ใช้วิทยาศาสตร์ แก้ปัญหาโลก
- ส.ศิวรักษ์ - * บรรยายเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนศรีอยุธยา

(ต่อจากฉบับที่ ๑๗๗)


จนท่านสามารถตั้งมหาวิทยาลัยโรปะขึ้นที่สหรัฐมาได้ ๒๕ ปีมาเข้านี่แล้ว นับว่านี่เป็นการศึกษา ทางเลือกแบบพุทธ ที่ไม่เน้นไปทาง ความเชื่อที่ตายตัว หรือเน้นที่พิธีกรรม อันปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ไม่ได้ หากให้รู้จักใช้ศาสนพิธี และคำสั่งสอนทางศาสนา เฉกเช่นคำสอนของวิทยาศาสตร์ทางเลือก คือ ใช้หัวใจ สัมผัสกับอะไรๆ อย่างไม่ยิ่งหย่อน ไปกว่าการใช้หัวสมอง

หนังสือที่อาจารย์ของมหาวิทยาลัยนโรปะ ผลิตออกมา ให้คุณค่าที่ชี้ตรงไปที่วิทยาศาสตร์กระแสหลัก โดยโยงให้คนร่วมสมัย เข้าใจว่า วิทยาศาสตร์ที่ปราศจาก วิจารณญาณนั้น ก็แทบไม่ต่างไปจาก ไสยศาสตร์เอาเลย และคนที่ตื่นเต้นกับวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ในแนวทางของ เทคโนโลยี อย่างไม่เข้าใจ ให้ลึกซึ้ง ถึงนฤมิตกรรมนั้นๆ เทคโนโลยี ก็เท่ากับ มนต์ขลัง หรือ magic นั้นแล ดังเรื่อง Perceiving An Ordinary : Science & Intuitive Wisdom และ The Sacred Life ของ เจเรมี่ เฮวาร์ด เป็นตัวอย่าง ที่ใช้พุทธวิธี ท้าทายวิทยาศาสตร์กระแสหลัก ของตะวันตก อย่างน่ารับฟัง ยิ่งนัก เล่มล่าสุดของเขา (Letters to Vanessa) ที่เขียนเป็นจดหมาย ถึงลูกสาวนั้น เตือนให้เธอเข้าใจถึง ความศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ต่างๆ ในโลกที่วิทยาศาสตร์ ในระบอบของวัตถุนิยม พยายามหาทางทำลาย ไปจากจินตนาการของเรา โดยที่บัดนี้วิชาการต่างๆ ทางด้าน ความศักดิ์สิทธิ์ อย่างดั้งเดิม ที่คริสต์ศาสนาเ คยกำจัดมาก่อน และวิทยาศาสตร์ตะวันตก โจมตีอย่างไม่มีชิ้นดี ได้กลับมามีคุณค่า กับสังคมร่วมสมัยยิ่งๆ ขึ้นทุกที ไม่ว่าจะภูมิปัญญา ของชาวอินเดียนแดง แม่มด หมอผี โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ อายุรเวท และอื่นๆ ที่รวมเรียกว่า Magic หรือ Shamanism

ยังในรอบทศวรรษมานี้ เกิดสถาบันจิตกับชีวิต The Mind and Life Institute ขึ้น ด้วยการนำของ องค์ทะไลลามะ ซึ่งทรงเชิญนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ของตะวันตก (โดยที่หลายคน ได้หันมาสมาทาน พุทธศาสนา และหลายคนก็ไม่สนใจ ศาสนธรรมเอาเลย) ให้บุคคลเหล่านี้ มาร่วมสนทนาวิสาสะ กับนักปฏิบัติธรรม ของฝ่ายพุทธ ซึ่งรวมถึง พระศรีปริยัติโมลี (สมชัย กุสลจิตโต) แห่งมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัยด้วย ผลก็คือ นักวิทยาศาสตร์หลายคน เกิดความอ่อนน้อม ถ่อมตน จนแลเห็นขอบเขต อันจำกัดของวัตถุ หรือรูปธรรม โดยเริ่มเข้าใจว่า ชีวิตและจิตใจนั้น มีรหัสนัยพ้นไปจากการตาย และก่อนการเกิด หลายคนยอมรับว่า ในหัวสมองของเรานั้น ไม่มีตัว บงการใดๆ ที่จะถือได้ว่า เป็นอัตตา จนนักวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนไม่น้อย เข้าใจได้บ้างแล้ว ถึงสามัญลักษณะ โดยเฉพาะก็ในเรื่องของ อนัตตา

นักวิทยาศาสตร์กระแสหลักโดยทั่วๆ ไป ไม่เห็นความสำคัญของประสบการณ์ทางศาสนา หรือ รหัสยนัย ทางด้านจิตวิญญาณ หรือความลี้ลับ ของชีวิตและจิตใจ เพราะสิ่งเหล่านี้ พิสูจน์ไม่ได้ ทางวัตถุ ทางภายนอกหรือในทางตัวตน ที่ประกอบไปด้วยกาล อวกาศและองคาพยพต่างๆ แต่ภายในรูปธรร ที่เป็นนามธรรมนั้นเล่า ถ้าวิทยาศาสตร์ ตะวันตก จะเข้าถึงได้ นั่นจะเป็นเนื้อหา สาระ ของการศึกษาทางเลือก ที่ไปพ้นอะไรๆ ในทางกระแสหลักของสังคมปัจจุบัน อย่างแท้จริง

การศึกษาทางเลือกที่โลกตะวันตกเริ่มรับเอาเข้ามาในเวลานี้คือจิตสิกขา ซึ่งถือได้ว่า จิตคือ ห้องทดลอง อย่างสำคัญ นักปฏิบัติธรรม หรือนักวิทยาศาสตร์ ที่เน้นภายในจิตใจ ใช้ภาวนา เป็นบาทวิถี หรือหนทางให้เข้าถึงธรรมชาติของจิต ตามปกติคนเรา มักพูดกับตัวเอง เวลาไม่พูด กับคนอื่น หรือเรามักคิดในเรื่องทฤษฎี หรือในทิศทางต่างๆ จนติดยึดอยู่ ในนิวรณ์ทั้งห้า อันได้แก่ ๑) กามฉันทะ ความต้องการทางกามคุณ ๒) พยาบาท ความขัดเคือง คุมแค้น ๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่ และเซื่องซึม ๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน และรำคาญใจ ๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

ความคิดและอารมณ์เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องกีดขวางที่สะกัดกั้นจิตใจให้เศร้าหมอง ทำให้ปัญญา อ่อนกำลัง เมื่อเราภาวนา และเอาชนะ อุปสรรคต่างๆ ดังกล่าวได้แล้ว จิตจักสงบลง เมื่อจิตสงบ สันติภาวะ ย่อมเกิดขึ้นภายใน แล้วเราอาจลดกิจกรรม ภายในจิตใจลงได้อีก จนหมดบทสนทนา กับตัวเอง สันติภาวะภายใน ย่อมดิ่งลงทีเดียว (จนเป็นเอกัคตา) เมื่อมาได้ถึงขั้นนี้ ก็อาจแลเห็นได้ว่า โลกียสุข หรือ อามิสสุขที่เราได้รับมาจากชีวิตประจำวัน ในทางกิน กาม เกียรตินั้น มันช่างผิวเผิน เสียเหลือเกิน เมื่อเปรียบกับ นิรามิสสุข ที่เราได้เข้าถึง
(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๘ เดือน พฤษภาคม ๒๕๔๘ -