พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ ที่สอดคล้องกับหลักฆราวาสธรรม ๔ ประการนี้ คือเครื่องมือสำคัญ ที่จะใช้ขัดเกลา ความต้องการ ส่วนเกินจำเป็นของผู้คนให้ลดน้อยลง อันจะเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ แบบพอเพียง และเศรษฐศาสตร์ การเมืองบุญนิยมในสังคมมนุษย์

กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนว
พระบรมราโชวาท เรื่องคุณธรรม ๔ ประการ

บทที่ ๔
การกำหนดขอบเขต
เป้าหมายในการแก้ปัญหา

ต่อจากฉบับที่ ๑๘๐

มื่อเข้าใจโครงสร้างของมูลเหตุแห่งปัญหาตามกรอบแนวคิดที่กล่าวมาในบทที่แล้ว จะช่วยให้เห็นขอบเขต เป้าหมายของ "สัจจะ" ที่พึงประพฤติปฏิบัติตามหลักคุณธรรม ๔ ประการ ชัดเจนขึ้น

เปรียบเหมือนการจะยิงปืนใหญ่ไปที่เป้าหมายแห่งหนึ่งเพื่อทำลายฐานที่มั่นของข้าศึก ปัจจัยพื้นฐานของ ความสำเร็จก็คือ จะต้องกำหนด พิกัดเป้าหมาย ให้ถูกต้องก่อน ถ้าสำคัญมั่นหมายเป้าผิด คิดว่าอาคาร แห่งหนึ่งเป็นที่หลบซ่อนของข้าศึก ถึงจะใช้ความพยายาม ยิงไปที่ เป้าหมายนั้นได้อย่างแม่นยำเพียงใด ก็กลายเป็นความพยายามที่สูญเปล่า ซ้ำยังอาจสร้างความหายนะ อย่างมหันต์ให้เกิดขึ้นได้ หากอาคาร แห่งนั้น กลับกลายเป็นที่พักอาศัยของฝ่ายเดียวกัน เป็นต้น

๔.๑ ศีลัพพตุปาทาน
การตั้ง "สัจจะ" ที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อเป้าหมายความสำเร็จของชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีลักษณะดุจเดียวกัน ถ้าขาด การวิเคราะห์ ให้เข้าใจขอบเขตเป้าหมายของเหตุมูลฐานแห่งปัญหาที่ถูกต้องแล้ว ถึงจะมุ่งมั่นปฏิบัติตาม สิ่งที่ตั้งใจ (หรือสัจจะ) นั้นๆ ได้ดีเพียงใด ก็อาจกลายเป็นความเพียรพยายามที่สูญเปล่า ซ้ำร้ายยังจะกลับ สร้างปัญหาทับถมให้กับชีวิต เพิ่มมากขึ้นกว่าเก่าด้วยซ้ำ พุทธศาสนา เรียกการกำหนด สิ่งที่ตั้งใจ จะประพฤติ ปฏิบัติที่ผิดทิศผิดทางนี้ว่า "ศีลัพพตุปาทาน"

ดังตัวอย่างขององคุลีมาลที่สำคัญมั่นหมายผิด หลงเชื่อในคำพูดของอาจารย์ที่ให้ไปฆ่าคน เพื่อปลดปล่อย คนเหล่านั้น ให้พ้นทุกข์ มาให้ครบตามกำหนด แล้วจะได้เรียนวิชาพิเศษล้ำลึกจากอาจารย์ เมื่อมุ่งมั่น ประพฤติปฏิบัติตามความตั้งใจ (สัจจะหรือศีลพรต) ที่สำคัญ มั่นหมายผิด เสียแต่เริ่มแรกแล้ว ถึงแม้ จะทุ่มเทชีวิตต่อสู้ เอาชนะอุปสรรคปัญหาต่างๆ เพื่อให้บรรลุถึงความตั้งใจ ด้วยความอดทน พากเพียร บากบั่น และเหนื่อยยากลำบากปานใดก็ตาม สุดท้ายก็กลับกลายเป็นความพยายามที่สูญเปล่า เพราะได้หลง ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็น "ศีลัพพตุปาทาน" นั้นๆ

จากประวัติของบุคคลสำคัญในโลกหลายคนที่กลายเป็นจอมเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ หรือมุสโสลินี (ดังที่ หลวงวิจิตรวาทการ เขียนไว้ ในหนังสือเรื่อง "มหาบุรุษ")ถึงแม้คนเหล่านี้จะมีจิตตานุภาพ และพลัง ความมุ่งมั่น ในการต่อสู้ เอาชนะอุปสรรค ปัญหาต่างๆ เพื่อให้บรรลุถึงความตั้งใจในชีวิต ได้เหนือกว่า คนทั่วไปทั้งหลาย แต่ด้วยความมุ่งหมายผิด ในที่สุดจิตตานุภาพนั้น ก็กลับนำชีวิตตนเอง และผู้อื่น ไปสู่ความหายนะ จากการก่อมหาสงคราม ดังเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นต้น

คุณธรรมประการแรกตามพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการรักษาความสัจ จึงทรงขยายความกำกับไว้ว่า เป็นการ รักษาความสัจ ความจริงใจ ต่อตัวเอง (หรือตั้งสัจจะต่อตัวเอง) ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่ "สิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม"

การตั้งใจประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาของชีวิตให้ลดน้อยลง (ลดค่า P ตาม สมการ) ก็คือ "สิ่งที่เป็นประโยชน์" แต่การ ประพฤติปฏิบัตินั้นๆ จะอยู่ภายใต้ขอบเขตเป้าหมายที่ "เป็นธรรม" ก็ต่อเมื่อ สามารถนำไปสู่การลดละความเห็นแก่ตัว และลด ความต้องการ ส่วนเกินของชีวิต ดังตัวแบบการวิเคราะห์ ที่ได้กล่าวมา (ลดค่า D, เพิ่มค่า S ในสมการ)

ขณะที่แบบวิถีชีวิตภายใต้อิทธิพลของลัทธิทุนนิยมบริโภคซึ่งครอบงำโลกปัจจุบัน มีเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ สามารถซื้อหา แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ได้อย่าง ครอบคลุมกว้างขวาง แม้กระทั่ง สามารถใช้เงิน ซื้อหาอำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ ฯลฯ เงินจึงกลายเป็น สิ่งที่ทุกคนมุ่งแสวงหา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ อเนกประสงค์ ในการแก้ปัญหาต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ ทุกวันนี้

แต่ถ้ากำหนดขอบเขตเป้าหมายไปในทิศทางของวิธีคิดที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพื่อมุ่งหาเงินมาให้ได้มากๆ (เพิ่มค่า S โดยค่า D ก็เพิ่ม ตามด้วย) โอกาสที่อาจจะพลาดไปสู่เป้าหมายที่ "ไม่เป็นธรรม" จะสูง เช่น อาจจะนำไปสู่การทุจริตคอรัปชั่น การประกอบ อาชญากรรม การขายยาบ้า หรือ การกอบโกยเอากำไรมากๆ จากการเบียดเบียนเอารัด เอาเปรียบผู้อื่น เป็นต้น

ในกรณีนี้การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของวิธีคิดใหม่ หันทิศทางมากำหนดขอบเขตเป้าหมายของสิ่งที่ตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติ โดยไม่ได้มุ่งที่การ "หาเอามาใส่ตัว" มากๆ แต่สละหรือลดละความต้องการส่วนเกินจำเป็น ของชีวิต มากๆ แทน (ลดค่าD) เช่น ลดอบายมุขสิ่งเสพติด ลดค่านิยม การบริโภคฟุ้งเฟ้อเกินฐานะ เลิกกินเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน มั่วสุมคบมิตรชั่ว ตลอดจน เลิกเกียจคร้าน ทำการงาน เป็นต้น ก็จะมีโอกาสไม่พลาดเป้า ออกนอกขอบเขตของ "สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม"

ทั้งนี้เพราะเมื่อมีความขยันไม่เกียจคร้านในการทำงาน ขณะที่รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัดและอุดรูรั่วต่างๆ ของชีวิต ไม่ให้เงินที่หามาได้ รั่วไหลไปกับอบายมุข สิ่งเสพติดหรือค่านิยมฟุ้งเฟ้อของสังคม เงินก็ย่อมจะมี เหลือเก็บมากขึ้นๆ สำหรับใช้ในการลงทุน โครงการ ที่เป็นประโยชน์ หรือสะสมไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น (ค่า S เพิ่ม = สิ่งที่เป็นประโยชน์) ในขณะเดียวกัน ก็สามารถปลดปล่อยตัวเอง ให้เป็นอิสระจากพันธนาการ ของความต้องการ ส่วนเกินจำเป็น ที่บีบคั้นครอบงำชีวิตให้หมดอิสรภาพด้วย (ค่า D ลด = สิ่งที่เป็นธรรม)

ฉะนั้นจึงเป็นวิถีการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เบี่ยงเบนออกนอกขอบเขตไปสู่สิ่งที่เป็น "ศีลัพพตุปาทาน" ของชีวิต

๔.๒ ภูมิธรรม ๔ ระดับ
ภายใต้ขอบเขตของ "สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม" ตามกรอบการวิเคราะห์ที่กล่าวมาข้างต้น อาจจัด ระดับ ของภพภูมิ หรือ กระบวนทัศน์ (paradigm) แห่งภูมิธรรมที่สัมพันธ์กับการลดละ ความต้องการ ส่วนเกิน และการลดความเห็นแก่ตัวตน ในชีวิตได้เป็น ๔ ระดับของพัฒนาการ คือ

๔.๒.๑ การลดความหลงติดในอบายมุขสิ่งเสพติด
ในขณะที่อบายมุขสิ่งเสพติดทั้งหลายไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อชีวิต ตรงข้ามทำให้ประสิทธิภาพ การสร้าง ผลผลิต หรือผลิตภาพ (productivity) ของชีวิตลดน้อยลง เพราะทำให้ต้องสูญเสียทั้งเวลา เงินทอง กำลังกาย กำลังสมองอย่างเปล่าประโยชน์ การไปหลงยึด สิ่งเหล่านี้ มาเป็นส่วนหนึ่ง แห่งตัวตน ของชีวิต จึงเป็น "ความต้องการส่วนเกินจำเป็น" ที่เห็นเด่นชัด อันทำให้ชีวิต ต้องแบกรับภาระ เกินความจำเป็น เพิ่มขึ้น จากการถูกบีบคั้นให้ต้องดิ้นรนเสาะแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการดังกล่าว มาเติมชีวิต ให้เต็ม ซึ่งถ้าสามารถ ปลดปล่อยตนเอง ให้เป็นอิสระจากความหลงในอบายมุข สิ่งเสพติด ต่างๆ ได้ ก็จะเข้าถึงภพภูมิ แห่งกระบวนทัศน์ใหม่ ของชีวิตที่เป็นภูมิธรรม ในขั้นแรกนี้

๔.๒.๒ การลดความหลงติดในรูป รส กลิ่นเสียง สัมผัส
ถึงแม้จะสามารถลดอบายมุขสิ่งเสพติดต่างๆ ได้แล้ว แต่ถ้ายังหลงติดรูปรส กลิ่น เสียง สัมผัส จนมีภาระ ต้องเสาะแสวงหา สิ่งฟุ้งเฟ้อ เกินความจำเป็นส่วนนี้ มาบำรุงบำเรอชีวิต เช่น ต้องอยู่บ้านหลังโตๆ มีรถยนต์ คันหรูๆ มีเสื้อผ้าเครื่องประดับราคาแพงๆ มีสิ่งอำนวย ความสะดวกสบายต่างๆ ฯลฯ ทั้งที่จริงๆ แล้วชีวิต มีเพียงปัจจัย ๔ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ก็สามารถ ดำรงอยู่ได้ อย่างเป็น ปรกติสุข ตามควรแก่อัตภาพ การหลงติดและต้องดิ้นรนเสาะแสวงหา "รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส" ตามค่านิย บริโภค ของสังคม เพื่อมาเติมชีวิตให้เต็ม จึงเป็นความต้องการส่วนเกินของชีวิตที่ละเอียดขึ้น ซึ่งถ้าสามารถปลดปล่อยตัวเอง ให้เป็นอิสระ จากอำนาจครอบงำของความหลงติดเหล่านี้ได้ ชีวิตก็จะ เปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ แห่งภูมิธรรม ในระดับขั้นที่ ๒ ที่สูงขึ้นกว่าเดิม

๔.๒.๓ การลดความหลงติดในลาภ ยศสรรเสริญ โลกียสุข
ถึงแม้จะลดความหลงติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ต้องอาศัยวัตถุธรรม มาตอบสนอง ความต้องการ ของชีวิตได้ แต่ถ้ายังติด ในอารมณ์ ความรู้สึก ที่เป็นนามธรรมยิ่งขึ้น ยังถูกบีบคั้น (ด้วยความกลัว) ให้เกิด ความต้องการ ทรัพย์สมบัติมากๆ เพื่อเป็นหลักประกัน ความมั่นคง ปลอดภัยของชีวิต (safety needs) ต้องการ อำนาจเกียรติยศ เพื่อสร้างความยอมรับทางสังคม (social needs) ต้องการ เสียงสรรเสริญ เยินยอยกย่อง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง (esteem needs) ชีวิตก็จะยังถูกพันธนาการ ด้วยความต้องการ ส่วนเกินจำเป็น (ซึ่งจริงๆ ถึงแม้ไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็สามารถดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปรกติสุข แต่เมื่อยึดสิ่งเหล่านี้ มาเป็นส่วนหนึ่ง แห่งตัวตน ของชีวิต ก็จะถูกบีบคั้นให้ต้องดิ้นรนแสวงหา สิ่งเกิน ความจำเป็น ดังกล่าว มาเติมชีวิตให้เต็ม) ถ้าหากสามารถ ปลดปล่อยตัวเอง ให้เป็นอิสระ พ้นจาก พันธนาการ ของความหลงติด ในสิ่งเกินความจำเป็นส่วนนี้ ชีวิตก็จะได้รับการยกระดับ พัฒนาขึ้นสู่ ภพภูมิของ กระบวนทัศน์ใหม่ แห่งภูมิธรรมที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก

๔.๒.๔ การลดความหลงติดในตัวตน
ถึงแม้จะลดความหลงติดในลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ให้เบาบางลงได้แล้ว แต่ถ้ายัง ไม่ประจักษ์ถึงสัจจะ ความจริง ของตัวตน อย่างกระจ่างชัด (self realization) จนหมด ความยึดมั่น ถือมั่นในตัวตน ก็จะยังถูก บีบคั้นด้วยความกลัว ให้เกิดความต้องการ ส่วนเกินจำเป็น ที่จะเสาะแสวงหาอารมณ์ความรู้สึก อย่างใด อย่างหนึ่ง ที่ละเอียดยิ่งขึ้น (อาทิ ความสุขสงบ ในจิตใจ หรือความรู้สึกว่า ตนเองเก่งเหนือคนอื่น เป็นต้น) มาเพื่อเสพอารมณ์ ความรู้สึกดังกล่าว และเติมความเป็นตัวตน ของชีวิตให้เต็ม ผลที่สุด ชีวิตก็จะยังถูก พันธนาการ ทำให้ไม่สามารถ เข้าถึงภาวะแห่งอิสรภาพที่สมบูรณ์แท้จริงในขั้นสุดท้าย (ตามขั้นตอนแห่ง พัฒนาการ ของทฤษฎี ทางจิตวิทยา ที่มาสโลว์กล่าวถึง และหลักการในพลสูตร ตามพุทธปรัชญา ที่ได้กล่าวมา ตอนต้น)

๔.๓ ก้าวสู่โลกใบใหม่
"โลก" ที่เรารับรู้นั้นเป็นสัมพัทธภาพ(relativity) ของ "จิต" ซึ่งทำหน้าที่รับรู้ กับ "โลกที่ถูกรู้" เมื่อธรรมชาติของ จิตเปลี่ยนแปลงไป ความรู้สึก นึกคิดต่างๆ เกี่ยวกับโลกที่ถูกรู้ ก็จะเปลี่ยนแปลง ตามไปด้วย เช่น วันไหน ที่จิตของเรา มีความเร่าร้อน หรือมีอารมณ์ขุ่นมัว ถึงแม้จะอยู่ ในบ้าน ที่ใหญ่โตหรูหรา มีสิ่งอำนวย ความสะดวก สบายทุกอย่างพร้อมสรรพ แต่เราก็จะรู้สึก หงุดหงิด มองทุกอย่าง ขัดหู ขวางตา ไปหมด และถูกบีบคั้น ให้อยากออกไป นอกบ้าน เพื่ออาศัยบรรยายกาศใหม่ เปลี่ยนอารมณ์ ให้บรรเทาความอึดอัด ขัดเคืองลงบ้าง ภายใต้ภาวะ เช่นนั้น ถึงบ้านจะวิจิตรงดงาม เหมือนวิมาน บนสวรรค์อย่างไร บ้านหลังนั้น ก็จะปรากฏแก่เรา เสมือนเป็น "นรกที่เร่าร้อน" ขุมใดขุมหนึ่ง

เมื่อได้ออกไปเที่ยวบาร์เที่ยวผับ ดูหนังฟังเพลง เสพสุรายาเมา มั่วสุมทางเพศ ถึงแม้บรรยากาศใหม่ จะช่วย คลี่คลาย อารมณ์หงุดหงิด ได้ชั่วคราว แต่ในไม่ช้า เมื่อสิ้นแรง สิ่งกลบเกลื่อน อารมณ์ขุ่นมัวอึดอัด ขัดเคือง นั้น ก็จะปรากฏขึ้นมาใหม่อีก และจะบีบคั้น ให้ต้องดิ้นรน แสวงหาสถานที่ หรือบรรยากาศใหม่ๆ มากลบเกลื่อน อารมณ์นั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนหมาขี้เรื้อนที่คัน เพราะโรคผิวหนัง ถึงจะนอนที่ไหน ก็ไม่มีความสุข และจะดิ้นรน เปลี่ยนที่นอนไปเรื่อยๆ เพราะความหงุดหงิดจากอาการขี้เรื้อนนั้นๆ

ภพภูมิของนรกสวรรค์ก็เช่นกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ "โลกที่ถูกรู้" เพียงอย่างเดียว (เพราะถึงจะได้อยู่ ในปราสาท ที่ตกแต่ง อย่างงดงาม วิจิตรพิสดาร ดุจดั่งวิมาน บนสวรรค์ปานใด หากจิตใจถูกเผาไหม้ ด้วยอารมณ์ ที่รุ่มร้อน อึดอัดขัดเคือง วิมานนั้น ก็จะปรากฏต่อเรา เสมือนนรก ขุมใดขุมหนึ่ง ดังที่กล่าวมาแล้ว) แต่อยู่ที่จิต ซึ่งได้ฉายภาพ แห่งสภาวะของ "นรก-สวรรค์" ไปกระทบสู่ฉากของ "โลกที่ถูกรู้" แล้วจะสะท้อน กลับมาสู่ สภาวะ แห่งความรับรู้ ของจิตนั้นๆ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ -