เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๘ มีนาคม ๒๕๔๙ หน้า ๒๑

สกู๊ปข่าวจากสื่อหนังสือพิมพ์
กรณีคัดค้าน การดำรงตำแหน่ง ของนายกรัฐมนตรี

วันนี้เสียงเรียกร้องหามาตรการ
ทางศีลธรรมจริยธรรมดังกระหึ่ม
เพราะต่างประจักษ์ชัดว่า
"ถ้าศีลธรรมไม่กลับคืนมา โลกาจะวินาศ"
นี่จึงมิใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง
แต่หมายถึง ไทยทุกคนต้องผนึกพลังชูธงธรรม


จ.ม.รัฐศาสตร์'จุฬา'
จี้ต่อม 'จริยธรรม' ทักษิณ

หมายเหตุ- คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และคณะอื่นๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมทำจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ ๑ เรื่อง"วิกฤตการณ์
ความชอบธรรมและจริยธรรมของผู้นำประเทศ" ยื่นต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์

"ในช่วงที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นถึงการขาดจริยธรรมในการบริการประเทศ ในระบอบประชาธิปไตย ในหลายเรื่อง อาทิ การทำลายการเป็นอิสระของสื่อมวลชน การไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการนิติบัญญัติ การครอบงำบั่นทอน ความเข้มแข็ง และความน่าเชื่อถือ ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การปล่อยให้เกิดการคอร์รัปชั่น เล่นพรรคเล่นพวกขึ้น ในระบบการบริหาร ราชการแผ่นดิน การใช้กุศโลบาย แจกเงิน เพื่อสร้างความนิยม ทางพรรคการเมือง ฯลฯ เป็นต้น

และในกรณีล่าสุดคือ การขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปของครอบครัวนายกรัฐมนตรี เป็นเงินกว่า ๗ หมื่นล้านบาท โดยไม่ต้องจ่ายภาษี แม้จะดูเหมือน ชอบด้วยกฎหมาย แต่มีเงื่อนงำว่ากระบวนการที่ทำให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น กลับไม่ชอบด้วยคุณธรรม ไม่โปร่งใส ไม่ตรงไปตรงมา และมิได้ปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างของผู้นำประเทศที่ดีตามหลักการธรรมาภิบาล ทั้งๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศต่อ สาธารณชนว่า จะใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ

การขาดจริยธรรมในการบริหารบ้านเมือง ของนายกรัฐมนตรี ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขาดความชอบธรรมในการเป็นผู้นำของประเทศ เป็นผู้ที่ไม่น่าเชื่อถือและไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศได้อีกต่อไป หาก พ.ต.ท.ทักษิณยังคงทำหน้าที่ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จะยิ่งเป็นการทำลายศรัทธา และความเชื่อมั่นต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประชาชนพลเมือง และจะนำไปสู่วิกฤตการณ์อื่นๆ ตามมา

ทางคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และคณะอื่นๆ แห่งจุฬาลงกงณ์มหาวิทยาลัย จึงขอยื่นข้อเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และสาธารณชนว่า ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงแสดงความรับผิดชอบ ทางจริยธรรม โดยการลาออกจากตำแหน่ง โดยทันที และสนับสนุน ให้สถาบันการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ องค์กรและกลุ่มของประชาชน ร่วมกันผลักดัน ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อวางหลักเกณฑ์ มาตรฐานทางการเมือง และ จริยธรรม ทางการเมืองใหม่ รวมทั้งมีส่วนร่วม ในการสรรหาผู้นำประเทศคนใหม่ ตามหลักการประชาธิปไตยโดยเร็ว

พิทยา บวรวัฒนา
อาจารย์ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

"นักธุรกิจถ้าเข้ามาในระบบการเมืองจะต้องทิ้งนิสัยนักธุรกิจ"

ปัจจุบันนี้นักธุรกิจนั้น ยึดทำเนียบรัฐบาลแล้ว ผมเห็นว่านักธุรกิจ ถ้าเข้ามา ในระบบการเมืองจะต้องทิ้งนิสัยนักธุรกิจ ถ้ายังเป็นแบบปัจจุบัน ดังนั้น หน้าที่ ของอาจารย์รัฐศาสตร์ จะต้องหานักธุรกิจ เข้ามาฝึกสอนในคณะรัฐศาสตร์ เข้ามาแล้ว ต้องถอดเสื้อของนักธุรกิจออก เพื่อเรียนรู้ จรรยาบรรณ ทางการเมืองว่า คืออะไร ต่างกันอย่างไร

"และการที่คนหรือนักธุรกิจ ที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั้น ต้องเห็นแก่ส่วนรวม ทั้งประเทศ ไม่ใช้อำนาจในทางทุจริต ต้องซื่อสัตย์สุจริต เป็นคนตรงไปตรงมา กับประชาชน ไม่เอาเปรียบคน เป็นคนใจกว้าง ต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น และเป็นคนถ่อมตน"

อาจารย์ ๕๙ คนของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร รศ.ดร. สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ ได้ออกจดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรีและชาวไทยทุกคนว่า ตลอดระยะเวลา ๕ ปี ที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สร้างความเสียหาย และโกลาหล แก่สังคมไทย และ ยากที่จะเยียวยา ได้ด้วยเวลาอันสั้น ดังต่อไปนี้

(๑) การคอรัปชั่นแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางทุกหนทุกแห่งในสังคม
(๒) สร้างค่านิยมฝังแน่นเข้าสู่ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนให้แสวงหาความร่ำรวยไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม
(๓) นโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลเป็นต้นตอของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
(๔) การปฏิบัติตนเป็นผู้นำไม่เหมาะสมเสมอมา และส่อเจตนาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความแตกแยก ในสังคมไทย
(๕) สร้างวัฒนธรรมการพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล และใช้เงินภาษีราษฎรอย่างไม่ยั้งคิด ไม่ส่งเสริม การพึ่งตนเองของชุมชน
(๖) ทำลายเศรษฐกิจของพ่อค้านักธุรกิจ และประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ ต่อคนส่วนน้อย ที่สวามิภักดิ์ ต่อพรรคการเมือง ฝ่ายรัฐบาล
(๗) ทำการแปรรูปกิจการของรัฐอย่างมีผลประโยชน์แอบแฝงและขาดธรรมาภิบาลที่ดี
(๘) รัฐบาลประพฤติตนเป็นนายหน้าขายสิทธิประโยชน์และทรัพยากรของส่วนรวมให้แก่นายทุนต่างชาติ

ต้นตอของความเสียหายทั้งหมด ดังที่กล่าวมาข้างต้นเกิดจากตัวผู้นำที่ขาดจิตสำนึก มิได้คำนึงถึง หลักจริยธรรม มาใช้กับ การบริหารประเทศแต่อย่างใด จึงขอเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่ง โดยทันที

ด้านคณาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จำนวน ๒๒ คน ส่งจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเช่นกัน โดยระบุว่าหากยังแข็งขืนต่อไป จะยิ่งทำให้ประเทศชาติ เสียหายยิ่งขึ้น พร้อมกับเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ด้วยวิธีอหิงสา
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะประธานคณาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. กล่าว่า จดหมายดังกล่าว เกิดจาก ที่ประชุม คณะคณาจารย์เห็นว่ารัฐศาสตร์ มธ.ควรที่จะต้องแสดงท่าทีออกมา ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ได้เป็นการ โหนกระแสภายหลัง จากคณะอื่น มหาวิทยาลัยอื่นทำ ทั้งนี้อยากให้นายกฯ ประกาศลาออก ผ่านทางรายการ นายกฯ ทักษิณคุยกับประชาชน ก่อนที่จะมีการชุมนุม ในเวลา ๑๓.๐๐ น. ของวันที่ ๔ กุมภาพันธ์

นอกจากนี้ คณาจารย์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. ๒๘ คน มีแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เช่นกับคณาจารย์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต

--------------------

แถลงการณ์ฉบับที่ ๒
มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้นำสูงสุด ของประเทศ มีพฤติกรรมและการกระทำที่ขาดจริยธรรม ขัดต่อหลักศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ในการบริหาร ประเทศ ตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมและการกระทำให้รัฐเสียประโยชน์ ล่าสุดคือ การขายหุ้น ชินคอร์ป ๗๓,๓๐๐ ล้านบาท โดยหลีกเลี่ยงไม่ยอมเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว แม้อ้างว่า ถูกกฎหมาย แต่ก็ไร้ ซึ่งจริยธรรม คุณธรรม และยังมีการพยายามใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน ครอบงำ กระบวนการ ตรวจสอบ รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ทั้งองค์กรอิสระ และสื่อมวลชน ในพฤติกรรมการทุจริต คอรัปชั่น และการบริหาร ประเทศ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อตัวนายก ครอบครัว เครือญาติ และพวกพ้อง

แม้พ.ต.ท.ทักษิณจะอ้างความชอบธรรม จากการมีผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ๑๙ ล้านเสียง แต่ความชอบธรรมนี้ ย่อมน้อย หมดลงไป เมื่อมีการกระทำ ที่ขาดจริยธรรม และขาดศีลธรรมของผู้นำ ปรากฏชัดแจ้ง ทั้งนี้ การมอบฉันทะ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลนั้น ผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง มีเจตจำนงชัดเจนว่า ต้องเป็น ผู้นำที่ดี และประพฤติปฏิบัติตามกรอบจริยธรรม และศีลธรรม นำพาประเทศไปสู่ทิศทาง ที่ถูกต้อง
แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติกรรมและการกระทำ ที่ขาดจริยธรรม และศีลธรรมของผู้นำ จึงไม่อาจ กล่าวอ้าง ความชอบธรรม จากเสียงของผู้เลือกตั้งทั้ง ๑๙ ล้านเสียงได้ กลุ่มวิชาการเพื่อสังคม จังหวัด ขอนแก่น จึงขอเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีเงื่อนไข และเปิดให้มี การสรรหาผู้นำประเทศคนใหม่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามครรลองของกฎหมาย และระบอบ ประชาธิปไตย

หมายเหตุ : เป็นแถลงการณ์ของกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามกลุ่มวิชาการเพื่อสังคม จังหวัด ขอนแก่น ซึ่งนำโดยนายสัมพันธ์ เตชะอธิก

----------------

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
ส.ว.อุบลราชธานี
"นายกฯทักษิณเป็นปัญหาของแผ่นดิน"

นายกฯทักษิณเป็นปัญหาของแผ่นดิน การคอร์รัปชั่นในสมัยรัฐบาลนี้แบ่งได้ ๕ วิธี คือ

๑. คอร์รัปชั่นทั้งระบบ คือ การเข้าสู่อำนาจโดยใช้ธนกิจการเมืองนำ ใช้อำนาจในทางมิชอบ ในการคอร์รัปชั่น แบบบูรณาการ

๒.การคอร์รัปชั่นเข้าสู่อำนาจ โดยการทำให้มีประชาชนเลือก ๑๙ ล้านเสียง มีเผด็จการทหาร ทุนนิยม ผูกขาด ระบบประชาธิปไตย ผูกขาดอำนาจ โดยมีการเผด็จการรัฐสภา แล้วให้นายกรัฐมนตรีเป็นศูนย์กลาง วุฒิสภา ได้ตายไปแล้วในปัจจุบัน เกิดการแทรกแซงควบคุมองค์กรอิสระ และฮุบสื่อ

๓.คอร์รัปชั่นการใช้อำนาจ มีเป็นระบบการจัดซื้อแบบผูกขาด โดยโกงแบบถูกกฎหมาย ผูกขาดอำนาจรัฐ ทุจริตเชิงนโยบาย และมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน ดังนั้นพลังตรวจสอบจะต้องเกิดขึ้นจากพลังทางสังคม พลังทางสื่อมวลชน ศาล นักวิชาการ วุฒิสภาและองค์กรอิสระ

"๔. คอร์รัปชั่นโดยมีนายทุนข้ามชาติเข้ามา เป็นการโกงอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล ทำให้ขาดการตรวจสอบ ยึดทรัพย์ไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบัน เช่น ความยากจน ทุนนิยมและบริโภคนิยม มีการชิงดีชิงเด่น ขาดคุณธรรม และจริยธรรม ใช้ความรุนแรงในสังคม และ

๕. การคอร์รัปชั่นที่เกิดจากการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๐๙"

------------------

สุทธิชัย หยุ่น ([email protected])
"ฉลาดแกมโกง" แบบ "ศรีธนญชัย" กำลังกลายเป็นเรื่องทันสมัยของสังคมไทย
เพราะคนระดับนำ ของประเทศ เป็นผู้ทำเสียเอง

เดี๋ยวนี้อ้างว่า "ไม่ผิดกฎหมาย"อย่างเดียว ก็สามารถจะทำอะไรได้เพื่อผลประโยชน์ของตนและพรรคพวก แม้ว่า สังคมส่วนใหญ่ จะมองด้วยความรังเกียจ เดียดฉันท์ เพราะตนเองอยู่ในฐานะที่จะกำหนดนโยบาย และแนวทาง ของประเทศชาติได้อยู่แล้วก็ตาม

สังคมไทยเคยยึดถือ จริยธรรมเป็นหลัก เคยถือเอา "ความเป็นธรรมของสังคม" ตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่ใช่อ้าง แต่เพียงความถูกต้องของกฎหมายเท่านั้น แต่เมื่ออำนาจกับเงิน กลายเป็นเป้าหมายสูงสุด ของผู้คน ที่อยู่ในรัฐบาลเสียแล้ว ความถูกต้องชอบธรรมก็เหือดหาย กลายเป็นว่าใครมีอำนาจ ใครมี ความสามารถ ในการสร้างอิทธิพลให้เหล่าบรรดาข้าราชการประจำต้องเกรงกลัว ก็สามารถหลบเลี่ยง กฎหมายได้ คนรวยและมีอำนาจ สามารถอ้างกฎหมาย ไม่ต้องเสียภาษีเลย

ขณะที่คนหาเช้ากินค่ำ ถูกบอกกล่าวให้เป็น "พลเมืองดี" ด้วยการเสียภาษีทุกบาททุกสตางค์อย่างนี้ สังคม จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร? ยังน่าสงสัย เพราะไม่ว่า จะอ้างกฎกติกาอย่างไร หากความไม่เป็นธรรม ระหว่าง คนรวยกับคนจน ช่องว่างระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองกว้างใหญ่ไพศาลขึ้นทุกวันแล้วไซร้ ก็เชื่อได้ว่า สังคมจะถึงจุดระเบิดนั้นได้ ในไม่ช้านัก

ใครนึกว่าตัวเอง "ฉลาด" แล้ว ทำอะไรเพื่อตัวเองจะได้ประโยชน์ก็ได้นั้น ต้องอ่านที่ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยเขียน เอาไว้ ว่าด้วย "ความฉลาดที่เป็นพิษ" ช่างตรงกับเหตุการณ์วันนี้ในเมืองไทยอย่างเหลือเชื่อ

ความฉลาดที่เป็นพิษ!
ความฉลาดที่ปราศจากการบังคับจิต
ฉลาดที่ปราศจากศีลธรรมควบคุม
ฉลาดที่อยู่ใต้อำนาจกิเลส : ยิ่งกว่าโง่
ฉลาดของคนไม่รู้จักผิดชอบก็มีได้
ฉลาดที่ปราศจากอดทนมักตายด้าน
ฉลาดบางชนิดสู้ไม่ฉลาดไม่ได้
ฉลาดบางชนิดวกกลับมาฆ่าตัวเอง
ฉลาดที่ไม่เมตตา ยิ่งกว่ายักษ์โง่
ความฉลาดที่บังคับไม่ได้ : ขี่ม้าที่บังคับไม่ได้
คอมปิวเตอร์จะฉลาดไปกว่าคนใช้ไม่ได้
* ท่านพุทธทาสภิกขุ