ทาน ซึ่งเป็นพฤติกรรมหนึ่ง มีการกระทำจริง ย่อมมีผลจริง ไม่มีข้อสงสัย

พระพุทธเจ้าองค์บรมครูมีทรัพย์ศฤงคารมากมายมหาศาล แต่ได้ทรงสละหมด เป็นทานสลัดคืนให้โลก ไม่เยื่อใย เป็นวัตถุทาน หรือการทานทางวัตถุอย่างสมบูรณ์แบบ หยุดการสะสมเด็ดขาด ผลที่เห็น ก็คือ ทรงเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิต ที่เรียบง่าย ตามพุทธวิสัย ที่พุทธบริษัทยึดถือเป็นแบบอย่างตาม เพื่อกอบกู้โลก และพัฒนาจิตวิญญาณมนุษย์

วัตถุทาน หรือ การทานวัตถุต่างๆนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครผู้ใด"ทำทาน" ย่อมเห็น "ผล" อย่างชัดเจน ได้ทั้งทาง กายกรรม ทั้งทางวจีกรรม และแม้ซับทราบรู้กันได้ด้วยทางมโนกรรม ว่า เป็นผลของการสละ สะพัดวัตถุ ทรัพย์สินให้แก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นชัดๆเจนๆ ซึ่งทางรูปธรรมในการทานวัตถุนั้น ก็เห็นได้ทางตา หากจะพูดบอกกล่าวการทำทานนั้นก็รู้ได้ทางการพูด ผู้รู้การทานนี้ด้วยทางใดก็ตาม ย่อมยินดี ชื่นชมทางใจอีก ซึ่งโดยธรรมชาติแห่งจิตวิญญาณคนทั้งหลาย ที่ได้รู้ได้ทราบก็จะ"จำ"ได้ด้วย จะจำได้มาก ได้นาน หรือลืมกันไปบ้างก็ตาม ก็ยังเป็น"ผล" ที่ผนึกอยู่ทางวิญญาณของคนในสังคม ในโลก ได้จริง ว่า การทานนี้คือ การประกอบ"กรรมดี" ทั้งทางกายกรรม ทางวจีกรรม ทางมโนกรรม เมื่อเกิดขึ้น ในสังคม จึงเป็น "ทุนทางสังคม" ที่ดีงามอยู่แท้จริง

นี่คือ "ผล" ที่ยืนยันอยู่โต้งๆของ "ทาน" ชัดๆ

"ทาน" ที่สูงขึ้นไปกว่า"วัตถุทาน" ก็คือ "อภัยทาน"

เช่น พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างของการทาน อภัยทานเป็นเรื่องเฉพาะนามธรรม ซึ่งเป็นการสละทางจิต ได้แก่ การทานหรือการเอาความโลภ-โกรธ-หลงออกจากจิต ทำให้ไม่มีกามราคะ ไม่มีอาฆาตพยาบาท ไม่มีง่วง ไม่มีหลับหรี่ซึมเซา ไม่มีฟุ้งซ่าน ไม่มีความงมงาย ไม่มีความไม่รู้ เพราะสละอวิชชา สละนิวรณ์ ๕ สละกิเลส-ตัณหา-อุปาทานออกจากตนนั่นเอง

การสละ การทานหรือจาคะ ขั้นนี้ เป็นเรื่องต้องรู้จักรู้แจ้งรู้จริงความเป็นจิตวิญญาณของตนแล้ว"สละ" หรือ "เอาออก" ส่วนที่จะต้องสละจะต้องขจัดส่วนที่จะ"เอาออก"ให้เป็น การทานนี้เรียกอีกศัพท์หนึ่ง ซึ่งเป็น ความลึกซึ้ง ของธรรม ก็คือ คำว่า "เนกขัมมะ" หมายถึง ตนต้อง "ปลดเปลื้องตนออกจากราคะ โทสะ โมหะ" หรือ ต้อง "เอาราคะ โทสะ โมหะออก" จากจิตของตน เพราะตนจะพรากจาก"จิตวิญญาณ" ของตน หรือ จิตวิญญาณของตน จะไม่มีในความเป็นตนนั้นไม่ได้แน่ๆ จึงต้องเอา"ราคะ โทสะ โมหะ"ออกจาก "จิตวิญญาณ" ของตนให้ได้ ผู้"เอาออก"ได้ คือ "เนกขัมมะ" ที่เป็นปรมัตถ์

การทาน หรือการสละออกขั้น"เนกขัมมะ" คือ "อภัยทาน" หมายความว่า ทานที่ไม่เป็นภัย เพราะทาน เฉพาะนามธรรม เราเอาราคะ,โทสะ,โมหะ หรือเอานิวรณ์ ๕ ออกจากจิตวิญญาณตนได้นั้น เราหลุดพ้นภัย (อภัย) แน่ๆ เพราะกิเลสอยู่ในใคร นานเท่าใดๆมันก็เป็นภัยแก่เจ้าตัว-แก่ผู้อื่นไปตลอดกาล ที่มันยังมี อยูในตนเท่านั้นๆ แม้เราจะเอาราคะ,โทสะ,โมหะออกจากจิตวิญญาณตนได้แล้ว มันก็ไม่เป็นภัย (อภัย) แก่ใครอื่น เพราะมันเป็นนามธรรม คนจะเอาราคะ,โทสะ,โมหะหรือตัวตนแห่งกิเลสออกจากตน แล้วจะทาน ให้ใครก็ไม่ได้ มันไม่เหมือนเอาวัตถุธรรมของเราออกไปให้คนอื่น

[มีต่อฉบับหน้า]

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ -