่าคนที่มาส่วนมากเป็นข้าราชการ คงไปได้ไม่กี่น้ำหรอก สบประมาทเขาอีกนะ ที่ไหนได้ มาช่วยขุดดินทุกเย็น ช่วยปลูกกล้วย สมณะก็มาเยี่ยม ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ ลองเชิญญาติธรรมเก่าๆ ๔ จังหวัด ที่อยู่มุกดาหาร นครพนม ยโสธร อำนาจเจริญ ได้ประมาณ ๒๐ กว่าคนมาคุยกัน ตกลงว่าตรงนี้เป็นที่ส่วนกลาง ก็เริ่มทำงาน ได้ชื่อว่ากลุ่มสวนส่างฝัน

*** เข้าตากรรมการ
คนเริ่มมาศึกษาดูงานเยอะ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เลยคุยกันว่าอบรมเลยดีไหม ก็ตั้งหัวข้อ หลักสูตร คุณธรรมกับกสิกรรมไร้สารพิษ รุ่นแรกกางเต็นท์อบรม ได้ทุนจาก SIF ๗ ปีมานี้อบรมได้ ๑๐๙ รุ่น ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก SIF ธ.ก.ส. ส.ส.ส.และอบรมเกษตรกรพันธุ์ใหม่ของ ธ.ก.ส. ๖๐๐ คนที่มาอบรมสัจธรรมชีวิตที่สวนส่างฝัน ใช้หนี้ ๑๐๐% ผ.อ.เขาเลยมั่นใจว่า ถ้าอบรมจากเราก่อนนี้ หนี้จะไม่สูญ หลังอบรมชาวบ้านกู้น้อยลง กู้เท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ว่ากู้ได้เท่าไหร่ก็จะกู้เยอะๆ เอาเงินมาใช้-กิน-เที่ยว พอชาวบ้านเปลี่ยน ธ.ก.ส.ก็พอใจมาก ทางเราก็พอใจระดับหนึ่ง ชาวบ้านลดละ อบายมุข เยอะ เขาก็มองเห็นทิศทางจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้เร็วขึ้น ถ้าเขาขยันมากขึ้นฐานะเขาก็ดีขึ้นเร็ว การไม่ใช้สารเคมี สวนส่างฝันทำไว้ชัดมาก แต่ก่อนเราต้องโน้มน้าวว่าใส่แล้วมันดีอย่างโน้นอย่างนี้ ช่วงอบรมข้าวของเรากอใหญ่มาก ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีมาก พอชาวบ้านมาเห็นกอข้าวเท่านั้นแหละ ขอเรียนเลย ตั้งใจเรียนปุ๋ย-จุลินทรีย์อย่างเดียว อย่างอื่นไม่ต้องเรียนก็ได้ บางรุ่นเจอช่วงข้าวออกรวง เขาบอกว่า
เรียนปุ๋ยสูตรนี้เลย

ที่สำคัญเราพบว่าการให้อาชีพ ให้สิ่งที่เขาใช้ประกอบอาชีพได้อย่างเดียวไม่พอ อันนี้มีผลต่อชีวิตเขาแค่ ๓๐% อีก ๗๐% ต้องคุณธรรม คือ คุณน่ะทำ แล้วเขาต้องทำด้วย ต้องมีธรรมะด้วย คือมีคุณน่ะทำ แล้วมีธรรมะด้วย สองอย่างนี้ ๗๐% ครับ ถ้าไม่มีตรงนี้ ต่อให้เขาทำจุลินทรีย์เก่ง ทำปุ๋ยเก่ง และ ปลูกผัก ได้งามแค่ไหน ยังไงก็ไม่เหลือ ตรงนี้เราต้องเน้นให้ชัดเลย

*** กำเนิดโรงเรียนชาวนา
การสร้างโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ขึ้นในหมู่บ้าน โดย ส.ส.ส.และธ.ก.ส. ลงพื้นที่ เพื่อต่อยอดให้เกษตรกร ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรสัจธรรมจากเรา กลับไปรวมกลุ่มกันทำแปลงทดลอง ทำนาไร้สารพิษ ในหมู่บ้าน ของตน และเพื่อเป็นตัวอย่างในชุมชนด้วย ถ้าไม่ผ่านสัจธรรมชีวิตเราก็ไม่ทำ เพราะผ่านแล้ว คุยกันง่ายขึ้น

ในอำนาจเจริญมีอยู่ ๑๑ แห่ง ยโสธร ๒ แห่ง มุกดาหาร ๑ แห่ง รวมเป็น ๑๔ แห่ง เราจะลงไปพบ แต่ละกลุ่มที่หมู่บ้านเดือนละ ๑ ครั้ง เพราะเราต้องการแปลงทดลอง ๑๔ จุด แต่ละกลุ่มจะมี ๑๐-๑๕ คน แต่ละคนก็ไปทำที่กลุ่มของตนเอง เพียงปีแรกเรามีแปลงทดลองอยู่ร้อยจุด แล้วเราก็จะรับซื้อ ข้าวไร้สารพิษกลับ ส่งบริษัทแด่ชีวิตบ้าง บริษัทพลังบุญบ้าง ชาวบ้านก็มีทิศทาง และตั้งใจเรียนมาก หลายคนพอเรียนจบไปปีหนึ่ง หลักสูตร ๓ ปี อันนี้ ธ.ก.ส.เป็นเจ้าภาพจะให้โรงเรียนละ ๑ หมื่นบาท ในการเรียนรู้ตรงนี้ พอเรียนจบ หลายคนมั่นใจเลยว่าต่อไปจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย เพราะได้ผลผลิต สูงกว่า อัตราที่ใช้เคมี ปีแรกเราตั้งเป้าว่าแต่ละโรงเรียนมาแข่งกัน ดูว่าโรงเรียนไหนจะถึงไร่ละ ๑ ตันภายใน ๓ ปี เพราะว่าปีหนึ่งทำไม่ได้อยู่แล้ว ที่สวนส่างฝันปีที่ ๔ ถึงได้ไร่ละ ๑ ตัน

*** สรรเสริญนี้น่ากลัว
ผมได้เห็นความรุ่งโรจน์ของลุงสมัยเป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยอยู่การเมือง และช่วงสุดท้าย ในการลงจาก ลาภยศสรรเสริญของลุง เห็นแล้วผมหนาวเลย ช่วงที่รุ่งโรจน์แต่ละวันรับแขกกันไม่ไหว คนมะรุมมะตุ้ม มากมายจนต้องกันออก แต่วันที่ลุงแพ้เลือกตั้งไม่มีใครไปหาลุงเลยเกือบ ๓ เดือน แล้วมาเจอกับเฮียอีก สัจธรรมตรงนี้ทำให้ผมกลัวสรรเสริญมาก นึกถึงที่พ่อท่านเทศน์ว่าสรรเสริญเป็นอันตรายอันแสบเผ็ด ให้ระวังให้มาก

*** เตือนตน-เตือนเพื่อน
มาอยู่สวนส่างฝัน พอสรรเสริญเข้ามาผมจะดึงเพื่อนทันที ถ้าคนบอกว่าสวนส่างฝันดี ผมบอกใจเย็น มันเป็นเพียงแค่กระแส จริงๆเรายังไม่ดีพอตามที่คนพูดกันเลย ถ้าคนเขาบอกว่าดี ให้ลดลงครึ่งหนึ่ง แล้วการนำเสนอของเราก็ขอให้เสนอตามความเป็นจริง ถ้ามีความจริงอยู่ที่ ๘๐% ขอให้พูดแค่ ๕๐% เหลือไว้ ๓๐% เผื่อเหลือเผื่อขาด เพราะส่วนมากคนเราเวลามี ๘๐% จะพูด ๑๐๐ % ผมจึงต้องถ่วงดุล เพื่อนลงมา เพราะถ้าเราพูด ๑๐๐ ภาพมันจะไปเร็ว แต่ความจริงไปไม่ทัน

ถ้าไม่ได้จริงๆ อย่าพูดเกิน ๘๐ ให้พูดน้อย แล้วทำมาก สวนส่างฝันจึงจะไปได้ แต่ถ้าพูดมากเมื่อไหร่ สวนส่างฝันเจ๊งทันที แล้วเวลาขาลงจะเจ็บปวดมาก เพราะประสบการณ์การเมืองสอนผมตรงนี้ไว้มาก

ผมวางมาตรฐานของสวนไว้ที่ ๗๐% ถ้าเกินก็จะดึงลงมา ทำไมผมถึงวางอย่างนี้ ทำไมไม่เอา ๑๐๐% เพราะว่าถ้าเอา ๑๐๐%แล้วเราไม่สามารถรักษาความรุ่งโรจน์ได้ตลอด ผมเห็นตรงนี้ผมต้องดึงไว้ที่ ๗๐% พอแล้ว ถ้ามันจะเกินขอให้เกินด้วยการกระทำ ด้วยความจริง อย่าให้เกินด้วยคำพูด ด้วยการ สร้างภาพ ผมบอกเพื่อนอยู่เสมอว่า เล็กไม่เป็นไร ขอให้ชัด แล้วมันจะจุดประกายให้ทำงานใหญ่ได้ ถ้าทำเล็กไม่สำเร็จ ไม่แม่นประเด็น อย่าฝันที่จะไปทำใหญ่กว่านี้ บางทีเพื่อนไม่พอใจก็ต้องยอม เพราะผมไม่อยากจะเห็นขาลง

การทำงานด้านคุณธรรมไม่ควรจะมีขาลง ควรจะไปได้เรื่อยๆ จนกว่าเราจะหมดลมหายใจ แล้วรุ่นต่อไป ทำต่อได้ ไม่ควรจะขึ้นอย่างสุดโต่ง งานคุณธรรมต้องจรรโลงสังคม ตรงนี้คือสิ่งที่เรา จะทำต่อไป

*** ต้นแบบจากชาวอโศก
การเริ่มต้นของสวนส่างฝัน เรามองไปที่แดนอโศก ไม่ได้มองความสำเร็จของศีรษะอโศก ปฐมอโศก สันติอโศก พ่อท่านเริ่มต้นแดนอโศกยังไง เริ่มต้นจากพ่อท่านรูปเดียว แล้วค่อยๆ มีสมณะมา คุยกัน เรื่องสร้างจิตวิญญาณ สร้างแกนอย่างเดียว ไม่ได้ไปเร็วอย่างทุกวันนี้ ไปช้าๆ แต่แน่น ผมก็เลย เอาตรงนั้นมาเป็นต้นแบบของสวนส่างฝัน เพราะว่าถ้าไปดูพุทธสถานต่างๆ ณ วันนี้ เราทำไม่ได้ ถ้าทำก็เจ๊ง เพราะว่าขบวนการเล็กๆ อย่างนี้ต้องดูที่แดนอโศก แล้วไปอย่างระมัดระวัง เริ่มต้นด้วย ความเข้มข้น เป็นการเริ่มต้นที่สวนส่างฝันพยายามจะพูดคุยกันอยู่เสมอ

มะขามเม็ดเล็กๆ แข็งๆ ดำๆได้รับความอบอุ่น ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ ก็จะค่อยๆงอกเป็นมะขาม ต้นเล็กๆ ถ้าเราดูแลเอาใจใส่อย่างดีก็จะเติบโตเป็นต้นมะขามใหญ่ที่ให้ร่มเงา เป็นอาหาร โอบอุ้มโลกได้ หากดูแลไม่ดีก็ไม่เจริญเติบโต เพราะฉะนั้นจะต้องดูแลอย่างดี ต้องระมัดระวังมาก สวนส่างฝันจะครบ ๗ ปีใน ๑๔ ก.พ.๒๕๔๘ สวนส่างฝันยังไร้เดียงสา คนยังไม่พร้อมเรื่องคุณธรรม ต้องคุยกันอีกเยอะ ผมถือว่าถ้ามีคนอย่างอื่นมีได้ทั้งนั้น ถ้าไม่มีคน อย่างอื่นมีไม่ได้

*** ฝันให้คนหนุ่มสาวกลับสู่ชนบท
เราเข้าไปในหมู่บ้านวันนี้มีแต่คนแก่และเด็กๆ ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลาน คนหนุ่มสาวไปทำงานกรุงเทพฯ เราอยากจะสร้างฝันให้คนหนุ่มสาวกลับสู่ชนบท การจะฟื้นคนทั้งประเทศ ณ วันนี้ คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน เศรษฐกิจพอเพียง กสิกรรมไร้สารพิษเป็นปัจจัยหลักเลยครับที่จะกู้ประเทศได้

ตอนนี้เรากำลังหาวิธีว่า ทำยังไงจะทำนาได้ข้าวไร่ละ ๑ ตัน เพราะข้าวที่ใช้เคมีสูงสุดอยู่ที่ ๓๘๐ กิโล ตอนนี้เราทำได้ ๖๐๐ ถึง ๑ ตัน ถ้าได้ข้าวไร่ละ ๑ ตัน เราจะให้แต่ละครอบครัว พ่อแม่ลูกทำสวนผลไม้ สัก ๓ ไร่ ใน ๓ ไร่ ปลูกผลไม้ ๓๐ อย่าง อย่างละ ๑๐ ต้น ปลูกเป็นต้นไม้ ๕ ระดับ คือต้นสูงทรงพุ่ม ใหญ่ ต้นขนาดกลาง ผักพื้นเมือง ผักหน้าดิน และผักใต้ดินประเภทหัวสี่ห้าระดับ แล้วปลูกป่ารอบๆ สวน ๓ ไร่ เพื่อเป็นไม้ใช้สอยสำหรับทำเตาถ่าน ทำน้ำส้มควันไม้เพื่อเป็นยาไล่แมลง เป็นฮอร์โมนเร่งพืช ด้วย เป็นการชดเชยเมื่อน้ำมัน-แก๊สขึ้นราคา การเผาถ่านจะเป็นทางออก แต่ไม่ใช่การไปตัดต้นไม้ในป่า มาเผาถ่าน แต่คือการแต่งกิ่งไม้มาเผาถ่าน

การทำสวนผลไม้ ๓ ไร่ จะทำให้แต่ละครอบครัวมีกินตลอดปี คือปลูก ๑๖๐ อย่างเพื่อซื้อ ๑ หรือ ๒ อย่าง วันนี้ชาวนาชาวสวนชาวไร่ปลูก ๑ อย่างซื้อร้อยอย่างจึงยากจน เรามีตัวอย่าง พ่อชมพู ซึ่งมาอบรม ที่สวนส่างฝัน กลับไปแล้วเลิกอบายมุข เริ่มกสิกรรมไร้สารพิษ ขนฟางใส่อย่างเดียว ปลูก ๑๖๕ อย่างในที่ดิน ๖ ไร่ ๒ ปีผ่านไป พ่อชมพูซื้อกระแสไฟฟ้ากับเกลือเพียง ๒ อย่าง วันนี้มีรายได้ เดือนละ ๑ หมื่น

*** ก้าวต่อไปของสวนส่างฝัน
เราจะจุดประกายเรื่องทำนาได้ผลผลิตสูง ทำสวน ๓ ไร่ให้ชัดเจน เราจะทำชุมชนศีล ๕ ในอนาคต อันนี้เป็นความฝัน มันยากหน่อยแต่ก็ยังฝันอยู่ที่จะทำ เราประเมินกันว่า ปี ๒๕๕๑ ชาวบ้านอาจจะ เจอกับ เศรษฐกิจชะงักงัน แล้วไม่มีเงินไปไถ่ที่นาที่ไปจำนองไว้ ถ้าที่นาหลุดมือ สิ้นนาคือสิ้นชาติ คนจะเดือดร้อนอีกเยอะ เราจะต้องเร่งให้ความรู้ชาวบ้าน

*** กฎระเบียบสวนส่างฝัน
คนที่จะเข้าไปอยู่ในชุมชนต้องถือศีล ๕ ละอบายมุข กินมังสวิรัติ ต้องไปร่วมอยู่คบคุ้นกับเรา ๓ เดือน ดูตัวกันไป ช่วยงานส่วนกลาง แล้วเอาเงินมาเข้าส่วนกลาง ตอนนี้เราเป็นระบบสาธารณโภคี เงินที่เหลือ จากช่วยงานเอามาซื้อที่ดิน แล้วจัดลำดับคนมาก่อน-หลัง เป็นน้ำพักน้ำแรงของทุกคน นี้คือต้นกัลปพฤกษ์ของทุกคนที่มาอยู่ และอยู่ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน ถ้ายังอยู่ในกติกานี้ รุ่นต่อไป จะได้สืบทอดไปเรื่อยๆ

ตอนนี้มีที่ทั้งหมด ๑๓ ไร่ มีบ้าน ๔ หลัง มีเรือนพักชาย-หญิงอย่างละ ๒ หลัง มีศูนย์ฝึกอบรม ๑ หลัง มีโรงสีข้าวกล้อง คนอยู่ประจำ ๘ คน ทำนาเช่า ๒๐ กว่าไร่ ทำสวนประมาณ ๔-๕ ไร่ เราเน้นผัก พื้นเมือง ผักอายุสั้นจะปลูกหน้าหนาวเวลาเกี่ยวข้าวเสร็จ เช่น แตงโมไร้สารพิษ

ตอนนี้รับข้าวไร้สารพิษจากโรงเรียนชาวนามาสีแล้วแพ็คใส่ถุง ลองเปิดตลาดข้าวไร้สารพิษ อนาคต จะทำตลาดไร้สารพิษให้กลุ่มโรงเรียนชาวนา

*** ความฝันสุดท้าย
อยากให้หันกลับมาหาเศรษฐกิจพอเพียง ทำกสิกรรมไร้สารพิษ ทำยังไงจะทำนาให้ได้ผลผลิตไร่ละ ๑ ตัน ทำสวนผลไม้ ๓ ไร่ให้มีกินตลอดปี ถ้าเราเริ่มต้นสร้างดิน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ใส่จุลินทรีย์ เมื่อดินสมบูรณ์ ต้นไม้ก็จะสมบูรณ์
สวนผลไม้ ๓ ไร่จะเป็นห้องวิทยาศาสตร์ เป็นแปลงทดลอง เป็นโรงเรียน เป็นวิทยาลัยที่ดีของลูก เป็นซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นตลาด เป็นโรงพยาบาล เจ็บป่วยได้ใช้ยาสมุนไพรตรงนี้ ที่สำคัญมันจะเป็น บำนาญชีวิตของชาวนา ซึ่งชาวนาไม่เคยมีความหวังว่าเมื่อแก่ตัวแล้วจะอยู่กินยังไง ไม่เคยวางอนาคต ตรงนี้ หวังพึ่งลูกอย่างเดียว ทุกวันนี้ลูกต้องเข้าเมืองเพื่อหาเงินมาชดเชยภาคเกษตร สวนผลไม้ ๓ ไร่จะชดเชยเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความอบอุ่น แล้วสังคมจะเข้มแข็งขึ้น เมื่อสถาบันครอบครัว เข้มแข็ง แล้ว ประเทศชาติมั่นคงแน่นอน

สร้างฝันขึ้นในใจ
ที่สามไร่ก็พอเพียง
ลงแรงอย่าละเลี่ยง
หล่อน้ำเลี้ยงด้วยเหงื่อเรา
ไม้ผลสามร้อยเหลือ
หนึ่งต้นเพื่อเลี้ยงชีพตน
ต้นสองเลี้ยงผู้คน
ที่เหลือล้นแปรรูปเอย

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๖ เดือน มีนาคม ๒๕๔๘ -