ตัดโกรธได้ ช่วยชาติใหญ่หลวง

หลายๆ ครั้งที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ชาติบ้านเมืองจึงฉิบหายย่อยยับ
คำสัญญากับประชาชน พลันลืมหมดเมื่อฤทธิ์โทสะกำเริบ!
ว่าจะไม่ก็ละเมิด
ว่าจะทะนุถนอมก็ทำลาย
นี่แหละ "คน" เป็นไปได้ถึงปานฉะนี้
ผัวฆ่าเมีย เมียฆ่าผัว
ลูกพรรคฆ่าหัวหน้าพรรค หัวหน้าพรรคฆ่าลูกพรรค
กว่าจะถึงเชิงตะกอน หน้าตาจึงเต็มไปด้วยรอยฝ่าเท้าดารดาษ!
ในหล้าโลก ที่ไม่เกิดก็จะเกิดได้ หาก "โมโห" ขึ้นมา
เมื่อถูกรุกราน ทำใจได้ไหม?
เมื่อถูกละเลย ทำใจได้หรือเปล่า?
เมื่อถูกละลาบละล้าง วางใจได้แค่ไหน?
วัตถุทานนั้นยิ่งใหญ่ แต่อภัยทานนั้นใหญ่กว่าหลายล้านเท่า?
พระพุทธองค์ตรัสไว้ ทานบุคคลฤาจะยิ่งใหญ่เท่าทานกับพระอริยะ
ทำทานกับพระอริยะ ก็ยังลุ่มลึกต่างกัน
ทานกับพระโสดาฯ ๑๐๐ ครั้ง ก็ไม่เท่าทานกับพระสกิทาคามี ๑ ครั้ง
ทานกับพระสกิทาคามี ๑๐๐ ครั้ง ก็ไม่เทียบเท่า ทานกับพระอนาคามี ๑ ครั้ง
๑๐๐ พระอนาคามี ก็ไม่เท่า ๑ อรหันต์
๑๐๐ อรหันต์ฤาจะเท่าทานกับพระพุทธเจ้า ๑ ครั้ง
๑๐๐ พระพุทธเจ้า ก็ไม่เท่าทำทาน ๑ ครั้งกับพระพุทธเจ้าที่มีหมู่สงฆ์
๑๐๐ ครั้งกับพระพุทธเจ้าที่พรั่งพร้อมหมู่สงฆ์ก็ไม่เท่า ๑ สังฆทาน
และ ๑๐๐ สังฆทานหรือจะเทียบเท่า ๑การให้อภัยแม้เพียงชั่วเสี้ยววินาที!
รู้ขนาดนี้ไม่ลดละความโกรธก็แย่แล้ว!
อะไรเอ่ย ลงทุนน้อย แต่อานิสงส์มหาศาล? ชนะความโกรธไงล่ะ!

อุบายคลายโกรธ พระเกจิฯ แนะนำเป็นร้อยเป็นพันปี แต่ถ้าไม่ตั้งใจ กะเผื่อฟลุค หรือขอโหนบารมีเก่า ชาตินี้คงไม่มีทางสำเร็จ!

เคล็ดลับตัดโกรธ ต้องเดินตามอริยสัจ ๔
* ทุกข์ เห็นให้จริงว่า อารมณ์นี้แสนอุบาทว์ แสนชั่วร้าย
* สมุทัย "เหตุ" นั้นอยู่ที่ตัวเรา มิใช่คนอื่น คนอื่นเป็นแค่ "เด็กแหย่เสือ"
วันนี้จิตใจสบาย ก็เพราะ "เสือหลับ"
โลกนี้คือกายยาววาหนาคืบ กว้างศอก มีสัญญาและใจเป็นประธาน
ดับโลก ก็คือดับที่ตัวเอง อย่าโวยวายโทษที่คนอื่น
ทุกข์นั้นใครทำให้ถ้ามิใช่ "ตัวเรา"
ทิงเจอร์ที่ราด จะเจ็บแสบได้อย่างไร ถ้าเราไม่มีบาดแผล?
ทำไม พูดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ คนอื่นทำไมไม่โกรธ ทำไมเราโกรธ?
สมุทัย จึงคือ สภาวะที่เห็นการแก้ไข จัดการกับตัวเอง
เราคือ ผู้ดับไฟสงคราม!

* นิโรธ ทางดับทุกข์ มีจินตนาการเห็นชัดเห็นความสุขเย็น เห็นภาพอนาคตของคนที่พ้นโทสะ เห็นน้ำตกจากสวรรค์ไหลทะถั่งรดตัวเราฉ่ำเย็น!

* มรรค จาก Planing ไปสู่ Action ทุกลมหายใจ หากรรมวิธี หามาตรการที่เป็นรูปธรรมไปสู่การทำลาย "ไฟโกรธ" (มรรค ๘)

เมื่อชัดเจนว่าเป็นทุกข์ เป็นความอุบาทว์ของตัวเองเป็นสิ่งที่เราหลงยึดสร้างเอง ปรุงเอง คิดเอง

นี้แลเรียกว่า สักกายทิฏฐิ เริ่มทะลุ!

# ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ควบคุมกายกรรม อย่าแสดงออก อย่าโต้ตอบนิดหนึ่งก็ไม่แสดงแค่แอบชิมก็ไม่เอา

# ยุทธศาสตร์ที่ ๒ ควบคุมวจีกรรม อย่าได้แสดงเสียงแห่งความไม่พอใจ แม้นิดแม้น้อย เพียงแค่คำอุทานก็อย่าให้แลบ!

# ยุทธศาสตร์ที่ ๓ แม้จิตใจจะเอาเรื่องจะร้อนใจแทบขาดก็ไม่ต้องกังวล

ข้อ ๑ อดทนให้สำเร็จ

ข้อ ๒ พิจารณาเห็นให้ได้ว่า ความทุกข์ไม่มีตัวตนมันเกิดก็เพราะเราปรุงแต่ง-สร้างขึ้นเอง

ข้อ ๓ พิจารณาหาเหตุผล ชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อจะบอกว่าโกรธไม่ได้ โกรธไม่มี โกรธเพราะเรา

# ยุทธศาสตร์ที่ ๔ รดน้ำพรวนดินเป็นเรื่องของเรา ส่วนการออกดอกออกผล เป็นเรื่องของมัน

ใจเย็น - รู้จักการรอคอย

มีความเพียร ทำสม่ำเสมอ มีกำลังใจ ประดุจพระมหาชนก ขนาดไม่เห็นฝั่งก็ยังแข็งขันแหวกว่าย

# ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การทำซ้ำบ่อยๆ จะเกิดความเชี่ยวชาญ คล่องเคล่ว จิตจะแววไวจับอารมณ์ได้เก่งขึ้น แรกๆ เสือกระโจนออกไปแล้วค่อยจึงจับได้ ต่อมาก็จับหางทัน ต่อมาแค่กระดิกตัวเราก็เหยียบหัวให้เฉยไว้ได้!

# ยุทธศาสตร์ที่ ๖ ภายใต้ภาวะความกดดันสูง อันคือ การไม่ระบายอารมณ์ไม่แสดงออกของโทสะ ไม่ว่ากายหรือวจีในทุกลีลา

อารมณ์โกรธก็จะเริ่มตกผลึกในเอกภพแห่งตัวตนของเรา

หยิบผลึกโทสะที่มากมี ดีดทิ้งอย่างรื่นเริง

ต่อแต่นี้ ไฟโกรธ ไฟนรก แห่งโทสะ ทำอะไรเราไม่ได้อีกต่อไป เรื่องยืนด่าหัวหน้าพรรคอย่าได้หวัง!

เรียนวิชาอื่นมามากแล้ว ลองมาเรียน วิชาจิตศาสตร์ที่อยู่บนฐานพุทธศาสตร์ดูบ้าง

เพื่อจะได้ไม่หลงทำร้ายตัวเองครอบครัวสังคม-ประเทศชาติ-รัฐสภา!

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘ -