น้ำใจเคลือบยาพิษ (กุกกุฏชาดก)


พูดจาดีมีไมตรี
ทำท่าทีเป็นสหาย
ที่แท้จิตคิดทำลาย
เหมือนน้ำใจเคลือบยาพิษ

ที่ธรรมสภา หมู่ภิกษุ พากันสนทนาถึงความไม่ดีของพระเทวทัต

"พระเทวทัตนั้นหมายปลงพระชนม์ของพระศาสดา ด้วยอุบายประทุษร้ายต่างๆ เช่น ให้นายขมังธนู ลอบยิง ให้ควาญช้างปล่อยช้างดุร้ายนาฬาคิรีวิ่งเข้าใส่ เป็นต้น"

ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา พอได้ทรงทราบเรื่องที่พวกภิกษุสนทนากันแล้ว จึงตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้นที่พระเทวทัตพยายามจะฆ่าเรา แม้กาลก่อน ก็เคยพยายาม ฆ่าเราเหมือนกัน"

แล้วทรงนำเรื่องนั้นมาตรัสว่า
..........................................

ในอดีตกาล ยุคสมัยของพระราชาพระนามว่า โกสัมพิกะ ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครโกสัมพี

ณ ป่าไผ่แห่งหนึ่ง มีไก่ป่าหลายร้อยตัวอาศัยอยู่อย่างเป็นสุขร่วมกัน โดยมีพญาไก่ตัวหนึ่งเป็นจ่าฝูง

ใกล้ป่าไผ่นั้นเอง เหยี่ยวตัวหนึ่งทำรังอาศัยอยู่ มันมักใช้อุบายจับไก่ไปกินเสมอๆ เป็นประจำ จนในที่สุดฝูงไก่ป่าก็หมดสิ้น เหลืออยู่แต่พญาไก่เพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่ยังรอดชีวิตอยู่ในป่าไผ่นั้นได้ ก็เพราะอาศัยความไม่ประมาทนั่นเอง คือเวลาออกไปหาอาหารก็คอยระวังตัวทุกขณะ ได้อาหารแล้ว ก็รีบกลับเข้าสู่ดงไผ่ทันที เหยี่ยวจึงไม่สามารถจับพญาไก่ได้เลยแม้สักครั้งเดียว

ด้วยเหตุนี้ เหยี่ยวจึงหมายจับพญาไก่กินให้จงได้ ดังนั้นจึงแอบเข้าไปอยู่ติดชิดป่าไผ่ แล้วคิดอุบาย ล่อลวงขึ้น เมื่อดักรอจนพบพญาไก่ ก็รีบทักทายทันทีว่า

"แน่ะ! พญาไก่ เราอยากจะทำความคุ้นเคยเป็นเพื่อนกับท่าน เรารู้จักสถานที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร จะพาท่านไปหาอาหารในที่นั้น พวกเราจะได้อยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่ต่อกันและกัน"

พญาไก่ได้ยินดังนั้น ให้นึกระแวงเหยี่ยวยิ่งนัก จึงตอบตัดสัมพันธ์ชัดเจนว่า

"เรากลัวจะถูกเจ้าจับกิน จึงไม่กล้าคุ้นเคยกับเจ้าหรอก เจ้าจงไปเสียเถิด"

"เพื่อนเอ๋ย...ไว้ใจเราเถิด แม้แต่ก่อนเราจะเคยจับพวกเจ้ากิน แต่เดี๋ยวนี้เราเลิกทำชั่วอย่างนั้นแล้ว เราไม่ทำชั่วอีกต่อไปแล้ว"

พญาไก่ยังคงไม่ไว้วางใจ ยืนยันเช่นเดิมว่า

"เราไม่ต้องการมิตรสหายเยี่ยงเจ้า จงไปเสีย"

"เราไม่ต้องการมิตรสหายเยี่ยงเจ้า จงไปเสีย"

ปฏิเสธเหยี่ยวถึง ๓ ครั้ง แล้วประกาศก้องออกไปว่า

"ผู้ใดก็ไม่ควรคุ้นเคยกับคนทำบาป คนมักพูดจากเหลาะแหละ คนฉลาดที่คิดแต่ประโยชน์ตน และคนที่ทำเป็นสงบแต่ภายนอก

ไม่ควรคุ้นเคยกับคนที่ทำตัวเหมือนโคกระหายน้ำ คือทำทีเหมือนกระหายที่จะช่วย รับปากด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวาน แต่แล้วก็ไม่ทำจริง

ไม่ควรคุ้นเคยกับคนที่ชูมือเปล่า บอกว่าจะให้จะทำสิ่งนั้น แล้วก็พร่ำแต่พูดพัวพันอยู่ด้วยวาจา เขาเป็นมนุษย์กระพี้ (ไร้แก่นสาร) ไม่มีความกตัญญู

ไม่ควรคุ้นเคยกับคนที่มีจิตกลับกลอก ทำความเกี่ยวข้องไม่แจ้งชัด ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม

ไม่ควรคุ้นเคยกับคนที่หยั่งลงสู่กรรมชั่ว เป็นคนไม่แน่นอน เที่ยวกำจัดคนไม่เลือก เสมือนดาบที่ลับคมแล้วปกปิดไว้

ไม่ควรคุ้นเคยกับคนที่คอยเพ่งโทษ เข้ามาตีสนิทด้วยอุบายต่างๆ ด้วยความสามารถของมิตรเทียม ด้วยคำพูดอันคมคายซึ่งไม่ตรงกับจิตใจที่หยาบคาย

ไม่ควรคุ้นเคยกับคนปัญญาทราม เพราะพอพบเห็นอามิส (เหยื่อล่อใจ) หรือทรัพย์เข้า ณ ที่ใด ย่อมคิดประทุษร้ายและละทิ้งเพื่อนนั้นไป"

พญาไก่กล่าวเปิดเผยความชั่วร้ายของเหยี่ยวแล้ว แสดงความไม่เชื่อถือด้วยการขู่ว่า

"เจ้าเคี้ยวกินไก่ไปตั้งมากมาย กระทำบาปชั่วแล้วยังมาแสร้งพูดว่าเป็นมิตรอีกหรือ ถ้าเรายังอาศัยอยู่ ในที่นี้ เห็นทีจะต้องตกเป็นอาหารตอบแทนมิตรอย่างเจ้าเป็นแน่"

เหยี่ยวได้ยินดังนั้น ก็รู้ว่าอุบายไม่ได้ผลเสียแล้ว จึงส่งเสียงร้องด้วยความไม่พอใจ จากนั้นก็บินหลบไปหาเหยื่อในที่อื่น
............................................

พระศาสดาตรัสเล่าเรื่องนี้แล้ว ทรงเฉลยว่า

"เหยี่ยวในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเทวทัตในบัดนี้ ส่วนพญาไก่ในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต"

แล้วทรงสรุปชาดกนี้ว่า

"มีคนเป็นจำนวนมาก ปลอมเป็นมิตรมาคบหา ฉะนั้นพึงละคนชั่วเหล่านั้นเสีย เหมือนพญาไก่ ไม่คบหาเหยี่ยว

แต่หากผู้ใดไม่รู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน หลงไปตามอำนาจของศัตรู ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง

ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นได้ฉับพลันผู้นั้นย่อมพ้นจากความเบียดเบียนของศัตรู

คนผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ควรละเว้นจากผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ที่มักทำการกำจัดผู้อื่นอยู่เสมอ ดังเว้นให้ห่างไกลจากแร้วที่เขาดักไว้ในป่า เหมือนพญาไก่ในป่าไผ่ละเว้นจากเหยี่ยว ฉะนั้น"

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๔๒๒ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๙ หน้า ๘๙๓)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๖ เดือน มีนาคม ๒๕๔๘ -