ชีวิตนี้มีปัญหา - สมณะโพธิรักษ์ -

แต่ถ้าได้คบสัตบุรุษ-ได้ฟังสัทธรรม-ได้ศรัทธา ๓ ข้อนี้บริบูรณ์เป็นหมู่แรก ก็มี "เหตุ" ที่ต่อให้เป็น "ผล" แล้วก็ไปตั้งต้นเป็น"เหตุ" ก่อให้เกิด"ผล" ต่อและต่อๆไปเป็น..โยนิโสมนสิการ-มีสติสัมปชัญญะ-สำรวม อินทรีย์ ๖ จนที่สุดหมู่สุดท้าย..สุจริต ๓-สติปัฏฐาน ๔-โพชฌงค์ ๗ ก็เข้าสู่..วิชชาและวิมุติบริบูรณ์

พูดแค่นี้คงรู้ได้แค่ภาษาหลักๆเท่านั้น แต่ไม่กระจ่างในรายละเอียดอยู่นั่นเอง ก็ลองมาอธิบายกันให้ยาวๆ ขยายเนื้อหาสาระในภาษาต่างๆนั้นกันดูซิ

ได้พูดกันมาบ้างแล้วว่า ลำดับ ๑ ถ้าเราเริ่มได้ คบกับสัตบุรุษ เมื่อสัตบุรุษ เป็น อาริยบุคคล คือ ผู้ดำเนิน ชีวิต ไปได้อย่างถูกทางอาริยะ (สัมมัคคตา) ผู้ปฏิบัติที่บรรลุมรรคผล (สัมมาปฏิปันนา) หรือยิ่ง สัตบุรุษที่ว่านี้ เป็นผู้มีคุณธรรมขั้น "สยัง อภิญญา" (สัมมาทิฏฐิ ข้อที่ ๑๐) ก็ยิ่งเป็น "พุทธของแท้" แน่จริง

"สยัง อภิญญา" ซึ่งได้แก่ คนที่ไม่ต้องอาศัยใคร ก็สามารถบรลุธรรมอันเป็นอาริยะ-เป็นโลกุตระ ได้ ด้วยตนเอง เพราะได้สั่งสมภูมิอาริยะใส่ตนมาแล้ว จนกระทั่ง มีอาริยภูมินั้นๆ ในตนเป็นเนื้อเป็นตัวของตน จริงแล้ว ผ่านมาแล้วอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพถึงขั้น เที่ยงแท้ (นิจจัง) มั่นคง (ธุวัง) ถาวร (สัสสตัง) ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอื่นอีก (อวิปริณามธัมมัง) ไม่มีอะไรจะมาหักล้างได้ (อสังหิรัง) ไม่กลับกำเริบ(อสังกุปปัง) ซึ่งผู้ที่ได้บรรลุถึงขั้นมี "อาริยธรรมอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน" (ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ) นั้นๆ สั่งสมแล้วๆ เล่าๆ มานานับชาติ กระทั่งเกิดชาติไหนๆก็มี เป็นของตนเอง

ผู้ที่มีภูมิ "สยัง อภิญญา" นั้น สั่งสมอรหัตผล มีภูมิอรหันต์มาเป็นพันๆเป็นหมื่นๆเป็นแสนๆชาติมาเรื่อยๆ หากบำเพ็ญ จนถึงสูงสุดเป็นสุดยอดแห่งคน ผู้บรรลุภูมิ "อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ" สยัง อภิญญา นั้นก็เรียกว่า "สยัมภู" นั่นเอง

สัตบุรุษ ซึ่ง เป็นบุคคลจริง ที่มีอาริยภูมิจริง ขั้น "ผู้ดำเนินชีวิตไปได้อย่างถูกทางอาริยะ" (สัมมัคคตา) "ผู้ปฏิบัติ ที่บรรลุมรรคผล" (สัมมาปฏิปันนา) จึงมีความสำคัญถึงขั้นที่..ถ้าผู้ใดไม่"เชื่อ"ไม่"เห็น" ว่า ต้องจัดว่า "มิจฉาทิฏฐิ" ต้อง"เชื่อ" ต้อง"เห็น" (ทิฏฐิ) ว่า ถึงจะจัดว่า "สัมมาทิฏฐิ" หากไม่ได้ "คบสัตบุรุษ" ตัวจริง ก็ย่อมยาก เพราะไม่มีเชื้อที่เป็นของจริงหรือไม่มีต้นทางที่จะนำไปสู่"สัมมาทิฏฐิ"ได้แน่แท้ เพราะศาสนา พุทธนั้น ลึกซึ้ง (คัมภีรา) เห็นตามได้ยาก (ทุททสา) รู้ตามได้ยาก (ทุรนุโพธา) สงบชนิดพิเศษ (สันตา) สุขุมประณีตยิ่ง (ปณีตา) รู้ไม่ได้ด้วยตรรกศาสตร์ หรือคาดคะเนเอาไม่ได้ (อตักกาวจารา) ละเอียดลออ หมดจด ถึงขั้นนิพพาน (นิปุณา) รู้ได้เฉพาะบัณฑิตจริงเท่านั้น (ปัณฑิตเวทนียา)

เมื่อคนผู้ใดได้คบสัตบุรุษ ซึ่งมีภูมิในพุทธธรรมเป็น"สัมมาทิฏฐิ" เป็นอาริยะแท้ เป็นโลกุตระแท้ คนผู้นั้น ก็จะได้ฟัง สัทธธรรม ที่เป็นอาริยธรรมแท้ๆ อย่าง ไม่ผิดไม่เพี้ยนออกไปนอกลู่นอกทาง เพราะผู้มีของจริง ก็ต้องพูด จากของจริงที่ตนมีออกมาแน่ๆ แม้จะไม่เป็น ภาษาวิชาการก็ตาม ก็ย่อมเป็นการบอกของจริง ที่ตนมีนั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับภาษาวิชาการ ของคนผู้ไม่บรรลุธรรมรุ่นหลัง ที่บัญญัติขึ้นมา ก็เป็นได้ แน่นอน

การได้คบสัตบุรุษ จึงได้ฟังสัทธรรม หรือได้ฟังสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่จริงแท้ โดยเฉพาะพุทธธรรมที่เป็นอาริยะ เป็นโลกุตระ เป็นอเทวนิยม นี่คือสิ่งที่เกิดต่อจากคบสัตบุรุษ ลำดับ ๒ จึงได้ฟังสัทธรรม

ครั้นได้ฟังสัทธรรม ได้รับ "ความรู้อันเป็นพุทธธรรมที่ถูกต้องจริงๆ" ยิ่งแท้นั้นๆ ผู้ที่เกิดปัญญาเข้าใจได้ ก็จะ"เชื่อ" นี่คือ ลำดับ ๓ "ศรัทธา" เป็นการ "เชื่อ" ที่เกิดต่อตามลำดับ ๑ และ ๒ มาเป็นลำดับๆ และเป็น "ความเชื่อ" ชนิดที่สามารถนำพาผู้"เชื่อ"ไปสู่ความเป็นอาริยบุคคลได้แน่ๆ เพราะสืบทอดจากเชื้อจริง จาก อาริยบุคคลจริง ย่อมมีส่วนถูกต้อง แต่ถ้าลำดับ ๑ ไม่ได้คบสัตบุรุษ ก็แน่นอนว่าลำดับ ๒ ย่อม ไม่ได้ฟัง สัทธรรม ลำดับ ๓ ศรัทธา ก็ "เชื่อ" มิจฉาทิฏฐิ

เห็นชัดไหมว่า ถ้าไม่คบสัตบุรุษ ก็ย่อมยังไม่มีของจริง เพราะผู้ที่ยัง ไม่มีของจริง ก็จะอธิบายด้วย ตรรกศาสตร์ เท่านั้น ที่สำคัญคือในจิตใจของผู้ที่ยัง ไม่ใช่สัตบุรุษ ยังมีกิเลสอยู่แน่ๆ กิเลสนี่แหละตัวร้าย ที่ทำให้ความผิดเพี้ยน เกิดขึ้นได้จริง คำอธิบายของ ผู้ยังไม่ใช่สัตบุรุษ จึงไม่มีหลักประกันที่ไว้ใจได้

ดังนั้น จาก"อวิชชาสูตร" อาหารทางธรรมหมู่แรก ๓ ข้อ คือ คบสัตบุรุษ-ฟังสัทธรรม-เกิดศรัทธา จะเห็นได้ ชัดว่า เป็น "ต้นตอหรือต้นเหตุ"ทีเดียวในความเป็นคน ที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมเพื่อไปสู่ "วิชชาและวิมุติ" เพราะสำคัญมากยิ่ง ถ้าต้นตอของพุทธธรรมไม่เป็น"อาริยธรรม"ที่ถูกต้องแท้จริง "ผล"ที่จะเกิดต่อตามมา ก็แน่นอนว่า ความผิดเพี้ยนย่อมเป็นไปได้ เพราะไม่มีหลักประกันที่เป็นจริง อย่างแน่แท้แม่นมั่น

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติเป็นข้อที่ ๑๐ ว่า ถ้าใคร เชื่อหรือเห็น (ทิฏฐิ) ว่า"สัตบุรุษ" หรือผู้ที่บรรลุธรรมถึงขั้น "สยัง อภิญญา" โน่นทีเดียว ไม่ม(นัตถิ) ผู้นั้น"มิจฉาทิฏฐิ"แล้ว เมื่อยิ่งตรวจสอบตาม"อวิชชาสูตร"นี้ ก็ยิ่งแน่ชัดว่า หากใครไม่ได้ "คบสัตบุรุษ" ก็เป็นอัน ไม่มีจุดเริ่มต้นที่จะมีหวังได้บรรลุอาริยธรรมของศาสนา พุทธแน่ๆ เพราะ "ประธานการปฏิบัติ" คือ มรรค องค์ที่ ๑ แท้ๆ มิจฉาทิฏฐิไปเสียแล้ว เมื่อ "จุดต้นตอ หรือ ต้นเหตุ" ของทางปฏิบัติที่จะไปสู่ "วิชชาและวิมุติ" ซึ่งเป็น "อาหาร" เป็น "เชื้อ" เป็นต้นทางของ อิทัปปัจจยตา ก็ไม่ถูกต้องกันแล้ว ก็เป็นอันหมดหวังไปได้เลย

จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องค้นหาสัตบุรุษจนพบปะเจอะเจอ และ คบสัตบุรุษให้ได้ ถ้าแม้นไม่พบ ก็ต้องแสวงหา ค้นหาจนพบ คนเช่นว่านี้ให้ได้

หรือจำเป็นที่จะต้องมีศรัทธาและปัญญาถึงขั้น"เชื่อ" ถึงขั้น"เห็น"ว่า สัตบุรุษ มี ถ้าแม้นยังไม่เชื่อไม่เห็นว่า สัตบุรุษ มี ด้วยปัญญาด้วยศรัทธาจริงๆ ก็เป็นอันว่า ผู้นั้นตัดทางจะบรรลุธรรมของพุทธขาดสิ้น ตั้งแต่ ต้นทางกันแล้ว เพราะคนที่ยังเป็น "สาวกภูมิ" (คนที่บารมี อยู่ในฐานะต้องได้รับฟังมาจาก ผู้บรรลุสัจธรรม บอกความจริงให้) ยังไม่มีบารมีถึงขั้น "ปัจเจกภูมิ" (คนที่บารมี อยู่ในฐานะเป็นผู้มีอาริยธรรมนั้น เป็นของตนเอง จริงแล้ว) ก็จำเป็นต้องได้ยินได้ฟังจาก "สัตบุรุษ" หรือจาก "อาริยบุคคล" ตัวจริงผู้มีของจริงแล้ว เป็นผู้ถ่ายทอด ให้ฟัง

นี่คือ จุดเริ่มต้นที่สำคัญยิ่ง ทั้งรูปธรรมคือ ในการ คบสัตบุรุษ (สัปปุริสสังเสวะ) และทั้งนามธรรมคือ ต้อง "เชื่อ" ต้อง "เห็น" ว่า สัตบุรุษ ที่หมายถึง "สมณะผู้ดำเนินชอบ (สัมมัคคตา) ผู้ปฏิบัติชอบ (สัมมาปฏิปันนา) ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้า ให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง (สยัง อภิญญา) อย่างเป็น สัมมาทิฏฐิ

เพราะฉะนั้น เมื่อ"อาหาร" ทั้ง ๓ ข้อ ในหมู่แรก "สัมมา"หรือเป็น "อาริยธรรม" ดังที่ได้อธิบายมานั้น อาหาร ในหมู่ต่อไปคือ "โยนิโสมนสิการ-สติสัมปชัญญะ-การสำรวมอินทรีย์ ๖" ซึ่งเป็นหมู่หัวข้อธรรมแห่ง "การปฏิบัติ" ของแต่ละคนโดยตรงโดยแท้ ก็จะก่อเกิด"อาริยมรรค-อาริยผล" ได้ไปตามอิทธิบาท หรือ ตามวิริยะ ของผู้ปฏิบัติ ไปตามจริง

ลองทวนคำตรัสดูนิดหน่อย "การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรม ที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยัง สติ สัมปชัญญะ ให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์
ย่อมยัง การสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์..."

เมื่อองค์ประกอบของธรรมะหมู่ที่ ๑ ตามที่กล่าวมาแล้วบริบูรณ์หรือสัมมา องค์ประกอบของธรรมะหมู่ที่ ๒ ซึ่งได้แก่ การทำไว้ในใจโดยแยบคาย-สติ สัมปชัญญะ-การสำรวมอินทรีย์ ก็จะบริบูรณ์ หรือมีมรรคผล เป็นอาริยธรรม ตามมา

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -