- ชบาบาน -


"แดนช้างต่าง"

สมัยเมื่อเข้าชั้นป.๑ ที่โรงเรียนประชาบาลอำเภอแว้งนั้น น้อยกับมามุ มีเครื่องเรียน แค่สองสามอย่าง คือ กระดานชนวน ดินสอหิน และหนังสือแบบเรียน ที่เด็กนักเรียน เรียกว่า หนังสือ ก.ไก่ มามุโชคดีได้ของใหม่ ทั้งชุด ส่วนน้อยมีแต่ดินสอหิน เท่านั้น ที่แม่ให้เงิน ไปซื้อแท่งใหม่ นอกจากนั้น เธอต้องทำใจยินดีกับ กระดานชนวน และหนังสือ ที่เป็นมรดกจากพี่แมะ

ดินสอหินนั้นถ้าเมื่อไรอยากเหลาให้แหลมเปี๊ยบก็ง่ายนิดเดียว แค่ฝนปลายมันเข้ากับ พื้นซีเมนต์ ให้รอบ เท่านั้น ก็ใช้ได้แล้ว แต่การทำให้กระดานชนวนลื่นนี่ซี เด็กๆ ต่างก็มีเคล็ดลับ ของตน กันมากมายทั้งๆ ที่คุณครู ได้บอกแล้วว่าแค่ใช้เศษผ้าชุบน้ำพอหมาดก็ลบได้ ไม่ต้องหาอะไร มาทามาถูให้เปื้อนมือ แต่เด็กๆ ก็ค้านว่า แค่ใช้เศษผ้าชุบน้ำนั้น ไม่พอหรอกคุณครู กระดานมันไม่ลื่น ทำให้เขียนหนังสือไม่สวย

เคล็ดลับหนึ่งที่เด็กๆ แว้งค้นพบ คือการใช้ลูกชาสีเขียว มีน้ำข้างในเป็นเมือก มาทา กระดานชนวนให้ทั่ว เป็นวิธี ที่ได้ผลดีมาก นอกจากกระดานจะลื่นแล้ว ยังดูดำขึ้น กว่าเดิมด้วย ลำบากอยู่สักนิดก็คือ การหา ลูกชาอ่อนๆ นั่นแหละ พวกที่เขาอยู่เลยเนิน เหนือโรงเรียนขึ้นไป จะหามาฝากเพื่อนในห้องเสมอ เพราะที่ หมู่บ้าน ยะฮอ (ที่เขียนนี้ เขียนตามที่ออกเสียงกันจริง ถ้าที่เป็นทางราชการแล้ว มักเปลี่ยนเป็น เสียงจัตวา โดยอัตโนมัติว่า ยะหอ หมู่บ้านนี้ ขึ้นกับตำบล ลูโบ๊ะดาแล ชื่อยะฮอเป็นชื่อเดียวกับ ชื่อรัฐในประเทศ มาเลเซีย Jahore และชื่อเมือง Jahore Baru ซึ่งแปลว่า ยะโฮร์ใหม่) มีการปลูกชา พันธุ์แว้ง ที่มีชื่อในเรื่องรสชาติ และกลิ่นหอม คนแว้ง จึงคั่วใบชาของตนเอง ใช้กันเอง ไม่ต้องซื้อจากที่อื่น (ได้ทราบมาว่า ชาพันธุ์อำเภอ แว้งนี้ แรกทีเดียว คนงานจีน ในเหมืองทองโต๊ะโมะ ได้เอามาจากเมืองจีน จะเป็นพันธุ์ใด ไม่ปรากฏ เมื่อมาทดลอง ปลูกในบริเวณยะฮอ แล้วได้ผลดีกว่าที่อื่น จึงปลูกกันเรื่อยมา แล้วมาสะดุดเสีย หันไปใช้ชา
กระป๋อง ของต่างประเทศ อาจจะเป็นเพราะ พวกฝรั่งเศส ที่เข้ามาทำเหมือง ก็เป็นได้ ปัจจุบันนี้ น่ายินดี เป็นที่ยิ่ง เมื่อได้ทราบว่า ชาวบ้านได้เริ่มปลูกใหม่กันอีก เพื่อเป็นสินค้า หนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล แต่นัยว่า สู้ของเดิมไม่ได้)

สำหรับน้อยเวลาเดินไปโรงเรียนกับมามุจะพากันลอดรั้วชบาของบ้าน เจ๊ะฆูดฺราแม ("เจ๊ะ" แปลว่า พ่อ "ฆู" คือ ครู รวมกันแปลว่า พ่อครู เป็นการเรียกขานด้วยความนับถือ คำว่า ฆู นั้น ผู้เขียนเจตนาใช้ อักษร ฆ โดย มุ่งที่การออกเสียง ของคนไทยมุสลิม และมลายู ที่ออกเป็นเสียง g บางคน ออกเสียงว่า guru เลยทีเดียว ฉะนั้น การยืมคำนี้มาใช้กัน อาจจะมาทั้งสองทาง คือยืมจากสันสกฤตโดยตรง มาตั้งแต่โบราณกาล หรือ ยืมจากไทย ในระยะหลังกว่าก็ได้) เข้าไปบริเวณหน้าบ้าน อันกว้างขวางของเขา ตรงนั้นจะมีต้นชา อยู่สองพุ่ม ที่เขาปลูกประดับหน้าบ้าน เจ้าของบ้านเป็นญาติผู้ใหญ่ ของมามุด้วย จึงไม่ยาก ที่จะเอ่ยปาก ขอเขา คนละสองสามเม็ด เอาติดไปโรงเรียน

บ้านของเจ๊ฆูดฺราแมนั้นเป็นบ้านที่ใหญ่และสง่างามที่สุดในอำเภอแว้ง ตัวบ้าน ยาวเท่ากับถนน ที่ตรงไป สะพาน ข้ามคลอง คือยาวสัก ๘๐ เมตรเห็นจะได้ มีบันไดขึ้น ทั้งข้างหน้า และหลังบ้าน น้อยเคยลองนับ จำนวนหน้าต่าง ที่เรียงรายอยู่เป็นตับ เพื่อดูว่า จะมีห้อง สักกี่ห้อง พี่แมะว่าไม่มีทางรู้หรอก เพราะอาจมี ห้องใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ที่ดินตลอดบริเวณบ้าน อันกว้างใหญ่เป็นทรายขาวสะอาด เห็นจะเป็นเพราะ เขาให้คน ขนขึ้นมา จากคลองแว้ง ขึ้นมาถมกระมัง รั้วบ้านก็ไม่ได้เป็นรั้วต้นไผ่พันธุ์เล็ก แบบที่อำเภอ และโรงพัก แต่เป็นรั้วชบา ดอกสีแดงแปร๊ด

อะไรที่ไม่มีที่ไหนในอำเภอแว้ง บ้านนี้จะมี เขามีสระที่สร้างอย่างดีมีขอบปูน สำหรับนั่งเล่น ในสระก็มีไม้น้ำ และปลา ใกล้ริมขอบสระด้านตัวบ้านมีบ่อ ที่มีรอกดึงน้ำ ขึ้นมาใช้ ไม่ต้องสาวเชือก แบบบ้านคนทั่วไป ให้เหนื่อย มีท่อน้ำรอบบ่อ สำหรับระบายน้ำลงสระ แถมยังมีราง สำหรับชักน้ำ ขึ้นมาเทให้ไหลเข้าไปในบ่อ ในห้องน้ำ ข้างๆ ด้วย โครงและหลังคา ที่ครอบบ่อนี้ ก็สวยด้วยลวดลายไม้สลัก

น้อยเคยตามมามุเข้าไปเพื่อทดลองชักรอกดึงน้ำจากบ่อขึ้นมา มันเบาแรงกว่าการสาวด้วย เชือกมาก เธอถาม เพื่อนว่า

"โต๊ะโมง กับเจ๊ะฆูวาหับ แล้วก็วารีเขาอาบน้ำในห้องน้ำนี้ใช่ไหมมามุ?"

"ถ้าเขาอยากอาบก็อาบได้ซี แต่เขาไม่เดินลงมาที่บ่อนี้หรอก เธอเห็นที่ข้างบ้านเขาไหมล่ะ ตอนกลางน่ะ เป็นห้อง ออกมาทั้งสองด้าน นั่นแหละเป็นห้องน้ำในบ้านเขาหละ" มามุอธิบาย

"โอ้โฮ สบายจังเลย ไม่ต้องตักน้ำอาบ" น้อยฉงนกับความรวยของครอบครัวโต๊ะโมง

"บางทีเขาก็ไปอาบน้ำคลองเหมือนกันแหละ ถ้าเขาจะไปก็เดินไปตามสวนเงาะพันธุ์ไปที่กาแลส่วนตัวของเขา เธอก็เห็นแล้ว ที่เป็นกาแลปูน มีเสาหัวกลม แหลมแปลกๆ ไง แล้วก็มีบันไดกว้างๆ ลงไปในคลอง" มามุพูดต่อ

"เขาก็เลยไม่ต้องเดินไถลลงคลองเหมือนพวกเรานะ ฉันรู้จักกาแลนั้น ทำไมจะไม่รู้จัก แต่ไม่เคย ไปอาบ ตรงนั้นหรอก ฉันกลัววารี แต่เจ๊ะฆูวาหับฉันไม่กลัว บางทีเขานั่ง กินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์กับพ่อ" น้อยพูด นึกถึง พ่อลูก ที่หน้าตาดีทั้งคู่ ซ้ำยังร่ำรวยมาก แล้วเธอก็อยากรู้ต่อ จึงถามเพื่อนว่า

"เขาพูดภาษาไทยชั้ดชัด ทำไมล่ะ มามุ แล้วทำไมเค้าถึงได้รวยจั๊ง?"

"อ้าว ก็ที่ดินที่แว้งเกือบทั้งหมดนี้เป็นของเจ๊ะฆูดฺราแมทั้งนั้น ทั้งตลาดนั่นแหละ ห้องแถว ทั้งหมดก็ของเขา ห้องแถว ที่เจ๊ะ (พ่อ) มาเช่าอยู่ ตอนที่เธอเพิ่งมาแว้งใหม่ๆ ก็ของเขา ไม่ใช่เหรอ สวนยางในอำเภอแว้ง ก็ของเขา มากกว่าของใครทั้งหมด" มามุว่าต่อ

"โอ้โฮ" น้อยอุทาน ยิ่งฉงนไปกว่าเดิม "แล้วตรงกันข้ามกับห้องแถวที่ฉันเคยอยู่ มีต้นอะไรไม่รู้ นกกระจาบ มาทำรัง ห้อยอยู่เต็มเลย ไม่ใช่ต้นมะพร้าว ไม่ใช่ต้นสาคูด้วยนะ ต้นอะไรไม่รู้ ไม่เห็นมีที่อื่น นั่นก็ของเขา ด้วยเหรอ?"

"ใช่ โต๊ะโมงเอามาจากไหนไม่รู้ แล้วที่หน้าบ้านเขาเธอเห็นไหมล่ะ บ้านอื่นมีที่ไหน ต้นกล้วยอะไร ใบออกมา ข้างๆ เหมือนพัด แล้วเขายังมีต้นกล้วยที่เครือมันยาวถึงดิน ของโต๊ะโมง ทั้งนั้นแหละ (น่าจะเป็นปาล์ม น้ำมัน กล้วยพัด กล้วยร้อยหวี ต้นแรก ในอำเภอแว้ง ) " มามุบรรยายต่อ น้อยอยากจะถามเพื่อนว่า แล้วทำไม แชและโต๊ะ (ตาและยาย) ของมามุจึงไม่รวยเหมือนเขา แต่อะไรบางอย่าง รั้งเธอไว้ไม่ให้ถามเพื่อนอย่างนั้น จึงนิ่งเสีย

ถึงถาม มามุก็คงตอบไม่ได้อยู่ดีเพราะยังเด็ก ไม่เข้าใจเรื่องราวความเป็นมา (เจ๊ะฆูดฺราแม (ท่านครูดฺราแม) หรือที่เรียก กันทั่วไปในอำเภอแว้งว่าโต๊ะโมง ท่านนี้เป็นต้นตระกูล วุฒิศาสน์ มีฐานะทางเศรษฐกิจ ที่เรียกได้ว่า ร่ำรวยเป็นล้นพ้น ผู้เขียนได้มีโอกาสใกล้ชิดท่าน เมื่อบิดาป่วยด้วยโรค มาเลเรีย อย่างหนัก โต๊ะโมง เป็นแพทย์ที่มารักษาจนหาย ได้เห็นท่านใช้เครื่องมืออย่างหูฟังการทำงานของอวัยวะภายในด้วย ทราบภายหลังว่า ท่านเป็นผู้มีความรู้ ด้านการแพทย์ทั้งของปัจจุบัน และแบบพื้นบ้าน วารี วุฒิศาสน์ หลานชายของท่าน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ที่บ้านหลังนั้น เคยเล่าว่า พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินทางเรือ จนถึงอำเภอแว้ง และเสด็จประทับ ที่บ้านหลังนี้ด้วย มีพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ทรงฉาย เป็นหลักฐานอยู่ แต่ผู้เขียนยังไม่เคยเห็น อาจจะเป็น ในตอนนั้นนั่นเอง ที่โต๊ะโมงได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นบำราศพยาธิ แพทย์ประจำอำเภอ มีศักดินาที่ดิน จำนวนมาก สมัยโน้น อำเภอแว้ง ยังเป็นป่าดงดิบ การวางผัง สร้างอำเภอให้ดี ของโต๊ะโมง เพราะได้รับ พระราชทานที่ดิน อย่างถูกต้อง ตามบรรดาศักดิ์ จึงเท่ากับท่านมีส่วนอย่างยิ่ง ในการสร้างอำเภอนี้ ให้น่าอยู่ นอกเหนือจาก การที่อำเภอแว้ง เป็นทางผ่าน ขึ้นสู่เหมืองทอง ใหญ่ที่สุดของประเทศ คือเหมืองทองโต๊ะโมะ) จึงเปลี่ยนไปถามอย่างอื่น

"ป๊ะห์บะปอดียออะดอฆาเยาะห์ (คำนี้คนเชื้อสายมลายูทางปักษ์ใต้ และในรัฐกลันตัน ของมาเลเซีย ออกเสียงว่า ฆา-เยาะห์ ซึ่งมาจากศัพท์สันสกฤต คชา แสดงชัดเจน ถึงอิทธิพล ทางภาษา ที่รับจากอินเดีย ร่วมกัน ทั้งไทย และมลายู) บาเยาะฆีตู (แล้วช้างล่ะ ทำไมเขา ถึงมีช้าง มากอย่างนั้น)?"

"ก็เขารวยไง แล้วเธอว่าเขาเอาไว้ทำอะไรล่ะ?" มามุย้อนถาม

"พ่อเล่าว่าพ่อขี่ช้างของโต๊ะโมงนี่แหละขึ้นไปโต๊ะโมะ ไม่งั้นต้องเดินขึ้นเขาไม่รู้กี่วันถึงจะไปถึง พ่อว่า ปีนเขา ก็แทบแย่แล้ว ยังต้องมีข้าวของอีก"

"ก็รถยนต์ไปไม่ได้นี่ ฝรั่งเขาทำถนนไปแค่กรือซอ ไม่ได้ขึ้นไปบนภูเขา ฝรั่งก็ต้องขี่ช้างขึ้นไป เหมือนกันแหละ" มามุว่า

"แล้วทำไมถึงมีรถยนต์คันนั้นจอดอยู่ติดกับห้องแถวที่ฉันเคยอยู่ล่ะ?"

น้อยถามเพราะสงสัยมานานแล้วเรื่องซากรถยนต์ข้างบ้านเก่าที่เธอและเพื่อนๆ เคยใช้เป็น ที่เล่นกัน มันมีเหลือ แต่ตัวรถและวิ่งไม่ได้แล้วด้วย เคยถามพ่อว่ามันมาจากไหนกัน เพราะแว้งไม่มีถนนดีพอ ให้รถวิ่ง สักหน่อย แต่พ่อก็ทราบ แต่เพียงว่า มันมาตั้งแต่ สมัยที่ฝรั่งเศส ยังได้รับสัมปทานทำเหมืองบนโต๊ะโมะ คราวนี้ เธอถามมามุ แต่กลับได้คำตอบว่า

"เธอต้องไปถามยา(สมาน)แน่ะ ตอนเล็กๆฉันอยู่ที่เจ๊ะเหม ยาเขาอยู่ที่นี่ เขาต้องรู้ ฉันรู้แต่ เรื่องช้างของ โต๊ะโมง เพรา เขาให้คนเลี้ยงที่เจ๊ะเหม เยอะแยะไปหมด เขาเลี้ยงให้มันทำงาน เขาเลย รวยมากขึ้นๆ เพราะช้างด้วย" มามุพยายามดึงเข้าไปสู่เรื่องที่เขารู้

"ไว้พรุ่งนี้ไปโรงเรียนฉันจะถามเค้า เดี๋ยวเราไปดูคนเอาของขึ้นหลังช้าง ที่หลังบ้านประพนธ์ กันดีกว่านะ" น้อยว่า

"ไปซี" ว่าแล้วทั้งคู่ก็พากันเดินไปตรงสี่แยกเล็กๆ ที่แบ่งที่ทำการอำเภอ โรงพัก กับร้านค้าในตลาด เป็นสองซีก

ตรงนั้นเป็นชุมทางใหญ่ของอำเภอแว้ง ซีกที่ทำการของทางราชการมีไม้ไผ่พันธุ์เล็ก ปลูกแน่นหนา เป็นรั้ว ติดถนน เหยียด ตั้งแต่ห้องแถวบ้านพักตำรวจชั้นผู้น้อย บ้านพักผู้กอง พ่อของประพนธ์ สถานีตำรวจภูธร อำเภอแว้ง ที่ทำการอำเภอแว้ง และสุดท้าย เป็นสถานีอนามัย ที่ไม่มีแพทย์ประจำเลย สักคนเดียว

ถ้าข้ามถนนมาอีกซีกหนึ่งจะเป็นห้องแถวไม้สองชั้นยาวเหยียด หน้าห้องแถว เขาราด ปูนซีเมนต์ เป็นทางเท้า ให้คนเดิน เลือกซื้อของสารพัดชนิด ไม่ต้องไปเดินในถนน ให้ร้อนหัว บรรดาร้านทำทองรูปพรรณ ของคนจีน ก็อยู่ที่ห้องแถวนี้ ตั้งหลายร้าน มีร้านขาย สมุดดินสอ ร้านหนึ่งด้วย นอกนั้นเป็นร้านชำทั้งของคนไทย จีน และมุสลิม

ถ้าเดินไปจนสุดห้องแถวก็จะเป็นตลาดสด แต่ถ้าเลี้ยวหัวมุมสี่แยกไปตามถนน ขนานกับรั้วไม้ไผ่ ของโรงพัก และ อำเภอก็จะเป็นห้องแถวเหมือนกัน หัวมุมทางขวา เป็นร้านตัดผม ของพ่อของสุรินทร์ ที่เรียนอยู่ โรงเรียน เดียวกับน้อย แต่คนละชั้นกัน แล้วเป็น ร้านขายของ ไปจนถึงร้านกาแฟของอาลี ตรงมุมของอีก สี่แยกหนึ่ง แต่ถ้าเลี้ยวไปทางซ้าย จะเป็นร้านขายผ้า ของทั้งของคนเชื้อสายมลายู และเชื้อสายปากีสถาน ซึ่งคนเชื้อสายไทย เรียกว่า พวกเทศ (คนไทยพุทธจะเรียก คนเชื้อสาย ต่างชาติพันธุ์ ที่รูปร่างสูงใหญ่ ไว้หนวด และเครา รวมทั้งที่ชอบนุ่งผ้าหลวมๆ แบบโจงกระเบน เสียงพูดห้าว ว่า "เทศ" ทั้งนี้โดยไม่ค่อย จะไปคำนึงว่า จะเป็นคนที่มาจากอินเดีย หรือปากีสถาน หรือแม้แต่จะนับถือศาสนาอะไร คนกลุ่มนี้ มักนิยมยึดอาชีพค้าขาย แต่ก็ไม่เหมือนคนจีน ถนัดแต่การขายผ้า และ เสื้อผ้าเป็นพื้น หากมองที่การค้าขาย คนไทยพุทธ จะกลับไปเรียกเขาว่า "แขกขายผ้า" แทนการเรียก "เทศ" ที่อำเภอแว้ง คนกลุ่มนี้เกือบทั้งหมด จะมาจากปากีสถาน หรือ ถ้ามาจากอินเดีย ก่อนการแยกประเทศ ก็จะเป็นกลุ่มคนที่นับถือ ศาสนาอิสลาม เมื่อมาอยู่ในไทย แล้วจะเกาะกลุ่มกันอยู่ โดยเฉพาะผู้ชาย ผู้หญิงดูจะกลืนกับมุสลิม เชื้อสายมลายู ได้มากกว่า ด้วยการแต่งกายที่ละม้ายกัน และภาษามลายู ที่พูดเสียงไม่ห้าว เหมือนผู้ชาย) และคนเชื้อสาย มลายูเรียกว่า ปั๊วะโต๊ะแซะห์ (ศัพท์ผสมคำนี้ เป็นสัญลักษณ์ ที่ดีมาก ในการผสมของวัฒนธรรม ในประเทศไทย "ปั๊วะ" เป็นคำยืม ที่คนไทย เชื้อสายมลายู ยืมจากคำว่า "พวก" ในภาษาไทย ตั้งแต่ครั้งไหน ไม่อาจทราบได้แน่ชัด คำว่า "โต๊ะ" เป็นคำ เติมข้างหน้า เพื่อแสดงการให้ความนับถือ เป็นคำมลายูแท้ ส่วนคำว่า "แซะห์" เป็นคำเดียว กันกับ ที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า เชค หรือ ชี้ค หรือ "เฉก" ซึ่งใช้นำหน้าชื่อ หมายถึง ผู้รู้ เช่นที่เราเรียก เจ้าพระยาบวรราชนายกว่า "เฉกอาหะหมัด" เป็นต้น ในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ จะพูดถึง "แขกเซียะ" ก็หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์นี้ สำหรับคนไทย เชื้อสายมลายู อย่างที่อำเภอ แว้ง เมื่อเอ่ยถึง "ปั๊วะโต๊ะแซะห์" สิ่งแรกที่นึกถึงกัน คือคนที่ร่างใหญ่ ไว้หนวด และเครา ก่อนสิ่งอื่น)

เด็กทั้งสองเดินตามทางเท้าริมห้องแถวมาจากตลาด กว่าจะถึงมุมซ้ายของสี่แยก ต้องก้าวขึ้น ทางสูงขึ้นไปถึง สามชั้น แต่ละชั้น ยาวพอสมควรทีเดียว ตรงหน้าร้านทำทอง นั่นก็ก้าวสูง ขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แล้วพอถึง หน้าบ้านลุงแดง ป้ามุลก็ต้องก้าวขึ้นอีกชั้นหนึ่ง จนมาถึง ใกล้หัวมุม หน้าร้านทำทอง อีกร้านหนึ่ง ก็ต้อง ก้าวขึ้นอีก ตรงหัวมุม จึงยกสูงมาก จนเด็กๆ อาจจะก้าวขึ้นไม่ได้

บ่ายวันนี้มีช้างอยู่ที่นั่นถึงสี่เชือก น้อยรักช้างมาก มันช่างเป็นสัตว์ใหญ ่ที่สุภาพอ่อนโยน อะไรอย่างนั้น มันยกงวง ส่ายเข้ามาใกล้เธอ และมามุ เสียดายจริง ที่ไม่มีกล้วย หรืออ้อยติดมือ มาฝากมันเลย น้อยกับ มามุ กำลังจะเดินเลี่ยงไป ก็พอดีได้ยินคนเลี้ยงช้าง พูดอะไรบางอย่าง กับช้างของเขา แล้วหันมาบอกว่า

"เตาะอะปอ ดิยอเนาะติโฆยอ (ไม่เป็นไรหรอก เขาอยากทักทายหนูเท่านั้นเอง)"

มามุจึงจับงวงเล่นกับมัน น้อยนั้นรู้สึกขลาดๆ กลัวๆ แต่ที่สุดก็อดมาเล่นด้วยไม่ได้ เธอรู้สึก ถึงพละกำลัง อันมหาศาล ของมัน ขณะเดียวกันก็รู้สึกสงสารที่มันถูกนำมาใช้งาน ต้องยืนนิ่ง อยู่อย่างนั้น เป็นเวลา นานมาก วูบหนึ่งของความคิด น้อยอยากได้ช้าง ไว้ที่บ้านท่าฝั่งคลอง สักเชือก

อีกนานเป็นสิบปีต่อจากนั้น บริเวณบ้านท่าฝั่งคลองจึงมีช้างมากมายหลายเชือก

และนั่นก็เป็นเวลาที่เธออยากให้ช้างอยู่เป็นโขลงแต่ในป่าตามธรรมชาติเสียแล้ว

นั่งห้อยเท้าเล่นกับช้างกันอยู่บนขอบทางเดินซีเมนต์สูงนั้นเป็นครู่ใหญ่ พวกพ่อค้าก็แบกของ ที่จะบรรทุก หลังช้าง มาถึง ช้างจะเริ่มต้นทำงาน ตามหน้าที่ของมันแล้ว ควาญสั่งช้าง ด้วยภาษาที่ช้างเท่านั้น จะเข้าใจ ให้มันหมอบลงกับพื้นถนน และมันก็ทำตามทันที ตัวมันใหญ่ก็จริง แต่น้อยเห็นมันค่อยๆ ทรุดขา แต่ละข้างลง เมื่อหมอบลงแล้ว หลังของมัน ก็อยู่ในระดับเดียวกับ พื้นซีเมนต์ขอบทางเท้าพอดิบพอดี อย่างนี้นี่เองเล่า โต๊ะโมง เจ้าของโขลงช้างต่าง และท่าช้างขึ้นของหน้าห้องแถวของเขา ถึงได้ทำทางเท้า ตรงนั้น ให้สูงเท่าหลังช้างหมอบ และยาวพอสำหรับช้างสิบกว่าเชือก จะหมอบเรียงกันได้

น้อยและมามุลุกขึ้นชะเง้อดูหลังช้างเชือกนั้น เขาเอากูบวางบนหลังมัน หลังคากูบ ทำด้วยอะไรไม่ทราบ แต่ดูเหมือน เตาะชะโอน ("เตาะ" คือกาบของทางใบพืช ชนิดปาล์ม จะเป็นหมาก หรืออย่างอีกก็ได้ ส่วน "ชะโอน" เป็นพืชตระกูลปาล์ม ที่ทางมีหนามคม เตาะชะโอนนี้จะยาว และแข็งกว่า เตาะหมาก ใช้ทำเครื่องใช้ ได้หลายชนิด ทั้งถังตักน้ำ พัด หรือแม้แต่ แซมหลังคา) โค้งครอบพอดีที่นั่ง ช้างเชือกไหน ที่มีแต่สินค้า เขาก็ไม่ต้อง เอานวมวาง เอาแต่สินค้าขึ้นบรรจุจนเต็ม ก่อนที่จะมัดคลุมไว้อย่างแน่นหนา เชือกไหน ที่มีคนโดยสาร เขาก็ปูเบาะให้นั่ง

"น่าสบายดีจังนะ มามุ" น้อยว่า เธอเคยนั่งมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ไปไม่ถึงปลายทาง เพราะแม่เมาช้าง จนอาเจียน เสียก่อน ต้องลงจากหลังช้าง เดินกันต่อไปสุไหงโกลกตามเดิม

"ไม่สบายนักหรอก อยู่เจ๊ะเหมฉันขี่คอช้างมาเยอะ มันโคลงเคลงโยกเยก" มามุว่า

"แล้วถ้าเรานอนบนเบาะนั้นล่ะ? ฉันว่าดีออก มันยาวพอให้เราเหยียดเท้าเลย" น้อยถาม

"ถ้าเธอทำเป็นลืมๆว่ากำลังนอนในเปลก็ได้ ไปกันเหอะ"

กว่าเขาจะบรรทุกของเสร็จก็เกือบเที่ยง มากที่สุดที่เขาเอาไปคือข้าวสาร เพราะบนภูเขา มีแต่ข้าวไร่ นอกนั้น ก็มีเกลือ ปลาแห้ง ยาสูบ ใบจาก เสื้อผ้า มุ้ง และขนมปังรูปต่างๆ อย่างที่แม่ขายที่ร้านก็มี เมื่อบรรทุก จนหมด และคนที่โดยสาร ไปขึ้นนั่งบนหลังช้าง เรียบร้อยแล้ว ขบวนช้างต่างของเจ๊ะฆูดฺราแม หรือโต๊ะโมง ก็ลุกขึ้นยืนเป็นขบวน

เดี๋ยวมันก็จะพากันเดินไปตามถนนผ่านหน้าโรงเรียนแว้ง ขึ้นเนินดินแดงเรื่อยไป จนพ้นกรือซอ จึงเริ่มขึ้นภูเขา สูงขึ้นไปทุกทีๆ

"อย่างนี้เสือหรือหมีก็ไม่กล้าเข้ามาหรอกนะ เดี๋ยวช้างเหยียบตาย" น้อยว่า

"น้อยนี่ชอบคิดไปแปลกๆ ไปดูช้างของแชมะยูโซะห์อาบน้ำให้แบเลาะห์ดีกว่า แบเละห์ มันสวยมากเลย" มามุ ชวน ก่อนที่จะพากันเดินไปทางคลองแว้ง ตรงกาแล ต้นไผ่ ที่ทางลงคลอง ลาดลงตามธรรมชาติ ไม่ต้องตัดเป็นช่องเล็กๆ เหมือนกาแลอื่น ช้างจึงลงได้สบาย

คืนนั้นเมื่อทำการบ้านและอ่านหนังสือตามที่พ่อกะให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว น้อยขอให้พ่อ เล่าเรื่อง การขึ้นไป โต๊ะโมะ ของพ่อให้ฟังอีก ความจริงพ่อได้เล่าให้ฟังเป็นครั้งคราว หลายหนแล้ว เรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง สุดแท้แต่ว่า กำลังพูดเรื่องอะไรกันอยู่

"ตอนพ่อขึ้นไป พ่อไปกับช้างของโต๊ะโมงหรือเปล่าคะ?" น้อยเริ่มต้นถาม

"ตอนนั้นช้างที่แว้งมีเยอะแยะ หมอช้างก็มีหลายคนทีเดียว แต่พ่อไปกับช้างของ โต๊ะโมง เพราะเขามีช้าง ที่ฝึก สำหรับ เดินขึ้นเขาไปโต๊ะโมะ เลยทีเดียว บรรทุกทั้งของทั้งคน เรียกว่า ช้างต่าง พวกฝรั่งก็ไปกับช้าง ของเขานี่แหละลูก" พ่อตอบ

"ถ้าพ่อไปกับช้างก็ต้องไปหลายๆ ตัวอย่างที่น้อยไปดูวันนี้ซีคะ อย่างนี้เสือก็ไม่กล้าหรอก นะคะ พ่อก็ปลอดภัย" น้อยพูดต่อ

พ่อทราบดีว่าน้อยมักจะกลัวเรื่องการเดินทางด้วยเท้าไปไหนต่อไหนของพ่อ เธอกลัวสัตว์ร้าย จะทำร้าย พ่อของเธอ จนถึงแก่ชีวิต แต่ยังไม่ทันตอบ พี่แมะก็ชิงพูดเสียก่อนว่า

"ก็ปลอดภัยซี ไม่งั้นพ่อจะมานั่งอยู่ตรงนี้ได้อย่างไรเล่า น้อยนี่"

"บนภูเขานั้นมีสัตว์สารพัดชนิดจริง น้อย ลูกเคยเห็นแต่กิ้งกือตามบ้านสีน้ำตาล แต่กิ้งกือ บนภูเขาป่าดงดิบ อย่างทางไป โต๊ะโมะนั้นตัวมันดำยาวเกือบศอกแน่ะ"

"โอ๊ย-" แม่อุทาน "อย่างนี้แม่ไม่ขึ้นไปแน่ๆ อยู่ข้างล่างนี่ดีกว่า"

"แม่ไม่รู้ว่าข้างบนโต๊ะโมะนั้นน่าอยู่แค่ไหน อากาศเย็นสดชื่นกว่าข้างล่างเยอะ ดอกกุหลาบ ที่ฝรั่งเขาปลูกงี้ ดอกเท่า จานรองถ้วยชาแน่ะ มีหลายสีด้วย" น้ำเสียงของพ่อ ทำให้ทุกคน ต้องตั้งใจฟัง

"แล้วพวกฝรั่งบนนั้นเขากินอะไรล่ะพ่อ กินข้าวกับปลาแห้งน้ำบูดูด้วยหรือ?" แม่ช่วยซัก

"ไม่หรอก เขาอยู่อย่างสุขสบาย มีกุ๊กทำกับข้าวฝรั่งให้กิน" พ่อเล่าต่อ "กุ๊กคือลูกจ้าง ที่เขาจ้าง มาทำครัวน่ะ เป็นคนจีน พวกฝรั่งพวกนี้เลยได้กินขนมปัง นมก็นมกระป๋องไง ปลาก็ปลากระป๋อง เนื้อหมูเนื้อวัวกระป๋อง เขามีหมดแหละ พวกฝรั่งมาอยู่ เราเลยได้กิน ปลากระป๋องยำ ที่น้อยชอบไง ของจากเมืองฝรั่งทั้งนั้น พวกเขา อยู่บนนั้น นานๆ ทีก็ลงมาทางแว้ง เพื่อไปจังหวัด หรือไม่เขาก็สามารถ เข้าประเทศมลายู ได้เหมือนกัน ไม่ต้อง มาทางแว้งนี้-" พ่ออธิบาย ยาวเหยียด น้อยเห็นภาพ ตามที่พ่อเล่าทุกอย่าง เธอถามขึ้นว่า

"ที่พ่อเคยเล่าเรื่องเครื่องเหมืองว่าเขาเจาะเขาเข้าไปตามสายแร่ทองเป็นกิโลๆ นั้นเขาเอา เครื่องเหมือง บรรทุก รถยนต์ คันที่อยู่ข้างบ้านเก่าเราไปใช่ไหมคะ?"

"โอ๊ย ไม่ได้หรอกลูก เครื่องเหมืองที่พ่อว่านั้นเป็นเหล็กหนักๆ ทั้งนั้น ดูถังเหล็ก ที่พ่อเอาลงมา ใส่น้ำฝนนั่นซี เหมือนถัง บ้านเราเสียเมื่อไหร่ ทั้งหนักทั้งหนา สนิมก็ไม่ขึ้น เขาต้องบรรทุก หลังช้างไป พอไปถึงข้างบนแล้ว ถึงจะทำราง ลากของเหล่านั้น เข้าไปในเหมือง รถคันนั้น ของโต๊ะโมง นั่นแหละ ถนนจากโกลกมาแว้ง สมัยก่อนพวกเรามา คงพอโขลกเขลก มาได้บ้าง กระมัง เขาถึงซื้อมา แต่คงวิ่งตามโคนรากยาง ในหน้าฝน ไม่ไหวหรอก ก็เลยจอด อยู่อย่างนั้น เอ้า ใครจะถามอะไรอีก ถามมา" พ่ออนุญาตอย่างนี้ ต้องถามให้เต็มที่ แม่เริ่มก่อน เหมือนรำพึงว่า

"แรกเรามาอยู่ก็ยังลำบากกันแทบตาย พวกฝรั่งมาอยู่กันให้ลำบากทำไมกันนะ ทั้งเสือ ทั้งช้าง ทั้งหมี ไปไหน ก็ลำบาก ทำไมถึงชอบมาอยู่กันได้"

"ทากก็เยอะ งูก็เยอะ นะแม่นะ เป็นน้อยๆก็ไม่มา" น้อยเห็นด้วยกับแม่

"แต่เห็นพ่อพูดเรื่องโต๊ะโมะทีไหน น้อยอยากเห็นอยากอยู่บ้านฝรั่งบนเขานั้นทุกที" พี่แมะแย้ง

"ก็น้อยไม่เคยเห็นบ้านฝรั่ง พ่อว่าบ้านเขาอยู่บนภูเขา ทาสีขาวสะอาด มีหน้าต่างกระจก มีม่านหน้าต่างด้วย ทางขึ้น ก็เป็นบันไดเป็นขั้นๆ ขึ้นไป ปลูกดอกไม้สวยๆ น้อยว่า มันน่าอยู่จะตายไป" น้อยให้เหตุผล

"ก็ขึ้นช้างโต๊ะโมงไปซี" พี่แมะว่า "พี่ไม่เห็นอยากขี่ช้างเลย เวียนหัวจะตาย แม่ก็ยังเมาเลย"

"แล้วถ้าน้อยอยากขึ้นไป แม่ให้ไปไหมล่ะ?" น้อยหันไปเถียงพี่สาว

"ไม่ให้ไปเด็ดขาด ไปตายเสียน่ะซี" แม่พูดเสียงเด็ดขาดจริงๆ

"ข้างบนนั้นสบายก็จริง น้อย แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่ไม่แข็งแรงจริง จะขึ้นช้างไปตามภูเขา ไม่รู้กี่สิบลูก นั่งบน หลังช้าง ทากยังเข้าหูเลย พ่อเคยเล่าแล้วนี่ ที่น้อยว่า อยากนั่งหลังช้างไปน่ะ ถ้านั่งขึ้นเขา จะรู้ว่า ไม่สบายเลย โยกไปโยกมา จะเหยียดเท้า ให้หายเมื่อย ยังไม่ได้ นั่งขดอยู่บนกูบ อย่างนั้น เป็นวันๆ ไม่ใช่ว่า นึกอยากให้ช้างหยุดตรงไหน เหมือนให้รถยนต์จอด ได้เมื่อไหร่ จะลงจากหลังช้าง ตรงไหนได้ เป็นป่าเป็นเขา ทั้งนั้น ต้องถึงที่พัก จึงลงพักได้" พ่อเล่าต่อ

"น้อยสงสารช้างต่างมากกว่าคนเสียอีก ตัวมันใหญ่อย่างนั้น ต้องแบกของด้วย ต้องไต่ ขึ้นเขาอีก มันคง ลำบาก แทบตาย กว่าจะถึง คนพอถึงที่พักก็สบาย" น้อยว่า

"จริงแม่" พ่อยืนยัน "ฉันก็ว่าเราเป็นหนี้บุญคุณช้างมากที่สุด นั่งช้างไปโต๊ะโมะ วันเดียว ถึงเสียที่ไหน ต้องพักแรมกัน ใครจะเชื่อว่า บนภูเขาสูงอย่างนั้นมีโรงแรมอยู่ด้วย ที่กฺลูบี น่ะนั่นแหละ เพราะมีเหมือง ใหญ่ที่สุด ในประเทศอยู่ที่นั่น มีฝรั่ง มีคนงานจีน เป็นร้อยๆ ไปจากแว้ง วันเดียวไม่ถึง ก็ต้องมีโรงแรมที่พัก ก็คนจีนอีกนั่นแหละ ดูแลจัดการทุกอย่าง ตลอดจน ที่หลับที่นอน สบาย อาหารก็ดี ถ้ายอมลำบากก็รวย บริษัทฝรั่งเศสที่ได้สัมปทานน่ะ ได้ทองคำ บริสุทธิ์ ถลุงแล้ววันหนึ่ง ไม่รู้ตั้งกี่กิโล เขาถึงยอมลงทุนมาทำ"

"แล้วทำไมเป็นคนจีนเป็นร้อยๆล่ะคะ พ่อ ทำไมไม่เป็นคนไทยหรือแขกที่นี่ คนจีนก็ต้อง มาจากเมืองจีน ฝรั่งก็ต้อง มาจากเมืองฝรั่ง ไกลจะตาย แล้วทำไม ประเทศไทยเรา ไม่ร่อนทอง เอาเสียเอง ไปให้ฝรั่งทำไม แมะไม่เข้าใจเลย" พี่แมะซักพ่อต่อ

"ฉันก็ว่าจะถามเหมือนกัน" แม่หยุดเคี้ยวหมากหันมองพ่ออย่างตั้งใจฟัง

"ก็แม่ดูฉันนี่แหละ ตอนแรกก็ตั้งใจขึ้นไป จะทำงานบัญชีหรืออะไรบนนั้นเพราะรู้จัก พระวิเศษ (ผู้เขียน ยังจำได้ว่า ผู้ใหญ่พูดให้ฟัง ถึงท่านผู้นี้ว่า รู้จักกัน ท่านคือ พระวิเศษสุวรรณภูมิ บิดาของ คุณฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นักเขียนศิลปินแห่งชาติเจ้าของนามปากกา "พนมเทียน" เป็นผู้ประมูลการ รับเหมา การทำ เหมืองแร่ ที่โต๊ะโมะ "พนมเทียน" เองเล่าผู้เขียนว่า ได้ใช้บางลักษณะ ของเหมืองทอง โต๊ะโมะ เป็นฉาก ในการเขียนเรื่อง เพชรพระอุมา) แต่ก็ต้อง แพ้กลับลงมา" พ่อว่า แต่แม่ขัดตอบว่า

"แต่นั่นเพราะพ่อเป็นไข้ป่านี่ ขืนไม่ลงมาก็แย่อยู่บนนั้น"

"ถึงอย่างนั้นก็เถอะ นั่นแหละคือเราคนไทย เราไม่ทรหดพอ คนจีนเขาสู้งาน งานอะไรก็ได้ ขุดดิน ขุดคู ตักน้ำ ทำกับข้าว แบกของขนของ ได้ทุกอย่าง พ่อเองยังเลือกงานเลย ให้แบก ให้หาม ก็ไม่เอา สู้คนจีนไม่ได้ เจ้าเฉ่ (ผู้เขียนยังจำได้ว่า ผู้ใหญ่พูดให้ฟังถึงท่านผู้นี้ว่ารู้จักกัน ท่านคือ พระวิเศษสุวรรณภูมิ บิดาของ คุณฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นักเขียน ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา "พนมเทียน" เป็นผู้ประมูล การรับเหมา การทำเหมืองแร่ ที่ โต๊ะโมะ "พนมเทียน" เองเล่าผู้เขียนว่า ได้ใช้บางลักษณะของเหมืองทอง โต๊ะโมะ เป็นฉากในการเขียน เรื่องเพชร พระอุมา) เขาถึงมีแต่คนงาน ที่เป็นคนจีนทั้งนั้น เขารู้จักดี ทั้งคนไทย คนจีน เขาเลือกคนจีน แขกเขาก็ไม่เอา พวกเราเหมือนกันคือ ก็ไม่ใช่ถึงกับหนักไม่เอาเบาไม่สู้หรอกนะ แต่เราชอบ อยู่อย่างสบายๆ แค่นี้พอแล้ว สบายแล้ว ก็พอแล้ว คนงานบนนั้น ถึงเป็นคนจีนทั้งนั้นเลย" พ่ออธิบายแม่ และเอ่ยชื่อ ที่น้อยและพี่แมะ ไม่รู้จัก ว่าเป็นใคร จนเมื่อพ่อหยุด น้อยจึงถามขึ้นว่า

"พ่อคะ ไหนพ่อว่าโต๊ะโมะอยู่ในประเทศไทย เป็นของคนไทย แล้วทำไมเราไม่ร่อนทอง เอาเสียเองล่ะคะพ่อ ไปให้ ฝรั่งทำไมคะ?"

"เออ ลูกๆ ถามเข้าทีแฮะ ทำไมเราไม่ร่อนทองเอาเสียเอง อันนี้พ่อตอบน้อยกับแมะได้เลย" พ่อก้มลงมองลูก อย่างเอ็นดู อธิบายอย่างง่ายที่สุด ให้ฟังว่า "เราจะร่อนทองเอง ก็ได้จริงๆ ด้วย น้อยก็เห็น คนนั่งร่อน อยู่ในคลองแว้ง แขกที่อยู่บนเขาที่โต๊ะโมะ เขาก็ร่อนเหมือนกัน ได้มากกว่า พวกที่แว้งเสียอีก แต่เราก็นั่งร่อน กับที่ ร่อนอย่างนั้นไป ได้วันละเล็ก วันละน้อย เท่านั้นเอง ลูก เราถึงเรียก การหาทองอย่างนั้นว่า ร่อนทอง แต่บนโต๊ะโมะ ไม่ใช่การร่อนทองนะลูก เขาทำเหมืองทอง เป็นเหมืองขุด และเหมืองฉีด เขาต้องมีเครื่องมือ สำรวจ คือตรวจน่ะ ตรวจดูว่า สายแร่มันไปทางไหน ถ้าไปทางใต้ภูเขา เราจะเข้าไปเอายังไง เราไม่มี เครื่องมือ ฝรั่งเขามี ลูก เขามีเครื่องมือ เขารู้วิธีเจาะภูเขาเข้าไป แล้วก็ฉีด เอาแร่ทองคำ ออกมา แต่เขาก็ต้อง มีคนงานช่วยทำ โต๊ะโมะอยู่ไกลบ้านไกลเมืองเขา พวกฝรั่ง ไม่มารับจ้าง เป็นกุลีทำงานหรอกลูก" พ่อหยุดพูดนิดหนึ่ง พี่แมะจึงพูดขึ้นว่า

"แมะเข้าใจแล้วค่ะ ฝรั่งมาตรวจ เขาพบแร่ เขามีเครื่องมือเข้าไปเอาทอง เขาเลยไปเอาคนจีน ที่เมืองจีน มาเป็นลูกจ้าง ใช่ไหมคะ?"

"ก็ยังไม่ถูกทีเดียว" พ่อหันไปตอบพี่แมะ "เมืองจีนกับเมืองฝรั่งไม่ค่อยถูกกันหรอกลูก แต่บังเอิญ ที่เมืองจีน มีเรื่องราว เกิดขึ้นมาก และคนเขาก็ล้นประเทศด้วย คนจีนก็เลย อพยพมาอยู่ทางประเทศเรา"

"ก็พอดีให้ฝรั่งจ้างมาทำเหมืองที่นี่ น้อยก็เข้าใจแล้วค่ะ" น้อยพูดบ้าง "แต่เขาไม่จ้างคนไทย คนแขก เพราะเรา ไม่ชอบ เป็นลูกจ้าง"

"ถูกต้องเลย ลูกเข้าใจถูกเลย" พ่อสรุป "เอาละไปนอนกันได้แล้ว"

"อีกนิดเดียวค่ะพ่อ แล้วอย่างโต๊ะโมงล่ะคะ โต๊ะโมงไม่ไปทำเหมือง แต่โต๊ะโมง เลี้ยงช้าง เยอะแยะนี่ล่ะคะ ไม่มีช้าง ก็ทำเหมืองไม่ได้เหมือนกันแหละ นะพี่แมะนะ" น้อยแสดงความคิดเห็น

"ใช่เลยลูก เห็นไหมแม่ เด็กมองอย่างเด็กบางทีก็ถูกที่สุดเหมือนกัน" พ่อพูด "พวกเราแถบนี้ ก็ย่อมถนัด เรื่องที่เป็น แถบนี้ของเรา พ่อก็ไม่คิดว่า คนจีนหรือฝรั่ง จะมาเป็นควาญช้าง ขึ้นโต๊ะโมะได้หรอก พวกเขา ไม่ถนัด ต้องพวกเราแถบนี้แหละทำ โต๊ะโมงจึงมีส่วนสำคัญ ในการทำเหมืองทอง ที่โต๊ะโมะของ ประเทศไทย อย่างปฏิเสธไม่ได้ เอ้าไปนอนได้แล้วคราวนี้"

ก่อนหลับคืนนั้น น้อยพูดกับพ่อและแม่ข้ามห้องไปว่า

"แต่น้อยก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมฝรั่งเขาทำบ้านสวยๆ อยู่ได้ในป่าเมืองเรา แล้วทำไม เราไม่ทำบ้าน ให้สวยด้วย... พรุ่งนี้ น้อยจะชวนมามุ ไปขุดต้นบอนสีสวยๆ ริมคลอง มาปลูก หน้าบ้านเรา ให้เป็นแถวเลย"

(ต่อฉบับหน้า)

หมายเหตุ :
เขียนเสร็จเวลา ๑๑.๔๕ น. พุธที่ ๒๗ ก.ค. ๔๘ วันนี้จะได้ฟังนโยบาย นายกทักษิณ และนายกอานันท์ เรื่อง การแก้ปัญหาภาคใต้ เหตุการณ์ที่ยะลา และข่าวที่ครูใหญ่ ร.ร.กรือซอ แว้ง ถูกยิงตาย ทำให้หวั่นไหว มากที่สุด นึกถึงพี่เขย ที่เคยเป็นครูใหญ่ ที่โรงเรียนนั้น ถ้ายังอยู่ ก็ต้องเป็นเขา เรื่องที่เขียนคราวนี้ ก็เอ่ยถึง กรือซอด้วย ยังจะลงไปบ้านตัวเอง ได้ไหมนี่

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ -