ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ -


ต่อจากฉบับที่ ๑๗๕

"สมณะ"ก็คือ"อาริยบุคคล ๔"(โสดาบัน-สกิทาคามี-อนาคามี-อรหันต์) ผู้เกิดเป็น"อาริยบุคคล"ได้ เพราะปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า และ"คำสอน" นั้นต้อง "สัมมาทิฏฐิ" "คำสอน"นี้ จึงจัดเป็น "ปาฏิหาริย์" เรียกว่า "อนุสาสนีปาฏิหาริย์" หรือ "วิชชา ๘" ซึ่งไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์ หรืออาเทสนาปาฏิหาริย์ ดังที่ผู้รู้เข้าใจกันผิดๆแน่ แต่เป็นความรู้อันวิเศษมหัศจรรย์ ที่มนุษยชาติ ทั้งโลกีย์ยังไม่เคยมี ไม่เคยพบ เคยเห็นเคยเป็นกันมาก่อนเลย ผู้ค้นพบความรู้ และความจริง นี้คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากใครปฏิบัติ ตามคำสอนของพระองค์ได้สำเร็จจริง ถือว่า วิเศษ มหัศจรรย์ เป็นอาริยบุคคลแท้ เป็นคนพันธุ์ใหม่ ที่มีความสุข ชนิดใหม่ ซึ่งเป็นความสุขอันไร้อัสสาทะ (วูปสมสุข) มีแนวทางหรือวิถีแห่งการดำเนินชีวิต แบบใหม่ต่างจากคนโลกีย์ อุดมคติ ในความเป็นชีวิตประเสริฐ ของคนพันธุ์ใหม่นั้น หันทิศไปตรงกันข้าม กับคนโลกีย์ สวนทางกัน(ปฏิโสต) คือ มุ่งไปทางทิศที่เป็น โลกุตระ ซึ่งเป็นวิสามัญ ที่แปลกพิเศษ เพราะ แม้จะมุ่งคนละทาง แต่คนโลกุตระก็มิได้เป็นปฏิปักษ์ หรือศัตรูคู่ต่อสู้ ของคนโลกีย์เลย ตรงกันข้ามคน ชาวโลกุตระ สมคล้อยไปกับ คนชาวโลกีย์ อย่างเป็น สัจจะด้วยซ้ำ กล่าวคือ คนโลกีย์นั้น สะสมแย่งชิง ลาภยศสรรเสริญโลกียสุข ส่วนคนโลกุตระเลิกละ การสะสม และ ไม่แย่งลาภยศ สรรเสริญโลกียสุข ดังนั้น คนโลกีย์มุ่ง"เอา" แต่คนโลกุตระมุ่ง"ให้" มุ่งสละ ลาภสละยศ ฯลฯ ไม่แย่งสิ่งที่เป็นโลกีย์เหล่านั้นเสียอีก ไม่โลภ ไม่แย่ง จึงไม่ใช่คู่ต่อสู้ หรือศัตรูกันเลย

ความรู้คนพันธุ์ใหม่คือ"โลกุตรภูมิ"นี้ ผู้ที่บรรลุโลกุตรธรรม เป็น"อาริยบุคคล" หรือเป็น"สมณะ" จะต้องมี ในตน ต้องรู้จักรู้แจ้ง รู้จริงด้วยตนของตนเอง

หากผู้ใดไม่มี"ความรู้"ที่เป็น"อธิปัญญาสิกขา"รู้จักรู้แจ้งรู้จริงทั้งมรรคทั้งผลตามที่กล่าวมานี้ ก็มิใช่ผู้บรรลุ หรือมิใช่ผู้เป็น "สมณะ" แน่นอน เพราะผู้บรรลุเป็น "สมณะ" ทุกคนต้องมี"อธิปัญญาสิกขา" ที่สามารถรู้จัก รู้แจ้งรู้จริงในภาวะแห่งการบรรลุธรรม ของตน ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า "สันทิฏฐิโก" หมายความว่า พุทธธรรมที่ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นเองรู้เอง ประจักษ์แจ้ง ของตนเอง และเป็น"ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ" หมายความว่า พุทธธรรมนี้ วิญญูชน พึงรู้ของตนเฉพาะตน ไม่ใช่ให้คนอื่น รู้แทน เป็นต้น คนอื่นรู้แทนมันจะเป็น "อธิปัญญาสิกขา" ของตนได้อย่างไร? ตนเองจะเป็น"ผู้บรรลุ-ผู้เข้าถึง ธรรมนั้น" ได้อย่างไร? ในเมื่อตนเองไม่มี "อธิปัญญา" รู้จักรู้แจ้งรู้จริงมรรคผลที่เป็นโลกุตรธรรมนั้นๆ

ถ้าแม้นไม่มีใครรู้มรรคผล ไม่รู้จักรู้แจ้งรู้จริงภาวะแห่งการบรรลุธรรมของพุทธ ไม่มีใครรู้ภาวะแห่ง ปรมัตถธรรมที่เป็นโลกุตรธรรม นั้นๆเลย พุทธศาสนา อันเป็นเนื้อแท้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งได้แก่ โลกุตรสัจจะ ก็เป็นอันสูญสิ้นกันแล้ว คนที่รู้จักในความเป็น มรรคผล ที่เป็นโลกุตระ ก็เลยมีแต่ความรู้ ที่เดาเอาเก็งเอา ความเป็นมรรคผลก็เลยมีคุณค่าแค่ความรู้ที่คาดคะเนเอา แค่อนุมานเอา แค่เปรียบเทียบเอา ซึ่งทุกวันนี้ก็แทบจะเป็นเช่นที่ว่านี้จริงๆ ในวงการพุทธ หากพุทธธรรม เป็นกันได้แค่นี้ ที่สุดแห่งศาสนาพุทธ ก็คงไม่มีใครสามารถ รู้จักรู้แจ้งรู้จริงเนื้อแท้เนื้อธรรมที่เป็นโลกุตระของพุทธกัน ก็มีแต่โลกียะ เท่ากับ ชาวเทวนิยม

พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า ธรรมะของพระองค์เป็น "สวากขาตธรรม" (สุ+อักขาต = สวากขาต) หมายความว่า ธรรมะที่พระองค์ ทรงกล่าวทรงสอนไว้แล้ว ทั้งหลายนั้น ดีครบประเสริฐยิ่ง ไม่มีอะไรบกพร่อง ไม่วิปริตแล้ว ไม่มีใครจะมาเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เพราะฉะนั้น พุทธธรรมหรือธรรมะที่จะเรียกว่าเป็น "พุทธ" ได้ ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ ตามข้อบ่งชี้ ที่พระพุทธเจ้าทรงกล่าว กำหนดไว้ ถ้าธรรมะใดไม่เป็นจริง ตามเกณฑ์ หรือไม่เข้าเกณฑ์ที่พระองค์ทรงกำหนดบ่งชี้ไว้ ก็ยังไม่ใช่ธรรมะของพระพุทธเจ้า หรือยังไม่ใช่พุทธที่จริงพุทธที่แท้กันเท่านั้น

จึงต้องมาดูกันว่า สวากขาตธรรม ที่ว่านั้น มีข้อบ่งชี้กำหนดไว้กระไรบ้าง คำตรัสที่บ่งชี้ไว้อย่างดีแล้ว ไม่วิปริตแล้ว ไม่มีใครจะมา เปลี่ยนแปลงได้แล้ว นั้นก็ได้แก่ ๑.สันทิฏฐิโก ๒.อกาลิโก ๓.เอหิปัสสิโก ๔.โอปนยิโก ๕.ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ

ขยายความให้ชัดๆขึ้น ก็คือ
๑. ธรรมะใดถ้าไม่เป็น สันทิฏฐิโก ก็ไม่ใช่พุทธนั่นก็หมายถึงว่า ถ้าไม่เป็นธรรมที่เจ้าตัวเองบรรลุเองรู้เอง ก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าเป็นพุทธ ขยายความอีกทีก็ คือ ธรรมะของพุทธนั้นคนไหนมาปฏิบัติอย่างสัมมาทิฏฐิ และบรรลุธรรม คนนั้นก็จะรู้เองเห็นเอง ดังนั้น จึงควรนำตนเองมาปฏิบัติให้รู้เองเห็นเอง ใครก็ตาม ถ้าไม่เอาตนเองมาศึกษาปฏิบัติจนบรรลุธรรม ก็ไม่มีวันจะรู้จักรู้แจ้งรู้จริง ในความเป็นพุทธธรรม แบบวิทยาศาสตร์ว่า คุณวิเศษคืออย่างไร ที่ว่าพิเศษยิ่งนั้น เป็นไฉน

๒. ธรรมะใดถ้าไม่เป็น อกาลิโก ก็ไม่ใช่พุทธนั่นก็หมายถึงว่า ถ้าไม่เป็น มรรคผลที่บรรลุได้ทุกกาละ ไม่จำกัดว่ายุคไหนๆ ก็ยังยืนยัน ไม่ได้ว่าเป็นพุทธ ขยายความอีกที ก็คือ หากใครปฏิบัติอย่างสัมมาทิฏฐิ แล้ว ย่อมได้บรรลุมรรคผลทุกยุคทุกกาล ไม่ใช่จะบรรลุ ได้แต่ยุคพุทธกาลเท่านั้น ยุคไหนๆ ก็บรรลุได้ ถ้าปฏิบัติเป็นสัมมาทิฏฐิ หรืออีกพระพุทธพจน์บทหนึ่งที่ว่า มีผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ (สัมมา) อยู่ตราบใด ตราบนั้นโลกไม่ว่างจากอรหันต์ ก็มีความหมาย เยี่ยงเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าใครขืนเข้าใจว่า สมัยนี้หมดสิทธิ์ บรรลุมรรคผล ยุคนี้ไม่ใช่กาละที่จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมของพุทธได้แล้ว คนสมัยนี้ ไม่มีใครเป็น อาริยบุคคลได้แล้ว ผู้นั้นก็ มิจฉาทิฏฐิ หรือค้านคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ พระองค์ตรัสไว้ ดีแล้ว (สวากขาต) แน่แท้

๓. ธรรมะใดถ้าไม่เป็น เอหิปัสสิโก ก็ไม่ใช่พุทธ นั่นก็หมายถึงว่า ถ้าไม่เป็นธรรมที่เชื้อเชิญให้ใครๆมาดูได้ หรือท้าทายต่อการพิสูจน์ ก็ยังไม่ใช่พุทธ หมาย ความว่า พุทธธรรมนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ หากใครเอาตนเอง เข้ามาศึกษาปฏิบัติพิสูจน์ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง (สัมมา) ถูกถ้วน (สัมมา) ถึงขั้นบรรลุผลสำเร็จแล้ว ก็จะรู้จัก รู้แจ้งรู้จริง พุทธธรรมกันได้ทั้งนั้น มีของจริงให้สัมผัสจริง ขอให้ปฏิบัติ ถึงขั้นสัมมาทิฏฐิ และบรรลุจริงเถิด พุทธธรรมยืนยันคุณลักษณะอาริยภูมิ ที่เป็นโลกุตรธรรม ได้แท้ตรงกัน เป็นหนึ่งเดียว และ ท้าทายต่อการพิสูจน์จริงๆ แต่ถ้าเชื้อเชิญให้ใครๆมาดูไม่ได้ หรือท้าทายต่อการพิสูจน์ไม่ได้ ก็ไม่ใช่พุทธ เพราะขัดกับคำกำหนด ที่เป็น "สวากขาโต"ของพระพุทธเจ้า

๔. ธรรมะใดถ้าไม่เป็น โอปนยิโก ก็ไม่ใช่พุทธ นั่นก็หมายถึงว่า "สิ่งสูง"ในศาสนานั้นเป็นสิ่งสูงจริงๆ ที่ต้องเชิดชูบูชา สุดเกล้า สุดเศียร ทุกคนยอมรับ แต่ถ้า"สิ่งสูง" นั้นไม่อาจสามารถโน้มน้อมเข้ามาให้แก่ตน จนตนเป็นตนได้ หรือเป็น"สิ่งสูง" ที่ไม่อาจเอื้อม โน้มเอามาให้แก่ตนแล้วไซร้ นั่นก็ไม่ใช่เป็นพุทธ ขยายความอีกทีก็คือ สิ่งสูงสิ่งสุดของพุทธนั้น เป็นสิ่งสูงสิ่งประเสริฐยิ่งที่เรียกว่า "ปรินิพพาน"ก็ดี เรียกว่า"ความเป็นได้ถึงขั้นพระบรมศาสดา"ก็ดี แม้จะสูงสุดสูงยิ่งยอดปานใดก็เป็นเรื่องของคน เป็นสมบัติของคน ไม่ใช่สิ่งวิเศษที่เกินความเป็นคนจะเป็นได้ หากใครศึกษา"สิ่งสูง"นั้นๆอย่างสัมมาทิฏฐิ และพากเพียร อุตสาหะปฏิบัติเอาจริง และมีความสามารถจริง "สิ่งสูง" นั้นทุกคนสามารถเป็นสิ่งสูงสุด สูงยิ่งยอดนั้นๆได้ และเมื่อได้"สิ่งสูง"นั้นแล้ว ก็จะรู้จักรู้แจ้ง รู้จริงว่า สิ่งสูงนั้นเป็นของดีของสูงแท้ ที่ควรเอื้อมโน้มเอามาให้แก่ตนจริงๆ เกิดเป็นคนน่าเอื้อมน่าโน้มเอามาเป็นสมบัติของตน จึงชื่อว่าเป็น ดอกฟ้า ที่คนควรเอื้อมอย่างยิ่ง ทุกคนมีสิทธิ์เอื้อมได้ ไม่แบ่งชั้นวรรณะอีกด้วย เฉพาะอย่างยิ่งมิได้กั้นไว้ว่า "สิ่งสูง"นั้นคือสิ่งที่ต้องยกไว้ ต่างหาก คนมิบังอาจเป็นได้มีได้ เป็นของ "ต้องห้าม" หรือมิใช่"สิ่งสูง" ที่ห้ามคนอาจเอื้อมแต่อย่างใด นี้คือ ความเป็น "โอปนยิโก" ที่เป็นคุณลักษณะ ของความเป็นพุทธอันสำคัญ ซึ่งแม้จะสูงยิ่งจะสุดยอดปานใด ก็เป็นของสาธารณะ แก่ทุกคนในโลก พระพุทธเจ้าตรัสระบุ ความเป็นพุทธ ของพระองค์ไว้เป็น "สวากขาโต"ปานฉะนี้ ถ้า"สิ่งสูง"นั้น ไม่เป็นอย่างว่านี้ ก็ไม่ใช่พุทธ

๕. ธรรมะใดถ้าไม่เป็น ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ก็ไม่ใช่พุทธ นั่นก็หมายถึงว่า สิ่งนั้นต้องมีในตนเอง เป็นของตนเอง ตนเองต้องรู้จัก รู้แจ้งรู้จริงเอง ของตนเองในตนเอง จึงจะชื่อว่า เป็นพุทธ ถ้าสิ่งนั้น ยังไม่เป็นของตนเองในตนเองแล้ว รู้จักรู้แจ้งรู้จริงเอง ของตนเองในตนเอง ก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าเป็นพุทธ

ขยายความอีกที ข้อที่ ๕ นี้ ต่างจากข้อที่ ๑ ตรงที่ว่า "สันทิฏฐิโก"นั้น เน้นถึงการเอาชีวิตร่างกาย พร้อมจิตใจของตัวเอง เข้ามาปฏิบัติเอง ตนเองควรเอา "ตัวเอง" เข้ามาพิสูจน์ แล้วจึงจะรู้จักรู้แจ้งรู้จริงได้ ส่วน"ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ"นั้น เน้นที่ "ความรู้" เมื่อปฏิบัติจนบรรลุธรรมนั้นๆแล้ว คนผู้นั้นแหละ จึงจะ "รู้เองของตนเองในตนเอง" มิใช่ให้ผู้อื่นรู้แทน หรือมิใช่ผู้อื่น สามารถรู้เห็นสัจธรรมนั้นแล้วบอกเรา

เคยมีสำนักปฏิบัติบางสำนัก ครูบาอาจารย์ของเขาสามารถบอกลูกศิษย์ได้ว่า ลูกศิษย์ของเขาบรรลุญาณ ขั้นนั้นขั้นนี้ หรือ อาจารย์สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริง ญาณที่เป็นชั้นภูมิที่ลูกศิษย์บรรลุได้ แทนที่ลูกศิษย์ จะสามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริงญาณชั้นนั้นชั้นนี้ ของตนเองด้วยตนเองเฉพาะตัว เป็น"ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ" ตรงตาม"สวากขาโต"ของพระพุทธเจ้า ถ้าอย่างนี้ ก็ผิดไปจาก "สวากขาตธรรม" แล้ว

ทั้ง ๕ ข้อ ของ"สวากขาตธรรม"นี้ เป็นนิยามที่ระบุชี้บ่งความเป็นคุณลักษณะสำคัญ อันแตกต่างจาก ศาสนาอื่นๆ ยืนยันความเป็น ธรรมะ ของพระพุทธเจ้า โดยตรงโดยแท้ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่างก็รู้จักดี เป็นบทสวดที่เปล่งประกาศก้องกันอยู่ทั่วไปทั้งโลก

แวะออกไปอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกถ้วน(สัมมา)กันพอสมควรแล้ว ทีนี้มาอธิบายเรื่อง "ปฏิจจสมุปบาท" กันให้แจ่มกระจ่าง ชัดแจ้งดูบ้าง จะได้รู้จุดที่เราจะ"ดับภพจบชาติ"กันได้อย่างไร

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๖ เดือน มีนาคม ๒๕๔๘ -