หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

 

เปิดเล่ห์ ข้ามโลก (ตอนที่ ๒) / ๒
โดย ดร.นิติภูมิ นวรัตน์


หน้า 2/2


(อ่านต่อจากฉบับที่ ๑๒๘)

นายชวนไปอเมริกา ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ดอกเตอร์มหาเธร์ โมฮัม-หมัด ตะโกนด่า จอร์จ โซรอส ทุกวันว่าเป็นปีศาจที่มาโจมตีค่าเงินของเอเชีย ประเทศอื่นก็ช่วยกันด่า ประเทศ ไทยเงียบเชียว เงียบไม่พอ พอพวกคอหอย ลูกกระเดือกที่อยู่รอบๆ ชวนไปอเมริกา แรกๆ ไม่ไป แต่ตอนหลังไป ท่านทั้งหลายเชื่อไหม ตอนที่นายกฯ ชวนไปอเมริกา ผมว่าคนที่ร้องไห้น้ำตานองแผ่นดินต้องเป็นด็อกเตอร์มหาเธร์ โมฮัมหมัด เพราะนายกฯ ชวนไปอเมริกา ยังไม่ทันเข้าโรงแรม เขามีงานเลี้ยงให้ตอนเย็น แล้วคนที่เป็นเจ้าภาพ งานเลี้ยงก็คือนายจอร์จ โซรอส ดูสิครับ อาเซียนกำลังต่อสู้กับจอร์จ โซรอส อยู่ กำลังต้องการจะเลิกใช้เงินอเมริกา แต่นายชวน แหกคอก ไม่ได้มีความรักกลุ่มอาเซียน ไปจับมือกับนาย จอร์จ โซรอส เฉยเลย วินาทีที่มือนายชวนสัมผัส กับมือนายจอร์จ โซรอส วินาทีนั้นแหละที่กลุ่มอาเซียนแตก การค้าขายระหว่างไทย กับมาเลเซีย ที่ว่าจะใช้ริงกิตนั้นไม่เกิดขึ้น วันรุ่งขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ น้ำมันในประเทศ อินโดนีเซีย ขึ้นราคา ขึ้นไปทีละ ๕% ๒% เป็นที่น่าแปลกมาก อินโดนีเซียมีบ่อน้ำมันเอง แต่บริษัทน้ำมันส่วนมากเป็นของอเมริกา พออาเซียนแตกปั๊บ เขาสั่งบริษัทน้ำมัน ในประเทศอินโดนีเซียให้ขึ้นราคาทันที

ประเทศทุกประเทศเคลื่อนไปได้ด้วยน้ำมัน ผมมาวันนี้ผมนั่งเรือบินมา เรือบิน ก็ใช้น้ำมัน จากสนามบินมาที่นี่ ก็นั่งรถ รถก็ใช้น้ำมัน เมื่ออเมริกาไปสั่งให้ บริษัทตัวเอง ขึ้นราคาน้ำมัน ประเทศเขาก็อยู่ไม่ได้ เดือดร้อนไปทั่ว ซูฮาร์โต เดิมก็เป็นคอหอย กับลูกกระเดือก อเมริกา แต่พอมาเป็นประธานาธิบดี ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ก็เริ่มรู้ว่า อเมริกาเป็นอย่างไร จึงเริ่มตีตัวออกห่าง เอาตัวเองมาพิงกับ กลุ่มอาเซียน พอเป็นอย่างนี้อเมริกาก็ซัด ซูฮาร์โต โดยการสั่งขึ้นราคาน้ำมันนั่นเอง วันที่ซูฮาร์โต ต้องลงจากประธานาธิบดี เพราะน้ำมันอินโดนีเซียขึ้นไปถึง ๔๓ % พอขึ้นขนาดนี้ ก็ปั่นป่วนทั้งประเทศ ซูฮาร์โตจำเป็นต้องลงจากตำแหน่ง นายฮาร์บิบี ก็ขึ้นมา

มันมีมือที่มองไม่ค่อยเห็นคอยจัดการอยู่ เป็นมือของอเมริกา ถ้าวันนั้น ชวนไม่ไป เหตุการณ์อย่างนี้ก็ไม่เกิดขึ้น นายจอร์จ โซรอส ตีเมืองไทยชนะ จะไปตีมาเลเซีย บอกมาเลเซียต้องกู้เงินไอเอ็มเอฟ มาเลเซียไม่เอา เขาจะช่วยตัวเอง เขาจะพึ่งตัวเอง เขาติดหนี้ไม่แพ้เมืองไทย แล้วตอนนั้น NPL ของเขา ๓๕ บ้านเรา ธนาคารพาณิชย์ เท่าไหร่ วันนี้ ๓๕ เหมือนกัน แต่เฉพาะกรุงไทย ขึ้นไป ๖๐-๗๐ ของเขา ๓๐ กว่า เหมือนกัน แต่เขาไม่เอาเงินไอเอ็มเอฟ จะไม่พึ่งพาฝรั่ง และด็อกเตอร์มหาเธร์ โมฮัมหมัด สั่งปิดประเทศทันที เพราะกลัวฝรั่งจะเข้าไปทำให้ยุ่ง ใครจะนำเงินออกจาก ประเทศมาเลเซีย จะต้องมีรายงานว่าจะเอาเงินไปทำอะไร และจะเอาไปเกินจำนวน ที่รัฐบาลกำหนดไว้ไม่ได้ เงินเข้าได้ แต่ออกไม่ได้ และท่านประกาศเลยว่า งดใช้หนี้

พองดใช้หนี้ เงินก็ไม่ไหลออกมา วันนี้ NPL ของมาเลเซียเท่าไหร่ เขาไม่มีหนี้แล้ว เขาหมดหนี้แล้ว หมดไม่พอ NPL ที่เป็นหนี้สูญนั้นเหลือไม่ถึง ๕ คือเหลือ ๓ กว่าๆ บ้านเรานายชวน โยนสตางค์ไปที่แบงก์ ก็เพราะว่าคนที่อยู่รอบๆข้าง เป็นนายแบงก์หมด ธารินทร์ก็แบงก์ พวกนี้สมองมีแต่แบงก์ ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ระมัดระวัง ไม่เอาคนในแบงก์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่บ้านเราแปลก ขึ้นมากี่คน ก็เป็นนายแบงก์กันทั้งนั้น ธารินทร์ก็เป็นนายแบงก์ เลยคิดว่า ถ้าจะเอาประเทศให้รอด ต้องแก้ไขปัญหาที่แบงก์ก่อน ก็ให้นายชวน โยนสตางค์ ไปที่แบงก์ โยนไปเท่าไหร่ก็หายหมด เพราะว่าแบงก์ไปกู้เงินเมืองนอก มาทั้งนั้น โยนเท่าไหร่ก็หาย

ยังจำได้ไหม โยนไปงวดแรกสี่แสนล้าน หายวับไปกับตา ของมาเลเซียเขาไม่โยนเลย เพราะเขาไม่ต้องไปใช้จ่ายสตางค์ให้ใคร ตอนที่ท่านชวลิตออกไปนั้น ทราบว่ามีหนี้อยู่ ไม่กี่แสนล้าน ปรากฏวันนี้นายชวน หลีกภัย มาอยู่ ๒ ปีกว่าๆ ตอนนี้หนี้กลายเป็น ๓.๓ ล้านล้าน หรือเท่าไหร่ไปแล้ว มันเลยไปตั้ง ๒ ล้านล้านกว่า หนี้พวกนี้คือพวกที่โยนไป แล้วหาย คือตั้งใจจะไปแก้ปัญหาข้างบนนั้น

ผมยังจำได้ ตอนที่เกิดปัญหาอย่างนี้ ผมเขียนลงไปในไทยรัฐนี่แหละว่า การแก้ไข ปัญหาที่มันเกิดอย่างนี้ มันต้อง หยุดเลือด อย่าให้เลือดไหลก่อน ถ้าหยุดเลือดได้ มันก็พอพยุง แล้วมารักษาว่าเราเป็นโรคอะไร นี่นายกฯ ชวน แขนก็ขาด เลือดก็ไหลไป พยายามมารักษาตัว มันรักษาไม่ได้หรอก ผมบอกว่าการจะแก้ไขปัญหาอย่างนี้ มันต้องแก้ทุกระบบ คนจนก็ต้องแก้ด้วย ยังจำได้ ผมแนะนำในไทยรัฐขนาดว่า ให้รัฐบาลออกคูปองฟรี แจกประชาชนไปเลย อยากจะแจกก็แจก ไปเลย ปรากฏว่า ผู้คนตามมหาวิทยาลัย ออกมาด่ากันใหญ่ว่า เดี๋ยวนี้มีนักวิชาการ สติเฟื่อง จบมาจากรัสเซีย แล้วบอกว่าให้แจกสตางค์แก่ประชาชน คนที่เคยเป็นอดีต คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนแรก ที่ออกมาด่าผม ตอนนี้เป็นที่ปรึกษานายชวนไปแล้ว คนผู้นี้ผมรู้จักดี เพราะสมัยผม อยู่รัสเซีย ท่านเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่านก็ไปอยู่กับผมด้วย ไปเที่ยว ผมก็พาไป พอกลับมาไปอยู่ทางซีกโน้น ออกมาเขียนด่ากันใหญ่เลย ทางมติชนบ้าง อะไรบ้าง เขียนบอกว่ามีคนสติเฟื่อง มาเขียนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ฉบับหนึ่ง แล้วดันไปบอกว่า ให้แจกเงินประชาชน ผมบอกว่าการแจกเงินประชาชน ไม่ใช่เรื่องผิด ปัญหามันเกิดอย่างนั้น สภาวะในประเทศไม่กระดิกพลิกตัวนี่ ต้องไปกระตุ้นพื้นรากกัน แต่อย่าแจกเป็นสตางค์ เพราะถ้าแจกเป็นสตางค์ คนมีสตางค์บ้างก็เก็บ ต้องแจก เป็นคูปอง แล้วระบุวันหมดอายุด้วย ว่าคูปองนี้ ใช้ได้เดือนเดียว ใช้ได้ ๒ เดือนเท่านั้น ที่ต้องระบุอายุ เพราะถ้าไม่ใช้ เงินก็หายไป คนก็เริ่มมาใช้

สมมุติเราแจกไปคนละ ๒,๐๐๐ สมมุติเงินสี่แสนล้านเอามาหาร แจกไปคนละพัน สองพัน คนที่ขายของในตลาดสด พอเขาได้คูปองมาเขาก็ต้องรีบใช้ เพราะถ้าไม่ใช้ มันหมดอายุ เขาอาจจะไปซื้อของในตัวตลาด ร้านที่อยู่ในตัวตลาด ได้รับคูปองมา ก็เอาไปซื้อของต่อ ส่วนที่เป็นหนี้แบงก์ ก็เอาเงินที่ตัวเองได้ไปใช้แบงก์ เหตุการณ์อย่างนี้ มันน่าจะเกิดขึ้นโดยไปกระตุ้นที่พื้นราก จากเงินแม่ค้าในตำบล มาแม่ค้าในอำเภอ จากแม่ค้าในอำเภอ ไปที่แบงก์ในอำเภอ จากแบงก์ อำเภอ ไปแบงก์จังหวัด จากแบงก์จังหวัด ไปแบงก์ประเทศ เงินจะหมุนอย่างนี้ ตามหลักเศรษฐศาสตร์ บอกว่าเงินหมุนประมาณ ๓ รอบ หมายความว่าเงินสี่แสนล้าน ถ้าไปเริ่มกระตุ้นที่พื้นราก เงินจะขึ้นไปข้างบน แล้วจะวกกลับมาข้างล่าง แล้วก็ไปข้างบน ทั้งหมด ๓ รอบ ปริมาณการใช้จะเกิดการกระตุ้น เงินจะผ่านคนโน้น ผ่านคนนี้ จะเกิดการจ้างงานขึ้นในประเทศ เงินที่ผ่านมือ จะก่อให้เกิดการขยาย ปริมาณเงินขึ้นอีก ๓ เท่า เป็นล้านกับอีกสองแสนล้าน

แต่รัฐบาลโยนไปข้างบน โยนไปก็หายเข้าเมืองนอก ไม่มีโอกาสตกมาถึงข้างล่าง ปี ๒๕๔๐-๔๑ เราไม่มีเงินติดบ้าน เงินไม่ติด เพราะโยนไปข้างบนแล้วหายไปหมด การแก้ไขปัญหาต่างกัน เพราะคนมีภูมิต่างกัน

คนสำคัญที่ภูมิหลังพอสมควร คนที่ไปนั่งบริหารในคณะรัฐมนตรี อย่างเช่นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ท่านไปเมืองนอก ตั้งแต่เด็กๆ ไปอยู่โรงเรียนกินนอนของฝรั่ง โรงเรียนกินนอน ก็เป็นสังคมของผู้ดี กับผู้ดีด้วยกัน รู้แต่ภาษาฝรั่ง ไม่รู้กฐินผ้าป่า เป็นอย่างไร จบปริญญาตรี ก็เรียนที่ ออกซ์ฟอร์ด เรียนอะไรทำนองนี้ พอกลับมา บ้านเรา เห็นว่าหน้าตาดี การเงินดี ก็ชักชวนไปสมัคร ส.ส. แล้วมาเป็นรัฐมนตรีหนุ่มๆ ผมอยากจะถามว่า คนอย่างรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนี่ เคยนั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สักกี่ครั้ง คนอย่างด็อกเตอร์สาวิตต์ โพธิวิหค จบมาจากฮาร์วาร์ดอย่างนั้น เคยมาจับจอบ จับเสียมทำอย่างนี้ไหม แต่คนพวกนี้ คือผู้ที่ไปนั่งบริหาร ออกกฎ ระเบียบ มาแก้ปัญหาให้พวกเรา จะแก้ได้อย่างไร คนจะแก้ได้ ต้องรู้เรื่องอย่างนั้นก่อน คนเป็นรัฐมนตรีดูแลเรื่องรถเมล์ แต่ไม่เคยนั่งรถเมล์ จะแก้ได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เป็น ปัญหาในบ้านเรา

พอเขียนไปอย่างนั้น ก็ออกมาด่ากันใหญ่ รวมทั้งออกมาด่า ด็อกเตอร์มหาเธร์ โมฮัมหมัดด้วย ขนาดหนังสือพิมพ์ฝรั่ง นิวส์วีค ไทม์ อิคอนนะมิสท์ ลงภาพด็อกเตอร์ มหาเธร์ โมฮัมหมัด วิเคราะห์วิจารณ์ตรงกันหมด ว่าประเทศมาเลเซีย จะต้องแตก ในไม่ช้านี้ แล้วก็ไปหนุนตัวแทน แต่ละประเทศ จะมีตัวแทนของฝรั่งอยู่ในมาเลเซีย ตัวแทนของฝรั่งก็คือคนที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ถูกจับขังคุก ทุกวันนี้ประเทศไทย ก็มีตัวแทนฝรั่งที่พานายกฯ ชวนไปอเมริกา นั่นแหละ ประเทศพม่าก็มี อองซาน ซูจี หน้าตาก็ดี นิสัยใจคอ ก็ดี แต่เป็นตัวแทนฝรั่ง

พอลงหน้าปกด็อกเตอร์มหาเธร์ เสร็จ อีกฉบับหนึ่งไปลงหน้าปกอันวาร์ บอกว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศมาเลเซีย ตอนนั้นผมลงไปมาเลเซียทุกอาทิตย์ บางอาทิตย์ลงไป ๒-๓ ครั้ง ไปอยู่ตามบ้านต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูล ถึงรู้ว่าอเมริกา มาทำปฏิบัติการ จิตวิทยาไปทั้งประเทศ ให้คนลุกฮือขับไล่ ด็อกเตอร์มหาเธร์ โมฮัมหมัด เพราะไม่ไปกู้เงินฝรั่งมาเท่านี้เอง ไม่ยอมตามฝรั่งเท่านั้น เพราะถ้ากู้เงินเขา เขาบอกคุณจะกู้เงินผมใช่ไหม คุณจะกู้เงิน คุณต้องทำตามข้อ ๑,๒,๓ ต้องทำตาม ผมบอก ด็อกเตอร์มหาเธร์ไม่กู้ จึงไม่ต้องทำตาม ฝรั่งโกรธ บอกใครๆ ก็กู้ กันทั้งนั้น ทำไมมาเลเซียไม่กู้ เลยเอาด็อกเตอร์ มหาเธร์ลง จำได้ไหม ด็อกเตอร์ มหาเธร์ แกล้งป่วย ๑ เดือน ตอนที่จะจัดการอันวาร์ อิบราฮิม รักษาการนายกรัฐมนตรี แล้วด็อกเตอร์มหาเธร์ ก็บอกว่าจะไปรักษาตัว ให้คนใกล้ชิดแอบส่งแฟ็กซ์ ส่งข่าวตลอด อะไรที่อันวาร์เซ็น ให้ส่งข่าวตลอด สิ่งที่อันวาร์เซ็นลงชื่อไป เป็นการเข้าข้างฝรั่งตลอด แล้วแปลกอยู่อย่าง ตอนที่อเมริกาเชิญอันวาร์ อิบราฮิมไปประเทศอเมริกา ไม่เชิญนายกรัฐมนตรี แต่เชิญรองนายกฯ ไป การเชิญไป คนที่ไม่ได้เป็นประมุขของรัฐ เขาจะไม่ปูพรมแดงต้อนรับ แต่อเมริกา กลับปูพรมแดงต้อนรับอันวาร์ อิบราฮิม เท่านี้ก็รู้ว่า อเมริกาคิดอย่างไร

อ่านต่อฉบับหน้า

 
 ฉบับที่ 128   อ่านต่อฉบับ 130

(เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๙ เม.ย. ๔๔ หน้า๓๖)