ชีวิตนี้มีปัญหา ๑
- สมณะโพธิรักษ์ -


ต่อจากฉบับที่ ๑๗๗

อาหารของ"อวิชชา"คือ นิวรณ์ ๕ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดสามารถปฏิบัติทำให้นิวรณ์ ๕ ลดละหมดสิ้นไปได้ ไม่ว่าจะปฏิบัติ"ไตรสิกขา" หรือปฏิบัติ"จรณะ ๑๕" หรือปฏิบัติ "มรรคอันมีองค์ ๘" ล้วนเป็นหลักปฏิบัติที่ ลด"นิวรณ์ ๕" ได้ด้วยกันทั้งนั้น

"วิชชาจรณสัมปันโน" เป็นพุทธคุณที่ตรัสรู้โดยพระพุทธเจ้า มีในศาสนาพุทธศาสนาเดียว เมื่อปฏิบัติ "จรณะ ๑๕" บริบูรณ์ ก็จะบรรลุ "วิชชา ๘"บริบูรณ์

เช่นเดียวกัน ปฏิบัติตาม"มรรคอันมีองค์ ๘" ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ให้"สัมมาทิฏฐิ"ทุกประการ ย่อมบรรลุ"ผล" คือ วิชชาและวิมุติ บริบูรณ์ ได้แน่นอน

ดังนั้น การปฏิบัติ"มรรคอันมีองค์ ๘" แล้วบรรลุผล ๒ สัมมาญาณ-สัมมาวิมุติ หากเข้าใจได้เป็น สัมมาทิฏฐิ กันจริงๆ ก็จะรู้ว่าไม่ได้ต่างไปจากการปฏิบัติ "จรณ ๑๕" แล้วบรรลุ "วิชชา ๘" เรื่องเดียวกัน แท้ๆ ไม่ใช่คนละแบบคนละเรื่องแต่อย่างใดเลย และแม้การศึกษาปฏิบัติ "ไตรสิกขา" ผู้ศึกษา "อธิศีลสิกขา" ถ้าสัมมาทิฏฐิ แน่แท้ ปฏิบัติไปก็จะเกิด "สัมมาสมาธิ -สัมมาวิมุติ (อธิจิตสิกขา) -สัมมาญาณ (อธิปัญญาสิกขา)" ซึ่งไม่ได้ต่างกันเลยอยู่อีกนั่นเอง

สรุป การปฏิบัติ"จรณะ ๑๕" หรือการปฏิบัติ "มรรคอันมีองค์ ๘" จึงคือ การปฏิบัติฝึกฝน "อธิศีลสิกขา-อธิจิตสิกขา-อธิปัญญาสิกขา" อย่างเป็นองค์รวมปฏิสัมพัทธ์ กันและกัน ไปตลอดเวลา ซึ่งจะสัมพันธ์กัน และปฏิสัมพัทธ์กัน ร่วมกันไปจนกระทั่งถึง "ผล ๒" (สัมมาญาณ-สัมมาวิมุติ) โน่นทีเดียว

ถ้าเข้าใจตามที่ได้ชี้แจ้งมาให้เห็นชัดๆฉะนี้แล้ว ผู้เคยเข้าใจผิดก็จะเห็นได้ว่า ในภาคการปฏิบัติ มรรคทั้ง ๘ นั้น จะไม่แยกกันปฏิบัติ ไม่ว่าจะแยกไปแต่ละข้อๆ ต่างก็ปฏิบัติกัน อย่างอิสระ หรือแยกไปเป็น หมวดๆ คนละหมวด หมวดศีล-หมวดสมาธิ-หมวดปัญญา ต่างก็แยกปฏิบัติกันไปหมวดใครหมวดมัน หรือ สำนักนั้นปฏิบัติศีล สำนักนี้ปฏิบัติสมาธิ สำนักโน้น ปฏิบัติปัญญา จะไม่เป็นเช่นนั้นเลย แต่จะปฏิสัมพัทธ์กันไป ตลอดเวลา ทำงานสอดประสานกันร่วมกันทุกข้อ

แต่ถ้าจะเพียงเทียบเคียงตามหัวข้อต่างๆของ"มรรคอันมีองค์ ๘" กับ "ไตรสิกขา" ว่า ข้อใดบ้าง ที่พอจะ "จัดเข้า" หรือสงเคราะห์เข้าได้กับศีล ข้อใดบ้างสงเคราะห์เข้าได้กับ สมาธิ และข้อใดบ้าง สงเคราะห์เข้าได้กับ ปัญญา ซึ่งก็พอจะจัดได้ เช่น สัมมาทิฏฐิ-สัมมาสังกัปปะ ก็สงเคราะห์เข้าได้กับ "ปัญญา" สัมมาวาจา-สัมมากัมมันตะ-สัมมาอาชีวะ ก็สงเคราะห์เข้าได้กับ "ศีล" และ สัมมาวายามะ-สัมมาสติ-สัมมาสมาธิ สงเคราะห์เข้าได้กับ"สมาธิ" นั่นก็เพียงแต่เป็นการจัดสภาพลักษณะ ของความหมาย ที่เข้ากันได้ ให้พอเข้าใจ

ไม่ใช่ว่า "ศีล"จะเจริญได้ก็แยกไปปฏิบัติเฉพาะหมู่สัมมาวาจา-สัมมากัมมันตะ-สัมมาอาชีวะเท่านั้น หรือ "สมาธิ"จะเจริญได้ ก็แยกไปปฏิบัติเฉพาะใน หมู่สัมมาวายามะ-สัมมาสติ -สัมมาสมาธิ เท่านั้น และถ้า"ปัญญา" จะเจริญได้ก็แยกไปปฏิบัติเฉพาะ สัมมาทิฏฐิ-สัมมาสังกัปปะเท่านั้น อย่าเข้าใจผิด เช่นนั้นเป็นอันขาด

จงศึกษาจากพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๒๕๒-๒๘๑ "มหาจัตตารีสกสูตร"นั่นเถิด พระพุทธเจ้าตรัสถึง การปฏิบัติ "มรรคอันมีองค์ ๘" ไว้อย่างชัดเจนที่สุด

เริ่ม..ข้อ ๒๕๒ ลำดับแรกพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า "เราจักแสดง สัมมาสมาธิ ของพระอาริยะ (อริโย สัมมาสมาธิ) อันมีเหตุ (อุปนิโส) มีองค์ประกอบ (ปริกขาโร) แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟัง สัมมาสมาธิ นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป"

ลำดับต่อมา ข้อ ๒๕๓ ตรัสขยายความว่า "ก็สัมมาสมาธิ ของพระอาริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ"

พระองค์ทรงหยิบเอา"มรรคองค์ที่ ๘" (สัมมาสมาธิ) ขึ้นมาเป็นข้อหลัก ยืนยันว่า เป็นข้อ"ผล" ที่เกิดจาก "เหตุ" (อุปนิโส) เลยทีเดียว ส่วนมรรคองค์อื่นๆอีก ๗ ข้อนั้นเป็น "เหตุ" (อุปนิโส) เป็น"องค์ประกอบ" (ปริกขาโร) หรือเป็นส่วนฐานของการปฏิบัติโดยตรงที่ก่อให้เกิดเป็น "มรรคองค์ที่ ๘"นั่นเอง แล้วก็ทรงเรียก "สมาธิ" ของพระองค์ว่า "สัมมาสมาธิ" โดยมีคำว่า "สัมมา" กำกับไว้ด้วย เพื่อจะได้รู้กัน ชัดๆ ว่า "สมาธิ"ของพุทธแท้ๆ นั้นไม่ใช่"สมาธิ"สามัญ ที่ใครๆก็รู้กันอยู่ทั่วไป และพระองค์ทรงยืนยัน ความเป็น"สัมมาสมาธิ" ไว้อีกด้วยว่า เป็น "สัมมาสมาธิอันประเสริฐ" (อริโย สัมมาสมาธิ) หรือสมาธิชนิดนี้ คือ "สมาธิที่มีคุณวิเศษอันเข้าขั้นอาริยะ" (อริโยสัมมาสมาธิ) ซึ่งแน่ยิ่งกว่าแน่ ว่า "สัมมาสมาธิ" นั้นต้อง ต่างจาก "สมาธิ"สามัญทั่วๆไป อย่างมีนัยสำคัญ

อยากจะขอทำความเข้าใจกันให้ชัดๆสำหรับคำว่า "สมาธิ"หรือ"สมาหิต" ถ้าหากเข้าใจความหมาย เพี้ยนผิดไป "สมาธิ"ก็จะกลายเป็นเรื่องเลอะเทอะ ทุกวันนี้ คำว่า "สมาธิ" ในวงการศาสนา ก็ว่ากัน เปรอะไปหมด อย่างนั้นก็"สมาธิ" อย่างนี้ก็"สมาธิ" แล้วก็นำไปปนเปกับลักษณะอาการต่างๆ กับรูปแบบ อะไรต่ออะไรนานาสารพัด แล้วก็โมเม หาเรื่องมาผสมผเสเข้าไป หลอกกันลวงกันให้หลงเป็นฤทธิ์ เป็นเดช เป็นเรื่องวิเศษ พิลึกพิเรนทร์ ทำให้คนหลงผิด จนงมงายกันมากมาย

ที่สำคัญคือ ถ้าเข้าใจไม่ถูกถ้วนแท้จริง(สัมมา) จะทำให้การปฏิบัติธรรมล้มเหลว โดยเฉพาะทำให้ การกำหนดลำดับของจิต-เจตสิก หรือปรมัตถธรรมสับสน เช่น เข้าใจไปว่า สมาธิ หมายถึง การหลับตา ทำความรับรู้ของตน ให้หลบเข้าไปอยู่ในภายในทวารใจ แต่เพียงทวารเดียว โดยตัดความรับรู้ ทางทวาร ๕ ภายนอกสำเร็จ นี่แหละคือ "สมาธิ" นับเอาภาวะ แค่นี้ว่า ทำสมาธิได้แล้ว เข้าใจว่าเท่านี้แหละคือ "สมาธิ" จากนั้นก็พยายามทำภายในใจ ไม่ให้มีนิวรณ์ ๕ เมื่อทำได้สำเร็จอีก ก็เรียกการปฏิบัติต่อจาก "ทำสมาธิ" นี้ว่า "ทำฌาน" โดยเข้าใจว่า "ฌาน" นั้นคือการปฏิบัติภายหลัง"สมาธิ" ดังนี้เป็นต้น

ที่จริงแล้วลำดับที่ถูกต้อง (สัมมา) "ฌาน"นั้น ทำก่อน เกิดก่อน แล้วจึงจะเกิดผลตามเป็น"สมาธิ" ทีหลัง

ไม่ว่า"ฌาน" หรือ "สมาธิ" ต่างก็เป็นคำเรียกอาการแห่งความเจริญของ "อธิจิตสิกขา" ด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่บอกแจ้งชี้อาการ หรือสภาพของจิต มีสถานะที่เป็นอยู่ ต่างกัน ช่วงกาละต่างกัน พฤติภาวะ ต่างกัน

"ไตรสิกขา" ก็ดี "จรณะ ๑๕ วิชชา ๘" ก็ดี "มรรค อันมีองค์ ๘" ก็ดี ล้วนหมายถึง หลักการในการ ปฏิบัติธรรม ของพุทธที่ไม่ต่างกันเลย ใครได้อ่านพระไตรปิฎก เล่ม ๙ พระพุทธเจ้าตรัส "หลักการปฏิบัติ" ในทุกสูตร มีซ้ำกันหมดทุกคำ ทุกหัวข้อ ซึ่งก็คือ หลักแห่ง "ไตรสิกขา" หรือ "จรณะ ๑๕ วิชชา ๘" หรือ "มรรคอันมีองค์ ๘" ทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่ "ศีล" แล้วก็ปฏิบัติไปตาม "หลักปฏิบัติที่ ไม่ผิดทางพุทธ" (อปัณณกปฏิปทา) ซึ่งได้แก่ "อินทรียสังวร-โภชเนมัตตัญญุตา-ชาคริยานุโยคะ" นั่นเอง ไม่ใช่อื่นเลย โดยการมี "สติสัมปชัญญะ" ในทุกอิริยาบถ ทั้งกายกรรม -วจีกรรม -มโนกรรม ครบภายนอก ภายใน จนกระทั่งเป็นผู้มักน้อย "สันโดษ" ได้จริง เพราะขัดเกลาตนเอง ทั้งลดละ ภายนอกไป ทั้งขัดเกลา กิเลสนิวรณ์ ๕ ภายในของตน ในขณะปฏิบัติธรรมไปตลอดเวลา และบรรลุมรรคผล ไปตามลำดับ

นั่นคือ การเจริญของอาริยธรรมซึ่งเจริญทั้งภาย นอก เจริญปฏิสัมพัทธ์กันและกันเข้าไปถึงภายใน "จิต..เจตสิก" วิวัฒน์พัฒนาขึ้นเป็นอาริยบุคคล ตามลำดับ ในขณะที่ปฏิบัติ "ไตรสิกขา" หรือ "จรณะ ๑๕ วิชชา ๘" หรือ "มรรค อันมีองค์ ๘" จนเกิดผล ๒ นั่นเอง

เป็นต้นว่า เมื่อปฏิบัติ"ไตรสิกขา"อย่างสัมมาทิฏฐิจริง โดยเริ่มที่การปฏิบัติ"ศีล" ให้เป็นกุศล ขึ้นไปตามลำดับ "อธิศีลสิกขา"ย่อมมีผลมีอานิสงส์พาให้ "อธิจิตสิกขา" และ "อธิปัญญาสิกขา" เจริญขึ้นๆไปตามลำดับ สู่"สัมมาสมาธิ-สัมมาญาณ-สัมมาวิมุติ" ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๑ หรือข้อ ๒๐๘ ว่า "ศีลที่เป็นกุศล ย่อมยัง ความเป็นอรหันต์ ให้บริบูรณ์ โดยลำดับ"

ซึ่งผลหรืออานิสงส์ของ"ศีล"ที่เป็นกุศลนี้ ก็คืออาการของ"จิต"โดยตรง ที่ทรงยืนยันไว้ชัดเจน ว่า "ศีล" ที่เป็นกุศลมี "อวิปปฏิสาร"เป็นผล เป็นอานิสงส์ ดังนี้เป็นต้น "อวิปปฏิสาร" หมายถึง ความไม่ร้อนใจ นั่นคือ ผู้ปฏิบัติ "ศีล" มีผลมีอานิสงส์ถึง "ใจ" จริงๆจึงไม่ร้อนใจ ลดความไม่สบายใจ ซึ่งเป็นอาการ ของจิตใจที่ "ลดความทุกข์ความร้อนใจ" ก็ยืนยัน อยู่โทนโท่ จาก"อวิปปฏิสาร" แล้วก็ต่อไล่ลำดับไป เป็น.. "ปามุชชะ..ปีติ..ปัสสัทธิ..สุข..สมาธิ (อธิจิต) ..ยถาภูตญาณทัสสนะ (ปัญญา)..นิพพิทาวิราคะ.. วิมุติญาณทัสสนะ (วิชชา, วิมุติ)"

คำตรัสนี้ยืนยันอยู่ชัดๆว่า กุศลหรือความเจริญในการปฏิบัติ"ศีล"นั้น มิใช่ได้ผลได้อานิสงส์ แค่กาย กับวาจา เท่านั้น แต่ได้ผลได้อานิสงส์ครบ เจริญไปถึง"จิต" นั่นต่างหาก จึงจะยัง "ความเป็นอรหันต์" ได้ เพราะแค่ผล หรืออานิสงส์ ทางกาย-ทางวาจา เท่านั้น แม้จะต่อให้เจริญสูงส่งปานใดๆ ก็ยังไม่นับว่า เป็นสภาวะของ ความเจริญขั้น บรรลุธรรม อันเป็น ปรมัตถธรรม แน่ๆ

ดูได้จาก"อวิชชาสูตร" ตามที่ยกมาให้เห็นแล้วว่า "ทุจริต ๓" ซึ่งได้แก่ กายทุจริต-วจีทุจริต-มโนทุจริตทั้ง ๓ นั้นเป็นอาหารของ"นิวรณ์ ๕" ถ้าผู้ใดปฏิบัติ"ไตรสิกขา" หรือ"จรณะ ๑๕" หรือ"มรรค องค์ ๘" ก็นั่นแหละ คือ ต้องปฏิบัติธรรมให้สัมมาทิฏฐิ

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -