แว้งที่รัก ตอน พ่อจ๋า แม่จ๋า

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 129

เดือน เมษายน 2544


 

น้อยนั่งเรียงใบพลูให้แม่อยู่หน้าบ้านคนเดียว พี่แมะอยู่หลังบ้าน กำลังช่วยแม ่แกะลูกเนียงที่แก่ จัดจนเปลือกแตกอ้าออกเป็น ๒ ซีกเพื่อเอาลงฝังทรายในโคม (กะละมัง) ขาวใบใหญ่ที่ทะลุแล้ว

ทรายที่เพาะลูกเนียงนั้น พ่อเอาถังไปตักมาจากคลองแว้ง เป็นทรายขาวสะอาด เพราะลำธารสายนี้ไหลมาจากภูเขาโต๊ะโมะ แม่ตักน้ำใส่ลงไปในถังทรายก่อน ให้มากพอที่ทรายจะเปียกชื้น พี่แมะช่วยเคล้าทรายกับน้ำ จากนั้นแม่ก็กอบทราย เกลี่ยลงไปในก้นโคมจนทั่ว แล้วสอนให้พี่แมะเรียงลูกเนียงลงไป โดยให้มีที่ว่าง ระหว่างแต่ละลูก เพราะลูกเนียงจะพองตัวของมันขึ้นอีกมาก พอพี่แมะเรียงลูกเนียง เต็มก้นโคมแล้ว แม่ก็บอกให้เกลี่ยทรายกลบชั้นลูกเนียงนั้น ให้หน้าทรายเรียบเสมอกัน ก่อนที่จะเรียงลูกเนียงชั้นที่สองลงไปเหมือนชั้นแรก

พี่แมะฝังลูกเนียงเป็นชั้นๆอย่างนี้จนหมด ก็เป็นอันว่าเสร็จการเพาะลูกเนียงแล้ว ลูกเนียงจะถูกฝังไว้ในทรายอย่างนั้น ไม่ต้องทำอะไรกับมันอีกเลย นอกจาก ถ้าเห็นว่าทรายแห้ง น้อยก็ช่วยแม่พรมน้ำลงไป ให้ทรายชื้นเสมอกันทั้งโคม

ลูกเนียงจะถูกเพาะไว้อย่างนั้น จนเปลือกนอกสีน้ำตาลของมัน หลุดล่อนออก เนื้อในเปลี่ยนจากสีเดิม ที่ค่อนข้างเหลืองมาเป็น สีเหลืองอมเขียว และถ้าฝังต่อไป อีกมันก็จะมีรากงอกออกมา พ่ออธิบายว่า นั่นแสดงว่ามันพร้อม ที่จะโตขึ้นมาเป็นต้น แล้ว จะต้องรับประทานเสียก่อน ตั้งแต่มันยังอยู่ในระยะเพาะ

ลูกเนียงฝังทรายอย่างนี้ เรียกว่า “ลูกเนียงเพาะ” บางคนก็เรียกว่า “ลูกเนียงหมาน” เนื้อของมันแข็งกรอบ แต่กลิ่นมันแรงเหลือเกิน จนน้อยไม่ชอบ เธอชอบรับประทาน แต่ลูกเนียงอ่อนที่ เนื้อของมันใสนวล อมเขียวนิดๆ แม่เพาะลูกเนียงเหล่านี้ ไว้ขาย ให้แขกในตลาด เพราะแม่ซื้อ ลูกเนียงแก่มาด้วยราคาถูกมาก และลูกเนียงเพาะ จะอยู่ได้นาน ยิ่งถ้าเก็บไว้ขายตอนหมดหน้าลูกเนียงสด ก็จะได้ราคาดี

ส่วนพลูที่น้อยนั่งเรียงใบ อยู่นั้น คนที่แว้งซื้อขายกันเป็น “กำ“ กำหนึ่งมี ๔ แบะ (ภาคกลางเรียกว่า เรียง) แบะหนึ่งมี ๒๐ ใบ เขาจะเรียงใบพลูเหล่านี้ตามขนาด คือ ใบใหญ่ที่สุดอยู่ข้างนอก แล้ว ค่อยๆลดขนาดลงไปเรื่อยจนถึงใบสุดท้ายเป็นใบเล็กที่สุด พอเรียงอย่างนั้นได้ ๔ แบะแล้ว เขาก็ใช้เถาวัลย์สดชนิดหนึ่งสีเขียว อมน้ำชุ่มฉ่ำ มัดไขว้ไปมา แล้วผูกปลายเป็นเงื่อนกระตุก การ "มัดพลู" นี้ มีแบบของแต่ละแห่ง โดยเฉพาะ ไม่เหมือนกัน คนกินหมากอย่างแม่ พอเห็นปุ๊บก็จะบอกได้ทันทีว่า เป็นพลูของที่ไหน น้อยกับพี่แมะ ก็พอบอกได้เหมือนกัน คือบอกได้ว่าแบบไหน เป็นพลูแว้ง เพราะถ้าไม่มัดพันแบบนั้น ก็แสดงว่าไม่ใช่พลูแว้ง

ความจริงเวลาแขกเอาพลูมา ส่งให้แม่ เขาก็มัดมาเป็นกำแล้ว แต่แม่ว่าเขาทำไม่สวย แม่ให้ลูกทั้งสอง แก้มัดออกทำใหม่ เริ่มหัดกันทีละ ๒ - ๓ กำก่อน แม่สอนให้คัด ใบที่ไม่ดี เป็นต้นว่า ใบที่เป็นรู ใบเหลือง หรือที่ช้ำมากๆ ออกเสียก่อน จากนั้นก็ใช้ กรรไกร ค่อยๆเล็มส่วนของใบที่ไม่ดีทิ้งไป แยกใบที่ตัดแล้วนี้ไว้ต่างหาก แม่ยอมเอา มาไว้รับประทานเอง เพื่อให้พลูที่ขายไปจากแม่นั้น ได้ชื่อว่าเป็นพลูที่คัดมา อย่างดีแล้ว คนซื้อเขาจะได้ไม่เกี่ยงราคา ที่แม่เสนอขาย หรือถึงต่อบ้างก็ไม่มากนัก นานเข้าเขาก็จะเชื่อถือ ของทุกอย่างที่ไปจากแม่ ว่าเป็นของดี มีคุณภาพ

เลือกใบพลู ที่ไม่สวยออกแล้ว แม่ก็สอนให้ลูกทั้งสอง เรียงใบพลูใหม่ โดยไล่ขนาด ให้ดีจริงๆ ไม่อัด กันจนแน่น เรียงแล้วก็มัดพันกำให้เรียบร้อย พอทำเสร็จ พลูของ แม่ทุกกำ ดูเป็นพลู กำใหญ่ ใบเรียว ยาว สวยเสมอเหมือนกันหมด ต่างจากตอนที่ ซื้อมาจาก ชาวบ้านลูโบ๊ะดาแล เหมือนพลูคนละเจ้า

ก่อนมัดเป็นกำ แม่ให้ลูกๆนับ จำนวนใบ ให้ถูกต้องด้วยทุกเรียง ขาดไม่ได้ แม้แต่ใบเดียว เพราะจะเท่ากับโกงคนซื้อ แม่ว่าเป็นบาป การนับจำนวนใบพลูนี้ ตอนแรกที่หัดทำ น้อยนับพลูทีละใบ และมักจะ ขล๊อง*(สับสน หรือปนเปกัน เพราะความงงหรือลืม) เสมอ ต้องนับแล้วนับใหม่อยู่บ่อยๆ เพราะตาลายบ้าง เผลอคุยกับพี่แมะจนลืมไปเสียบ้าง

น้อยนับ หนึ่ง สอง สาม สี่... ไปเรื่อยโดยแม่ไม่ได้สังเกต จนกระทั่งมารู้สึกว่าลูกคนเล็ก ทำงานช้าผิดปรกติ แม่จึงสอนวิธีนับพลูอย่างฉลาด และรวดเร็วถูกต้องให้น้อยเสียใหม่

“ดูนี่ น้อย แม่จับก้านใบพลู เข้า ๒ ก้าน นี่ ๑ คู่ มีกี่ใบ ลูก?” เมื่อน้อยตอบว่ามี ๒ ใบ แม่จึงนับต่อไปทีละคู่จนหมด ๑ แบะ ได้มา ๑๐ คู่ “น้อยเข้าใจไหม ถ้านับก้านพลูทีละคู่ น้อยก็จะนับแค่สิบเท่านั้น สิบคู่ก็เท่ากับยี่สิบใบ เร็วด้วย ไม่ลายตาด้วย”

“แล้วถ้าน้อยนับทีละสามก้าน หรือสี่ก้านเลยได้ไหมคะแม่?” น้อยถาม แม่ยังไม่ตอบ ว่าดีหรือไม่ดี แต่บอกว่า “เอ้า น้อยลองนับดูเองสิลูก” น้อยลงมือนับทีละ ๓ ก้าน เธอพบว่ามันไม่ลงตัว คือนับไปได้แค่ ๖ ก็เหลืออีก ๒ ก้าน เป็นอันว่า ใช้ไม่ได้

“มันไม่พอดีค่ะแม่ น้อยจะนับที่ละสี่ก้านนะคะ” เธอบอกแม่ เมื่อแม่ยังไม่พูดอะไร น้อย จึงลงมือนับใหม่ คราวนี้เธอลองนับทีละ ๔ ก้านเพราะคิดว่าน่าจะเร็วกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

“หนึ่ง สอง...” พอถึงแค่นั้น นิ้วที่น้อยใช้หมายก็พลาด เธอต้อง เริ่มนับใหม่ อย่างระมัดระวัง พอนับไปได้ถึง ๔ น้อยก็มองเลยไป ยังใบพลูที่เหลือ เธอเห็นว่า มีเหลืออีก ๔ ก้านจะครบ ๒๐ ใบ ตามองไป นิ้วที่หมายก้านไว้ก็พลาดอีก น้อยบอกตนเองว่า ไม่ได้เรื่องแน่แล้ว สู้นับทีละคู่แบบแม่สอนไม่ได้ เธอเงยหน้า ยิ้มกับแม่ พูดว่า

“น้อยเข้าใจแล้วค่ะแม่ ถ้านับทีละสามมันไม่พอดี ถ้านับทีละสี่ ต้องนับห้าครั้ง จึงจะได้ยี่สิบใบ แต่ จับยาก นับแบบแม่ว่าดีที่สุดค่ะ”

โดยวิธีนี้ น้อยจึงช่วยแม่เรียงพลูและมัดพลูได้เป็นอย่างดีมาตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ และจำไว้ในใจได้ด้วยว่า “ถ้านับทีละ ๒ สิบหน ก็เป็น ๒๐ ถ้านับทีละ ๔ ห้าหนก็เป็น ๒๐ เหมือนกัน”

และเธอเพิ่งมาทราบจากพ่อเอาเมื่อโตมากแล้วว่า ที่แม่ปล่อยให้เธอลองนับก้านพลู ูเอาเอง ในครั้งนั้น แทนที่แม่จะดุว่าลูกไม่ทำตามที่แม่สั่งตั้งแต่แรก ก็เพราะสมัยที่แม่ ยังเล็ก ไม่มีโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิง พ่อแม่ของแม่ คือตาและยายของน้อย ไม่ยอม ให้ลูกๆ ซึ่งมีแต่ผู้หญิง ไปเรียนกับครูข้างนอก อย่างมาก ก็จ้างครูสูงอายุ ให้มาสอน พี่ๆ ของแม่ให้ "ชักสวด" เพื่อ "สวดหนังสือ" **กันที่บ้าน

เรื่องสูตรคูณ แม่ก็ไม่เคยเรียนมาก่อนเหมือนกัน พ่อเล่าว่า แม่เพิ่งมาเรียนด้วยตนเอง เมื่อมาอยู่กับ พ่อแล้วนี่เอง แม่สอนตนเอง ด้วยเม็ดข้าวโพดแห้ง โดยแบ่งเม็ดข้าวโพด เป็นกองๆ แล้วนับจำนวนเม็ด จนแม่เข้าใจดี และเมื่อทำบ่อยเข้าจนชำนาญ แม่ก็สามารถ คิดเลขในใจได้เร็ว จนแข่งกับพ่อที่ดีดลูกคิด แบบสมุห์บัญชีได้ไม่แพ้กัน นี่คือแม่ ของน้อย ที่ไม่มีโอกาส ได้เข้าโรงเรียนเหมือนลูกทั้งสอง

ตามปรกติ น้อยจะเป็นเด็กช่างพูดช่างซัก แต่วันนี้เธอนั่งเรียง พลูและมัดพลู อย่างเงียบๆ คนเดียว น้อยนั่งชันเข่า วางคางลงบนเข่าที่ชัน บ่อยครั้ง ที่เธอถือพลูไว้มือหนึ่ง ยกอีกมือขึ้นป้ายน้ำตา

น้อยมีอาการเงียบ และเศร้าสร้อยมาตั้งแต่หัวรุ่ง เมื่อตื่นขึ้นมาไม่เห็นพ่อ แม่บอกว่า พ่อต้องออกเดินทางไปสุไหงโก-ลก ตั้งแต่ตอนเที่ยงคืน จึงไม่ได้บอกลาเธอ และเธอก็ ไม่ได้ตื่นมาส่งพ่อด้วย น้อยไม่อยากเล่นหัวกับใคร ไม่รู้สึกหิวข้าวด้วย พี่แมะเองก็ดูเศร้าๆ เหมือนกัน แม่บอกว่า “กินข้าวเสียน้อย ถึงไม่หิวก็ต้องฝืน พ่อไม่ได้ปลุกน้อยตอนนั้น ก็เพราะลูกกำลังหลับสบาย น้อยรู้นี่นาว่าทำไมพ่อต้องไป ตอนกลางคืน ไม่ใช่หรือลูก? “

น้ำตาเม็ดโตของน้อยร่วงเผาะ ขณะพยักหน้ารับกับแม่ว่า เธอทราบว่าทำไม เธอไม่ได้อ่อนแอ เพียงแต่เธอห้ามใจไม่ให้คิดถึงพ่อไม่ได้ ชำเลืองมองดูนาฬิกาที่ฝาเรือน ป่านนี้พ่อขึ้นรถไฟไปแล้ว เว้นเสียแต่- เว้นเสียแต่ว่า- พ่อต้องเผชิญหน้า กับอะไรบางอย่าง ระหว่างทาง

“หมี...หรือ...เสื- “ โอย!! แค่จะนึกให้จบคำนั้นน้อยก็ยังไม่กล้า เธอรู้สึกใจสั่น เสียววาบตามสันหลัง และเหมือนมีก้อนอะไร ขึ้นมาจุกอยู่ที่คอหอย น้อยไม่อยาก ให้พ่อเดินทาง ไปกลางป่าคนเดียวอย่างนั้น แถม เป็นกลางคืนด้วย ทำไมพ่อถึงต้องเสี่ยง อย่างนั้นด้วยเล่า?

ทางจากแว้งไปสุไหงโก-ลก สมัยโน้นมีเพียงเส้นเดียว เป็นถนนตัดผ่านสวนยาง และป่าทึบ ระหว่างทางต้องสาวเชือกที่ผูกแพ ข้ามแม่น้ำสายเล็กด้วยแห่งหนึ่งชื่อ อัยย์โก แขกเคยบอกน้อยว่าที่นั่น มีวังจระเข้ แว้งไม่มีรถยนต์วิ่งเหมือนที่อื่นเขา ทุกคนต้องเดินเหมือนกันหมด ไม่ว่าแขกหรือไทย ส่วนมากจะใช้เวลาเดินกันร่วมครึ่งวัน จึงจะถึงปลายทาง เพราะทางที่เดินนั้นสูงๆ ต่ำๆ ข้ามภูเขา ทุ่งนา และป่าพรุ พอถึงสุไหงโก-ลกแล้ว พ่อก็ต้องพักค้างคืน ที่โรงแรมของคนจีน ชื่อโรงแรมตังเส็ง ๑ คืน คนอิสลามจะไม่พักที่นั่น เพราะพวกเขาทราบดีว่า คนจีนกินหมู ซึ่งเป็นสัตว์ไม่สะอาด ตามที่สอน ไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน

พักค้างคืนหนึ่งคืนแล้ว เช้ามืดวันรุ่งขึ้น พ่อถึงจะขึ้นรถไฟ ที่สถานีสุไหงโก-ลกไปจังหวัด หรือ ที่อื่นๆ ได้ แว้งที่รักของน้อยมันกันดาร อย่างนี้แหละ คนเขาถึงไม่อยากมาอยู่กัน

หลายๆ ปีเมื่อมีเรื่องจำเป็น ญาติของแม่ที่สงขลา ถึงจะมาแว้งสักครั้งหนึ่ง เขาเรียกครอบครัวพ่อว่า “พวกเมืองแขก” เพราะอยู่ไกลความเจริญ และอยู่กับคนแขก น้อยกับพี่แมะเขาก็ว่าเป็น “เด็กแขก” เพราะพูดคำบางคำก็ไม่ เหมือนพวกเขา สำเนียงหรือก็เถ๊อ (เหน่อ) เป็นบ้านนอกแบบ บางนรา น้อยเคยคิดแบบเด็กว่า ญาติชาวสงขลานี่ ชอบดูถูกคนเสียจริง

แต่ช่างเถิด ใครจะว่าแว้งอย่างไรก็ช่าง ครอบครัวของน้อย อยู่ที่อำเภอแว้ง อย่างมีความสุขที่สุด และเพราะเหตุนี้ เธอจึงคิดว่า พ่อไม่น่าจากเธอไปไหน แม้แต่วันเดียว อย่างเช้าวันนี้ น้อยควรจะได้ตื่นขึ้นมา นั่งคลอพ่อเหมือนทุกวัน แต่พ่อก็ไปเสียแล้ว และจะกลับมาวันไหนไม่รู้เลย

แม่อธิบายให้ลูกทั้งสองฟัง ด้วยน้ำเสียง เหมือนไม่มีอะไรน่ากังวลเลย สักนิดเดียวว่า “มีโทรเลขมาจากสงขลา บอกว่ายายไม่ค่อยสบาย พ่อเลยจะไปเยี่ยมยายเสียหน่อย ยายไม่เป็นอะไรมากหรอกลูก พ่ออยากรีบไปรีบกลับ ก็เลยออกเดินทางไป ตอนเที่ยงคืน น้อยไม่ต้องกลัว เมื่อคืนพระจันทร์เต็มดวง ทางเดินสว่างออก พ่อเดินไปสบายๆ พอสว่างก็ถึงโก-ลกพอดี ได้ขึ้นรถไฟไปเลย ไม่ต้องเสียเวลา จะได้กลับมาหาพวกเราเร็วๆ ยังไงล่ะ “

น้อยอยากบอกแม่ว่า เธออยากให้พ่อเดินไปตอนกลางวัน และพักที่โรงแรมมากกว่า แต่ก็ไม่ได้พูด อะไรบางอย่างบอกเธอว่า แม่เองก็ต้องคิดอย่างนั้น แต่ความจำเป็น ทำให้พ่อต้องเดินทางกลางคืน พี่แมะนั่งนิ่ง เงียบเหมือนน้อย สองพี่น้องทราบดีว่า พ่อไม่ต้องการเสียเงินค่าโรงแรม ไหนจะค่าอาหารอีก บางทีพ่ออาจจะต้องเตรียมเงิน ไปให้ยายรักษาตัวด้วยก็เป็นได้

สายหน่อย แม่บอกลูกทั้งสองว่า “แม่จะไปซื้อพลูซื้อผักที่ลูโบ๊ะ ดาแลนะ ลูกอยู่กันเอง ได้ไหม ข้าวในหม้อก็มีแล้ว กลางวันถ้าแม่ยังไม่กลับ ก็กินข้าวกับปลาทอดเครื่อง ใต้ฝาชีนะแมะ น้อยอย่าซนมากนัก ห้ามทะเลาะกันอย่างเด็ดขาด แล้วก็ห้ามไปเที่ยว เล่นไกลบ้านด้วย”

น้อยไม่กล้ามองแม่ ได้ยินแต่ เสียงพี่แมะรับคำเบาๆ ว่า “ค่ะ” ขณะที่แม่หยิบกระเชอ กับกระจาด ลงมาจากหิ้งเหนือแม่ไฟ แม่เดินออกไปทางประตูหน้าถัง ที่เปิดไว้แค่ สองบาน แวะไปพูดอะไรไม่ทราบ กับโต๊ะ(ยาย) ตาบอดห้องติดกันหน่อยหนึ่ง แล้วแม่ก็ออกเดินอย่างรวดเร็ว ไม่หันมาดูลูกทั้งสองอีกเลย

น้อยทรุดตัวลงนั่งตรงหน้าถัง สะอื้นฮักๆ ออกมาอย่างหมดความอดทน พี่แมะลงนั่ง ด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ร้องไห้ เพียงแต่ตาแดงๆ ถาม น้องว่า “น้อยว่าพ่อกับแม่กูปิ๊ (ภาษามลายู = ขี้เหนียว) ใช่ไหม ที่ไม่พักที่โรงแรม ?”

น้อยสะอื้นฮักอีกสองสามทีพลางเช็ดน้ำตาก่อนพยักหน้า พี่แมะพูดต่อว่า “ตอนแรก พี่ก็ว่าพ่อกับแม่ กูปิ๊เหมือนกัน แต่ไม่ใช่หรอกน้อย เมื่อคืนตอนน้อยนอนหลับแล้ว พี่ได้ยินพ่อบอกแม่ว่า ตอนนี้พ่อยังไม่ได้ทำงาน บ้านเราไม่ค่อยมีสตางค์ แม่ว่า แม่อยากไปเยี่ยมยายเหมือนกัน แต่ถ้าพ่อให้แม่ไปด้วย แล้วเราสองคน จะอยู่กับใคร_จะเป็นยังไง”

น้อยปล่อยโฮออกมาสุดเสียง -ก็จะเหลืออยู่แค่สองคนพี่น้อง ก็จะไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ เหมือนตอนนี้นี่แหละ-เธอรู้สึกเย็นยะเยือก สะท้านไปตลอดตัว ทั้งที่เป็นเวลาสาย แดดจัดจ้า ว้าเหว่เหมือนไม่มีใครเหลือเลยทั้งอำเภอแว้ง ทั้งที่ในห้องแถวติดกัน โต๊ะตาบอดนั่งสับเศษไม้ทำเชื้อไฟดังแก๊กๆ อยู่ในครัวของแก พี่แมะ พูดต่อว่า

“แม่ว่าถ้าไปหมดทั้งสี่คน ก็ต้องเสียเงินมาก ยายก็ค่อย ยังชั่วแล้ว ถ้าแม่ไม่ไป แม่ก็จะได้ขายของได้เงินด้วย พ่อว่าพ่อเป็นห่วงบ้านมาก จะไปให้เร็วที่สุด แล้วจะกลับ ให้เร็วที่สุดด้วย พี่ได้ยินพ่อบอกแม่ว่า ถ้าพ่อไปกลางคืนก็จะเร็วขึ้นหนึ่งวัน ไม่ต้อง เสียค่าโรงแรม- “

*ผู้เขียนจำเป็นต้องใช้รูปวรรณยุกต์ตรีกับอักษรสูงในทุกที่ เพราะเป็นระดับเสียง ที่ภาคอื่นไม่มี

(โปรดอ่านต่อฉบับหน้า)

อ่านฉบับ 128   อ่านฉบับ 130

(เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๙ เม.ย. ๔๔ หน้า ๓๒)