อันที่จริง การทาน นี้ เป็นหลักของศาสนาทุกศาสนา การให้ เป็นอากัปกิริยา ที่ประเสริฐของมนุษย์ แต่มนุษย์ด้อยพัฒนา เพราะขาดสมดุล ระหว่าง การพัฒนาวัตถุ และการพัฒนาจิตใจ มนุษย์ไม่รู้คุณค่าของทาน-ของการให้ มีความเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่เข้าใจกรรมกิริยา ของการทาน ไม่รู้จักการเอื้อเฟื้อ ไม่รู้จักการเสียสละที่จริง ไม่รู้จักจิต-เจตสิก-รูป-นิพพาน ว่า "การให้" ที่บริสุทธิ์สะอาด ที่ไม่ต้องการ การตอบแทนใดๆเลยนั้น มีได้ และเป็นการดี เมื่อไม่รู้ จึงไม่รู้จัก และไม่เชื่อว่า มีได้จริงๆ ในมนุษย์ประเสริฐแท้

การให้ เป็นการสั่งสมอย่างหนึ่ง คือ สั่งสมกรรมกิริยาการเสียสละ แม้บางครั้ง ผู้ให้จะรู้สึกว่า จำใจให้ แต่เมื่อจำต้องให้ โดยเฉพาะ เมื่อคนเราต้องจำใจทำ เพื่อเอาใจผู้อื่น จึงเกิดการ ขัดแย้งกัน ระหว่างกายกับใจ การขัดแย้งเป็นความทุกข์ เมื่อทำไปแล้ว ก็ต้องยอมอนุโลม สังเวย เขาไป คิดเสียว่า ให้เป็นพลี แม้จะด้วย ความจำใจ แต่จงอย่าไปจำ เพราะถ้าจำแล้ว จะยิ่งทุกข์มากขึ้น จำยอมแล้ว ให้แล้ว ก็ปล่อย ใจเราต้องพลีด้วย ใจเราต้องยอมให้ แล้วจะหมดทุกข์ ตัวพลีใจ นี้ ก็คือ ทาน เช่นเดียวกับส่วนทานอื่นๆเหมือนกัน แต่เป็นส่วนที่ลึกซึ้ง ต้องเข้าใจให้ดี เพราะสิ่งนี้ "มี" อยู่ในโลก

ผู้ที่แสดงภาวะ "การให้" ได้ ได้มากที่สุด ถึงขนาดได้ตลอดนิรันดร จึงได้รับการ เรียกขานว่า "พระเจ้า" คือ ผู้ให้ ผู้เสียสละ อยู่นิรันดร เป็นพระผู้สร้าง เป็นพระผู้ประทาน เป็นพระจิตวิญญาณบริสุทธิ์ ยืนยัน"ความจริง"แห่งกรรมกิริยา อันเลิศยอดนี้อยู่นิรันดร์ ผู้หยั่งถึง ความหมายขนาดนี้ ก็จะทำสูงถึงขนาดนี้ และ สุดถึงนี้ จบสุด ก็คือ การได้ไปอยู่สวรรค์กับพระเจ้า คือ ยังยึดส่วนแห่งความมี ความเป็น

ความเหมือน และความแตกต่าง ของ ศาสนาพระเจ้า กับ ศาสนาพุทธ อยู่ตรงนี้ (เทวนิยม กับ อเทวนิยม)

กล่าวคือ ศาสนาพุทธมีที่จบ ขนาดสูงใดสุดใด ก็ มีทั้งสิ้นเหมือนกัน แถมรู้แจ้งชัดเจน ในระดับ สูงนั้นๆ ทุกขนาด และขนาดที่ ไปอยู่กับ พระเจ้า ชนิดไม่กลับมาเกิด ในโลกกาม หรือโลกมนุษย์ อีกจริงๆ ก็ระดับสูงสุดขั้นพระอนาคามี หากจะสูง กว่านั้นอีก ก็ไม่ต้องไปอยู่กับพระเจ้า และ ไม่ต้องมีอะไรกันอีก ไม่ต้องเหลืออะไรเลย ก็ระดับสูงสุดขั้นพระอรหันต์ ทีเดียว และหรือ จะสูงสุดพิเศษสุดยิ่งกว่านั้น อันจะต้องใช้วงจร แห่งความสูงยิ่ง-ยิ่งสูง ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และ ยาวนานเหลือเกิน คือ วงจร แห่งความเลิศยอดสูงสุด ขนาดจบที่ความเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังเป็นความสูงที่ยากยิ่ง เหนือเกินเหนือยิ่งเหลือเกิน แต่ก็เป็นที่จบสุด บริบูรณ์ สูงสุด อย่างยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่การเกิดมาเป็นคนจะทำเอาได้ หมดที่มาที่ไปอีกจริงๆ ศาสนาพุทธมีได้ถึงปานนี้ และ ศาสนาพุทธมีที่สุด มีที่จบ ไม่หลงนิรันดร แต่เป็นความจบ ที่มีการสืบต่อ สืบทอด มีธรรมทายาท มีโพธิกิจ มีพระโพธิสัตว์ รับช่วงงานเป็นธรรมทายาท มีการสืบต่อพระศาสนา ทั้งช่วงสั้นและช่วงยาว ได้นิรันดร เช่นกัน แต่ก็มีที่จบสุด ไม่ต่อ ไม่นิรันดรนั้นๆลงได้ สำหรับผู้สำเร็จแท้ทุกคน และการหมด การจบของทุกๆคน ก็จบลงที่ การทาน การให้ อย่างสะอาดสนิท ของทุกๆคน ที่จบแท้จบจริง ไม่มีอื่นเลย

ธรรมทายาท ระดับอาริยบุคคลชั้นสูงสุด คือ พระอรหันต์ ก็จบลงด้วย การทาน

พระอรหันต์ ที่จบจริง มีการทานได้แล้ว ลงตัวจริงๆนั้น เรียกว่า พระโพธิสัตว์ ผู้ที่ยังไม่จบจริง ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ไม่ได้ ยังเป็นผู้ไม่ถึง ทานสูงสุด

พระอรหันต์ คือ ผู้ให้ทานอย่างหมดสิ้นได้ โดยไม่เหลือความเผื่อหรือเพื่อตัวเอง หรือไม่เหลือ ตัวตนเลย ผู้ที่เหลือตัวตนอยู่ แม้จะมี "การให้" ก็ยังไม่ใช่พระอรหันต์

ผิว่าผู้เหลือตัวตนอยู่ เสพสุขให้ตนอยู่ แม้จะไม่มีการเสพสุขด้วยกามตัณหาแล้ว จะเหลือแต่ การเสพสุขด้านภวตัณหาอยู่เพียงเท่านั้น ก็ตาม ที่สุด แม้แต่เสพสุขด้วย การอยู่เฉยๆว่างๆ เปล่าๆให้แก่ตัวเอง แล้วหลงว่า นั่นคือ วิเวก โดย ไม่มีการ "ให้ออกไปอยู่"ๆ หรือไม่มีการเปลื้องอยู่ๆ ปล่อยอยู่ๆ ก็ยังไม่ใช่พระอรหันต์ แน่ ตามทฤษฎีที่ถูกแท้ของพุทธศาสนา เป็นความหลงผิดอยู่

พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ให้ทาน ผู้เป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่น ถ้ายิ่งเป็นผู้ให้ทานที่ไม่เพื่อตัวเอง หรือ ไม่เหลือตัวตนยิ่งๆเท่าใดๆ ก็ยิ่งเป็น พระโพธิสัตว์แท้ หรือพระโพธิสัตว์สูงขึ้นๆ เท่านั้นๆ [ถ้าพระโพธิสัตว์ จะหวัง หรือทำเพื่อตัวตนของพระโพธิสัตว์เอง ก็คือ หวังเพียง โพธิญาณ เพื่อความรู้ยิ่ง ที่เกิดอยู่เท่านั้น แต่ถ้าความเพื่อตัวตนนั้น เป็นลาภ-ยศ-สรรเสริญ โลกียสุข ก็ไม่ใช่"พระโพธิสัตว์" ทว่าคือ "โลกียสัตว์" หรือ "ปุถุชน ธรรมดาๆ"] และถ้าเป็นผู้ ให้ทาน โดยเฉพาะ ให้"ธรรมทาน" จนหมดตัวตน ไม่เหลือตัวตนจริง ก็เป็น พระโพธิสัตว์ ที่สมบูรณ์ ที่เป็นพระอรหันต์ แท้ๆ อยู่ในตัว

พระอรหันต์ กับ พระโพธิสัตว์ จึงคือ คนๆเดียวกัน เป็นผู้มีที่สุดอันเดียวกัน ถ้าแตกกัน แยกเอียงไป ข้างใดข้างหนึ่ง ก็ยังเป็น สังฆเภท อยู่

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -